โครงสร้างทางกายภาพและลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีไทย

โครงสร้างทางกายภาพและลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วงศ์วสันต์ วสันตสุรีย์

 

โครงสร้างทางกายภาพของเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด

            เครื่องดนตรีไทยประเภทดีดจะเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงด้วยการใช้มือหรือไม้ดีด ดีดสายให้สั่นสะเทือนจึงจะเกิดเสียงขึ้น ได้แก่

           กระจับปี่

กระจับปี่คือพิณชนิดหนึ่งมี 4 สาย กะโหลกเป็นรูปรีแบนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทวนยาวเรียวโค้งมีนมรับนิ้วสำหรับกดกาย 11 สาย ไม้ดีดทำด้วยเขาหรือกระดูกสัตว์ กระจับปี่เป็นเครื่องดนตรีโบราณ ประสมวงอยู่ในวงมโหรีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย กระจับปี่เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงเบามาก น้ำหนักมาก มีทวนยาว ไม่สะดวกในการบรรเลง ผู้บรรเลงต้องมีนิ้วยาวจึงจะบรรเลงได้ดี ทั้งยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ในปัจจุบันจึงไม่เป็นที่นิยมนำมาประสมวง

           พิณ

                      พิณมี 2 ชนิด คือ พิณน้ำเต้าและพิณเพียะ ลักษณะคล้ายกันคือกะโหลกทำด้วยน้ำเต้า ลูกบิดสายสำหรับเร่งและตั้งเสียง พิณน้ำเต้ามีสายเดียว ส่วนพิณเพียะมี 4 สาย ใช้ดีดประสานและคลอกับเสียงร้องของผู้บรรเลง

           จะเข้

                      จะเข้เป็นเครื่องดีดที่มีเสียงกังวานไพเราะ สันนิษฐานว่าปรับปรุงมาจากพิณเพื่อให้นั่งดีดได้สะดวก ตัวจะเข้ทำด้วยไม้ขนุนท่อนเดียว มีเท้ารองตอนหัว 4 อัน ตอนปลายหางอีก 1 อัน มี 3 สาย เป็นสายลวดทองแดง 1 สาย สายเอ็น 2 สาย ไม้ดีดกลมปลายแหลมใช้ดีดไปบนนมจะเข้ซึ่งมี 11 อัน จะเข้ใช้ประสม
อยู่ในวงเครื่องสายและวงมโหรี ถ้าเป็นวงเครื่องคู่และวงเครื่องใหญ่จะมี 2 ตัว ทำหน้าที่ดำเนินทำนองถี่ๆบ้าง พักเป็นระยะบ้างช่วยให้ลีลาของเพลงแกร่งกังวานและไพเราะน่าฟัง (สุรพล สุวรรณ, 2549 : 39-40)

 

ลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด

           กล่าวโดยรวมซึ่งเป็นส่วนใหญ่ในลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีดนั้น จะมีความกระชับของเสียงในลักษณะเสียงขาด ไม่กังวานเมื่อบรรเลงด้วยการดีดกระทบเพียงหนึ่งครั้ง การทำให้เกิดเสียงที่ลากยาวและต่อเนื่องจำต้องรัวไม้ดีดในเครื่องดนตรีนั้นๆจึงจะมีเสียงกังวาน ได้รสการฟังอีกรูปหนึ่งต่างจากการดีดเพียงครั้งเดียว

 

โครงสร้างทางกายภาพของเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องสี

            เครื่องดนตรีไทยประเภทสีจะเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงด้วยการใช้คันชัก สีกับสายของเครื่องดนตรีนั้นๆให้สั่นสะเทือนจึงจะเกิดเสียงขึ้น ได้แก่

           ซอสามสาย

                      ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ของไทย ในสมัยสุโขทัยเรียกซอพุงตอ จัดเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงยาก แต่ก็เป็นที่นิยมกันมากเนื่องจากมีความไพเราะและสอดประสานเสียงกับการขับร้องอย่างสนิทสนม กะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าวชนิดพิเศษ คือมีกะลานูนเป็นกระพุ้งออกมา 3 ปุ่ม คล้ายวงแหวน 2 วง วางอยู่ในรูปสามเหลี่ยมแบบสามเส้า ขึงหนังแพะหรือหนังลูกวัวปิดปากกะลา ส่วนประกอบที่สำคัญนอกจาก “หย่อง” ซึ่งเป็นไม้สำหรับหนุนสายตรงหนังหน้าซอให้สายตุงออกมาแล้วยังมี “ถ่วงหน้า” ตรงด้านซ้ายของหนังหน้าซอ เพื่อช่วยให้ซอมีความไพเราะ กังวาน ทั้งยังเป็นส่วนที่ประดับประดาด้วยอัญมณีเพื่อให้เกิดความสวยงามอีกด้วย

