PLC เพื่อการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ศิลปศึกษา

ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC) มีพัฒนาการมาจาก     กลยุทธ์ระดับองค์กรที่มุ่งเน้นให้องค์กรมีการปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มพัฒนาจากแนวคิดองค์กรแห่งการเรียนรู้ และปรับประยุกต์ให้มีความสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและการเรียนรู้ร่วมกันในทางวิชาชีพที่มีหน้างานสำคัญ คือ ความรับผิดชอบการเรียนรู้ของผู้เรียนร่วมกันเป็นสำคัญ ซึ่งจากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินการในรูปแบบ PLC พบว่าเกิดผลดีทั้งวิชาชีพครูและผู้เรียน ที่มุ่งพัฒนาการของผู้เรียนเป็นสำคัญ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2560)

การจัดการเรียนรู้ศิลปศึกษา จึงสามารถนำรูปแบบการพัฒนาการจัดการเรียนรู้จากแนวคิด ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) มาใช้ในการพัฒนาโดยผ่านกระบวนการดังนี้

1. สร้างทีมครู (Community) โดยการรวบรวมคณะครูที่สนใจ และต้องการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ อาจเป็นครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ทั้ง 3 สาระ คือ ทัศนศิลป์ ดนตรี และนาฏยศิลป์ เพื่อให้สะดวกต่อการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ โดยอาศัยการมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข และมีความรับผิดชอบร่วมกัน และกำหนดบทบาทเพื่อการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งทีมที่มีคุณภาพควรมีสมาชิกระหว่าง 3-5 คน

2. จัดการเรียนรู้ (Practice) เมื่อทีมครูกำหนดบทบาทจากการวางแผนการพัฒนาร่วมกันแล้ว      จะนำไปสู่การปฏิบัติ จัดการเรียนรู้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยมีทีมครูคอยสังเกตกระบวนการจัดการเรียนรู้ต่าง ๆ ภายในชั้นเรียน เวียนกันไปจนครบทุกคนในทีม

3. สะท้อนคิด (Reflection) หลังจากการสังเกต ทีมครูจะร่วมกันสะท้อนผลกระบวนการจัดการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้ดียิ่งขั้นไป โดยมุ่งไปที่ประเด็นจากพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ ไม่ตำหนิ หรือวิจารณ์ในเชิงลบ สร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันอย่างกัลยาณมิตร เพื่อเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน

4. ประเมินผล (Evaluation) เพื่อการพัฒนาสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้ โดยนำผลการสะท้อนคิด มาร่วมกันาแนวทางการแก้ไข และพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้ หรือค้นหาสิ่งสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้นไป

5. สร้างเครือข่ายการพัฒนา (Network Development) เมื่อได้รับผลลัพธ์ดีจากการร่วมกันพัฒนาผ่านกระบวรการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพแล้ว ควรนำไปสู่การเผยแพร่ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงกว้าง สร้างเป็นเครือข่ายการพัฒนาทางวิชาชีพ ขยายโอกาสในการพัฒนาไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายในบริบททางการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในวงกว้าง และเป็นไปอย่างมีระบบ

การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ศิลปศึกษา ด้วยกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่คอยสนับสนุนให้กระบวนการมีประสิทธิภาพ การสร้างการมีส่วนร่วมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้กระบวนการพัฒนาสำเร็จ และเกิดผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการจัดการเรียนรู้ศิลปศึกษา คือการพัฒนาสุนทรียภาพและความคิดสร้างสรรค์ หากครูผู้สอนพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ อาจช่วยให้สามารถดำเนินการพัฒนาพัฒนาผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการจัดการเรียนรู้รูปแบบบูรณาการยังช่วยลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหา ลดเวลาในการจัดการเรียนรู้ และสร้างความเชื่อมโยงของสาระสำคัญของการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง :

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2560). คู่มือประกอบการอบรมขับเคลื่อนกระบวนการ PLC (Professional Learning Community) “ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” สู่สถานศึกษา. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.