แนวคิดผู้นำกับการบริหารงานโทรทัศน์รัฐสภา

แนวคิดผู้นำกับการบริหารงานโทรทัศน์รัฐสภา

 

ณิชาภา   แก้วประดับ

 

สถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา (Thai Parliament Television – TPTV) หรือสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา เป็นช่องโทรทัศน์ของไทย ซึ่งออกอากาศโดยไม่ใช้คลื่นความถี่ และกำลังทดลองออกอากาศ ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ประเภทบริการสาธารณะ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อการกระจายข้อมูลข่าวสาร เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดี ระหว่างรัฐสภากับประชาชน ทางช่องหมายเลข 10 ดำเนินการโดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีภารกิจหลักในการถ่ายทอดสด การประชุมร่วมกันของรัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการประชุมวุฒิสภา รวมถึงรายงานข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของรัฐสภา เผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไป รวมถึงรายการสาระประโยชน์ต่างๆ ออกอากาศในช่วงนอกเหนือจากการประชุมสภาฯ

สถานีโทรทัศน์รัฐสภาเป็นสื่อกลางในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนและสังคม ด้วยบทบาทหน้าที่ ภารกิจของรัฐสภาที่มีต่อสังคมประเทศชาติ ประกอบกับความสำคัญและอิทธิพลของสื่อวิทยุโทรทัศน์ที่มีต่อประชาชนอย่างกว้างขวางทั้งด้านการประชาสัมพันธ์การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อความมั่นคง การให้ความรู้ ความบันเทิงแก่ประชาชน  ยกระดับคุณภาพชีวิต อนุรักษ์เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม  ส่งเสริมการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  และในฐานะที่เป็นสถานีโทรทัศน์ของสถาบันนิติบัญญัติ  ลักษณะการดำเนินงานเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและรายการข่าวของทางสถานีฯ

สถานีโทรทัศน์รัฐสภาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นหน่วยงานอิสระมีฐานะเทียบเท่ากรม  แบ่งส่วนราชการภายในออกเป็น 23 สำนัก  4 กลุ่มงาน โดยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของสภาผู้แทนราษฎร มีภารกิจในการดำเนินงานสนับสนุนด้านนิติบัญญัติและมีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้บังคับบัญชา

การบริหารงานสถานีโทรทัศน์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐสภา  ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์รัฐสภาจึงถือเป็นผู้นำที่สำคัญ  เพราะต้องมีบทบาทในการบริหารจัดการ  ภายใต้ปัจจัยที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ วัตถุประสงค์หรือนโยบายองค์กร  บุคลากร  สถานที่ และงบประมาณ  เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายสูงสุดขององค์กร

 

1.แนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำ

อาคม วัดไธสง (2547)  กล่าวว่าภาวะผู้นำ หมายถึงพฤติกรรมที่แสดงออกในรูปของกระบวนการ ความสามารถหรือกิจกรรม ซึ่งก่อให้เกิดอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลอื่น โดยที่บุคคลอื่นจะคล้อยตามหรือปฏิบัติตามผู้นำ เพื่อให้การดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ในสถานการณ์ใด สถานการณ์หนึ่ง

เนตร์พัณณา ยาวิราช (2549)  กล่าวว่า ผู้นำหมายถึงบุคคลที่มีความสามารถในการบังคับบัญชาบุคคลอื่นโดยได้รับการยอมรับและยกย่องจากบุคคลอื่น หรือผู้ที่ทำให้บุคคลอื่นไว้วางใจและให้ความร่วมมือ มีหน้าที่ในการอำนวยการหรือสั่งการบังคับบัญชาประสานงาน โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ เพื่อให้กิจการงานบรรลุผลสำเร็จตามมวัตถุประสงค์ และเป้าหมายตามที่ต้องการ

ธร  สุนทรายุทธ (2551) กล่าวว่าภาวะผู้นำ หมายถึงอำนาจ หรืออิทธิพลเหนือบุคคล เช่น ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ บุคลิกภาพ และอื่นๆ ที่มีอำนาจเหนือบุคคลนั้นๆ อำนาจดังกล่าวจะเกิดการยอมรับของสมาชิก เกิดการกระตุ้นภายในกลุ่ม  สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย

ภิรมย์  ถิ่นถาวร (2550) กล่าวว่า ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง หมายถึงพฤติกรรมหรือความสามารถในการบริหารองค์กร ผู้บริหารนำพาให้ผู้ร่วมงานมีความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถมากกว่าที่ตั้งใจไว้แต่ต้น ส่งผลให้องค์กรได้รับการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทันตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ประเทศ และโลก

เฮาส์ (House. 1977) กล่าวว่า องค์ประกอบของภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย

1.มีความมั่นใจในตัวเอง

2.เป็นแบบอย่างแก่ลูกน้อง

3.สร้างความประทับใจในความสามารถและความสำเร็จ

4.มีเป้าหมายที่เป็นอุดมการณ์อย่างชัดเจน

5.มีความคาดหวังสูงและมีความมั่นใจว่าผู้ตามสามารถทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย

