เครื่องมือการวัดและประเมินผลวิชาภาษาไทยสำหรับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์

บทคัดย่อ

          การวัดและประเมินผลถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการจัดการเรียนการสอน  เนื่องจากทำให้ผู้สอนทราบว่าประสิทธิภาพของการจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่  อีกทั้งยังใช้เป็นข้อมูลในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนของผู้เรียนได้  ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส       โคโรนาหรือโควิด- 19  ทำให้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาเปลี่ยนไปจากเดิม  การเรียนการสอนออนไลน์เข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาเป็นอย่างมาก  ดังนั้นการวัดและประเมินผลผู้สอนจำเป็นต้องใช้ทักษะในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์  การนำเครื่องมือดิจิทัล/แอปพลิเคชันมาใช้ในการสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลวิชาภาษาไทยจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างดี   

 

คำสำคัญ :  การวัดและประเมินผล , การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ,  การสอนวิชาภาษาไทย 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทนำ

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างรุนแรง  ได้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก  สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ  ทำให้อาจารย์ผู้สอนต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์  เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงกับการแพร่ระบาด  และเพื่อความปลอดภัยต่อนักศึกษา  คณาจารย์และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย              โดยกระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรมได้ประกาศมาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคในช่วงที่มีการระบาดสูง  ได้แก่หน่วยงานสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดมีมาตรการการทำงานที่บ้าน (Work From Home)    เน้นการปฏิบัติงานหรือจัดกิจกรรมโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด  รวมทั้งงดกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มหรือเคลื่อนที่ของคนจำนวนมาก  เช่นการจัดประชุม  สัมมนา  การจัดสอบหรือจัดฝึกอบรม (กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม, 2564)         การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์  (Online Learning)  จึงเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาที่ใช้เทคโนโลยีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงมีความเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างมาก 

          การจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย  ผู้สอนจำเป็นต้องสร้างแผนการสอน (Lesson Plan)   เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นเครื่องมือในการชี้นำการสอนของตนเอง  ซึ่งประกอบด้วย (1)จุดประสงค์การเรียนรู้  (2)เนื้อหา  (3)กิจกรรมการเรียนการสอน (4)สื่อ  (5)วิธีการวัดผลและประเมินผล  ซึ่งการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการการจัดการเรียนการสอน  เนื่องจากอาจารย์ผู้สอนจำเป็นต้องวัดและประเมินผลทุกครั้งที่มีการจัดการเรียนการสอน  ดังที่พิชิต  ฤทธิ์จรูญ (2553 : 1) กล่าวว่า  การวัดและประเมินผลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดการศึกษาโดยเฉพาะกระบวนการจัดการเรียนการสอน  ครูผู้สอนต้องกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้แล้วจึงจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  หลังจากนั้นจึงทำการวัดและประเมินผลการสอนว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทีกำหนดไว้หรือไม่ นั่นคือครูต้องวัดและประเมินผลทุกครั้งที่มีการสอน  รวมทั้งครูจำเป็นต้องเรียนรู้ให้เข้าใจในหลักการและกระบวนการวัดและประเมินผลการเรียนเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับพัชรินทร์  ชมภูวิเศษ (2559 : 5) ที่กล่าวว่าการวัดและประเมินผลการเรียนรู้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการปรับปรุงคุณภาพของการจัดการศึกษา  เพราะผลจากการวัดและประเมินผลการศึกษาจะนำมาประกอบการตัดสินใจของครูและนักการศึกษา เพื่อใช้ปรับปรุงวิธีการสอนของครู  หลักสูตร  ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลป้อนกลับเพื่อการปรับปรุง  แก้ไข  วิธีการเรียนของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

