การเขียน Design Brief หรือการเขียนโจทย์สำหรับการออกแบบและสร้างสรรค์ภาพประกอบ เป็นการกำหนดกลยุทธ์ทางการออกแบบที่เกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลและกำหนดประเด็นสำคัญๆ โดยมีผู้กำกับศิลป์ นักออกแบบ และบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดและเขียนโจทย์ของการออกแบบ สามารถทำในรูปแบบของแบบฟอร์มสำหรับใช้กรอกข้อความ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องระบุข้อมูลได้ครบถ้วนทุกเรื่อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเขียนขึ้นด้วยภาษาที่สละสลวย แต่ควรเขียนด้วยข้อความที่เข้าใจง่าย มีความชัดเจนตรงไปตรงมา และควรเป็นข้อความสั้นๆ แสดงให้เห็นแก่นแท้ของข้อมูลเรื่องนั้นๆ
โดยประเด็นหัวข้อการเขียนโจทย์ของการออกแบบและความหมายของสิ่งที่ต้องวิเคราะห์และระบุไว้ในโจทย์การออกแบบและสร้างภาพประกอบ มีทั้งหมด 10 ประเด็น ได้แก่ ชื่องาน, ข้อมูลวรรณกรรม, วัตถุประสงค์, ข้อมูลทางการตลาด, กลุ่มเป้าหมาย, แนวความคิด, เหตุผลสนับสนุน, แนวทางหรือรูปแบบของภาพประกอบที่เป็นไปได้, อารมณ์ ความรู้สึก บุคลิกภาพของงาน และประเภทของสื่อสิ่งพิมพ์และแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งมีรายละเอียดในการเขียน ดังนี้
1. ชื่องาน (Assignment no.)
ระบุชื่อของงานภาพประกอบ ในบางกรณีที่ยังไม่มีการตั้งชื่องานในขณะที่เริ่มออกแบบ อาจจะใส่ชื่อที่เป็นรหัสไปก่อนจนกว่าจะมีชื่องาน ระบุประเภทของภาพประกอบนั้นด้วยว่า เป็นภาพประกอบประเภทใด และใช้เทคนิคใดในการสร้างสรรค์ภาพ
2. ข้อมูลวรรณกรรม (Background)
ระบุข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับภาพประกอบว่าคือเรื่องอะไร มีเนื้อเรื่องอย่างไร เจ้าของงานหรือผู้เขียนเรื่อง ผู้สร้างสรรค์งานจะต้องทำความเข้าใจในเนื้อหาก่อนเริ่มลงมือสร้างภาพประกอบให้ดีเสียก่อน เพื่อจับประเด็นสำคัญและวิเคราะห์หาแนวทางการสร้างสรรค์ประมวลเข้ากับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้างภาพประกอบ ประกอบไปด้วยหัวข้อย่อย ดังนี้