อบสมุนไพรด้วยศาสตร์แพทย์แผนไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาวุธ หงษ์ศิริ สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

อบสมุนไพร คือ การอบตัวด้วยไอน้ำร้อนที่ได้จากการต้มสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยหลายๆชนิดรวมกัน เป็นวิธีบำบัดรักษาและส่งเสริมสุขภาพตามหลักของการแพทย์แผนไทยอย่างหนึ่ง โดยใช้ผ้าทำเป็นกระโจม มีหม้อต้มสมุนไพรเดือดให้ไอร้อน และกลิ่นหอมระเหยของสมุนไพร เพื่อสูดดมไอน้ำจากสมุนไพรทางระบบทางเดินหายใจ ผิวหนังได้สัมผัสไอน้ำสมุนไพร ช่วยกระตุ้นให้ระบบการไหลเวียนเลือดดีขึ้น ทำให้ร่างกายสดชื่น ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัญหาสุขภาพควรปรึกษาแพทย์แผนไทยหรือผู้ให้บริการก่อนอบสมุนไพรทุกครั้ง

ประโยชน์การอบสมุนไพร

1. กระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือดดีขึ้น คลายความตึงเครียด

2. ช่วยชำระล้างและขับของเสียออกจากร่างกายผ่านรูขุมขน

3. ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น บรรเทาอาการปวดเมื่อย

4. ช่วยทำให้ระบบการหายใจดีขึ้น

5. ช่วยบำรุงผิวพรรณ บรรเทาอาการผดผื่นคัน

6. ช่วยน้ำหนักตัวลดลงได้ชั่วคราว

7. ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วในหญิงหลังคลอด

8. ช่วยให้นอนหลับสบาย ลดอาการปวดศีรษะ

โรคหรืออาการที่สามารถบำบัดรักษาด้วยการอบสมุนไพร

1. โรคภูมิแพ้

2. โรคหอบหืดที่อาการไม่รุนแรง

3. โรคที่ไม่ได้เป็นการเจ็บป่วยเฉพาะที่หรือเป็นเฉพาะที่แต่มีหลายตำแหน่ง เช่น อัมพาต ปวดเมื่อยตามร่างกาย

4. โรคหรืออาการบางอย่าง เช่น ยอก โรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคเก๊าท์ อาจต้องใช้การอบสมุนไพรร่วมกับการรักษาอื่นๆตามความเหมาะสม เช่น หัตถบำบัด การประคบสมุนไพร

5. เป็นการส่งเสริมสุขภาพ ช่วยให้มารดาหลังคลอดเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น

วิธีการอบสมุนไพร มีขั้นตอนดังนี้

1. อาบน้ำชำระสิ่งสกปรกที่อาจติดตามรูขุมขน และเพื่อเป็นการเตรียมเส้นเลือดให้พร้อมต่อการยืดขยายและหดตัว แต่งกายด้วยเสื้อผ้าน้อยชิ้น

2. เข้าตู้อบหรือห้องอบ ที่มีการควบคุมอุณหภูมิระหว่าง 42 – 45 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการอบรม 30 นาที โดยแบ่งเป็น 2 รอบ รอบละประมาณ 15 นาที จากนั้นสลับออกมานั่งพัก 3 – 5 นาที ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำสมุนไพร เพื่อทดแทนการสูญเสียเหงื่อ

3. หลังอบสมุนไพรครบตามเวลา ไม่ควรอาบน้ำทันที ให้นั่งพัก 3-5 นาที หรือรอจนเหงื่อแห้ง จึงอาบน้ำอีกครั้ง เพื่อชำระคราบเหงื่อไคลและสมุนไพร ช่วยให้เส้นเลือดหดตัวตามปกติ

4. ควรอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง หรือวันเว้นวัน ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละคน

ข้อห้ามในการอบสมุนไพร

1. มีไข้สูง 38 องศาเซลล์เซียส หรือหลังฟื้นไข้ใหม่ๆ

2.โรคติดต่อร้ายแรงทุกชนิด เช่น วัณโรค

3.โรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคหอบหืดระยะรุ่นแรง โรคลมชัก

4. สตรีขณะมีประจำเดือน ร่วมกับมีอาการไข้ ปวดศีรษะร่วมด้วย

5. มีการอักเสบจากบาดแผลต่างๆ

6. มีอาการอ่อนเพลีย อดอาหาร อดนอน

7. มีอาการปวดศีรษะ ชนิดวิงเวียนศีรษะ และคลื่นไส้

8. โรคความดันโลหิตสูงที่มีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ

9. หลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ ไม่เกิน 30 นาที

10. เด็กและสตรีมีครรภ์

11. ผู้ที่มีแผลผ่าตัดหรือแผลคลอดที่ยังไม่หายสนิท

ข้อควรระวัง

1. ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ

2. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

3. ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง

4. ผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

5. มารดาหลังคลอดไม่เกิน 1 สัปดาห์

อาการแทรกซ้อนและการดูแลเบื้องต้น

1. มีความร้อนในร่างกายสูง การดูแล ดื่มน้ำมากๆ

2. เป็นลม การดูแล นอนศีรษะต่ำ ปลดเสื้อผ้าเข็มขัดให้หลวม ห้ามคนมุง ใช้น้ำเย็นเช็ดหน้าและคอ ถ้ายังไม่ฟื้นภายใน 15 นาที ให้ส่งแพทย์แผนปัจจุบัน ถ้าหยุดหายใจ ให้ทำการผายปอด โดยวิธีเป่าปากแล้วส่งแพทย์แผนปัจจุบัน

3. ถ้าแพ้สมุนไพร หายใจไม่ออก การดูแล ปลดเสื้อผ้าและเข็มขัดให้หลวม ห้ามคนมุง เพื่อให้อากาศถ่ายเท อาการไม่ทุเลา ให้ส่งแพทย์แผนปัจจุบัน

4. แสบผิวหนัง การดูแล รีบอาบน้ำ เช็ดตัวให้แห้ง เปลี่ยนเสื้อผ้า

อ้างอิง

สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก.(2550). แนวทางเวชปฏิบัติการแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ. กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.