แบบวัดความพึงพอใจในชีวิตสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

ความพึงพอใจในชีวิตเป็นความรู้สึกที่มีอยู่ภายในตัวบุคคลที่ผ่านกระบวนการคิดและประเมินสภาพความเป็นอยู่ของตนเองในภาพรวม ซึ่งความพึงพอใจในชีวิตนี้เป็นตัวบ่งชี้ที่สะท้อนคุณภาพชีวิตของแต่ละบุคคล (Ferrans & Powers, 1995)  การศึกษาความพึงพอใจในชีวิตที่ผ่านมานั้นจะถูกมองว่าความสุข (Happiness)  ความพึงพอใจในชีวิต (Life satisfaction) และความผาสุกเชิงอัตวิสัย (Subjective well–being) มีความหมายเหมือนกันและใช้แทนกันได้ (Interchangeability)

ความพึงพอใจในชีวิตเป็นลักษณะที่เป็นนามธรรมที่มีความซับซ้อน ซึ่งความพึงพอใจของบุคคลแต่ละบุคคลนั้น อาจจะแตกต่างกัน ถึงแม้ว่าอาจจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ดังนั้น ในการให้ความหมายของความพึงพอใจในชีวิตจึงมีผู้ที่อธิบายความหมายของความพึงพอใจในชีวิตแตกต่างกันไป ซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้

Neugarten, Havighurst & Tobin (1961) ให้ความหมายความพึงพอใจในชีวิตไว้ว่าหมายถึง ความรู้สึกที่ดีต่อสภาพความเป็นอยู่ของตนเอง  และการรับรู้ว่าชีวิตมีความหมายและมีความสุขในการดำเนินชีวิต มีความตั้งใจและความอดทนต่อชีวิต ชีวิตนั้นมีความสอดคล้องระหว่างเป้าหมายที่ตั้งไว้กับสิ่งที่ทำได้สำเร็จ การรับรู้ว่าตนเองมีสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสังคมที่ดี การแสดงออกที่แสดงถึงความสุข การมีทัศนคติและอารมณ์ในทางที่ดี

Diener (2003) ให้คำความหมายของความพึงพอใจในชีวิตไว้ว่า เป็นองค์ประกอบหนึ่งของความสุข (Happiness) หรือความผาสุก (Wellbeing) ซึ่งเป็นความรู้สึกน่ายินดีหรือความรู้สึกเชิงบวกที่มีมากกว่าประสบการณ์ความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจและความรู้สึกที่เป็นลบ

Romney et al. (1992) ได้เสนอไว้ว่าความพึงพอใจในชีวิตเป็นแนวคิดที่ให้ความหมายที่สามารถเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นสากล เนื่องจากเหตุผล 3 ประการ คือ 1) ความพึงพอใจในชีวิตเป็นความรู้สึกที่ผ่านกระบวนการทางความคิด  มีการตีความ และอยู่ในบริบททางภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจึงเกิดความคลาดเคลื่อนจากมุมมอง ประสบการณ์พื้นฐาน ความรู้และความเข้าใจในชีวิตที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีการรับรู้คุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันตามแต่ละบุคคล  2) ความพึงพอใจในชีวิตเป็นปัจจัยอยู่บนพื้นฐานของคุณค่า (Value) ที่แฝงอยู่ค่อนข้างมาก การกำหนดความหมายและกรอบความหมายของความพึงพอใจในชีวิตจึงต้องอาศัยกรอบความคิดที่มีความชัดเจน เพื่อให้สามารถวัดและประเมินได้ กระบวนการและผลต่าง ๆ  ทั้งนี้การกำหนดคุณค่าของบุคคลนั้นส่วนใหญ่มักจะได้รับอิทธิพลจากคุณค่าที่สังคมตนเองให้ความสำคัญ 
3) กระบวนการทางคิดของบุคคลได้รับอิทธิพลจากค่านิยม  ซึ่งมีผลต่อการประเมินความพึงพอใจในชีวิต และเนื่องจากค่านิยมแต่ละสังคมนั้นก็มีความแตกต่างกัน  แต่ละสังคมจึงมีความคาดหวังและมุมมองต่อความพึงพอใจในชีวิตที่แตกต่างเช่นเดียวกันการกำหนดความหมายให้ความพึงพอใจในชีวิตมีความสอดคล้องกันโดยมีรากฐานของค่านิยมที่แตกต่างกันนั้นจึงเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม Pavot & Diener (1993) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการประเมินความพึงพอใจในชีวิต นั้นสามารถเกิดขึ้นได้การประเมินชีวิตในภาพรวมของตนเอง บุคคลแต่ละคนจะสร้างหรือกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมกับตนเองที่อยู่บนพื้นฐานการรับรู้ของตน  จากนั้นบุคคลจะเปรียบเทียบระหว่างมาตรฐานที่ตนสร้างหรือกำหนดขึ้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่ได้รับในชีวิตจริง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนั้นเป็นการประเมินความพึงพอใจที่เกิดขึ้นจากภายในตัวบุคคลมากกว่าที่จะเป็นการประเมินด้วยมาตรฐานจากภายนอก

