เนื้อหาการประทุษวาจาในอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเนื้อหาการประทุษวาจาในอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฎ ราชวิทยาลัย โดยศึกษาอรรถกถาแปล พระสุตตันปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ภาค 1 เล่ม 1-2 จำนวน 150 เรื่อง ผลการศึกษาพบว่า เนื้อหาการประทุษวาจาในอรรถกถาแปล เป็นการวิวาทะของตัวละคร เช่น พระโพธิสัตว์ ราชบุรุษ เศรษฐี ตัวละครสัตว์ ฯลฯ ปรากฏเนื้อหา 4 ประเภท ได้แก่ 1) การบริภาษ คือ การกล่าวติเตียน กล่าวโทษ ด่าว่า โดยมีถ้อยคำที่บ่งการบริภาษ คือ ร้าย ชั่ว ชั่วร้าย เจ้าเล่ห์ โกง ปัญญาทราม โง่ 2) การดูถูก คือ การพูดดูหมิ่น เหยียดหยาม ทำให้ผู้อื่นต่ำต้อย โดยมีถ้อยคำที่บ่งการดูถูก คือ ลูกทาสี ลูกกาลกรรณี คนบ้านนอก 3) การเสียดสี คือ การพูดเหน็บแหนมด้วยความอิจฉา มีข้อความที่บ่งเนื้อหาการเสียดสี คือ คนไม่มีพ่อ คนมีบุญน้อยและ 4) การเยาะเย้ย คือ การพูดให้เจ็บช้ำ ย้ำถึงความด้อยค่า มีข้อความที่บ่งการเยาะเย้ย คือ แผ่นดินและราชสมบัติ อันหาค่ามิได้นี้มีค่าเพียงข้าวสารทะนานเดียว พนักงานตีราคาเหมาะสมแก่พระองค์ของพวกเราทีเดียว เนื้อหาการประทุษวาจาดังกล่าวล้วน ทำให้ตัวละครที่ถูกประทุษวาจาเกิดความรู้สึกเจ็บใจ อับอาย โกรธ ต่ำต้อยไร้ความสามารถ นำไปสู่พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์นอกจากนั้น เนื้อหาการประทุษวาจาในชาดกยังเป็นรหัสทางวัฒนธรรมของสังคมในอดีตที่ถอดให้เห็นความรู้สึก นึกคิดของคนในอดีตผ่านเรื่องเล่าที่มีโครงสร้างการเล่าเรื่องในรูปแบบชาดก ทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนทำให้ทราบวัฒนธรรมการใช้ภาษาเชิงลบที่นำไปสู่ความสะเทือนอารมณ์และความเข้มข้นในการดำเนินเรื่องในฐานะทางวรรณกรรม