ศัพท์ที่เกี่ยวกับการออกแบบตัวพิมพ์ [วิ สิ ท ธิ์ โ พ ธิ วั ฒ น์]

ตัวอักษรถือเป็นองค์ประกอบสำคัญและเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารข้อมูลในงานออกแบบทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ อาจปรากฏในรูปของคำพาดหัวตัวโป้ง คำพาดหัวย่อย หรือเป็นรูปประโยคขนาดยาว เช่น คำพาดหัวบนป้ายโฆษณา ข้อมูลสำคัญที่ปรากฏในบรรจุภัณฑ์ ข้อความที่ระบุชื่อผลิตภัณฑ์ เป็นต้น รูปแบบที่หลากหลายของตัวพิมพ์ (Typeface) มักถูกนำไปใช้ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน สามารถสื่อสารความหมายได้ชัดเจน และยังสามารถช่วยสื่อถึงอารมณ์ บุคลิกลักษณะต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของงานออกแบบ

ในการทำงานออกแบบตัวพิมพ์นั้นแนวคิดในการออกแบบเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์ผลงาน นอกจากนี้ผู้ออกแบบยังต้องอาศัยความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับตัวอักษรและตัวพิมพ์ เพื่อช่วยให้การออกแบบตัวพิมพ์นั้นสวยงาม ได้มาตรฐาน และสามารถใช้งานได้จริง นักออกแบบควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวกับการออกแบบตัวพิมพ์ 

ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบตัวพิมพ์มีหลายคำ ซึ่งแต่ละคำอาจมีความหมายใกล้เคียงกัน และอาจนำไปใช้ผสมกันไปมา ซึ่งศัพท์ที่พบได้บ่อยครั้ง ได้แก่

1) ศาสตร์การพิมพ์ (Typography) หมายถึง หลักการศาสตร์และทฤษฎีว่าด้วยการเรียงพิมพ์การออกแบบและการจัดวางตัวอักษร

2) การออกแบบจัดวางอักษร (Typographic Design) หมายถึง รูปทางเลขนศิลป์ที่เน้นการออกแบบโดยการนำเอาตัวอักษรมาใช้เป็นหลัก

3) การออกแบบอักษร (Lettering Design) หมายถึง การออกแบบกลุ่มคำตัวอักษรที่ไม่จำเป็นจะต้องครบชุด สำหรับงานเป็นชิ้นๆ ไป

4) ตัวอักษร (Type) หมายถึง ตัวอักษรแต่ละตัว ครอบคลุมตัวเลข สัญลักษณ์ สระ วรรณยุกต์ เครื่องหมายต่างๆ 

5) แบบตัวพิมพ์ (Typeface) หมายถึง ชุดของตัวอักษรที่มีรูปแบบเดียวกัน รวมถึงตัวเลขและเครื่องหมายต่างๆ

6) สกุลของตัวพิมพ์ (Type Family) หมายถึง แบบตัวพิมพ์ที่มีขนาดและรูปแบบที่แตกต่างกัน อาจจะประกอบไปด้วย 4 รูปแบบ ได้แก่ Regular, Italic, Bold, Bold Italic เป็นต้น หรืออาจมีรูปแบบมากกว่านี้ได้

7) ชุดแบบตัวพิมพ์ (Font) หมายถึง ชุดตัวอักษรในรูปแบบเดียวกันที่ขนาดเดียวกัน ตัวอย่างเช่น Angsana ที่มีขนาด 14 พอยต์ คือฟอนต์หนึ่ง Angsana ที่มีขนาด 16 พอยต์ คือฟอนต์หนึ่ง หรือ  Angsana Bold ที่มีขนาด 14 พอยต์ ก็เป็นอีกฟอนต์หนึ่ง เป็นต้น การนํารูปแบบของตัวอักษรในแบบต่างๆนั้น (Typeface) นํามาใส่รายละเอียดของความห่างระหว่างตัวอักษร ช่องไฟ   ระยะห่างระหว่างบรรทัด มีการทดสอบถึงการนําไปใช้ และการอ่านพร้อมที่จะนําไปใช้ในกระบวนการทางคอมพิวเตอร์ (อนุทิน วงศ์สรรคกร, 2543)

8) อักขระ (Character) หมายถึง ตัวอักษร (พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์) ตัวเลข เครื่องหมายที่กําหนดใช้ของแต่ละภาษา

9) รูปอักษร (Glyph) หมายถึง รูปลักษณ์ของตัวอักษร มีความหมายเดียวกันกับ Character อันหมายถึง บุคลิกของตัวอักษรที่มีหลากหลายแบบแตกต่างกันออกไป เช่น สง่างาม, สนุกสนาน ร่าเริง, สงบเงียบ, อ่อนหวาน, เข่มแข็ง, น่ากลัว ฯลฯ

10) ประจักษ์ภาพ (Legibility) หมายถึง ความยากง่ายในการแยกแยะด้วยสายตาในระหว่าง การอ่านอาจเป็นผลมาจากตัวอักษรที่ต่างกัน ช่องไฟที่พอเหมาะ รูปร่างอักษรที่ถูกต้องตามอักขระวิธี ความมีระเบียบ ความสบายตาเมื่ออ่าน ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ของผู้อ่านและมีผลต่อการออกแบบตัวพิมพ์เนื้อความหรือข้อมูล

11) การอ่านได้ยาก-ง่าย (Readability) เป็นผลมาจากการออกแบบรูปแบบ สี การจัดวางของข้อความ ตัวอักษร การรับรู้ ความเคยชินของผู้อ่าน (ขาม จาตุรงคกุล, 2545)

 

เอกสารอ้างอิง

ขาม จาตุรงคกุล. (2545). การออกแบบตัวอักษรและภาพสำเร็จรูปในรูปแบบเลขนศิลป์อีสาน. (ปริญญาศิลปมหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร.

อนุทิน วงศสรรคกร. (2543). บันทึกบรรยาย 10 บทความเลขนศิลป์ศึกษาเชิงไปรเวท จากบันทึกการสอนของ อนุทิน วงศ์สรรคกร. กรุงเทพฯ: คอร์เปอร์เรชั่น โฟร์ดี.