สรุปได้ว่าความพึงพอใจในชีวิตเป็นกระบวนการที่เกิดจากการใช้ประสบการณ์ในการตัดสินใจ ใช้เหตุผล ความรู้ความเข้าใจ เป็นการประเมินตนเองของบุคคลซึ่งเมื่อบุคคลเปรียบเทียบสภาพชีวิตโดยรวมของตนกับมาตรฐานทางสังคม หรือเกณฑ์ต่างๆ ในการดำเนินชีวิต แล้วพบว่าประสบการณ์หรือสภาพชีวิตของตนเกินมาตรฐาน หรือเกณฑ์ที่ตนเองและสังคมกำหนดไว้ บุคคลนั้น จะประเมินและรับรู้ว่าตนเองมีความพึงพอใจในชีวิตและความพึงพอใจในชีวิตของบุคคลจะเกิดขึ้น จากการได้รับการยอมรับ และการยกย่องว่าได้ดำเนินชีวิตตามบรรทัดฐานของสังคม มีภาพลักษณ์ทางบวก มีความสามารถที่จะทำประโยชน์ต่อคนในครอบครัวและต่อคนอื่นในสังคมอันช่วยส่งเสริมให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีความสำคัญ

การวัดความพึงพอใจในชีวิตจึงอยู่บนพื้นฐานของการประเมินชีวิตโดยรวมของบุคคล  ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนั้นเป็นการบวนทางเชิงปัญญา (Cognitive process) ทั้งนี้ในการประเมินความพึงพอใจในชีวิตนั้น บุคคลจะกำหนดมาตรฐานในการประเมินคุณภาพชีวิตดังกล่าวตามการรับรู้และประสบการณ์ของตนเอง จากนั้นจึงเปรียบเทียบมาตรฐานนั้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือสิ่งที่ตนเองได้รับในชีวิต  จากกระบวนการดังกล่าวนั้นบ่งชี้ให้เห็นว่าการประเมินความพึงพอใจในชีวิตเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากภายในตัวบุคคล  มีลักษณะค่อนข้างคงที่และไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาวะอารมณ์ในขณะประเมิน (Pavot and Diener, 1991) เมื่อบุคคลเปรียบเทียบมาตรฐานหรือเกณฑ์ที่คาดหวังในชีวิตไว้ และเปรียบเทียบกับการดำเนินชีวิตของตนหรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วพบว่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มีคุณค่ามากกว่าเกณฑ์ที่ตนกำหนด บุคคลนั้นจะประเมินชีวิตในภาพรวมของตนเองว่าดีและรับรู้ว่าตนมีความพึงพอใจในชีวิตที่ดี

จากแนวคิดดังกล่าวนั้นทำให้ Diener et al. (1985) ได้ทำการพัฒนาเครื่องมือชื่อมาตรวัดความพึงพอใจในชีวิต (The Satisfaction with Life Scale: SWLS) โดยมุ่งวัดความพึงพอใจในชีวิตในภาพรวมของบุคคลซึ่งเป็นองค์ประกอบย่อยของความผาสุกเชิงอัตวิสัย (Subjective wellbeing)  ในการศึกษาในครั้งนี้ให้ความหมายเกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิตว่าเป็นกระบวนการทางความคิดเชิงตัดสิน (Cognitive-judgmental process) ต่อสภาพเป็นอยู่ของชีวิตในภาพรวม  ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาความพึงพอใจในชีวิตที่ผ่านมาที่มักจะเอาอารมณ์ทางบวกและทางลบเข้าซึ่งเป็นตัวแปรด้านอารมณ์และความรู้สึก (Affective domain) มาประเมินคุณภาพชีวิตด้วย ซึ่งผลจากการวิจัยในครั้งนี้จึงยืนยันว่าความพึงพอใจในชีวิตนั้นมีความแตกต่างจากคุณภาพชีวิต (Quality of life) และความผาสุกเชิงอัตวิสัย (Subjective wellbeing)  เนื่องจากในการศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต  ทั้งนี้เนื่องจากการศึกษาเกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิตที่ผ่านมานั้นจะจะมีการใช้ตัวแปรอื่น ๆ แทนความพึงพอใจในชีวิต เช่น ความสุข (Happiness)   หรือความผาสุกเชิงอัตวิสัย (Subjective wellbeing)  (Ramia, 2012) และเป็นตัวแปรที่ใช้แทนกันได้ (Interchangeability)  อย่างไรก็ตามผลการศึกษาของ Diener et al. (1985) นั้นช่วยความชัดเจนของความพึงพอใจในชีวิตมีความชัดเจนและทำให้มีความแตกต่างระหว่างความสุข และความผาสุกเชิงอัตวิสัย ผลการศึกษาพบว่า ความสุขและความพึงพอใจในชีวิตมีความแตกต่างกันในแง่ของพื้นฐานของตัวแปร เนื่องจากความพึงพอใจในชีวิตนั้นอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการทางความคิด (Cognitive) และมีความคงที่มากกว่า ในขณะที่ความสุขนั้นอยู่บนพื้นฐานของอารมณ์ (Affective) มีความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายหรือมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้ามากระทบและพัฒนามาตรวัดความพึงพอใจในชีวิต (Satisfaction with life scale: SWLS) ซึ่งใช้ประเมินความพึงพอใจในชีวิตในภาพรวมของบุคคล ด้วยกระบวนการคิดและการตัดสินคุณค่าต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของตนเองทั้งหมดมีลักษณะเป็นมาตรประมาณค่า 5 ระดับ แบบวัดดังกล่าวนั้นเป็นแบบวัดที่มีประสิทธิภาพสูงเนื่องจากมีจำนวนข้อคำถามเพียง 5 ข้อ มีความเที่ยงแบบสอดคล้องภายในสูง (α=0.87) และมีความเที่ยงแบบคงที่โดยวัดความพึงพอใจในชีวิตในช่วงระยะเวลา 2 เดือนเท่ากับ 0.82 รวมทั้งมีความตรงเชิงโครงสร้างเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นเครื่องมือมาตรฐานในการศึกษาความพึงพอใจในชีวิตโดยมีการแปลในหลายภาษา (Diener & Diener, 2009) และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาความพึงพอใจในชีวิตจนถึงปัจจุบัน

