แนวทางการพัฒนาแบบประเมินความเหนื่อยหน่ายในการเรียน

แนวทางการพัฒนาแบบประเมินความเหนื่อยหน่ายในการเรียน

                                                                                                                                                     อาจารย์ ดร.ภาวศุทธิ อุ่นใจ

                                                                                                                                                     สาขาวิชาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์

                                                                                                                                             มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

          ความเหนื่อยหน่าย (Burnout)  หรือที่เป็นที่รู้จักในชื่ออื่นๆ เช่น ความเหนื่อยหน่ายหรือ ภาวะหมดไฟ สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนใช้คำว่า “ความเหนื่อยหน่าย” ในการดำเนินบทความ  ความเหนื่อยหน่าย เป็นปฏิกิริยาตอบสนองความเครียดจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน แสดงอาการร่วมกันทั้งทางกาย จิตใจและอารมณ์ โดยแสดงออกเป็นความอ่อนล้า เหนื่อยหน่ายสูญเสียการควบคุมตนเอง ขาดความผูกพันกับงานอยู่ การขาดประสิทธิภาพในการปรับตัวและการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีการรับรู้ตนเองในทางลบและมีทัศนคติทางลบต่องานและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งนำไปสู่การถอยหนีจากองค์กร โดยผู้ที่เกิดอาการนี้จะลดความผูกพันในงานลง และรีบถอนออกจากงาน เช่น เฉื่อยชาและขาดงานเพิ่มขึ้น ผลการปฏิบัติงานและคุณภาพงานลดลง  ความเหนื่อยหน่ายในการศึกษาเริ่มแรกเป็นการศึกษาในกลุ่มการทำงาน และต่อมาได้ถูกนำมาศึกษาขยายต่อในกลุ่มวงการการศึกษา เช่นมหาวิทยาลัยและโรงเรียน นำมาสู่การศึกษาความเหนื่อยหน่ายในการเรียน

          ความเหนื่อยหน่ายในการเรียน (Learning Burnout)  มีพื้นฐานแนวคิด มาจากความเหนื่อยหน่ายในการทำงาน โดยมองว่ามหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน เป็นที่ทำงาน (work place) ของ ดังนั้น ผู้เรียนจึงต้องมีความรับผิดชอบอย่างมากเกี่ยวกับการเรียนในมหาวิทยาลัยหรือ โรงเรียน (บุษยารัตน์ จันทร์ประเสริฐ, 2563) ความเหนื่อยหน่ายในการเรียน เป็นตัวแปรทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางจิตใจ ส่งผลให้เกิดความไม่กระตือรือร้นในการเรียน ซึ่งเกิดจากความเครียดในการเรียนเป็นความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกาย และจิตใจ แสดงออกโดยการพูด สีหน้า ท่าทาง ไม่พึงพอใจกับสภาวะ ที่เป็นอยู่ (ชัยพร พงษ์พิสันต์รัตน์, 2564)  ซึ่งความเหนื่อยหน่ายในการเรียน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดแก่นักเรียน  หากความเครียดที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับ
ที่มากจนเกินไปย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียนมี ความเหนื่อยหน่ายในการเรียนอาจนำไปสู่การขาดเรียนเป็นประจำโดยอย่างไม่มีเหตุผล (absenteeism) มีแรงจูงใจในการเรียนที่ต่ำและในที่สุดอาจทำให้เกิด การเพิ่มอัตราการลาออกกลางคัน (dropout) ในทางที่แย่กว่านั้น อาจส่งผลต่อภาวะเครียด เกิดภาวะซึมเศร้าหรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ นำมาซึ่งความสูญเสียเป็นอย่างมาก ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเหนื่อยหน่ายเพื่อการป้องกันความเครียดในวัยรุ่นตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกจะช่วยลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้(บุษยารัตน์ จันทร์ประเสริฐ, 2562)

