สตรีตอาร์ท (Street Art) : บริบทสะท้อนอัตลักษณ์ชุมชน

บทนำ

          งานสตรีตอาร์ต เป็นชื่อที่หมายรวมถึงศิลปะที่รายล้อมอยู่ในความเป็นชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อม รอบตัว โดยได้รับการพัฒนามาจากกราฟฟิตีที่เริ่มทำงานโดยการเพ้นท์รถไฟในเมืองนิวยอร์ก ในปี 1970 ช่วงที่มี การเคลื่อนไหวและสังคมแบบใต้ดิน การเมือง การเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยช่วงเวลานี้เราเรียกว่า โพสท์ กราฟฟิตี (Post-Graffiti) ศิลปินจำนวนมากพยามที่จะนำเสนอผลงานของตัวเองตามท้องถนน กำแพง หรือทุกๆ ที่พวกเขาสามารถจะทำได้ เพื่อนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ นำเสนอพลังแห่งการสร้างสรรค์ กำแพงเปรียบได้กับหอศิลป์ขนาดยักษ์ที่ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่ยากเย็น

         การรับอิทธิพลกราฟฟิตีในต่างประเทศเข้าสู่รูปแบบของสตรีตอาร์ตในเมืองไทยที่แตกต่าง สตรีตอาร์ตในต่างประเทศเกิดจากการหล่อหลอมของวัฒนธรรมของฮิพฮอพ (Hip-Hop culture) มาอย่างยาวนาน กราฟฟิตีเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมฮิพฮอพ เรื่องราวที่ท้าทายกฎหมาย การขีดเขียนตามที่สาธารณะเพื่อตอบโต้สังคมของชาวผิวสีในอเมริกา กราฟฟิตีคือวัฒนธรรมที่เป็นทั้งงานศิลปะและเป็นขบถในเวลา เดียวกัน กราฟฟิตีในประเทศไทยถูกรับเอาวัฒนธรรมการทำงานที่ท้าทายกฎหมายและรูปแบบมาใช้ แต่เมื่อพัฒนาเข้าสู่สตรีตอาร์ตได้ลดความรุนแรงลงไป โดยหยิบยืมรูปแบบการทำงานในที่สาธารณะมาใช้เพียงเท่านั้น ศิลปินมุ่งไปที่การทำงานเพื่อศิลปะมากกว่าวิถีการทำงานนอกกฎหมาย (แมนฤทธิ์ เต็งยะ.2559)

          ในประเทศไทยสตรีตอาร์ตพบได้บ่อยตามแหล่งชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยภาพสตรีตอาร์ตที่ปรากฏตามผนัง กำแพง พื้นที่สาธารณะนั้น เป็นพลวัตด้านหนึ่งของการต่อยอดต้นทุนด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของชุมชน การใช้เป็นเครื่องมือในการปรับภูมิทัศน์ชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อพลิกฟื้นจากภาพของความทรุดโทรมสู่ชุมชนที่มีความสวยงาม หรือการใช้ภาพสตรีตอาร์ตเพื่อสร้างแรงดึงดูดด้านการท่องเที่ยว และสื่อสารอัตลักษณ์ของชุมชนในต่างจังหวัด

         ปัจจุบันเรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้นโดยสตรีตอาร์ตมากที่สุดในประเทศไทย คือ เรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชน โดยที่สตรีตอาร์ตจะทำหน้าที่ในการสื่อสารคุณค่าทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชุมชนได้อย่างชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายในหมู่นักท่องเที่ยวยุคใหม่ เนื่องจากสื่อภาพมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะจับความสนใจของผู้คนในฐานะประสบการณ์ที่เข้าใกล้ได้ สัมผัสได้ และเข้าถึงได้ง่ายกว่าโบราณวัตถุหรือสถาปัตยกรรมหลายพื้นที่ในประเทศไทยจึงมีการใช้สตรีตอาร์ตเข้าไปเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ เพื่อให้เกิดผลพลอยได้ด้านการท่องเที่ยว (สถาปนิก’ 65.2563)

สตรีตอาร์ตในประเทศไทย ปรากฏในหลายพื้นที่ทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด ดังนี้