การปรับปรุงและพัฒนาแบบวัดดังกล่าวเป็นภาษาไทย  โดยนำไปทดสอบใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายโดย อัครเดช  เกตุฉ่ำและธัชพงศ์  เศรษฐบุตร (2563)  โดยมีการกำหนดนิยามเชิงปฏิบัติการดังนี้ ความพึงพอใจในชีวิต หมายถึงความรู้สึกที่นักเรียนมีต่อชีวิตในภาพรวมของตนเอง ด้วยกระบวนการคิดและการตัดสินคุณค่าต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของตนเองทั้งหมด ประกอบด้วย ความรู้สึกว่าชีวิตของตนเองนั้นเป็นไปตามอุดมคติหรือมีสิ่งที่ต้องการ รวมทั้งมีความรู้สึกว่าชีวิตของตนเองดีและพึงพอใจกับชีวิต โดยไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเอง ซึ่งสามารถวัดได้จากแบบวัดความพึงพอใจในชีวิตที่ผู้วิจัยแปลและปรับปรุงจากแนวคิดของ Diener et al. (1985) โดยมีข้อคำถามดังนี้

 

ความพึงพอใจในชีวิต

1. โดยรวมแล้วชีวิตของฉันใกล้เคียงกับชีวิตที่ฉันคาดหวังไว้

2. สภาพทั่ว ๆ ไปของชีวิตฉันดีเยี่ยม

3. ฉันรู้สึกพึงพอใจในชีวิตของตนเอง

4. ในวันนี้ฉันมีสิ่งต่าง ๆ ที่ฉันต้องการแล้ว

5. หากย้อนเวลากลับไปได้ ฉันจะไม่เปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเอง

 

แบบวัดความพึงพอใจในชีวิตมีลักษณะเป็นมาตรประมาณค่าแบบลิกเคิร์ท (Likert scale) โดยให้กลุ่มตัวอย่างประเมินตนเองตามพฤติกรรมตามข้อคำถามในแต่ละข้อ ว่าตรงกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงโดยมีการประเมินค่าของข้อคำถามดังนี้

เกณฑ์ในการประเมินค่าของคำถาม

          5        หมายถึง   ข้อความนี้ตรงกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงกับตัวนักเรียนในระดับมากที่สุด

          4        หมายถึง   ข้อความนี้ ตรงกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงกับตัวนักเรียนในระดับมาก

          3        หมายถึง   ข้อความนี้ ตรงกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงกับตัวนักเรียนในระดับปานกลาง

          2        หมายถึง   ข้อความนี้ ตรงกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงกับตัวนักเรียนในระดับน้อย

          1        หมายถึง   ข้อความนี้ ตรงกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงกับตัวนักเรียนในระดับน้อยที่สุด

          ผลการวัดของแบบวัดมีค่าคะแนนแต่ละข้อระหว่าง 1 คะแนน (ข้อความตรงกับสภาพความเป็นจริงกับตัวนักเรียนน้อยที่สุด) ถึง 5 คะแนน (ข้อความตรงกับสภาพความเป็นจริงกับตัวนักเรียนมากที่สุด) และมีคะแนนเฉลี่ยที่เป็นไปได้ระหว่าง 1 ถึง 5 คะแนน โดยมีเกณฑ์ในการแปลคะแนนรวมดังนี้