                        ความเหนื่อยหน่ายทางการเรียน เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปในหมู่นักเรียน เนื่องจากความกดดันและภาระทางวิชาการในระยะยาว ทำให้นักเรียนรู้สึกเหนื่อย หมดความกระตือรือร้นในการศึกษาและกิจกรรมต่างๆ และมีทัศนคติเชิงลบต่อการเรียนรู้ (Lin F. and Yang K., 2021) ความเหนื่อยหน่ายในการเรียนเป็นความรู้สึกที่เกิดความกดดันในการเรียน การมีทัศนคติในแง่ร้ายและ เฉยเมยต่อการเรียน และมีความรู้สึกที่ไม่เพียงพอในการเรียน  ความเหนื่อยหน่าย มีที่มาจากการเมื่อคนเราใช้สมองทำงานมากเกินไปก็จะส่งผลให้พวกเขาเกิดความรู้สึกอ่อนล้า และมีความเหนื่อยล้าเพิ่มสูงขึ้น โดยการศึกษา เกี่ยวกับความเหนื่อยหน่ายมีการกล่าวถึงความพยายามที่จะบังคับตัวเองให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องโดยพยายามควบคุมตัวเองให้สามารถใช้สมองต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อความเหนื่อยล้าสะสมจนสูงถึงระดับหนึ่งแล้ว ก็จะส่งผลทำให้บุคคลถอยห่างออกจากสิ่งที่ทำ รู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรง เพลียไม่อยากอะไรอีก ไม่มีแรงบันดาลใจ และคิดอะไรไม่ออก (อรุณี ศุทธิชัยนิมิตและคณะ ,2563) จากสถิติข้อมูลสุขภาพสภาพปัญหาที่เกิดจากความเหนื่อยหน่ายในการเรียนมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับอายุของผู้ที่มีภาวะเหนื่อยหน่ายอยู่ในช่วงวัยเรียน อายุต่ำ กว่า 22 ปี ซึ่งจะส่งผลต่อการศึกษาเล่าเรียน ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น โรคซึมเศร้าเป็นต้น หากไม่รีบดำ เนินการป้องกัน และแก้ไขจะส่งผลให้การพัฒนาสังคม และประเทศชาติเป็นไปอย่างล่าช้า (ชัยพร พงษ์พิสันต์รัตน์, 2564) 

                       เครื่องมือในการวัดความเหนื่อยหน่ายทางการเรียนมีการพัฒนาและปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง  โดยแรกเริ่มเครื่องมือการวัดหรือแบบสอบถามนั้น เน้นการมุ่งวัดตามทฤษฎี ความเหนื่อยหน่ายในการทำงานเป็นหลัก  แบบวัดที่เป็นที่รู้จักได้แก่ Maslash Burnout Inventory (MBI) ได้แบ่งลักษณะของความเหนื่อยหน่ายในการทำงานออกมาเป็น 3 ลักษณะด้วยกัน (Maslach and Jackson, 1981)ซึ่งได้แก่ 1) ความอ่อนล้าทางอารมณ์ (Emotional Exhaustion) 2) การลดค่าความเป็นบุคคล (Depersonalization/Cynicism) และ 3) ความรู้สึกว่าตนไม่ประสบความสำเร็จ (Lack of personal accomplishment) จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้น แนวคิดของความเหนื่อยหน่ายในการทำงานได้ขยายออกมาในหลายกลุ่มสาขา ซึ่งนอกจากความเหนื่อยหน่ายในการทำงานนั้นเป็นผลทางด้านลบกับพนักงานในการทำงานแล้ว ในทาง เดียวกันนั้น ในมุมมองการเรียน ความเหนื่อยหน่ายก็มีผลกับนักเรียน นักศึกษาเช่นเดียวกัน  (Schaufeli, & et al., 2002 ;อ้างถึงใน ปิรันธ์ ชิณโชติและ ธีระวัฒน์ จันทึก, 2558) การพัฒนาฉบับต่างๆ ต่อมา และมีการใช้ในแพร่หลายมากขึ้น เช่น (MBI-General Survey หรือ MBI-GS) ซึ่งมี องค์ประกอบของตัวแปรของความเหนื่อยหน่ายในการทํางานในความหมายที่กว้างขึ้น เพื่อให้ เหมาะสมกับงานทั่วๆ ไป ที่ไม่เฉพาะแต่กับงานที่ต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งมิติของการวัด ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความเหนื่อยล้า (Exhaustion) ความเกลียดชังสังคม (Cynicism) หรือทัศนคติที่ออกห่างจากงานที่ทําอยู่ และความรู้สึกด้อยประสิทธิภาพในงาน (Reduced Professional Efficacy)  (พัลพงศ์ สุวรรณวาทิน, 2559)

