Reggio Emilia Approach รองศาสตราจารย์ ดร.อารีวรรณ เอี่ยมสะอาด กลุ่มวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

Reggio Emilia Approach

 

รองศาสตราจารย์ ดร.อารีวรรณ เอี่ยมสะอาด

กลุ่มวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………….

          ผู้เขียนได้ศึกษาเรื่อง Reggio Emilia Approach  จากการศึกษาเอกสาร ตำรา บทความทั้งใน และต่างประเทศ โดยรูปแบบนี่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กระดับปฐมวัยสามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับ 1) ตัวตนของเด็กเอง และ 2) สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเด็ก เด็กมีศักยภาพและมีความสามารถติดตัวมาตั้งแต่เกิด และศักยภาพเหล่านั้นจะถูกส่งเสริมด้วยสิ่งต่าง ๆ รอบตัวของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ ชุมชน สังคม และวัฒนธรรม หมายความว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาตัวตนของเด็ก และส่งเสริมให้พวกเขาแสดงศักยภาพเหล่านั้นออกมาเพื่อเติบโตเรียนรู้อย่างมีศักยภาพ ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู จึงมีส่วนสำคัญในการให้เด็กเกิดการเรียนรู้

ที่มาของแนวการสอนแบบเรกจิโอ เอมิเลีย

          แนวการสอนแบบเรกจิโอ เอมิเลีย มีต้นกำเนิดในเมืองเรจจิโอ เอมีเลีย (Reggio Emelia)  (และพื้นที่โดยรอบ) ประเทศอิตาลี  ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มแม่บ้าน ครู ชุมชน จัดการศึกษาปฐมวัยแบบก้าวหน้าและร่วมมือกัน โดยใช้แนวทางที่ปรับให้เข้ากับความต้องการของชุมชนโดยเฉพาะ และเนื่องจากนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชน และเมืองแต่ละแห่งล้วนมีความแตกต่างกัน ชุมชนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวทางเรจจิโอไม่ควรมีลักษณะเหมือนกัน เนื่องจากความต้องการและความสนใจของเด็กๆ ในแต่ละชุมชนจะแตกต่างกัน โดยทั่วไป แนวทางเรจจิโอจะถูกนำไปใช้กับโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็กปฐมวัย แต่คิดว่าด้วยความเข้าใจในหลักการทั่วไป แนวทางที่นำโดยเด็กที่สร้างแรงบันดาลใจนี้สามารถนำไปปรับใช้ที่บ้านได้

          แนวทางนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองเรจจิโอ เอมีเลีย ไม่ใช่เป็นเพียงวิธีการเท่านั้น ไม่มีวิทยาลัยฝึกอบรมนานาชาติที่สามารถฝึกอบรมเพื่อเป็นครูสอนเรจจิโอ เอมีเลียได้

 

ความหมาย

          Reggio Emilia Approach คือ ระบบการศึกษาเชิงผสมสำหรับเด็กปฐมวัย มีแนวคิดที่สำคัญคือ การเรียนรู้ของเด็กจะสามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับ 1) ตัวตนของเด็กเอง และ 2) สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเด็ก 

หลักการพื้นฐาน Reggio Emilia Approach 

          วิธีการสอนที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง

          “เด็ก” คือศูนย์กลางการเรียนรู้ (Children’s Center) โดยเด็กมีศักยภาพและความสามารถตั้งแต่เกิด และสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้เต็มที่ โดยอาศัยการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้เรียนต้องสร้าง
การเรียนรู้ ค้นหาความรู้ผ่านการสืบค้นของตนเอง จะถูกขับเคลื่อนด้วยความสนใจเพื่อทำความเข้าใจและเรียนรู้เพิ่มเติม เด็กสร้างความเข้าใจในตนเองและสถานที่ของตนในโลกผ่านการโต้ตอบกับผู้อื่น  เด็กแต่ละคนมีลักษณะที่เป็นตัวของตัวเอง มีศักยภาพและความสามารถในตนเองมาตั้งแต่เกิด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำให้เด็กแสดงความสามารถนั้นออกมาให้มากที่สุดผ่านความคิดและการลงมือทำสิ่งต่างๆ โดยมีครู พ่อแม่ เป็นเพียงผู้กระตุ้นให้เด็กแสดงความสามารถออกมา และต้องเรียนรู้ แก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน การเรียนรู้จึงที่มีคุณค่าสำหรับเด็กมากกว่าการสอนจากครูโดยการบอกเล่า แต่สิ่งที่ดีกว่าคือ การจัดสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้มากกว่า