          การเรียนการสอนออนไลน์  เป็นการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่       ทุกเวลา  และยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน  การเตรียมความพร้อมของผู้สอนถือเป็นสิ่งจำเป็นในการสอนออนไลน์  สอดคล้องกับอนุวัติ  คูณแก้ว (2563 : 4)  ที่กล่าวว่าสิ่งที่ครูผู้สอนต้องเตรียมตัวเพื่อการสอนออนไลน์  ได้แก่  การวางแผนชั้นเรียน  การจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อมต่างๆ  การสร้างนวัตกรรมและกระตุ้นการสนทนาออนไลน์  การสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ  การสร้างแรงจูงใจแก่ผู้เรียนหรืออาจต้องประสานกับผู้ปกครองเพื่อการกำหนดตารางเรียนออนไลน์ในกรณีที่เป็นผู้เรียนระดับปฐมวัยและประถมศึกษา  ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า  การจัดการเรียนการสอนออนไลน์อาจารย์ผู้สอนจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะนำทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล  หรือการนำเครื่องมือ  อุปกรณ์ที่อยู่ในปัจจุบัน  เช่นแท็บเล็ตพีซี (Tablet PC)  โทรศัพท์มือถือ  คอมพิวเตอร์  และสื่อออนไลน์  มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนรวมถึงการวัดและประเมินผล เช่นการบริหารจัดการข้อสอบ  การสร้างข้อสอบ การตรวจข้อสอบเป็นต้น  เนื่องจากสามารถกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน  ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการพิมพ์ข้อสอบ  และช่วยลดเวลาในการตรวจข้อสอบของผู้สอน  อีกทั้งผู้เรียนสามารถทราบผลการสอบทันทีหลังจากส่งคำตอบ

 

หลักการของการวัดและประเมินผล      

          พิชิต ฤทธิ์จรูญ (2553 : 11 – 12) กล่าวถึงหลักในการปฏิบัติเพื่อให้การวัดผลและการประเมินผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถสรุปได้ดังนี้

          1.วัดให้ตรงกับจุดมุ่งหมาย  ผู้สอนจำเป็นต้องมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนในการวัดและวัดให้ตรงกับจุดมุ่งหมาย หากวัดไม่ตรงกับจุดมุ่งหมาย  จะทำให้ผลของการวัดไม่มีความหมายและถ้านำผลการวัดที่ไม่มีความหมายไปใช้จะทำให้เกิดความผิดพลาดในการนำผลการวัดไปใช้

          2.ควรเลือกใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพ

          3.คำนึงถึงความยุติธรรม ผู้สอนต้องวัดและประเมินผลด้วยใจเป็นกลางไม่ลำเอียงหรืออคติ  ตัดสินตามหลักวิชา ถ้าผู้สอนขาดความยุติธรรมจะส่งผลให้การวัดผลและการประเมินผลขาดความน่าเชื่อถือ

          4.แปลผลให้ถูกต้อง  ผู้สอนต้องพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการแปลความหมายให้รอบคอบ  เป็นไปตามตรรกวิทยา  และผู้สอนจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องมาตราการวัดและสถิติอีกด้วย

          5.นำผลของการวัดและประเมินผลมาใช้ให้คุ้มค่า 

          วิรัช  วรรณรัตน์ (2535: 15 – 16) กล่าวถึงหลักการของการวัดและประเมินผลการศึกษาไว้ดังนี้

          1.กำหนดจุดประสงค์ของการวัดและการประเมินผลในลักษณะของจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่ระบุพฤติกรรมของผู้เรียนที่ต้องการให้เกิดขึ้นและสามารถวัดได้หรือสังเกตได้เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอน

          2.เลือกใช้วิธีการวัดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับจุดประสงค์ของการวัดและประเมินผล

          3.เลือกใช้เครื่องมือการวัดผลที่มีคุณภาพ เพราะผลที่ได้จากการวัดจะต้องนำไปใช้ในการประเมินเพื่อตัดสินคุณค่าหรือตัดสินใจ

          4.ควรเลือกใช้วิธีการหรือเครื่องมือวัดผลที่หลากหลาย เพื่อลดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากข้อบกพร่องของวิธีการหรือเครื่องมือนั้นๆ

          5.ใช้ผลการจากวัดที่มีความคุ้มค่า เช่นการนำข้อมูลจากการวัด 1 ครั้งไปปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  หรือการแนะแนวการศึกษาต่อ หรือการพัฒนาระบบการบริหารการเรียนการสอนเป็นต้น 

          6.เลือกใช้เครื่องมือที่มีความยุติธรรม  ไม่เปิดโอกาสให้ผู้สอบได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน

          7.มีวิธีการดำเนินการสอบที่มีคุณภาพ  เช่นผู้สอนไม่แนะคำตอบ หรือควบคุมการสอบอย่างเคร่งครัดไม่เปิดโอกาสให้ผู้สอบลอกคำตอบกัน