                           สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนเสนอแนวทางการแบ่งองค์ประกอบของความเหนื่อยหน่ายจากแบบวัด MBI–Student Survey (The Maslach Burnout Inventory–Student Survey) ซึ่งออกแบบมาเพื่อใช้กับนักเรียนในโรงเรียนและนักศึกษามหาวิทยาลัย (Schaufeli, et al., 2002; HU Q. and SchauFeli W.B. , 2009)  โดยมีองค์ประกอบ 3 องค์ประกอบได้แก่ 1) Exhaustion ซึ่งเป็นการวัดความรู้สึกเหนื่อยล้าจากการเรียน  2) Cynicism เป็นการวัดเจตคติและการเมินเฉยต่อการเรียนและ 3) Academic Efficacy เป็นการวัดประสิทธิภาพในการเรียน ซึ่งมีงานวิจัยที่มีการแบ่งองค์ประกอบของความเหนื่อยหน่ายในการเรียนออกเป็น 3 องค์ประกอบซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน (Salmela-Aro et.al.2009 ; Wu,W., 2010; Rahmati,Z.,2015; ปิรันธ์ ชิณโชติและ ธีระวัฒน์ จันทึก, 2558 ; R.W. May et al., 2015 ; Xu.L., 2017; ศรีสกุล เฉียบแหลมและเพ็ญนภา แดงด้อมยุทธ์, 2562; บุษยารัตน์ จันทร์ประเสริฐ, 2562 ; Obregon, M.,. et al. 2020; Sunawan,S.et.al.2021; Gradiski, I.P.et.al.2022 ) โดยได้ทำการแบ่งองค์ประกอบของความเหนื่อยหน่ายในการเรียน ออกเป็น 3 องค์ประกอบได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ (Emotional Exhaustion)  องค์ประกอบที่ 2 การเมินเฉยต่อการเรียน (Cynicism) และ องค์ประกอบที่ 3 ความไร้ประสิทธิภาพในการเรียน (Professional Inefficacy) และการตรวจสอบองค์ประกอบของความเหนื่อยหน่ายในการเรียน สามารถใช้การตรวจสอบความตรงเชิงโครงสร้าง (Construct validity) และยินยันองค์ประกอบด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (Confirmatory factor analysis: CFA) ด้วยโปรแกรมลิสเรล (LISREL)

สรุป

          การพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือจะทำให้เครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินมีคุณภาพที่เชื่อได้ มีแนวทางสู่การทำความเข้าใจพฤติกรรมและสามารถรับรู้ถึงความเหนื่อยหน่ายในการเรียนของของนักเรียนนักศึกษา มีการใช้คำถามที่เหมาะสมกับนักเรียนและลดจำนวนข้อคำถามเพื่อให้มีความกระชับและเหมาะสมในการนำไปใช้มากขึ้น  จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการพัฒนาเครื่องมือประเมินได้   

 

เอกสารอ้างอิง

ชัยพร พงษ์พิสันต์รัตน์. (2564). ความเหนื่อยหน่ายในการเรียน : สภาวการณ์ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ Learning Burnout : An Inevitable Circumstances. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2564. หน้า 7- 16 .

ชัยพร พงษ์พิสันต์รัตน์, ภมรพรรณ์ ยุระยาตร์. (2562). การศึกษาองค์ประกอบของความเหนื่อยหน่ายในการเรียน ของนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา. วารสารวิชาการและวิจัยสังคมศาสตร์. ปีที่ 14 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม – สิงหาคม 2562. หน้า 99 – 110

บุษยารัตน์ จันทร์ประเสริฐ. (2563). การพัฒนาแบบวัดความเหนื่อยหน่ายในการเรียน โดยใช้แองเคอร์ริง วินเยตต์. Veridian E-Journal, Silpakorn University . Volume 12 Number 2 March – April 2019. หน้า 825 – 844.

ปิรันธ์ ชิณโชติและ ธีระวัฒน์ จันทึก. (2558). ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน โดยการจัดการความรู้ ในการลดระดับ ความเบื่อหน่ายในการเรียนของนักศึกษา. Veridian E-Journal, Slipakorn University. ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2558 หน้า 864- 876.