 

          บรรยากาศโรงเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้

          โรงเรียนมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงตัวเด็ก ครอบครัว และครูผู้สอนเข้าด้วยกัน ซึ่งควรจัดสถานที่เรียนให้นักเรียนรู้สึกอบอุ่นและเป็นมิตร โดยที่ครูกับเด็กสามารถเรียนรู้ไปด้วยกัน การสอนและการเรียนรู้ต้องทำควบคู่กันไป ซึ่งคุณครูผู้สอนมีหน้าที่สังเกตการณ์ตัวนักเรียน เพื่อทำความเข้าใจ และออกแบบการเรียนการสอนในอนาคต เน้นในการทำงานร่วมกันทางสังคม การทำงานเป็นกลุ่ม โดยที่เด็กแต่ละคนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน ความคิดและคำถามของพวกเขาได้รับการให้ความสำคัญ ผู้ใหญ่ไม่ใช่ผู้ให้ความรู้ เด็กจะได้ทักษะด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น การพูดคุยและช่วยเหลือกันของเพื่อนที่ทำงานโครงการร่วมกัน การได้พูดคุยกับครู ผู้ปกครอง หรือคนในชุมชนที่จะให้ความรู้ในการทำโครงการของตัวเอง

 

          สร้างโปรเจคโดยให้นักเรียนเป็นผู้นำ

          เน้นการสื่อสาร การสื่อสารเป็นกระบวนการ วิธีค้นพบสิ่งต่างๆ การถามคำถาม การใช้ภาษาเป็น
การเล่น การเล่นกับเสียง จังหวะ และสัมผัส การเพลิดเพลินกับกระบวนการสื่อสาร เด็กได้รับการสนับสนุนให้ใช้ภาษาเพื่อค้นคว้าและสำรวจ เพื่อสะท้อนประสบการณ์ของตนเอง พวกเขาได้รับการรับฟังด้วยความเคารพ เชื่อว่าคำถามและการสังเกตของพวกเขาเป็นโอกาสในการเรียนรู้และค้นหาไปพร้อมๆ กัน นี่คือกระบวนการ เป็นกระบวนการต่อเนื่อง เป็นกระบวนการร่วมมือ แทนที่เด็กจะถามคำถามและผู้ใหญ่ให้คำตอบ การค้นหาจะเกิดขึ้นพร้อมกัน การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้จะคอยสังเกตจากความสนใจของเด็ก ผ่านโครงการต่าง ๆ (Project Approach) โดยให้เด็กเสนอหัวข้อที่อยากทำ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เด็กสนใจใคร่รู้ในเรื่องนั้น ๆ อย่างแท้จริง โดยโรงเรียนจะออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม เพื่อให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการสังเกต ทดลอง ตั้งคำถาม บันทึกผลการทดลอง ร่วมแสดงความคิดเห็น 

 

          สิ่งแวดล้อมเป็นครูคนที่สาม

          การเรียนรู้เกิดจากปฏิสัมพันธ์และบริบทที่เด็กอยู่เป็นตัวกำหนด ซึ่งหมายความว่าชุมชน สภาพแวดล้อมที่อยู่โดยรอบจะเป็นตัวกำหนดและมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก เช่น อาคารสถานที่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม พ่อแม่ เพื่อน หรือแม้แต่สัตว์ ก็เป็นสภาพแวดล้อมที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก

มีศักยภาพในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ สิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแสงธรรมชาติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความสวยงาม

 