          สรุปได้ว่าหลักการวัดและประเมินผลการศึกษาที่ดีนั้น  ผู้สอนต้องวัดให้ตรงกับจุดประสงค์ที่ตั้งไว้  และเลือกใช้เครื่องมือในการวัดที่มีคุณภาพและหลากหลาย  มีความยุติธรรมและดำเนินการสอบอย่างมีคุณภาพ  รัดกุม  แปลผลให้ถูกต้อง  และใช้ผลของการวัดตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้แต่ละครั้งให้เกิดประโยชน์หลายๆ ด้าน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า

 

เครื่องมือดิจิทัล/แอปพลิเคชันในการสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลวิชาภาษาไทย

          ในบทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอเครื่องมือดิจิทัล/แอปพลิเคชันในการสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลวิชาภาษาไทยที่ใช้วัดพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนพุทธพิสัยและจิตพิสัยโดยสังเขปดังต่อไปนี้

          1.Google Form ช่วยในการสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลออนไลน์ได้  เช่น  แบบทดสอบออนไลน์ และแบบสอบถามออนไลน์  โดยผู้สร้างจำเป็นต้องมีบัญชีของ Gmail จึงจะสามารถสร้างแบบฟอร์มได้ 

 

 

 

ตัวอย่างการสร้างแบบทดสอบออนไลน์ โดยใช้ Google Form

ที่มา https://docs.google.com/forms/d/1b06ZrjCawhFk-qf9vUDPlZKPvMwQZuI3jG0fw4PshmQ/edit

 

 

 

 

 

ตัวอย่างการสร้างแบบสอบถามออนไลน์ โดยใช้ Google Form

ที่มา https://docs.google.com/forms/d/1gGWDHsz6s_ksnhZE5QIS-yYzd9LEUH42DQgSEbSOU_s/edit

 

          2. Socrative  ช่วยในการสร้างแบบทดสอบออนไลน์ที่มีรูปแบบการตอบที่หลากหลาย  เช่นการเลือกตอบ (Multiple Choice)  ถูก-ผิด (True/False)  เติมคำตอบสั้นๆ (Short Answer)  ผู้สอนสามารถเลือกใช้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งผู้สอนสามารถ Export ผลการสอบของผู้เรียนในรูปแบบ Excel และ PDF ได้จึงช่วยลดเวลาในการสร้างเอกสารและตรวจข้อสอบได้เป็นอย่างมาก

 

 

 

ตัวอย่างการสร้างแบบทดสอบออนไลน์ โดยใช้ Socrative

ที่มา  https://b.socrative.com/teacher/#edit-quiz/62447746

3. Nearpod  สามารถใช้สร้างเครื่องมือในการวัดและประเมินผลได้หลายรูปแบบเช่น  แบบทดสอบ  แบบสอบถาม  นอกจากนี้ยังสามารถสร้างเป็นสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบ Interactive  ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมได้เป็นอย่างดี  มีขั้นตอนการสร้างไม่ซับซ้อน  ใช้งานง่าย

 

 

 

ตัวอย่างการสร้างแบบทดสอบออนไลน์ด้วยใช้ Nearpod

ที่มา https://app.nearpod.com/command?puid=5343dc6a6fbb3b791d3f07bbd8ebce47-1&sid=7e6bbc2e29813683bae98348fc2a3110&origin=My%20Library

 