                      ซอสามสายประสมอยู่ในวงขับไม้ วงมโหรี และวงดนตรีประกอบชุดโบราณคดี หน้าที่ในการบรรเลง จะเป็นประธานของวงในวงขับไม้และวงมโหรี บรรเลงเป็นเสียงยาวบ้าง โหยหวนบ้าง เก็บทำนองถี่ ๆ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เคล้าและคลอเสียงร้องด้วย

           ซอด้วง

                      ซอด้วงเป็นซอสองสาย กระบอกเดิมทำด้วยไม้ไผ่ ในปัจจุบันนิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง เจาะกลึงขึ้นหน้ากระบอกซอด้วยหนังงูเหลือม คันทวนตอนบนปาดปลาย ลักษณะคล้ายโขนเรือ มีลูกบิด 2 ลูกสอดคันชักระหว่างสายซอทั้งสอง 2 เส้น เนื่องจากรูปร่างลักษณะของกระบอกซอคล้ายด้วงดักสัตว์จึงเรียกชื่อว่า “ซอด้วง” ใช้ประสมในวงเครื่องสายและมโหรี ทำหน้าที่เป็นเครื่องนำวงในวงเครื่องสาย (ส่วนในวงมโหรีมิได้เป็นผู้นำวงเพราะมีระนาดเอกเป็นผู้นำอยู่แล้ว) นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ดำเนินเนื้อเพลงและเป็นหลัก
ของวงอีกด้วย

           ซออู้

                      ซออู้เป็นซอสองสายเช่นเดียวกับซอด้วง กะโหลกทำจากกะลามะพร้าวปาดข้างและแกะสลักลวดลาย เพื่อเปิดให้มีช่องเสียง หุ้มหนังซอด้วยหนังแพะหรือหนังลูกวัว คันทวนตั้งตรง ลักษณะเด่นของซออู้ คือเสียงที่ทุ้มต่ำ กังวาน ซออู้ประสมอยู่ในวงเครื่องสายมโหรี ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ปี่พาทย์ไม้นวม และวงดนตรีประกอบระบำชุดโบราณคดี (สุรพล สุวรรณ, 2549: 40-41)

 

ลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องสี

            กล่าวโดยรวมซึ่งเป็นส่วนใหญ่ในลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องสีนั้น จะมีความเป็นอัตลักษณะของเครื่องดนตรีที่เด่นชัด กล่าวคือ ซอสามสาย มีความสง่างาม สัมผัสสุนทรียรสดังกล่าวได้จากการฟัง การบรรเลง ซอด้วง มีน้ำเสียงที่สดใส แหลมคมแต่ไม่เสาะโสตประสาท มีความพอดี สมบูรณ์พร้อม และซออู้ มีน้ำเสียงที่ทุ้ม กังวาน ดำเนินการบรรเลงให้มีท่วงทำนองอ่อนหวาน เศร้าโศก ได้ดี ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่สอดทำนองคลุกเคล้า ยั่วเย้าหลอกล้อกับซอด้วงและเครื่องดนตรีประเภทดำเนินทำนองในวงดนตรีนั้นๆได้ดีเช่นกัน

 

โครงสร้างทางกายภาพของเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตี

            เครื่องดนตรีไทยประเภทตีจะเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงด้วยการมือ ไม้ตี หรือตัวเครื่องดนตรีเอง กระทบกับเครื่องดนตรีนั้นๆจึงจะเกิดเสียงขึ้น เครื่องดนตรีประเภทนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.       เครื่องดนตรีที่ทำหน้าที่ดำเนินทำนองเพลง

                      การดำเนินทำนองเพลงหมายถึง การที่นักดนตรีได้บรรเลงไปตามลีลาทำนอง เป็นเพลงต่าง ๆ โดยให้เสียงเคลื่อนที่ไปตามสำนวนที่นักดนตรีแต่งขึ้น เครื่องดนตรีเหล่านี้ ได้แก่

           ระนาดเอก

            ระนาดเอกเป็นเครื่องดนตรีที่มีวิวัฒนาการมาจากกรับ โดยการนำกรับหลายอันที่มีขนาดแตกต่างกันมาร้อยรวมเรียงและแขวนบนรางระนาด นิยมประดิษฐ์จากไม้ไผ่ตง ไม้ชิงชัน ไม้มะหาด ไม้พยุงแกน เป็นต้น มีลูกระนาด 21-22 ลูก เทียบเสียงด้วยการถ่วงตะกั่ว เวลาบรรเลงโดยปกติจะตีพร้อมกันทั้งสองมือ เป็นคู่แปด ดำเนินทำนองเก็บถี่ ๆ โดยตลอดโดยแปรลูกฆ้อง (Basic melody) ออกเป็นทำนองเต็ม (Full melody) โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำวง ลีลาการตีมีหลายชนิด เช่น การกรอ กวาด เก็บ สะบัด ขยี้
คาบลูก คาบดอก เป็นต้น ใช้ตีด้วยไม้แข็งหรือไม้นวม

