พ่อแม่ทุกคนต่างอยากเลี้ยงลูกให้มีความสุขโดยการใช้ยุทธวิธีต่างๆ ทั้งการพยายามทำสีหน้าท่าทางรูปแบบต่างๆ การสนทนาพูดคุย การเล่นดนตรี การร้องเพลง การหากิจกรรมและการเกมต่างๆมาเล่นกับลูก รวมถึงการจับโยนลอยขึ้นกลางอากาศ หรือการอุ้มเขย่าตัวเด็กไปมาก็ตาม เป็นกิจกรรมที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ชอบเล่นกับลูกๆ เนื่องจากลูกๆจะแสดงสีหน้าท่าทางที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขพร้อมกับเสียงหัวเราะเอิ๊กอ้าก ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าลูกๆนั้นมีความสุขมากมาย แต่หารู้ไม่ว่าแค่การเขย่าที่ดูจะธรรมดาแต่กลับอันตรายกับสมองและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
มาทำความรู้จักเด็กทารกกันก่อน
กระดูกของทารกแรกเกิดยังอ่อน ยืดหยุ่น และแตกหักง่าย เพราะกระดูกยังเล็กและอ่อนมาก โครงกระดูกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในขวบปีแรกและจะช้าลงในขวบปีที่ 2 กระดูกจะมีการเพิ่มขึ้นทำให้กระดูกทารกแรกเกิดมีมากกว่าผู้ใหญ่ 70 ชิ้น อาทิเช่น กระดูกข้อมือข้อเท้าจะโผล่ออกเมื่อกระดูกแข็งแล้ว ส่วนกระดูกสะบ้าหัวเข่ายังเป็นเพียงแค่กระดูกอ่อนจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นกระดูกหัวเข่าในภายหลัง ส่วนกระโหลกศีรษะประกอบกันขึ้นมาจากแผ่นกระโหลกศีรษะหลายชิ้นซึ่งสามารถซ้อนกันได้ ทั้งนี้เพื่อทำให้แม่คลอดได้ง่ายขึ้นและจะปิดสนิทเมื่ออายุประมาณ 2 ปี กระดูกมีอัตราการเจริญเติบโตและความแข็งแรงแตกต่างกันไปในแต่ละส่วนของร่างกาย โดยลำดับของกระดูกสะบ้าหัวเข่าจะเกิดขึ้นหลังจากเด็กเริ่มหัดเดินได้ ต่อมากระโหลกศีรษะและมือจะพัฒนาก่อน จากนั้นกระดูกขาพัฒนาไปจนถึงช่วงวัยรุ่น ดังนั้นเด็กปฐมวัยช่วงอายุ 3-6 ปี โครงกระดูกจะแข็งแรงกว่าเด็กวัยทารกแรกเกิด แต่พัฒนาการของกระดูกจะสมบูรณ์เมื่ออายุ 18 ปี บริบูรณ์
Shaken Baby Syndrome คืออะไร
ฟังดูอาจจะไม่ค่อยคุ้นหู พ่อแม่คนไทยสักเท่าไร แต่สำหรับต่างประเทศแล้วโรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายๆ กับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ และระดับความรุนแรงยังอันตรายถึงชีวิตลูกได้อีกด้วย ดังกรณีตัวอย่างนี้
กรณีศึกษาที่ 1 Dr.Ngô Tiến Đông จากแผนกรักษาผู้ป่วยหนักอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลเด็กแห่งชาติ ประเทศเวียดนาม (S Reporter,2567) เปิดเผยว่ามีเคสผู้ป่วยอายุ 2 เดือน เข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการหยุดหายใจขณะหลับ และมีอาการชัก มีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแพทย์พบว่า เด็กมีอาการชัก ริมฝีปากสีม่วง กระหม่อมด้านหน้านูน ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ครอบครัวยืนยันว่าเด็กไม่ได้ล้มหรือมีอาการชักมาก่อนหน้านี้ แต่ 3 วันก่อนเข้าโรงพยาบาล เด็กมักจะร้องไห้ทำให้ต้องอุ้มและโยกตัวเพื่อปลอบโยน กระทั่งสังเกตเห็นว่าทารกดูดนมแม่น้อยลงและมีขยับตัวเล่นซุกซนน้อยลงกระทั่งพบว่าหยุดหายใจ จึงรีบพาไปห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล แพทย์ตั้งข้อสงสัยว่าเด็กมีความเสียหายต่อเส้นประสาท หลังจากการตรวจทางคลินิก อัลตราซาวนด์ และการตรวจสายตาด้วยวิธีใช้ออพธัลโมสโคป(Ophthalmoscopy) ผลพบว่าเด็กมีภาวะเลือดออกในเยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (subarachnoid hemorrhage) ในระดับทวิภาคี อาการบวมน้ำในสมองแบบแพร่กระจายในระดับทวิภาคีร่วมด้วย อาการตกเลือดที่จอประสาทตา และภาวะขั้วประสาทตาบวม (Papilledema) คาดว่าน่าจะเกิดจากกลุ่มอาการผิดปกติจากการเขย่าตัวทารก (Shaken Baby Syndrome)แพทย์ให้ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ และรับการรักษาภาวะความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น หลังจากรักษาได้ 7 วัน เด็กก็สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้ สัญญาณชีพคงที่ แต่ยังมีเสี่ยงต่อผลที่ตามมาของระบบประสาทในระยะยาว และส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและคุณภาพชีวิต
กรณีศึกษาที่ 2 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย จากคำรับสารภาพของน.ส.นิ่ม ที่เล่านาทีทำ “น้องต่อ” ลูกชายวัย 8 เดือนตกพื้นแน่นิ่ง ก่อนนำทิ้งลงแม่น้ำเพราะกลัวความผิด โดยน.ส.นิ่ม วัย 17 ปี ให้การเบื้องต้นว่า น้องต่อตื่นงอแงเวลา 03.00 น.เพราะมีไข้ เธอจึงอุ้มให้นมแต่น้องต่อก็ร้องไม่หยุด จึงอุ้มแบบเขย่าไปมา จนน้องต่อหล่นหัวกระแทกพื้นนิ่งเงียบไปจึงเข้าใจว่าลูกหลับ จนเวลาประมาณ 05.00 น. จะชงนม อีกรอบ พบว่าลูกนอนเสียชีวิต ตนตกใจจึงอุ้มเด็กโยนลงไปในแม่น้ำ โดยเดินจากบ้านพักออกไปประมาณ 100 เมตร แม้จะไม่ชัดเจนว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากหัวกระแทกพื้นหรือไม่ หรือเกิดจากการเขย่าเด็กวัยก่อน 2 ขวบ ทำให้เกิดภาวะ “Shaken Baby Syndrome” ได้เช่นกัน
สอดคล้องกับรศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี หรือ “หมอหมู” อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) (Lifestyle, 2566) กล่าวว่าจากสถิติพบว่าเด็กที่มีอาการ Shaken Baby Syndrome 1 ใน 3 สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ในขณะที่อีก 1 ใน 3 กลายเป็นเด็กพิการไปตลอดชีวิต เช่น ไร้สมรรถภาพในการเรียนรู้ ตาบอด หรือเป็นอัมพาตในสมอง และอีก 1 ใน 3 อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ดังนั้น Shaken Baby Syndrome คือโรคที่มักพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี เกิดจากการที่พ่อแม่จับลูกเขย่าแรงๆ อาจจะด้วยความตั้งใจ หรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เช่น การเขย่าตัวเด็กเพื่อให้หยุดร้องไห้หรือการเล่นกับเด็กรุนแรง หรือโลดโผนเกินไป เช่น จับลูกวัยยังไม่ถึง 1 ขวบ โยนขึ้นไปกลางอากาศแล้วรับ แรงเขย่านั้นจะทำให้เนื้อสมองกระแทกกับกะโหลกศีรษะ จนสมองได้รับการกระทบกระเทือนและมีเลือดออก เพราะเส้นเลือดในสมองของเด็กเล็กๆ ยังไม่แข็งแรง โอกาสที่มีการฉีกขาดจึงมีมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กทารกวัย 3-8 เดือน และอาจจะลุกลามไปถึงขั้นเส้นเลือดในจอประสาทตาขาดได้ด้วย
วิธีการสังเกตโรค Shaken Baby Syndrome