6.สร้างแรงจูงใจในการทำให้พันธกิจบรรลุเป้าหมาย

7.มีบทบาทดึงดูดใจผู้ตาม

2.แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรสื่อสารมวลชน

Albarran (2006) ให้นิยามเกี่ยวกับการบริหารจัดการ (Management) ว่าเป็นกระบวนการทำงานร่วมกันหลายๆ ฝ่ายในองค์กร เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ขององค์กร

การบริหาร คืองานของหัวหน้าหรือผู้นำที่จะต้องทำเพื่อให้กลุ่มต่างๆ ที่มีคนหมู่มากมาอยู่ร่วมกันและร่วมงานกันทำ เพื่อวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้จนสำเร็จผลโดยได้ประสิทธิภาพ หน้าที่ในการบริหารของผู้บริหารจำแนกออกเป็นหน้าที่ในการวางแผน การจัดการองค์กร การจัดการคนเข้าทำงาน การสั่งการ การประสานงาน การรายงานงบประมาณ  หากพิจารณาถึงหน้าที่ต่างๆ จะเห็นได้ว่า หน้าที่ในการบริหารเหล่านี้ต่างมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันอย่างใกล้ชิดเป็นลักษณะของกระบวนการอย่างหนึ่ง ผู้บริหารจะปฏิบัติหน้าที่บริหารด้วยวิธีทำเป็นขั้นตอน มีความต่อเนื่องและสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ (ธงชัย สันติวงศ์, 2540)

การจัดการองค์กร คือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ คือตัวบุคคลและหน้าที่การงาน เพื่อทำให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สามารถบรรลุเป้าหมายได้ จะสามารถกำหนดได้จากโครงสร้างองค์กร (Organization Structure) หรือแผนภูมิขององค์กร (Organization Chart) ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจถึงอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล (สมคิด  บางโม, 2539)

3.แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารสถานีโทรทัศน์

หลักการบริหารงานวิทยุโทรทัศน์

การบริหารงานวิทยุโทรทัศน์ต้องอาศัยหลักการบริหาร ดังนี้ (อริสา แดงเอียด, 2552, น.20)  

1)กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน

  เช่น การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เพื่อสาระและเติมเต็มความบันเทิงทุกรูปแบบให้แก่ประชาชน

2)บุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานีวิทยุโทรทัศน์

จะต้องมีเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรที่มีทักษะ ความสามารถในการดำเนินงานทางด้านการ

ผลิตรายการ

3)สถานที่ในการผลิตรายการ การออกอากาศรายการ และสถานที่ตั้งของสถานีวิทยุโทรทัศน์

   จะต้องอยู่ในอาคารหรือบริเวณที่เหมาะสม มีอุปกรณ์ เครื่องมือที่พร้อม ทันสมัย

4)งบประมาณในการดำเนินการวิทยุโทรทัศน์

ต้องมีการจัดสรรงบประมาณ หรือทุนมาดำเนินงานในการออกอากาศ การผลิตเนื้อหาและรูปแบบรายการให้มีความต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน ตามผังรายการที่กำหนดของสถานี

 

รายการอ้างอิง

 

ภาษาไทย

ชมพูนุช ภัทรขจี. (2550). การรายงานข่าวการเมืองทางโทรทัศน์. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ชวลิต ประภวานนท์. (2542). องค์การและการจัดการ ฉบับสมบูรณ์.  กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย

ธรรมศาสตร์.

ชัยธวัช เนียมศิริ. (2561). ภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพในยุค Thailand 4.0 : กรณีศึกษา จังหวัดขอนแก่น.

กรุงเทพมหานคร : วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร.

ณัฐาศิริ สุขภาพ. (2551). การบริหารการจัดการสถานีโทรทัศน์รัฐสภาเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ของประชาชน. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ธงชัย สันติวงศ์. (2540). พฤติกรรมผู้บริโภคทางการตลาด. กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช.

เบญจวรรณ จำเริญพร . (2552). การศึกษาและวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาผ่าน

ดาวเทียม. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

พรจิต สมบัติพานิช. (2550). โฆษณาในทศวรรษที่ 2000-2010: การศึกษาถึงปัจจัยด้านสื่อที่มีต่อรูปแบบโฆษณา.

วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. ชลบุรี : มหาวิทยาลัยบูรพา.

เพียงพิศ จิระพรพงศ์. (2550). กระบวนการบริหารจัดการการจัดทำสัญลักษณ์เพื่อการคัดกรองรายการ

โทรทัศน์. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วรรณรัตน์ นาที. (2545). กระบวนการรายงานสดของข่าวโทรทัศน์ไทย. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์

มหาวิทยาลัย.

สมคิด  บางโม. (2539). องค์การและการจัดการ. กรุงเทพมหานคร: พิมพ์ดี.

อริสา แดงเอียด.  (2552). การบริหารเพื่อการพัฒนาสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาผ่านดาวเทียม. รายงานโครงการ

เฉพาะบุคคล ปริญญามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพมหานคร.

 

ภาษาอังกฤษ

Albarran, A.B. (2006). Management of electronic media. Wadsworth:  Thomson.