           ระนาดทุ้ม

                      ระนาดทุ้มเป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นในสใยรัชกาลที่ 3 โดยประดิษฐ์เลียนแบบระนาดเอกแต่ใหญ่ กว้าง และเสียงทุ้มกว่า ระนาดทุ้มมีลูกระนาด 17-18 ทำหน้าที่แปรลูกฆ้องออกเป็นทางและลีลาตลกคะนอง มีการขัด ล้อ ล้วง ล้ำ เหลื่อม เป็นต้น การตีก็ตีพร้อมกันทั้งสองมือเป็นคู่แปดบ้าง ดำเนินทำนองเก็บถี่ ๆ บ้าง ตีมือละลูกบ้าง มือละหลายๆ ลูกบ้าง (มนตรี ตราโมท, 2538 : 22) สอดแทรก ยั่วเย้าหลอกล้อไปกับเครื่องดำเนินทำนองให้สนุกสนาน

ระนาดเอกเหล็ก

                      ระนาดเอกเหล็กเรียกชื่อหนึ่งว่าระนาดทอง เป็นเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยประดิษฐ์จากเหล็กหรือทองเหลือง เมื่อบรรเลงจึงมีเสียงดังกว่าระนาดไม้ ระนาดเอกเหล็ก ทำหน้าที่ในการบรรเลงโดยแปรลูกฆ้องออกเป็นทำนองเต็มเหมือนระนาดเอก (ไม้) เพียงแต่ไม่ได้ทำหน้าที่ผู้นำวงเท่านั้น

           ระนาดทุ้มเหล็ก

                      ระนาดทุ้มเหล็กประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้สร้างขึ้นโดยทรงได้แนวคิดมาจากหีบเพลงฝรั่ง ระนาดทุ้มเล็กมี 16 ลูก ทำหน้าที่ในการแปรลูกฆ้องออกเป็นทำนองเต็ม ดำเนินทำนองโดยการตีทีละลูกหรือหลายๆ ลูกให้ห่างๆ เพราะเสียงกังวานและหึ่ง จึงทำหน้าที่คล้าย (Bass) ของวงดนตรีตะวันตก

           ฆ้องวงใหญ่

                      ฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่มีวิวัฒนาการมาจากฆ้องเดี่ยว ฆ้องคู่ ฆ้องราว และฆ้องราง จนกระทั่งเป็นฆ้องวง โดยมีลูกฆ้องร้อยเรียงบนรางรอบร้านฆ้องจำนวน 16 ลูก เรียงจากลูกเล็กด้านซ้ายมือมาลูกใหญ่ด้านขวามือ การดำเนินทำนองเพลงของฆ้องวงใหญ่จะทำหน้าที่ดำเนินเนื้อเพลงหลักอันเป็นแม่บทของบทเพลง ในทางดุริยางค์ไทยเรียกว่า “ลูกฆ้อง” (Basic melody) และจัดว่าเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญที่สุด นักดนตรีในวงปี่พาทย์ทุกคนจะเริ่มหัดเรียนจากฆ้องวงใหญ่ก่อนจึงจะเปลี่ยนไปเรียนเครื่องดนตรีชนิดอื่น นอกจากนี้ในการแต่งเพลงนักดนตรีส่วนใหญ่จะแต่งจากฆ้องวงใหญ่ การบรรเลงของเครื่องดนตรีประเภทดำเนินทำนองทั่วไป จะนำเอาลูกฆ้องของฆ้องวงใหญ่นี้แปรเป็นทางของตัวเอง และดำเนินการบรรเลงไปตามทางของเครื่องนั้นๆ ในด้านประวัติ สันนิษฐานว่าฆ้องวงใหญ่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

           ฆ้องวงเล็ก

                      ฆ้องวงเล็กเป็นเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อให้เข้ากับฆ้องวงใหญ่ มีขนาดเล็กกว่าแต่มีจำนวนลูกฆ้องมากกว่าโดยมี 18 ลูก ทำหน้าที่ดำเนินทำนองโดยแปรลูกฆ้องออกเป็นทำนองเต็มด้วยการตีเก็บถี่ ๆ มือละลูกบ้าง มือละหลายๆ ลูกบ้าง สะบัด กวาด ขยี้ กรอ ไปตามโอกาสของเพลง และทำหน้าที่สอกแทรกทำนองในทางเสียงสูง