          การบันทึกข้อมูลสาระการเรียน

          คุณครูผู้สอนมีส่วนอย่างมากในการคอยสังเกตและบันทึกสิ่งต่าง ๆ  รวมไปถึงทักษะการแก้ปัญหา ของเด็ก ในสถานการณ์นั้น ๆ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอน เพื่อสะท้อนและประเมินศักยภาพการเรียนรู้และพัฒนาการในตัวเด็กแต่ละคน  มีการพบปะพูดคุยกันระหว่างครูผู้สอนในแต่ละวิชา และผู้ปกครอง
เพื่อรายงานสถานการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนได้อย่างเต็มที่ เน้นการบันทึกความคิดของเด็กๆ  ในสถานที่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Reggio Emilia จะเน้นการแสดงและบันทึกความคิดและความก้าวหน้าในการคิดของเด็ก ๆ อย่างระมัดระวัง ทำให้ความคิดของพวกเขาปรากฏชัดในหลายๆ วิธี เช่น ภาพถ่าย บันทึกความคิดและคำอธิบายของเด็กๆ การแสดงภาพ (ภาพวาด ประติมากรรม เป็นต้น) ซึ่งทั้งหมดออกแบบมาเพื่อแสดงกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก เด็กจะมีความกระตือรือร้นในการเรียน เพราะจะเป็นผู้เลือกหัวข้อการเรียนที่ตัวเองสนใจ เด็กจะมีความภูมิใจในผลงานตัวเอง ทั้งงานโครงการและงานศิลปะ จะใช้ศิลปะ เป็นหนึ่งเครื่องมือในการสื่อสารสิ่งที่ตัวเองคิด และกระบวนการเรียนรู้ของตัวเอง เช่น วาดรูป ระบายสี ปั้นดิน การประดิษฐ์ หรือแม้แต่การเขียนข้อความ การแต่งกลอน เป็นต้น โดยครูจะตั้งหัวข้อให้เด็กเลือกเพื่อแสดงออกทางความคิดของตัวเองผ่านศิลปะที่เด็กชอบ จากนั้นจะมีการแสดงผลงานของเด็กแต่ละคนโดยไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้อธิบายผลงานตัวเองว่าสื่อถึงอะไรบ้าง มากจากแนวคิดอะไรบ้าง ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดจินตนาการของเด็กแล้ว ยังฝึกการสื่อสารกับผู้อื่นอย่างเป็นระบบ รวมทั้งได้สื่อสารให้คนอื่นได้เข้าใจสิ่งที่ตัวเองคิด กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ สร้างความเชื่อมั่นใจตัวเอง  นอกจากนี้ยังมีที่สำหรับแสดงผลงานของเด็กได้อย่างหลากหลายมุม เช่น มุมศิลปะ มุมงานประดิษฐ์ มุมแผนผัง มุมโมเดลโครงการเป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องเป็นหน้าที่ของครู และผู้ปกครองที่จะต้องช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมดังกล่าว รวมถึงชุมชนภายนอกด้วยที่จะต้องพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ ปลอดภัยให้กับเด็ก ๆ (Hampton International School,2567 D-PREP International School.,2567,รักลูก,2567)   

ประโยชน์ของแนวการสอนแบบเรกจิโอ เอมิเลีย

          ประโยชน์ต่อผู้เรียน

          เด็กจะได้มีส่วนร่วมในการเรียน นำเสนอหัวข้อและโปรเจคที่ตนเองสนใจ ได้เรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจต่าง ๆ นอกห้องเรียน มากไปกว่าแค่เรียนรู้จากในตำรา ผู้เรียนเรียนรู้ผ่านการทำโครงการต่างๆ (Project Approach) สนับสนุนให้เด็กเติบโตเป็นคนที่รักและกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ซึ่งจะมีครูเป็นผู้แนะนำหรือ ทำรายการของหัวข้อโครงการที่น่าสนใจไว้ให้เด็กได้เลือกตามความสนใจของตัว หรือจะเสนอหัวข้อที่ตัวเองสนใจนอกเหนือจากที่ครูเสนอแนะก็ได้ ซึ่งหัวข้อของโครงการจะมีครูเป็นผู้ลองตั้งคำถามหรือโยนโจทย์ให้ เพื่อให้เด็กไปค้นคว้าข้อมูล ทำการทดลอง ลงมือปฏิบัติ บันทึกผล และประเมินผลว่าสิ่งที่ได้จากการทำโครงการนั้นคืออะไร เด็กสามารถทำได้เองคนเดียวหรือทำเป็นกลุ่ม โดยมีครูเป็นผู้สังเกตการณ์ ตั้งคำถาม และจัดเตรียมอุปกรณ์ให้เอื้อกับการทำโครงการของเด็ก

          ได้ฝึกเป็นเจ้าของโปรเจค สร้างสรรค์ผลงานที่ตัวเองเป็นคนเลือก เด็กเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของตัวเอง ที่นอกเหนือไปจากในตำราเรียนได้ออกไปค้นคว้าหาความรู้อยากสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์จริง ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ คุณครู ผู้ปกครอง ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมมือ ช่วยเหลือกันและกัน และร่วมกันผลักดันให้โครงการสำเร็จร่วมกัน ช่วยให้เด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ เช่น พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ หอแสดงงานศิลปะ แปลงปลูกผัก เป็นต้น ซึ่งอาจจะไปกับครูและกลุ่มเพื่อน หรือมีผู้ปกครองไปด้วย หรือสถานที่ที่ไปจะมีผู้ดูแลสถานที่ที่คอยให้ความรู้ ตอบคำถาม และตั้งข้อซักถามความคิดเห็นของเด็กๆ อยู่ตลอดเวลา จากนั้นเด็กจะได้คิดต่อยอดถึงสิ่งที่จะทำต่อการไปสถานที่ต่างๆ และการได้รับข้อมูลจากผู้รู้และสิ่งที่อยุ่รอบๆ ตัวในสังคมที่ตัวเองอยู่

