แนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนโปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

สุพัตรา  วิไลลักษณ์. (2550). แนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนโปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. A Guideline to Improve Teaching Efficiency for Art Program at the Faculty of Education, Bansomdejchaopraya Rajabhat University.

 

            งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และแนวทางการพัฒนาการการเรียนการสอนโปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  โดยมีประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่อาจารย์ผู้สอนในแขนงวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งเป็นวิชาเฉพาะด้านในหลักสูตรโปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 6 คน และนักศึกษาที่กำลังศึกษาในโปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีการศึกษา 2550  จำนวน 158 คน  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม 2 ชุดแต่ละชุดเป็นการหาข้อมูล 4 ด้าน คือ 1) ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม  2) สภาพปัจจุบันของการเรียนการสอนโปรแกรมวิชาศิลปกรรม  คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  3) ปัญหาของการเรียนการสอนโปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  และ 4) แนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนโปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS (Statistical Package for Social Science) และใช้สถิติ คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย  และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

 

            ผลการวิจัย พบว่า

            1. สภาพปัจจุบันของการเรียนการสอนโปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในภาพรวมในระดับปฏิบัติมาก( = 3.60)  เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า  สภาพปัจจุบันของการเรียนการสอนโปรแกรมวิชาศิลปกรรม  คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาอยู่ในระดับปฏิบัติปานกลางถึงมาก โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในระดับปฏิบัติมาก ได้แก่  ด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาตามทัศนะของอาจารย์( = 4.39)  รองลงมา คือ ด้านหลักสูตร( = 4.13)   และด้านการประเมินผลและวัดผล( = 3.85)  ด้านที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่  ด้านสื่อประกอบการสอน( = 3.50)  ด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาตามทัศนะของนักศึกษา( = 3.38)  ด้านบุคลิกลักษณะของอาจารย์ผู้สอน( = 3.35) ด้านวิธีการสอนและการดำเนินการสอน( = 3.14)  และด้านการเตรียมการสอน( = 3.07)  

            2. ปัญหาของการเรียนการสอนโปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาตามทัศนะของอาจารย์พบว่ามีปัญหาในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง( = 2.88)  โดยรายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในระดับประสบปัญหามาก ได้แก่  ห้องเรียนที่มีอยู่ไม่เหมาะสมกับลักษณะการเรียนการสอนทางศิลปกรรม  และห้องเรียนไม่เพียงพอ โดยทั้ง 2 รายการมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน( = 4.50) และปัญหาของการเรียนการสอนโปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาตามทัศนะของนักศึกษาพบว่ามีปัญหาในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง( = 3.50)  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า  การเรียนการสอนโปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาประสบปัญหาอยู่ในระดับปานกลางถึงมาก โดยรายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในระดับประสบปัญหามาก ได้แก่  งบประมาณในการสนับสนุนไม่เพียงพอ( =3.99) 

            3. แนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนโปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาตามทัศนะของอาจารย์ในด้านการใช้หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต(ศิลปกรรม) วิธีการที่อาจารย์ต้องการใช้ในการพัฒนามากที่สุด คือ อบรมเชิงปฏิบัติการการใช้หลักสูตร  ด้านการผลิตหรือการใช้สื่อประกอบการสอนทางศิลปกรรม วิธีการที่อาจารย์ต้องการใช้ในการพัฒนามากที่สุด คือ อบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตหรือการใช้สื่อประกอบการสอนทางศิลปกรรม  และศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนทางวิชาการ  ด้านการประเมินผลและการวัดผลทางศิลปกรรม วิธีการที่อาจารย์ต้องการใช้ในการพัฒนามากที่สุด คือ อบรมเชิงปฏิบัติการการประเมินผลและการวัดผลทางศิลปกรรม  และศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนทางวิชาการ  และแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนโปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาตามทัศนะของนักศึกษา คือ ควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดซื้อครุภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการเรียนรายวิชาภาคปฏิบัติ เช่น เครื่องดนตรีสากล เครื่องดนตรีไทย  ขาหยั่งวาดภาพ  เครื่องเล่นเทป  เครื่องเล่นซีดี  เป็นต้น ควรมีการจัดสรรห้องสำหรับเป็นห้องปฏิบัติการให้เพียงพอและเหมาะสมกับแขนงวิชาของนักศึกษา  ควรมีอาจารย์ประจำและบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้เพียงพอต่อจำนวนนักศึกษา  และตรงตามแขนงวิชาของนักศึกษา  ควรมีการปรับหลักสูตรโดยแยกแขนงวิชาศิลปะ ดนตรีสากล ดนตรีไทย และนาฏศิลป์ออกจากกัน เพื่อให้นักศึกษาได้เลือกเรียนตามความต้องการและความถนัด  ควรมีการปรับหลักสูตรโดยเพิ่มรายวิชาปฏิบัติให้มากกว่านี้  ควรมีการเตรียมความพร้อมก่อนใช้หลักสูตร  ควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมากกว่านี้  และอาจารย์ควรมีภาระงานอื่นของมหาวิทยาลัยให้น้อยลง  เพื่อเน้นหนักในด้านภาระงานสอน