           ฆ้องมอญวงใหญ่

                      ฆ้องมอญวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีของชาวรามัญ นักดนตรีไทยนำเครื่องดนตรีชนิดนี้มาบรรเลงทั่วไปเพื่อประกอบการแสดงละคนพันทางบ้าง ประโคมในงานศพบ้าง ลักษณะของฆ้องมอญจะมีรูปทรงที่โค้งขึ้นไปทั้งสองข้างมีลวดลายตกแต่งสวยงาม มีลูกฆ้อง 15 ลูก ดำเนินทำนองเพลงและทำหน้าที่เหมือนฆ้องวงใหญ่ขอไทย

ฆ้องมอญวงเล็ก

                      ฆ้องมอญวงเล็กเป็นเครื่องดนตรีที่ไทยประดิษฐ์ขึ้นตามแบบอย่างของฆ้องวงเล็กแต่ให้มีรูปทรงเหมือนฆ้องมอญ มีลูกฆ้อง 18 ลูก ดำเนินทำนองเพลงและทำหน้าที่แปรลูกฆ้องเหมือนฆ้องวงเล็กของไทย

           2. เครื่องตีที่ทำหน้าที่กำกับจังหวะ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

                      2.1 เครื่องดนตรีที่ขึงด้วยหนัง เรียกว่าเครื่องหนัง การขึงหนังนี้จะขึงหนังหน้าเดียวหรือสองหน้าก็ได้ ตัวไม้ที่ใช้สำหรับขึงหนังเรียก “หุ่น” เครื่องดนตรีเหล่านี้ได้แก่

                      ตะโพน

                                ตะโพนเป็นเครื่องหนังที่ขึงหนังสองหน้า หน้าใหญ่เรียก “หน้าเท่ง” หน้าเล็กเรียก “หน้ามัด” ที่หน้าเท่งจะติดข้าวสุกบดผสมขี้เถ้าไว้ตรงกลางที่ได้ทายางรักเป็นวงกลมไว้ เพื่อถ่วงเสียงตามต้องการ ถ้าติดมากเสียงจะก้องต่ำ การที่ต้องทารักไว้ก็เพื่อรักษาหนังเป็นศูนย์กลางและเป็นเครื่องหมายให้นักดนตรีได้สังเกต และเพื่อป้องกันมิให้เกิดสุญญากาศเวลาติดข้าวสุกบด ตัวตะโพนใช้สายหนังเส้นๆเรียงโยงรอบหุ่นตรงขอบหนังขึ้นหน้าจะถักด้วยหนังตีเกลียวเส้นเล็ก ๆ เรียกว่า “ไส้ละมาน” ตัวหุ่นตั้งอยู่บนฐานวางกลอง เรียกว่า เท้ารับ ตีสองมือพร้อมกันบ้าง สลับกันบ้าง ทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับให้รู้วรรคตอนและประโยคของเพลง ทั้งทำหน้าที่เป็นผู้นำกลองทัดด้วย ตะโพนนี้สามารถตีได้เสียงถึง 12 เสียง คือเสียง เท่ง เทิด เถอะ (ถะ) ปะ พรึง เพริ่ง ตุ๊บ ติง ตึ๊ด เพริด ผรืด และปรั้ง

                     กลองสองหน้า

                                กลองสองหน้ามีลักษณะคล้ายตะโพนแต่เล็กและยาวกว่า กลองสองหน้าประดิษฐ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ใช้ใบเดียวทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับแทนตะโพน เพื่อใช้กำกับจังหวะในวงปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการขับเสภาหรือร้องส่ง สองหน้านี้สามารถตีให้เกิดเสียงได้ 8 เสียง คือ ติง ตุ๊บ ป๊ะ เท่ง ถะ พรึง ผรืด และปรั้ง

                      กลองทัด

                                กลองทัดเป็นกลองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงปี่พาทย์ และเป็นกลองเก่าแก่ที่สุดของไทย เป็นกลองที่ขึงหนังสองหน้า หุ่นกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็งคว้านข้างในออกจนเป็นโพรงทะลุกลวงขึงหนังด้วยหนังวัว หนังควายหรือหนังช้าง ตรึงหนังให้ติดกับตัวกลองด้วยหมุดเรียกว่า “แส้” ตรงกลางหุ่นมีห่วงสำหรับแขวนเรียก “หูระวิง” หรือ “หูกระวิง” ในสมัยโบราณใช้ตีย่ำค่ำบอกเวลาเรียก “ทุ่ม” ที่หอกลองมีกลองประเภทนี้ 3 ใบ สำหรับตีแจ้งเหตุ คือ