          จากตัวอย่างเครื่องมือดิจิทัล/แอปพลิเคชันในการสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลวิชาภาษาไทยที่ผู้เขียนนำเสนอไปข้างต้น  เครื่องมือแต่ละชนิดมีข้อดี / ข้อด้อยแตกต่างกันไป  ผู้สอนจำเป็นต้องเลือกเครื่องมือให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ที่ต้องการจะวัด  รวมทั้งต้องพิจารณาบริบทของห้องเรียนและความพร้อมของผู้เรียน  และสิ่งสำคัญของการวัดและประเมินที่ผู้สอนต้องคำนึงถึงคือ  การหาคุณภาพของเครื่องมือวัดและประเมินผลที่เป็นแบบทดสอบและแบบสอบถามดังกล่าว  เพราะการหาคุณภาพจะทำให้เครื่องมือที่ใช้มีความน่าเชื่อถือ  ผู้สอนมีความมั่นใจในผลของการประเมิน  และนำผลการประเมินมาตัดสินได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งผู้สอนสามารถพัฒนาและปรับปรุงเครื่องมือดังกล่าวให้ยิ่งขึ้น  สำหรับการหาคุณภาพของแบบทดสอบออนไลน์  เริ่มจากผู้สอนวิเคราะห์เนื้อหาสาระและพฤติกรรมที่ต้องการจะวัด  เพื่อใช้เป็นกรอบในการระบุจำนวนข้อสอบ  หลังจากนั้นจึงสร้างเครื่องมือให้มีความเที่ยงตรงตามสิ่งที่ต้องการจะวัด  แล้วนำเครื่องมือดังกล่าวไปให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณา  หลังจากนั้นนำไปทดลองใช้เพื่อหาความยากง่าย  อำนาจจำแนกและความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ  แล้วจึงนำไปใช้กับผู้เรียน ส่วนการหาคุณภาพแบบสอบถามออนไลน์  ผู้สอนต้องกำหนดลักษณะและนิยามความหมายโดยใช้        การวิเคราะห์คุณลักษณะของสิ่งที่จะวัดให้ชัดเจน  ครอบคลุม  หลังจากนั้นจึงสร้างแบบสอบถามและนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณา และควรมีการทดลองเครื่องมือและนำมาปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์  แล้วจึงนำไปใช้กับผู้เรียนเช่นกัน

 

สรุป

          เป้าหมายของการวัดและประเมินผลคือ การนำผลการประเมินมาวิเคราะห์  พัฒนาและช่วยเหลือผู้เรียน  รวมถึงผู้สอนอาจนำผลที่ได้มาพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของตนเองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  การจัดการเรียน    การสอนออนไลน์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  ผู้สอนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนจากรูปแบบเดิมเป็นการสอนออนไลน์  ดังนั้นการนำเครื่องมือดิจิทัลหรือ      แอปพลิเคชัน  มาใช้ในการสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลวิชาภาษาไทย  จะช่วยอำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดี  ผู้สอนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในลักษณะแบบทดสอบก่อนเรียน  ระหว่างเรียน  และหลังเรียน  รวมทั้งใช้สร้างแบบสอบถามได้อีกด้วย  อย่างไรก็ตามการนำเครื่องมือดิจิทัลหรือแอปพลิเคชันต่างๆ  มาใช้ในการวัดและประเมินผล  ผู้สอนจำเป็นต้องมีการวางแผน  การสร้างและออกแบบเครื่องมือให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ผู้สอนตั้งไว้  รวมถึงการหาคุณภาพของเครื่องมือ  และสิ่งสำคัญที่สุดในการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลหรือแอปพลิเคชันต่างๆ  คือความพร้อมของผู้เรียนและบริบทของห้องเรียน  ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของอุปกรณ์  หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ผู้สอนจะละเลยไม่ได้  เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนและการวัดและประเมินผลการเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับผู้เรียน

 

บรรณานุกรม

กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม. (2564). ประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา
        วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  เรื่องมาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส      

        โคโรนา2019 (COVID-19) (ฉบับที่ 17). ค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2565 จากhttp://www.ops.go.th/

        main/index.php/news-service/announcement/3260-covid-20.

พัชรินทร์  ชมภูวิเศษ. (เมษายน 2559). การวัดและประเมินผลการศึกษา. เอกสารประกอบการสอนวิชา
        ED14201 การวัดและประเมินผลการศึกษา, อุดรธานี: มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี.

พิชิต  ฤทธิ์จรูญ. (2553). หลักการวัดและประเมินผลการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่6. กรุงเทพฯ: เฮ้าส์ ออฟ เคอร์มีสท์.

วิรัช วรรณรัตน์. (2535). “หน่วยที่ 1 แนวคิดของการวัดและการประเมินผลระดับประถมศึกษา” ในเอกสาร

        ประกอบการสอนชุดวิชาการวัดและประเมินผลกลุ่มวิชาทักษะและสร้างเสริมประสบการณ์หน่วยที่ 1-7.

        นนทบุรี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช.

อนุวัติ คูณแก้ว. (2563). การทดสอบ การวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอนออนไลน์. กรุงเทพฯ:

        สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.