เพ็ญแข รุ่งเรือง, อนุกาญจน์ ชิณวงศ์, กาญจนา เหลืองสุวาลัย, กิริยา สังข์ทองวิเศษ และ สุนทรียา กาละวงศ์. (2561). การขยายพันธุ์และการใช้แพกโคลบิวทราซอลเพื่อการผลิตม่วงไตรบุญเป็นไม้กระถาง. วารสารแก่นเกษตร, 46(4), 699-708.

           ต้นม่วงไตรบุญ (Tribounia venosa (Barnett) D.J. Middleton) เป็นพืชถิ่นเดียวในวงศ์เทียนหินพรมกำมะหยี่ โดยพบว่ามีการกระจายพันธุ์อยู่ในป่าหินปูน จังหวัดสุพรรณบุรี ดอกเป็นช่อกระจุกซ้อน กลีบดอกสีม่วงเข้ม เหมาะสำหรับการพัฒนาเป็นไม้ดอกกระถางชนิดใหม่ ซึ่งต้นม่วงไตรบุญในธรรมชาติมีลักษณะทรงต้นสูง (30-40 ซม.) อีกทั้งการขยายพันธุ์นั้นยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้มีจึงวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการขยายพันธุ์ม่วงไตรบุญด้วยวิธีการตัดชำ และศึกษาผลของแพกโคลบิวทราซอล (paclobutrazol: PBZ) ต่อการเจริญเติบโตของม่วงไตรบุญ การขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตัดชำส่วนยอด ใบ และข้อ โดยใช้สารละลาย NAA ความเข้มข้น 0 (ใช้น้ำเป็น control), 50, 100, 150 และ 200 มก./ล. พบว่าระดับความเข้มข้นของสารละลาย NAA และชิ้นส่วนตัดชำไม่มีอิทธิพลร่วมกัน (P > 0.05) โดยการใช้ส่วนยอด ร่วมกับสารละลาย NAA เข้มข้น 100, 150 และ 200 มก./ล. ให้เปอร์เซ็นต์การเกิดรากมากที่สุด และการใช้สารละลาย NAA เข้มข้น 150 มก./ล. กับส่วนใบให้เปอร์เซ็นต์การเกิดราก เท่ากับ 100% เช่นเดียวกัน เมื่อย้ายปลูกต้นที่ได้จากการตัดชำส่วนยอดและใบลงกระถาง พบว่าต้นที่มาจากการตัดชำยอดมีอัตราการรอดชีวิต 79.11+19.76% สำหรับการศึกษาผลของ PBZ ต่อการเจริญเติบโตของม่วงไตรบุญ โดยการราดสารละลาย PBZ ที่ระดับความเข้มข้น 0 (ใช้น้ำเป็น control), 50, 100, 150 และ 200 มก./ล. อัตรา 50 มล./ต้น พบว่าการราดสารละลาย PBZ ทุกระดับความเข้มข้น ทำให้การเจริญเติบโตด้านความสูง ความกว้างทรงพุ่ม ความยาวข้อปล้อง ความกว้างและความยาวใบ แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) โดยสารละลาย PBZ ที่ระดับความเข้มข้น 200 มก./ล. ทำให้การเจริญเติบโตด้านความสูง ความยาวปล้อง ความกว้างและความยาวใบน้อยที่สุด และให้จำนวนกิ่งมากที่สุด

คำสำคัญ : การตัดชำ, ไม้ดอกกระถาง