                                กลองย่ำสุรสีห์                          สำหรับตีบอกสัญญาณ

                                กลองอัคคีวินาศ                       สำหรับตีแจ้งเหตุเพลิงไหม้

                                กลองพิฆาตไพรี                        สำหรับตีแจ้งให้เตรียมตัวพร้อมรบ

 

                                ตามวัดในพุทธศาสนาใช้ตีบอกเวลาให้พระลงฉัน เรียก “กลองเพล” ภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชใช้ตีในเทศกาลชักพระหรือตีในโอกาสมงคลต่าง ๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา เรียกกลองทัดตามภาษาถิ่นว่า “โพน” ในวงปี่พาทย์เดิมใช้เพียงลูกเดียว ต่อมาในรัชกาลที่ 1 นักดนตรีใช้เพิ่มเป็น 2 ลูก แยกเป็นกลองตัวผู้มีเสียงสูงดัง “ตูม” และตัวเมียมีเสียงทุ้มต่ำดัง “ต้อม”ในการบรรเลงจะทำหน้าที่กำกับจังหวะไม้กลอง ตีห่างบ้างถี่บ้างตามแผนของเพลงแต่ละเพลง

                      กลองตะโพน

                                กลองตะโพนก็คือตะโพนนั่นเอง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนำตะโพน 2 ลูก มาวางตีแทนกลองทัดสำหรับการบรรเลงกำกับจังหวะไม้กลองในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ บางโอกาสก็ใช้บรรเลงแทนกลองทัดในวงปี่พาทย์ไม้นวม ทั้งนี้เพื่อมิให้เสียงดังกึกก้องเกินไป

                      โทน – รำมะนา

                                โทน จำแนกเป็น 2 ชนิดคือ โทนชาตรีใช้ในวงเครื่องโนราห์ เครื่องหนังตะลุงละครชาตรี และโทนมโหรีในวงเครื่องสายวงมโหรี ใช้คู่กับรำมะนา สำหรับกำกับจังหวะหน้าทับ

                      กลองชนะ

                                กลองชนะเป็นเครื่องประโคมในกระบวนเสด็จพยุหยาตรา ใช้ประโคมพระบรมศพและเจ้านาย ใช้บรรเลงครั้งละหลายลูก กลองชนะมีลักษณะคล้ายกลองมลายู แต่สั้นและอ้วนใหญ่กว่า บรรเลงใช้ไม้งอๆ ตีเหมือนกลองมลายู

                      กลองแขก

                                กลองแขกเป็นกลองซึ่งขึงหนังสองหน้า สายเร่งเสียงทำด้วยหนังตัดเป็นเส้นยาว รูปทรงของหุ่นกลองยาวทรงกระบอก ชุดหนึ่งมี 2 ลูกคือ กลองตัวเมียและกลองตัวผู้ กลองชนิดนี้เรียกชื่ออีกอย่างว่า “กลองชวา” เข้าใจว่านำแบบมาจากอินโดนีเซีย ในกฎหมายศักดินาเรียกกลองแขกคือ “หมื่นราชาราชพนักงานกลองแขกนา 200” เดิมใช้บรรเลงร่วมกับวงปี่ชวาประกอบการเล่นกระบี่กระบอง ภายหลังนิยมนำมาบรรเลงประกอบจังหวะหน้าทับในวงปี่พาทย์แทนตะโพน ใช้แทนโทน-รำมะนา ในวงเครื่องสายและวงมโหรี

                      กลองมลายู

                                กลองมลายูมีรูปร่างเหมืมอนกับกลองแขก แต่หุ่นกลองสั้นกว่า อ้วนกว่า หน้ากลองใหญ่กว่าเล็กน้อย ใช้ตีด้วยไม้งอๆ ชุดหนึ่งมี 2 ลูก กลองมลายูนี้ไทยนำแบบมาจากชาวมลายูซึ่งพวกอาสามลายูในสมัยก่อนจะนำกลองมลายูหลายลูกตีประกอบกระบวนพยุหยาตรา ต่อมาไทยจึงนำมาบรรเลงในขบวนแห่พระบรมศพและศพเจ้านาย นอกจากนี้ก็นำมาบรรเลงประโคมศพโดยจัดเป็นชุด ชุดหนึ่งมี 4 ลูก มีปี่ชวา 1 เลา และเหม่ง 1 ลูก เรียกว่ากลองสี่ปี่หนึ่ง ภายหลังลดกลองมลายูเหลือ 2 ลูก ใช้บรรเลงในวงบัวลอย ประกอบงานศพ นอกจากนี้ยังใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์นางหงส์อีกด้วย