         ชุมชนย่านเก่าในกรุงเทพมหานนคร เช่น เยาวราช บางรัก ถนนเจริญกรุง ราชเทวี เป็นต้น แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมและมีสตรีตอาร์ตที่สะท้อนอัตลักษณ์ชุมชน ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น เป็นแหล่งศึกษาความรู้ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่สัมผัสและเข้าถึงได้ง่าย

          จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทั้งธรรมชาติ วัด ร้านกาแฟ ที่พัก โรงแรม ฯลฯ และยังเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อในเรื่อง “งานศิลปะ” ทั้งแบบล้านนาโบราณ และแบบศิลปะร่วมสมัย สตรีต อาร์ต (Street Art)  ถนนวัวลาย, หลังคุกเก่า, ถนนมูลเมือง ซอย 7, วัดล่ามช้าง, ถนนมูลเมือง ซอย 7 ก, ถนนราชภาคินัย ซอย 1,​ ถนนราชวิถี ซอย 2, วัดดวงดี, ถนนราชมรรคา, ถนนพระปกเกล้าซอย 3, ถนนพระปกเกล้า ซอย 5, ถนนช้างม่อยตัดใหม่, ถนนคชสาร ซอย 4, ประตูท่าแพ (ร้าน CoolMuang Coffee), ถนนสามล้าน ซอย 1 และถนนศรีภูมิ ซอย 6 เป็นต้น

           จังหวัดภูเก็ตนอกจากจะมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ชิโนโปรตุกีสที่สวยงามมีเสน่ห์แล้ว ยังมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจอย่างศิลปะแบบกราฟฟิตี้หรือสตรีตอาร์ตแฝงตัวอยู่ตามจุดต่าง ๆ ด้วย โดยได้ศิลปินในภูเก็ตและศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศมาช่วยสร้างผลงาน สตรีตอาร์ตในภูเก็ตครั้งนี้มีที่มาจากโครงการ FAT หรือ Food Art Town in Phuket ที่ต้องการนำเสนอวัฒนธรรมภูเก็ตผ่านศิลปะร่วมสมัยที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้ตั้งแต่ ถนนปฏิพัทธ์ ถนนดีบุก ถนนถลาง ถนนพังงา ถนนกระบี่ ถนนรัษฎา(สถาปนิก’ 65.2563) รวมถึงภาคใต้อีกหลาย ๆ พื้นที่ จังหวัดสงขลา สตูล ยะลา พังงา ฯลฯ

         จังหวัดลำปาง เมืองรถม้า บริเวณย่านตลาดเก่าที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีต “กาดกองต้า”สถาปัตยกรรมเหล่านี้มีทั้งศิลปะตะวันตก พม่า-ไทใหญ่ และจีนซึ่งยังคงได้รับการดูแลรักษาอย่างดี บริเวณ “กาดเก๊าจาว”ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟนครลำปาง ปรากฏสตรีทอาร์ทเกี่ยวกับภาพไก่ขาว  รถม้าลำปาง อาหาร เป็นต้นสะท้อนอัตลักษณ์ชุมชนความเป็นชุมชนได้อย่างชัดเจน

       จังหวัดสุโขทัย อำเภอสวรรคโลก บริเวณถนนพิศาลสุนทรกิจ ใกล้กับริเวณสถานีตำรวจสวรรคโลก โดยมี 5 ศิลปิน จากประเทศสิงคโปร์ กัมพูชา มาเลเซีย และไทย มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานสตรีตอาร์ต

         จังหวัดร้อยเอ็ด  สตรีตอาร์ตที่ยาวที่สุดภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณถนนคูเมืองทิศตะวันตก ด้านหน้าติดถนนสวนเฉลิมพระเกียรติภูมิพลมหารา อำเภอเมืองร้อยเอ็ด  จนได้ขนานนามว่า “ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านอาร์ต”

          ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีสตรีตอาร์ตที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ชุมชนอีกหลายจังหวัด โดยในแต่ละจังหวัดได้แสดงพลังความเป็นวัฒนธรรมของชุมชนได้อย่างชัดเจน อีกทั้งเป็นจุดขายในด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญอีกด้วย รวมถึงจังหวัดในภาคกลางที่มีศิลปินไปร่วมสร้างสรรค์งานสตรีตอาร์ต อาทิเช่น จังหวัดเพชรบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ชัยนาท