โดยทั่วไปเด็กที่ถูกเขย่าและมีอาการ Shaken Baby Syndrome จะไม่ค่อยมีสัญญาณภายนอกให้พ่อแม่เห็น จึงทำให้ไม่ได้รับการรักษาปล่อยทิ้งไว้เพราะความไม่รู้ เด็กจึงมีโอกาสเสียชีวิต มีปัญหาทางสายตา เป็นลมชัก หรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้และสติปัญญา มีปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจ และพัฒนาการทางด้านร่างกายในเคลื่อนไหวที่ล่าช้า ดังนั้นหากพบอาการดังต่อไปนี้ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และต้องแจ้งกับแพทย์ด้วยว่าเด็กถูกเขย่าตัวอย่างรุนแรง เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยอาการและทำการรักษาอย่างทันท่วงที อาการเบื้องต้นที่สามารถสังเกตโรค Shaken Baby Syndrome มีลักษณะดังนี้
- ร้องไห้
- อาเจียนมาก
- หายในติดขัด หายใจลำบาก หรือหายในผิดปกติ
- ไม่ยอมดูดนม หรือทานอาหารได้ไม่ดี
- กลืนน้ำลายไม่ได้
- ซึม
- ชัก หรือโคม่า
- หน้าผากบวม หรือมีเนื้อปูดออกมาที่ศีรษะ
เด็กหลายคนอาจมีอาการดังกล่าวข้างต้น แต่ในช่วงแรกจะแสดงอาการร้องไห้และเซื่องซึมเพียง 1-2 วัน จากนั้นจึงรับประทานอาหารและนอนหลับตามปกติ ครอบครัวจึงเพิกเฉยได้ง่าย ดังนั้นเมื่อพบว่าเด็กแสดงอาการผิดปกติ ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที อย่าจับหรือเขย่าเด็กมากไปกว่าเดิมเพื่อพยายามปลุก อย่าให้อาหารก่อนพาเด็กไปพบแพทย์ สามารถให้เด็กอาจอาเจียนได้เพื่อป้องกันการสำลัก และให้เอียงศีรษะและลำตัวของเด็กเบาๆ ให้เป็นแนวเดียวกัน สำหรับประเทศไทยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) กรมการแพทย์ เผยสถิติว่ามีเด็กที่เข้ารับการรักษาจากอาการทางสมอง โดนเขย่ากระทบกระเทือนถึงสมองถึง 10-15 คนต่อปี
Shaken Baby Syndrome มักเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ โดยเฉพาะในช่วง 2-4 เดือนแรก อยู่ในช่วงที่เด็กกำลังปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆและมักแสดงอาการร้องไห้บ่อยมาก สาเหตุของโรคนี้มักเกิดจากนิสัยอุ้มเขย่าทารกเพื่อปลอบเด็กเวลาร้องไห้ รวมทั้งการโยกเปลเพื่อกล่อมทารกให้นอนหลับ หรือการเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว เช่น การอุ้มขึ้นเร็วๆ หรือการอุ้มโยนเด็กให้สูงๆ ซึ่งต้องย้ำว่าเด็กอาจตกอยู่ในอันตรายได้ แม้จะเขย่าเพียง 5 วินาทีก็ตาม เนื่องจากคอของทารกแรกเกิดยังคงอ่อนแอมาก ไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับศีรษะ ซึ่งใหญ่กว่าลำตัวประมาณ 10-15% ในทางกลับกันสมองของเด็กยังพัฒนาได้ ไม่เต็มที่และยังคง ‘ลอย’ อยู่ในสภาพแวดล้อมของน้ำไขสันหลังโดยรอบ ดังนั้นการสั่นอย่างรุนแรงทำให้เกิดการเร่งความเร็วและการชะลอตัวของสมองอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อพื้นผิวแข็งภายในกะโหลกศีรษะ ทำลายสมองและหลอดเลือดในสมอง ทำให้เกิดอาการบวมน้ำในสมอง และเพิ่มความดันในกะโหลกศีรษะ”
การอ้างอิง
S Reporter. 2567. แม่หน้าซีด ลูก 2 เดือน สมองบวม-หยุดหายใจ หมอชี้สาเหตุ “วิธีอุ้ม” ตอนเด็ก
ร้องไห้. [ออนไลน์]. ได้จาก : https://www.sanook.com/news/9146158/. [สืบค้นเมื่อ 24
กรกฏาคม 2567].
AnatomyStuff. 1999. Shaken Baby Syndrome. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.anatomystuff
.co.uk/shaken-baby-syndrome-chart-poster/. [สืบค้นเมื่อ 24 กรกฏาคม 2567].
Lifestyle. 2566. รู้จักภาวะ ‘Shaken Baby Syndrome’ แค่เขย่า อันตรายถึง สมอง-ตาย ได้.
[ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/mother-and-
child/543810. [สืบค้นเมื่อ 24 กรกฏาคม 2567].