“We can’t stop breathing, but we can do something about the quality of air that we breathe” หรือ “เราไม่อาจหยุดหายใจได้ แต่เราสามารถพัฒนาคุณภาพอากาศที่เราหายใจให้ดีได้” เป็นแนวคิดในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอันเป็นภัยคุกคามชีวิตของผู้คนทั่วโลก โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ในปี 2562 โดยผู้เขียนเห็นว่าประโยคดังกล่าวเป็นประโยคน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทยในปัจจุบัน
ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา หากทุกคนได้เปิด Social Media ต่าง ๆ ก็คงพบว่าการแชร์ภาพเมืองที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน สิ่งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า PM 2.5 ได้กลับมาอีกครั้ง โดยปัญหา PM 2.5 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งยังสร้างภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมให้แก่ภาครัฐอีกด้วย โดยสิทธิที่จะมีอากาศที่ดีไว้หายใจถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการมีชีวิตและเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคประชาชน และภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวเช่นกัน
[ทำไมปัญหาจึงเกิดทุกปี ?]สาเหตุที่ปัญหา PM 2.5 เกิดขึ้นทุกปีในช่วงเวลานี้ของทุกปีเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรก ได้แก่ ปัญหาด้านการผลิต PM 2.5 ที่ยังคงมีอยู่ตลอด เช่น การก่อสร้าง การเผาที่ในแจ้ง การจราจร หรือ การปล่อยมลพิษจากรถยนต์ เป็นต้น ปัจจัยต่อมาคือปัญหาด้านสภาพอากาศที่มีความกดอากาศสูงที่กดให้อากาศนิ่ง เสมือนมีโดมครอบเมืองเอาไว้ทำให้ฝุ่นไม่สามารถผ่านออกไปยังบริเวณอื่นและเกิดการสะสมขึ้น . ดังนั้น จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วปัญหา PM 2.5 ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเวลานี้ของทุกปี หากแต่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี (ไม่เพียงแต่ในกรุงเทพ แต่ยังรวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ด้วย) เพียงแต่สภาพอากาศในช่วงเวลานี้ส่งผลให้เกิดการสะสมของปริมาณฝุ่นเท่านั้น
[มาตรการใดบ้างที่ช่วยป้องกันหรือแก้ปัญหา PM 2.5]ปัญหาด้านมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกประเทศในโลก โดยแต่ละประเทศก็มีแนวทางในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป เช่น การเก็บค่ามลพิษสำหรับรถเก่าในการวิ่งผ่านเมืองในช่วงเวลาที่กำหนด การทุ่มงบประมาณในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพเพื่อจูงใจให้ประชาชนใช้บริการมากขึ้น หรือการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสีย เป็นต้น
ในขณะที่นานาประเทศมีความตื่นตัวในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ประเทศไทยเองก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษหลายต่อหลายฉบับด้วยกัน เช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ,พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535, พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535, พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 หรือ พ.ร.บ. นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 เป็นต้น โดยกฎหมายต่าง ๆ ที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้นมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น โดยมีหลักเกณฑ์ในการควบคุมการสร้างและปล่อยมลพิษ มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ ตลอดจนบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนเอาไว้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายหลายฉบับก็ยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่หย่อนกว่ามาตรฐานสากล
[ปริมาณไม่ได้สะท้อนคุณภาพ]แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศหลายต่อหลายฉบับ แต่การมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหามลพิษจำนวนมากไม่ได้หมายความว่าจะแก้ปัญหามลพิษทางอากาศได้ เพราะ หากปริมาณสัมพันธ์กับคุณภาพแล้วก็คงไม่เกิดปัญหา PM 2.5 ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้อย่างแน่นอน
[การบังคับใช้กฎหมายที่เน้นแต่การลงโทษ ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน] บังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดไม่อาจช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดอากาศบริสุทธิ์ควบคู่กันไปด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้นการมีกฎหมายที่เน้นไปที่การลงโทษผู้ปล่อยมลพิษ และการบังคับใช้กฎหมายที่เดี๋ยวตึงเดี๋ยวหย่อน ไม่อาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาจะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์ประกอบด้วย โดยพิจารณาว่ากฎหมายต้องช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน
[อย่าผลักภาระให้ประชาชน] การที่รัฐออกมาบอกว่าให้ประชาชนช่วยคิด โดยผิวเผินอาจจะดูเป็นการชักชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่หากพิจารณาถึงปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิมของทุกปีแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารนโยบายของภาครัฐเสียมากกว่านอกจากนี้ ออกนโยบายกระตุ้นให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือการใช้รถยนต์พลังงานสะอาดหรือรถยนต์ไฟฟ้า หากมองผิวเผินก็คงจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาได้ แต่หากไร้ซึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว นโยบายดังกล่าวก็มีแต่จะเป็นการผลักภาระให้ประชาชนเท่านั้น เนื่องจากประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการใช้บริการสาธารณะที่มีราคาสูง หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หรือภาระในถ้านอื่น ๆ
[ภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา] หากภาครัฐต้องการจะกระตุ้นหรือส่งเสริมสิ่งใดซักอย่าง รัฐควรมีมาตรการที่เปรียบเสมือนเข็มทิศที่บอกว่าทิศทางของการแก้ปัญหาควรไปทางไหน ด้วยวิธีการอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น หากรัฐต้องการให้ประชาชนใช้บริการสาธารณะมากขึ้น รัฐควรมีการพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ มีการควบคุมกลไกราคาที่เหมาะสมกับอัตราค่าครองชีพของประชาชน หรือ หากรัฐอยากจะกระตุ้นให้คนไปใช้รถไฟฟ้า ก็ควรกำหนดมาตรการสนับสนุนเพื่อจูงใจประชาชน เช่น ที่กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดให้ลดอัตราภาษีประจำปีสำหรับรถพลังงานสะอาด เป็นต้น ตลอดจนแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมดังกล่าวแม้ว่าการส่งเสริมลักษณะนี้จะนำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแก่ภาครัฐ แต่หากเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเสียไป ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนแล้วคงต้องบอกว่าเป็นการจ่ายที่คุ้มค่า
ท้ายที่สุดแล้ว การแก้ไขปัญหา PM 2.5 คงไม่อาจประสบผลสำเร็จได้โดยปราศจากทิศทางที่แน่นอน และภาครัฐควรมีบทบาทนำในการกำหนดทิศทางและมาตรการต่าง ๆ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ การพิจารณาแก้ไขกฎระเบียบที่จำเป็น หรือกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา การวางโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ระบบขนส่ง ตลอดจนการพัฒนานโยบายอันจะช่วยจูงใจให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และการพัฒนาระบบการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในอนาคต
PM 2.5 กับสิทธิที่จะมีอากาศที่ดีไว้หายใจ