         กรณีศึกษาของจังหวัดราชบุรี มีการนำศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบต่าง ๆ และหลากหลายกิจกรรม ตัวอย่างสตรีตอาร์ตบริเวณฝาผนัง กำแพงอาคารบ้านเรือน ที่มีผู้คนในชุมชนมีส่วนร่วมและร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นงานศิลปะที่มีสีสันสวยงาม ซึ่งได้ศิลปินมาสร้างสรรค์งาน เช่น ศิลปินกลุ่มจาร์ทาวน์ สร้างงานที่เรียกว่า “แคททาวน์” (ปัจจุบันแทนที่ด้วยสตรีตอาร์ตแบบใหม่) ซึ่งเป็นจุดที่ช่วยปรับภูมิทัศน์ให้ดูน่าสนใจมากขึ้น กลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ จากเดิมบริเวณนี้เคยเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ไร้ประโยชน์ เมื่อเกิดงานศิลปะช่วยทำให้พื้นที่นั้นโดดเด่น มีคุณค่าและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และความเข้มแข็งให้กับชุมชนราชบุรีให้พัฒนาต่อไป

          นอกงานงานศิลปะในชุมชนเมืองราชบุรีที่เป็นที่รู้จักแล้ว ได้ส่งผลไปถึงชุมชนในอำเภอบ้านโป่ง ได้ริเริ่มโครงการงานศิลปะในชุมชน ในปี พ.ศ.2560 นิทรรศการโครงการพัฒนาศิลปะร่วมสมัยชุมชนเมืองบ้านโป่ง (70110 Banpong Urban Art Terminal) โดยมีกลุ่มศิลปินร่วมมือกันสร้างสรรค์งานศิลปะในชุมชนบ้านโป่ง ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พื้นที่ชุมชนและสร้างอัตลักษณ์ความร่วมสมัยที่สามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ในชุมชน สร้างความตระหนักถึงคุณค่าทางวัฒนธรรม และก่อให้เกิดความภูมิใจในชุมชนของตนเอง

        อัตลักษณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงตัวตนที่ชัดเจนของชุมชนรวมถึงการเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เรื่องราวของประวัติศาสตร์ชุมชน สามารถมองเห็นถึงอดีต ปัจจุบัน และก้าวสู่อนาคตของชุมชนได้  งานศิลปะร่วมสมัย สตรีตอาร์ตเป็นอัตลักษณ์ใหม่ที่ปรากฏขึ้น และมีบทบาทในการแสดงตนเองให้กับผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ได้เป็นที่รู้จัก เพื่อสร้างความเข้าใจ เรียนรู้ ประชาสัมพันธ์ และเกิดรายได้ให้กับชุมชนในด้านการท่องเที่ยวของชุมชน ดังนั้นงานสตรีตอาร์ต เป็นงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ เป็นงานศิลปะร่วมสมัยที่สามารถเข้าถึงกับผู้คนได้ทุกเพศ ทุกวัย อีกทั้งความงดงามของศิลปะนี้ ยังสามารถถ่ายทอดความเป็นตัวตนของเมืองหรือชุมชนได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังส่งผลในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ด้านการท่องเที่ยวในมิติต่าง ๆ เพื่อความยั่งยืนของชุมนต่อไป

          ความร่วมมือร่วมใจของทางภาคประชาชน ชุมชน และหน่วยงานรัฐ การทำงานช่วยเหลือและส่งเสริมกันเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถพัฒนาความยั่งยืนให้กับชุมชนได้อย่างมั่งคง อีกทั้งการปลูกฝังงานศิลปะให้กับเยาวชนในชุมชนเป็นการบ่มเพาะความคิดและปัญญาเพื่อสร้างจิตสำนึก ปลูกฝังความรักและเข้าใจในชุมชนของตนเอง สร้างการเรียนรู้ความเข้าใจในถิ่นฐานของตนเอง เพื่อหวังว่าเยาวชนเหล่านี้จะภูมิใจและหวนกลับมาพัฒนาชุมชนในอนาคตต่อไป

อ้างอิง

แมนฤทธิ์ เต็งยะ.(2559). จากวัฒนธรรมกราฟฟิตีสู่งานสตรีทอาร์ตในประเทศไท. วารสาร E-Journal,

             Silpakorn University, 9(2), (2425-2436).

สถาปนิก’ 6. (2563). สตรีตอาร์ท ชุบชีวิตมรดกเมืองและสถาปัตยกรรม.

             https://www.asaexpo.org/post/street-art