 

ประโยชน์ต่อโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน

          โรงเรียนเป็นสถานที่สำหรับบูรณาการความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ให้กับเด็ก โดยโรงเรียนเป็นเหมือนสถานที่ระหว่างกลางของเด็ก ผู้ใหญ่ และสังคม ที่จะมามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน

          ครู ผู้ปกครอง และชุมชน จะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก มีส่วนช่วยในการออกแบบการเรียนรู้ ร่วมรับรู้สิ่งที่เด็กกำลังเรียนรู้ เช่น การเข้าร่วมประชุมต่างๆ การเข้าร่วมการทำโครงการของเด็กๆ รวมถึงชุมชนที่จะต้องมีส่วนร่วมกับโรงเรียน เช่น การอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้นอกสถานที่ของเด็ก การให้ข้อมูลสำหรับเด็กเพื่อการค้นคว้า รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนและในชุมชนที่เหมาะสมกับการเรียนรู้

ข้อจำกัด

          1. พ่อแม่ต้องเข้าใจลูกอาจจะเรียนแบบค่อยไปค่อยไปผ่านผลงานของตัวเอง ไม่ใช่การเรียนตามตำราที่วัดผลจากแบบฝึกหัดหรือการบ้านแบบวันต่อวันเหมือนโรงเรียนปกติแต่จะเน้นที่กระบวนการทางความคิดของลูกที่เชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัวเป็นหลัก เพื่อให้เขาพัฒนาความสามารถของตัวเองอย่างแท้จริง เน้นให้เด็กได้ลงมือทำโครงการอย่างจริงจัง ดังนั้นในแต่ละโครงการจึงจะใช้เวลาค่อยข้างมาก และได้ผลงานเพียงไม่กี่ชิ้น การประเมินผลจึงวัดจากผลงานและการสื่อสารของเด็กเป็นหลัก

          2. พ่อแม่ต้องมีส่วนในการเรียนรู้ของเด็กค่อนข้างมาก และจะต้องมีส่วนร่วมกับโรงเรียน เช่น การประชุมผู้ปกครอง การร่วมชมงานแสดงโครงการของลูก การแสดงงานศิลปะ การร่วมนำเสนอหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับลูกที่จะเลือกทำโครงการ รวมถึงเมื่ออยู่บ้าน พ่อแม่จะต้องมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ เช่น การพาไปพิพิธภัณฑ์ งานแสดงศิลปะ นิทรรศการต่างๆ รวมถึงคอยตั้งคำถาม หรือให้หัวข้อเพื่อให้ลูกได้ลองทำโครงการเล็กๆ น้อยๆ ที่บ้าน

ตัวอย่างโรงเรียนแนวการเรียนการสอนแบบเรกจิโอ เอมิเลีย

          โรงเรียนอนุบาลมณีรัตน์  2066/1 ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 18 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ช่องนนทรี ยานนาวา กรุงเทพฯ 10120

          D-PREP International School 38, 38/1-3, 39, Moo 6, Bangna Trad Rd., Km. 8, Bang Kaeo, Bang Phli District, Samut Prakan, Thailand 10540 Hampton International School  กรุงเทพฯ

          Hampton International School  กรุงเทพฯ

……………………..

 

เอกสารอ้างอิง

Hampton International School. (2567). What is Reggio Emilia Approach?. สืบค้นจาก           https://hamptonschool.ac.th (สืบค้นวันที่ 22 สิงหาคม 2567).

D-PREP International School. (2567). Reggio Emilia หลักสูตรที่ D-PREP นำมาประยุกต์ใช้กับนักเรียน.          สืบค้นจาก https://www.dprep.ac.th/th/reggio-emilia-approach/

          (สืบค้นวันที่ 22 สิงหาคม 2567).

รักลูก. (2567). โรงเรียนแนวการสอนแบบเรกจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia). สืบค้นจาก           https://www.rakluke.com/learning-all/education/item/reggio-emilia.html (สืบค้นวันที่ 22           สิงหาคม 2567).