                      กลองชาตรี

                                กลองชาตรีมีรูปร่างลักษณะและการตีเหมือนกับกลองทัดทุกอย่าง แต่ขนาดเล็กกว่ามาก ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ชาตรี ประกอบการแสดงละครชาตรี โนราห์ หนังตะลุง ภาษาถิ่นใต้เรียกวงดนตรีนี้ว่า วงเครื่องโนราห์หรือวงเครื่องหนัง

                      กลองยาว

                                กลองยาวเป็นกลองหน้าเดียว รูปทรงยาวเรียวใช้สายหนังเร่งเสียงตรงกลางกลองทารักและใช้ข้าวสุกบดขี้เถ้าถ่วงเสียง เวลาบรรเลงใช้สายสะพาย ใช้บรรเลงในกระบวนแห่ต่าง ๆและประกอบการแสดงเรียกรำกลองยาวหรือเถิดเทิง

                      บัณเฑาะว์

                                เครื่องดนตรีไทยรับมาจากอินเดียใช้ในวงขับไม้ สำหรับบรรเลงประกอบพระราชพิธีต่างๆ เช่น ขับกล่อมสมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระคชาธาร พิธีขึ้นพระอู่ เป็นต้น เวลาบรรเลงเรียกว่า ไกว

                      มโหระทึก

                                มโหระทึกเป็นกลองโบราณ ตัวกลองทำด้วยโลหะผสมหล่อประกอบด้วยทองแดง ดีบุก และตะกั่ว ในปัจจุบันใช้ตีในพระราชพิธีสำคัญ

                      เปิงมางคอก

                                เปิงมางคอกเป็นกลองของชาวรามัญ ลักษณะกลองเป็นกลองสองหน้า ขึงหนังเร่งเสียงด้วยเส้นหนัง ร้อยแขวนล้อมอยู่ในคอกจำนวน 7 ลูก ประกอบอยู่ในวงปี่พาทย์มอญ

 

                     2.2 เครื่องตีที่ทำหน้าที่กำกับจังหวะทั่วไป และใช้โอกาสต่าง ๆ เครื่องดนตรีเหล่านี้ได้แก่

                      ฉิ่ง

                                ฉิ่งเป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ รูปร่างคล้ายถ้วยชาไม่มีก้น เว้ากลาง ปากผาย กลม เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือกเพื่อให้เกิดความสะดวกในการตี ประสมอยู่ในวงดนตรีเกือบทุกวง ได้แก่  วงปี่พาทย์ประเภทต่างๆ วงมโหรี วงเครื่องสาย วงกลองยาว เป็นต้น

                      ฉาบ

                                ฉาบเป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ รูปร่างคล้ายฉิ่งแต่บางและมีขนาดกว้างกว่าใหญ่กว่า แผ่ขอบข้างโดยรอบมี 2 ชนิด คือ ฉาบใหญ่ทำหน้าที่ควบคุมจังหวะใหญ่ในวงปี่พาทย์มอญและฉาบเล็กทำหน้าที่หลอกล้อยั่วเย้าไปกับเครื่องประกอบจังหวะชนิดอื่น ๆ ในวงดนตรีทั่วไป

                      ฆ้อง

                                ฆ้องเป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยโลหะ มีปุ่มตรงกลางสำหรับตี ขอบข้างเรียกว่า “ฉัตร” ตรงด้านหน้าของฉัตรจะเจาะรูสำหรับร้อยเชือกแขวน ใช้ตีด้วยไม้ ฆ้องมีหลายชนิด ได้แก่

                                ฆ้องโหม่ง เป็นฆ้องขนาดกว้าง บางทีเรียก “โหม่ง” ใช้ควบคุมจังหวะใหญ่ในการบรรเลง สมัยโบราณใช้ตีบอกเวลากลางวันเรียก “โมง” คู่กับการบอกเวลากลางคืนของกลองทัดที่ดัง “ทุ่ม-ทุ่ม” จึงเรียกว่า “ทุ่ม” ในเวลากลางคืน และ “โมง” ในเวลากลางวัน

                                ฆ้องเหม่ง เป็นฆ้องขนาดเล็ก รูปร่างเหมือนฆ้องโหม่งแต่เล็กกว่า ใช้ประสมในวงบัวลอยและวงปี่กลองมลายู

                                ฆ้องราว เป็นฆ้อง 3 ใบลดหลั่นทั้งเสียงและขนาด เวลาตีดัง “โม้ง-โมง-โหม่ง”ใช้ตีประกอบการเล่นมหรสพโบราณชื่อ “ระเบง” หรือ “โอละพ่อ” บางทีเรียก “ฆ้องระเบง”

