หนังตะลุงเมืองเพชร: การศึกษาเชิงบทบาทหน้าที่

     การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์บทบาทหน้าที่การแสดงหนังตะลุงเมืองเพชรทั้งสายหนังในและหนังนอก จากบทพากย์ บทเจรจา และบริบทการแสดงบางส่วนของการแสดงหนังตะลุงเมืองเพชร จำนวน 4 เรื่อง คือ รามเกียรติ์ตอนศึกไมยราพณ์ รามเกียรติ์ตอนศึกทัพนาสูร เกราะสุวรรณ และดวงใจแม่ โดยใช้ทฤษฎีบทบาทหน้าที่นิยม (Functionalism) เป็นแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอเป็นบทความวิจัย

     ผลการวิจัยพบว่า บทบาทหน้าที่การแสดงหนังตะลุงเมืองเพชรแบ่งออกเป็น5 ด้าน ดังนี้ 1) บทบาทหน้าที่อธิบายที่มาและเหตุผลในการทำพิธีกรรม การแสดงหนังตะลุงเมืองเพชรเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม มีแบบแผนการแสดงที่เป็นลำดับขั้นตอนชัดเจนในการแก้บน มีบทพากย์ที่ร้องเชิญเจ้าพ่อให้มาชมหนังตะลุงที่เจ้าภาพได้จ้างมาเล่นถวายเพื่อให้หลุดสินบาดขาดสินบน 2) บทบาทหน้าที่ให้การศึกษาในสังคมที่ใช้ประเพณีบอกเล่า คือ ให้ความรู้ ถ่ายทอดวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ปลูกฝังทัศนคติ ผ่านการกลั่นกรองจากภูมิปัญญาและประสบการณ์ของนายหนังตะลุง 3) บทบาทหน้าที่รักษามาตรฐานทางพฤติกรรมที่เป็นแบบแผนของสังคม โดยสอดแทรกเนื้อหาสาระสำคัญเพื่อให้สมาชิกในสังคมนั้น ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบของสังคม ค่านิยมที่สังคมเห็นว่าดี ทัศนคติที่สังคมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ตลอดจนบรรทัดฐานทางพฤติกรรมและจริยธรรมของสังคม 4) บทบาทหน้าที่ให้ความเพลิดเพลินและเป็นทางออกให้กับความคับข้องใจของบุคคลในเรื่องเพศ การบ้านการเมือง และการเคารพผู้อาวุโส5) บทบาทหน้าที่สื่อประชาสัมพันธ์แก่ชุมชนโดยนำเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ มาสื่อสารเพื่อเสนอให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ทราบ