สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงาน

กฎหมายแรงงานเป็นเครื่องมือที่ภาครัฐบัญญัติขึ้นมาเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมให้แก่นายจ้างและลูกจ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานของภาคเอกชน ซึ่งมีลักษณะที่บุคคลฝ่ายหนึ่งสั่งการหรือมอบหมายงานของตนเองให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งยินยอมจะปฏิบัติงานให้ เพื่อรับค่าตอบแทนจากการปฏิบัติงานนั้น เพราะข้อมูลจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีปัญหาที่เกิดจากการจ้างแรงงานของนายจ้างและลูกจ้างเกิดขึ้นโดยตลอด ตั้งแต่ยุคการใช้แรงงานแบบ  “นายกับทาส” ซึ่งเป็นยุคที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์หรือแนวทางใดมาบังคับสิทธิหรือหน้าที่พื้นฐานเกี่ยวกับการใช้แรงงานมากนัก ดังนั้น ผู้มีอำนาจเหนือกว่าจึงสามารถบีบบังคับให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนปฏิบัติงานหรือดำเนินการใด ๆ ตามความต้องการของตนเอง โดยให้ค่าตอบแทนขั้นพื้นฐานเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เท่านั้น (สุรพล ปธานวนิช, 2543) ถึงแม้ในยุคต่อ ๆ มา แนวคิดของการใช้แรงงานจะมีการพัฒนาขึ้นแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม ส่งผลให้ปัญหาแรงงานจึงมีความซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจต่อรองระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของผู้ใช้แรงงาน ปัญหาการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ปัญหาการว่างงานและการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น (พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น, 2560) เพราะฉะนั้น เพื่อทำให้สังคมการใช้แรงงานมีความสงบสุข นายจ้างและลูกจ้างได้รับสิทธิและผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม อยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี กฎหมายแรงงงานจึงเข้ามามีบทบาทในการกำหนดแนวทางปฏิบัติและสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมให้แก่นายจ้างและลูกจ้าง