                                ฆ้องคู่ เป็นฆ้องขนาดเล็ก 2 ใบ สูงใบหนึ่ง ต่ำใบหนึ่ง ฆ้องชนิดนี้แขวนร้อยอยู่ในหีบไม้กล่องสีเหลี่ยม ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ชาตรี หรือที่เรียกว่าวงเครื่องโนราห์หรือวงเครื่องหนัง ภาษาถิ่นใต้เรียกฆ้องคู่ว่า “โหม่ง”

                                ฆ้องราง เป็นฆ้องที่มีรูปร่างเหมือนฆ้องคู่ วงแขวนเรียงอยู่บนรางมี 8 ลูก 7 เสียง ไม่ใช่ในวงดนตรี ฆ้องรางนี้เป็นฆ้องที่วิวัฒนาการมาเป็นฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็กของไทย

                                ฆ้องชัย เป็นฆ้องขนาดใหญ่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฆ้องหุ่ย ฆ้องหุ่ยในสมัยโบราณใช้ตีเป็นหลักสัญญาณในกองทัพ ปัจจุบันใช้ตีในงานพิธีมงคล เช่น การทำขวัญนาค เบิกฤกษ์ต่าง ๆ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนำฆ้องชัยมาแขวนบนกระจัง 7 ลูก 7 เสียงเรียกวงฆ้องชัยหรือหุ่ย ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

                                กรับ เป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยไม้ ใช้ประกอบจังหวะในวงดนตรีประเภทต่างๆ แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ

                                           กรับคู่ ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้จริง ใช้ตีควบคุมจังหวะใหญ่ในการขับร้องและบรรเลงดนตรีทั่วไป

                                           กรับพวง เป็นกรับที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหนาปลายโค้งแหลม สอดแผ่นโลหะและไม้แผ่นไว้ตรงกลาง 3-4 แผ่นสลับกัน เมื่อผายออกจะมีรูปคล้ายพัด ใช้ประสมในวงมโหรี เครื่องสาย

                                           กรับเสภา ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง นิยมใช้ไม้ชิงชัน มีรูปยาวสี่เหลี่ยมเวลาบรรเลงใช้ขยับให้กรับกระทบกัน มี 2 คู่ ประกอบการขับเสภา (สุรพล สุวรรณ, 2549 : 41-50)

 

ลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตี

            กล่าวโดยรวมซึ่งเป็นส่วนใหญ่ในลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตีนั้น จะมีความสง่างาม น่าเกรงขาม เสียงค่อนข้างมีอำนาจ แสดงถึงความเป็นหลักในการควบคุมระดับเสียงในวงได้ หากเป็นเครื่องตีที่ทำจากไม้ จะมีความกระชับของเสียงในลักษณะเสียงขาด ไม่กังวานเมื่อบรรเลงด้วยการตีกระทบเพียงหนึ่งครั้ง ในเครื่องตีที่ดำเนินทำนองได้นั้น การทำให้เกิดเสียงที่ลากยาวและต่อเนื่องจำต้องรัวหรือกรอไม้ตีลงบนผืนของเครื่องดนตรีนั้นๆจึงจะมีเสียงกังวาน ได้รสการฟังอีกรูปหนึ่งต่างจากการตีเพียงครั้งเดียวในทางกลับกันหากเป็นเครื่องตีที่ทำจากโลหะ จะมีความกังวานของเสียงแม้การตีกระทบเพียงครั้งเดียวส่วนเครื่องตีที่ทำจากหนัง จะมีระดับความกังวานของเสียงอยู่ระดับกลางเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องตีที่ทำมาจากไม้กับเครื่องตีที่ทำมาจากโลหะ

 

โครงสร้างทางกายภาพของเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องเป่า

            เครื่องดนตรีไทยประเภทเป่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงด้วยการใช้ลมของผู้บรรเลงผ่านลิ้นหรือดากของเครื่องดนตรีนั้นๆ จึงจะเกิดเสียงขึ้น ได้แก่

                      ปี่

                                ปี่เป็นเครื่องดนตรีไทยคิดประดิษฐ์ขึ้นมาใช้แต่โบราณ มีรูปลักษณะตลอดจนวิธีการเป่าที่แตกต่างไปจากเครื่องเป่าทั่วไป ไม่เหมือนกับปี่ชนิดใดในโลก ปี่ไทยสามารถทำเสียงควงได้โดยการเปิดปิดนิ้วต่างกันให้เสียงอยู่ในระดับเดียวกัน เช่นเสียง ตือ-แห่, ตือ-แฮ ทั้งยังเลียนเสียงคำพูดอย่างชัดเจนและใกล้เคียงที่สุด ปี่ที่กล่าวถึงนี้มี 3 ชนิดคือ ปี่ใน ปี่กลาง และปี่นอก ปี่ทั้ง 3 ชนิดนี้มีรูปลักษณะเหมือนกัน แตกต่างกันที่ขนาด หน้าที่ในการบรรเลงคือการเป่าเก็บบ้าง โหยหวนบ้าง คละเคล้าไปกับทำนองเพลง รายละเอียดของปี่มีดังนี้