นงลักษณ์  วิรัชชัย. (2548). โมเดลลิสเรล : สถิติวิเคราะห์สาหรับการวิจัย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พัลพงศ์ สุวรรณวาทิน.(2559). การรับรู้ภาระงานและความเหนื่อยหน่ายในการทำงานของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินโดยมีการสื่อสารภายในองค์การและความเครียดในการทำงาน เป็นตัวแปรกำกับ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ .คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศรีสกุล เฉียบแหลมและ เพ็ญนภา แดงด้อมยุทธ์. ภาวะหมดไฟในการทํางาน. Royal Thai Air Force Medical Gazette. Vol. 65 No. 2 May – August 2019. 

อรุณี ศุทธิชัยนิมิต,อรัญญา ตุ้ยคำภีร์,จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์ และ พจ ธรรมพีร์. ความเหนื่อยล้าทางจิตใจในบริบทที่เกี่ยวข้องกับการเรียน. e-Journal of Education Studies, Burapha University.  ปีที่ 2 ฉบับที่ 4 (2020): ตุลาคม – ธันวาคม 2563.

Li Ling, Shen Qin, Li-fang Shen. (2014). An investigation about learning burnout in medical college students and its influencing factors. International Journal of Nursing Sciences. Volume 1, Issue 1, March 2014, Pages 117-120. https://doi.org/10.1016/j.ijnss.2014.02.005

Gradiski, I.P.; Borovecki, A.; Curkovi´c, M.; San-Martín, M.; ´ Delgado Bolton, R.C.; Vivanco, L.(2022).  Burnout in International Medical Students: Characterization of Professionalism and Loneliness as Predictive Factors of Burnout. Int. J. Environ. Res. Public Health. 2022, 19, 1385. https://doi.org/10.3390/ ijerph19031385

Hu Q. and Schaufeli W.B. (2009). The Factorial  Validity  of  the  Maslach Burnout Inventory–Student Survey in China. Psychological Reports, 2009, 105, 394-408.

Khani M.H., Mohammadi M., Anvari F., and Farsi M. (2017). Students School Burnout Inventory: Development, Validation, and Reliability of Scale. International Journal of School Health. 2018 January; 5(1):e57594. doi: 10.5812/intjsh.57594.

Maslach, C. & Jackson, S. E. (1981), The measurement of experienced burnout, Journal of Occupational Behavior, 2, 99-113.

Obregon, M., Luo, J., Shelton, J. et al. Assessment of burnout in medical students using the Maslach Burnout Inventory-Student Survey: a cross-sectional data analysis. BMC Med Educ. 20, 376 (2020). https://doi.org/10.1186/s12909-020-02274-3

Rahmati,Z. (2015). The Study of Academic Burnout in Students with High and Low Level Of Self-Efficacy. Procedia. Social and Behavioral Sciences. 171 ( 2015 ) 49 – 55.  

R.W. May et al. (2015). School burnout: Diminished academic and cognitive performance. Learning and Individual Differences. 42 (2015) 126–131

Salmela-Aro, K., Kiuru, N., Leskinen, E., & Nurmi, J. E. (2009). School burnout inventory (SBI): Reliability and validity. European Journal of Psychological Assessment, 25, 48–57.

Soper, D.S. (2021). A-priori Sample Size Calculator for Structural Equation Models [Software][Online]. Retrieved September 27, 2022 From https://www.danielsoper.com/statcalc

Sunawan S., Amin.Z.K., Sumintono B., Hafina A. and Kholili M.I. (2021). The Differences of Students’ Burnout from Level of Education and Duration Daily Online Learning During COVID-19 Pandemics. Proceedings of the 11th Annual International Conference on Industrial Engineering and Operations Management Singapore, March 7-11, 2021.

Schaufeli, W. B., Martínez, I. M., Marques Pinto, A., Salanova, M., & Bakker, A. B. (2002). Burnout and engagement in university students: A cross-national study. Journal of Cross-Cultural Psychology, 33(5), 464–481. https://doi.org/10.1177/0022022102033005003

Wu, W. (2010). Student on College Student’s Learning Burnout. Asian Social Science, 6(3): 132-134

Xu.L. (2017). Looking into Burnout Levels of Freshmen in English Majors of Normal University. World Journal of Education. Vol. 7, No. 6; 2017

Yang. H.J. (2004). Factors affecting student burnout and academic achievement in multiple enrollment programs in Taiwan’s technical–vocational colleges.  International Journal of Educational Development. 24 (2004) 283–301.