 

เกณฑ์ในการแปลความหมายคะแนนความพึงพอใจในชีวิต

      4.50–5.00 คะแนน หมายถึง  มีระดับความพึงพอใจในชีวิตสูงมาก

      3.50–4.49 คะแนน หมายถึง  มีระดับความพึงพอใจในชีวิตสูง

      2.50–3.49 คะแนน หมายถึง  มีระดับความพึงพอใจในชีวิตปานกลาง

      1.50–2.49 คะแนน หมายถึง  มีระดับความพึงพอใจในชีวิตน้อย

      1.00–1.49 คะแนน หมายถึง  มีระดับความพึงพอใจในชีวิตน้อยมาก

 

ผลการตรวจสอบคุณลักษณะทางจิตมิติของแบบวัด

          ผลการตรวจสอบความเที่ยงแบบสอดคล้องภายในมีค่าเท่ากับ 0.74 และผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันพบว่าผลการวัดจากเครื่องมือดังกล่าวนั้นมีความตรงเชิงโครงสร้าง (c2=1.01, df=1, p-value=0.60, AGFI=0.99 CFI=1.00, RMSEA<0.01) โดยมีค่าน้ำหนักองค์ประกอบมาตรฐานระหว่าง 0.24 ถึง 0.88 และแบบวัดดังกล่าวนั้นมีความไม่แปรเปลี่ยนในการวัดระหว่างเพศแบบเคร่งครัดบางส่วน (Partial  strict gender invariance) ซึ่งสามารถใช้เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระหว่างเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

ภาพที่  1  ผลการวิเคราะห์ความไม่แปรเปลี่ยนโมเดลการวัดแบบเคร่งครัดบางส่วนระหว่างเพศด้วยค่าสัมประสิทธิ์สมการโครงสร้างมาตรฐาน

 

 

 

          สำหรับนักวิจัยที่มีความสนใจจะใช้เครื่องมือวิจัยดังกล่าวสามารถใช้แบบวัดได้โดยมีเอกสารอนุญาตให้ใช้เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยโดยสามารถดาวน์โหลดบันทึกโดยไม่ต้องติดต่อกับผู้วิจัยได้ที่ Link  https://drive.google.com/file/d/1pMYvlOO4mdB3FZjrtfukt-Lf73uez2jo/  โดยสามารถอ้างอิงเครื่องมือวิจัยดังนี้

 

อัครเดช  เกตุฉ่ำและธัชพงศ์  เศรษฐบุตร.  (2563). คุณสมบัติทางจิตมิติของแบบวัดความพึงพอใจในชีวิตฉบับภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย: การทดสอบความไม่แปรเปลี่ยนระหว่างเพศ.  วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์, 6(1), 186-197.

 

รายการอ้างอิง

Diener, E. D., Emmons, R. A., Larsen, R. J., & Griffin, S. (1985). The satisfaction with life scale. Journal of personality assessment, 49(1), 71-75.

Diener, E., & Diener, M. (2009). Cross-cultural correlates of life satisfaction and self-esteem. In Culture and well-being (pp. 71-91). Springer, Dordrecht.

Ferrans, C. E., & Powers, M. J. (1985). Quality of life index: development and psychometric properties. Advances in nursing science, 8(1), 15-24.

Neugarten, B. L., Havighurst, R. J., & Tobin, S. S. (1961). The measurement of life satisfaction. Journal of gerontology, 16, 134–143.

Pavot, W., & Diener, E. (1993). The affective and cognitive context of self-reported measures of subjective well-being. Social Indicators Research, 28(1), 1-20.

Pavot, W., & Diener, E. (2008). The satisfaction with life scale and the emerging construct of life satisfaction. The Journal of Positive Psychology, 3(2), 137-152.

Pavot, W., & Diener, E. (2009). Review of the satisfaction with life scale. In Assessing well-being. Springer, Dordrecht.

Ramia, I. (2012). The paradox of subjective well-being and tertiary education. An investigation of Australian data using a heterogeneity and life-domain approach (Doctoral dissertation, UNSW Sydney).

Romney, D. M., Jenkins, C. D., & Bynner, J. M. (1992). A structural analysis of health-related quality of life dimensions. Human Relations, 45(2), 165-176.

อัครเดช  เกตุฉ่ำและธัชพงศ์  เศรษฐบุตร.  (2563). คุณสมบัติทางจิตมิติของแบบวัดความพึงพอใจในชีวิตฉบับภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย: การทดสอบความไม่แปรเปลี่ยนระหว่างเพศ.  วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์, 6(1), 186-197.