                                ปี่ใน ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 41-42 เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.5 เซนติเมตร ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ไม้แข็งและประกอบการแสดงโขน หนังใหญ่ ซึ่งแสดงกลางแจ้ง

                                ปี่กลาง ขนาดกลาง ยาวประมาณ 37 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ไม้แข็งประกอบการแสดงโขน หนังใหญ่ ซึ่งแสดงกลางแจ้ง

                                ปี่นอก ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 31 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.5 เซนติเมตร ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ (ปัจจุบันไม่นิยมนำมาประสมวง) และ
วงปี่พาทย์ขาตรีประกอบละครชาตรี โนราห์ หนังตะลุง

                      ปี่ชวา

                                เดิมเป็นของชวา ตัวปี่มี 2 ท่อน ท่อนบนเรียกเลาปี่ ท่อนล่างเรียกลำโพงปี่ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ปี่ชวามีเสียงแหลมดังใช้เป่าคู่กับกลองแขก เรียกวงปี่กลองแขกสำหรับประกอบการเล่นกระบี่กระบอง การชกมวยไทย ประสมกับกลองมลายูเรียกวงปี่กลองมลายูและวงบัวลอย นอกจากนี้ยังประสมในวงปี่พาทย์นางหงส์และวงเครื่องสายปี่ชวา

                      ปี่มอญ

                                ปี่มอญเป็นปี่ของชาวรามัญ ประกอบด้วยเลาปี่และลำโพงปี่ ทำด้วยทองเหลืองทั้งสองส่วน สอดสวมกันหลวมๆ มีเชือกผูกโยงเพื่อมิให้หลุดจากกัน ปี่มอญมีเสียงโหยหวน ฟังแล้วชวนให้เกิดอารมณ์เศร้า ใช้ประสมในวงปี่พาทย์มอญ

                      ขลุ่ย

                                ขลุ่ยเป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของไทย เหตุที่เรียกว่า “ขลุ่ย” สันนิษฐานว่าเรียกตามเสียงที่ได้ยิน ปกติขลุ่ยจะทำด้วยไม้รวกปล้องยาวๆ ไว้ข้อทางส่วนปลาย วัสดุอื่นที่นำมาแทนมีงาช้าง ไม้จริงท่อเอสล่อน ขลุ่ยเลาหนึ่งมีรูสำหรับนิ้วปิดเปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง 7 รู มีดากปิดส่วนบนสำหรับเป่าลม ตอนล่างมีรูปากนกแก้ว และนิ้วค้ำ ขลุ่ยมี 4 ชนิด คือ

                                ขลุ่ยกรวด เป็นขลุ่ยขนาดเล็ก ใช้ประสมในวงเครื่องสายประสมดนตรีฝรั่ง

                                ขลุ่ยหลิบ เป็นขลุ่ยขนาดเล็กแต่ใหญ่กว่าขลุ่ยกรวด ใช้ประสมในวงเครื่องสายวงมโหรีเครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ วงเครื่องสายปี่ชวา เป็นต้น

                                ขลุ่ยเพียงออ เป็นขลุ่ยขนาดกลาง ใช้ประสมในวงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ วงเครื่องสายปี่ชวา วงเครื่องสาย วงมโหรี เป็นต้น

                                ขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่สุด ใช้ประสมวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เป็นต้น (สุรพล สุวรรณ, 2549 : 50-52)

 

ลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องเป่า

            กล่าวโดยรวมซึ่งเป็นส่วนใหญ่ในลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องเป่านั้น จะมีความสง่างาม เสียงดังกระจายไกล อาจเสียงแหลมหรือทุ้มตามแต่เครื่องดนตรี (เครื่องเป่าที่มีลิ้นเช่นเครื่องเป่าตระกูลปี่) มีเสียงที่นุ่มละมุน เสียงไม่แผดดังจนระคายโสตประสาท (เครื่องเป่าที่มีดากเช่นเครื่องเป่าตระกูลขลุ่ย)

 

เอกสารอ้างอิง

มนตรี ตราโมท. (2538). ดนตรีไทยของมนตรี ตราโมท. กรุงเทพฯ: ธนาคารกรุงเทพ. 

สุรพล สุวรรณ. (2549). ดนตรีไทยในวัฒนธรรมไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.