Upper Crossed Syndrome หรืออาการผิดปกติของโครงสร้างส่วนบนของร่างกาย คือ การเคลื่อนไหวของข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังส่วนคอ (cervical vertebra) ส่วนอก (thoracic vertebra) และข้อไหล่ มีความผิดปกติ และลักษณะการทำงานที่ไม่สมดุลกันระหว่างกล้ามเนื้อรยางค์บน (upper limb) โดยรอบ ที่มีระบบทำงานในรูปแบบตรงกันข้าม ทำให้กลุ่มกล้ามเนื้อฝั่งหนึ่งเกิดการหดสั้น (tightness) และอีกฝั่งหนึ่งยืดยาวออก เกิดความอ่อนแรง (weakness) (ลักษณะเหมือนตัว X) ในส่วนรยางค์บนของร่างกาย
ลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ของโรค Upper Crossed Syndrome
จากลักษณะการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ และ การทำงานของกล้ามเนื้อรยางค์บนที่ไม่สมดุลกันดังกล่าว ทำให้กล้ามเนื้อสองฝั่งทำงานในระบบตรง ข้ามกัน ดังนี้ กลุ่มกล้ามเนื้อหดสั้น (tightness)ได้แก่ กล้ามเนื้อใต้ท้ายทอย (suboccipital muscle) กล้ามเนื้อบ่าส่วนบน (upper trapezius muscle) กล้ามเนื้อคอ-สะบัก (levator scapulae muscle) และกล้ามเนื้ออก( pectorals muscle) ในกลุ่มกล้ามเนื้อที่มีความอ่อนแรง (weakness) ได้แก่ กล้ามเนื้อก้มศีรษะ (cervical flexor muscle) กล้ามเนื้อหลังช่วงสะบัก(Rhomboids muscle) กล้ามเนื้อบ่าส่วนกลาง (middle trapezius muscle) กล้ามเนื้อบ่าส่วนล่าง (lower trapezius muscle) และกล้ามเนื้ออกด้านข้าง (serratus anterior muscle)ร่วมกับลักษณะโครงสร้างส่วนรยางค์บนเกิดความผิดปกติส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ลักษณะโครงสร้างภายนอกที่สังเกตได้ทั่วไป มีดังนี้
1. ศีรษะยื่นไปข้างหน้า
2. กระดูกสันหลังส่วนคอระดับบนแอ่นมาก กว่าปกติ
3. ไหล่ค่อม บ่ายก
4. กระดูกสันหลังส่วนอกระดับบนโค้งมากกว่าปกติ
หากอยู่ในท่าทางดังกล่าวจนเคยชิน ยิ่งนานไปยิ่งปรับท่าทางให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ (upright position) ได้ยากขึ้น อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เหนี่ยวนำให้เกิดโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้ออื่นๆ ตามมาได้
แนวทางการรักษาและการป้องกัน
เมื่อเกิดความผิดปกติของโครงสร้างส่วนรยางค์บน เป้าหมายรักษาหลัก คือ การลดปวด ด้วยวิธีการรักษาต่างๆ เช่น การพบแพทย์แผนไทย รับประทานยา ฝังเข็ม การรักษาด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุดสามารถควบคุมโรคได้อย่างยั่งยืนคือ การปรับพฤติกรรมเช่น
1. การฝึกในท่านั่ง: นั่งบนเก้าอี้เท้าทั้งสองข้างวางราบกับพื้น ลำตัวตรง ข้อสะโพกงอ 90 องศา มือวางข้างลำตัวทั้ง 2 ข้าง ยืดอก และสะบักให้รู้สึกว่าไหล่อยู่ในแนวตรงกับใบหน้า
2. การฝึกในท่ายืน : ยืนพิงกำแพง ลำตัวตรง เท้าทั้งสองข้างวางราบกับพื้น ส้นเท้าชิดกำแพงมือวางข้างลำตัวแนบกำแพงขอบสะบักทั้งสองข้างชิดกำแพง
3. ยืดกล้ามเนื้อใต้ท้ายทอย : เริ่มต้นด้วยอิริยาบถที่ผ่อนคลาย ลำตัวตั้งตรง ใช้มือทั้งสองข้างประสานท้ายทอย โน้มศีรษะลง ให้กล้ามเนื้อคอด้านหลังตึง ค้างไว้10 วินาทีทำซ้ำ 10 รอบ
4. ยืดกล้ามเนื้อบ่า : เริ่มต้นด้วยอิริยาบถที่ผ่อนคลาย ลำตัวตั้งตรง ใช้มือข้างตรงข้ามจับศีรษะเอียงศีรษะไปด้านตรงข้ามให้กล้ามเนื้อฝั่งที่ยืดตึงค้างไว้ 10 วินาทีทำซ้ำ 10 รอบ สลับทั้งสองข้าง
5. ยืดกล้ามเนื้อบริเวณคอ-สะบัก : เริ่มต้นด้วยอิริยาบถที่ผ่อนคลาย ลำตัวตั้งตรง ใช้มือข้างตรงข้ามจับศีรษะ ก้มศีรษะ หมุนคอไปด้านตรงข้ามโน้มลงให้กล้ามเนื้อฝั่งที่ยืดรู้สึกตึง ค้างไว้ 10 วินาทีทำซ้ำ 10 รอบ สลับทั้งสองข้าง
6. ยืดกล้ามเนื้ออกโดยใช้กำแพง : เริ่มต้นด้วยอิริยาบถที่ผ่อนคลาย ลำตัวตั้งตรง กางข้อไหล่และตั้งศอกในระดับ 90 องศา ปลายแขนแนบกำแพงออกแรงโน้มตัวไปข้างหน้า ให้กล้ามเนื้อหน้าอกตึง ค้างไว้10 วินาทีทำซ้ำ 10 รอบ สลับทั้งสองข้าง
7. ควรปรับพฤติกรรมระหว่างการทำงาน จัดอิริยาบถและสมดุลโครงสร้างร่างกายให้เหมาะสมร่วมด้วยเช่น ไม่ควรอยู่ในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ท่าทางเดิมซ้ำๆ นานเกินไป ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ ½–1 ชั่วโมง จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เอื้อต่อการทำงาน และสะดวกต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย การนั่งที่ถูกต้องปรับระดับความสูงของเก้าอี้ให้พอเหมาะกับความยาวของขาช่วงล่าง เท้าทั้งสองข้างวางราบบนพื้น และพนักพิงหลังไม่ควรเล็กเกินไป ซึ่งสามารถรองรับแผ่นหลังได้ทั้งหมด ไม่ควรเอนไปข้างหลังหรือข้างหน้า
8. ยืนลำตัวตรง ไม่เอียงตัวไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ไม่ยืนงอหรือห่อไหล่ ศีรษะต้องไม่ยื่น เงยหรือก้มมากไป
การรักษาโรค Upper Crossed Syndrome อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบองค์รวม แก้ไขปัญหาทางสุขภาพอย่างตรงจุด และมีความรู้เกี่ยวกับแนวทางการป้องกัน และปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง
เอกสารอ้างอิง
อัญชลี คงสมชม และวัชระ สุดาชม. 2561. หลังค่อม ไหล่ห่อภัยสุขภาพร้ายใกล้ตัว. เวชบันทึกศิริราช. (11)125–133