วัฒนธรรมดนตรีมอญบ้านวังกะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

วัฒนธรรมดนตรีมอญบ้านวังกะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

          สังขละบุรีเป็นอำเภอในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทยด้านทิศตะวันตกติดกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเมียนมาร์หรือประเทศพม่า เป็นพื้นที่ที่อยู่ท่ามกลางภูเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อน มีแม่น้ำและลำห้วยมากมายหลายสายไหลผ่านตามซอกเขา เป็นดินแดนที่มีการผสมผสานระหว่างความงามของธรรมชาติ สายน้ำ และป่าเขาลำเนาไพรที่อุดมสมบูรณ์ เข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่ายของผู้คนหลากชาติหลากภาษาที่ยังคงเอกลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ของตนไว้ได้ โดยแบ่งเป็นชนชาวกะเหรี่ยง ชาวไทย และชาวมอญ 

          พื้นที่ตัวอำเภอสังขละบุรีตามสภาพทางกายภาพแยกเป็นสองส่วน มีลำห้วยซองกาเลียคั่นกลาง แผ่นดินทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเป็นที่ตั้งของตัวอำเภอสังขละบุรี หรือชาวบ้านเรียกกันว่า ฝั่งไทย ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของเทศบาลตำบลวังกะ ตำบลหนองลู ส่วนแผ่นดินทางทิศตะวันตก คือ หมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง หรือหมู่บ้านมอญ ชาวบ้านเรียกกันว่า ฝั่งมอญ อยู่ในเขตการปกครองของบ้านวังกะ ตำบลหนองลู เช่นเดียวกัน

ชุมชนมอญบ้านวังกะ

          ชาวมอญกลุ่มแรกราว 60 คน พร้อมทั้งพระสงฆ์2 รูป จากบ้านเยบู (Yebyu) เมืองมุเดิง (Mudon) ถูกทหารพม่าก่อกวน เผาบ้านเรือน และทำลายข้าวของเสียหาย จึงพากันอพยพหนีออกมา โดยมีนายตันเป็นหัวหน้านำราษฎรมอญออกจากหมู่บ้าน เมื่อ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2492 มาตั้งบ้านเรือนบริเวณปากน้ำบีคลี่ เรียกว่า “บ้านวังกะ”  ในปีพ.ศ. 2949 ราษฎรมอญประมาณ 20 คน จากบ้านเมาะกะเนียง บ้านตองมุ ได้อพยพออกจากหมู่บ้าน พร้อมทั้งต้อนวัวควายเดินทางรอนแรมผ่านป่าเขาเข้ามาทางห้วยองพะ ใช้เวลาเดินทาง 4 วันจึงมาถึงบ้านวังกะ การอพยพครั้งนี้ นายพะ (ซึ่งขณะนั้นอายุประมาณ 46 ปี) เป็นหัวหน้าหลังจากนั้น ชาวมอญก็ทยอยกัน อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนในบริเวณบ้านวังกะเพิ่มขึ้น หลวงพ่ออุตตมะซึ่งได้เดินทางจากบ้านเมาะกะเนียงเข้ามาในประเทศไทย  ตั้งแต่พ.ศ. 2491 จึง ได้รวบรวมตามราษฎรมาร่วมกันสร้างวัดขึ้น ในหมู่บ้าน เรียกว่า “วัดวังกะ” เมื่อ พ.ศ.2495 เมื่อทางราชการสร้างเขื่อนเขาแหลมในลำน้ำแควน้อยแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2527 เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ทางราชการจึงสั่งอพยพราษฎรมอญที่อยู่ริมแม่น้ำบีคลี่ ประมาณ 400 ครอบครัวไปตั้งบ้านเรือนบริเวณชายฝั่งตะวันตกแม่น้ำซองกาเรีย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอสังขละบุรี

          หมู่บ้านมอญ หรือชื่อทางราชการคือ หมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง หมู่ที่ 2 บ้านวังกะ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านมอญพลัดถิ่น มีพื้นที่ประมาณ 614 ไร่ ซึ่งจากการสร้างเขื่อนเขาแหลมในปี พ.ศ. 2527 ทำให้บ้านเรือนและพื้นที่เดิมถูกน้ำท่วมชาวบ้านส่วนใหญ่ ต้องอพยพโยกย้ายขึ้นมาอยู่ที่ตั้งอำเภอใหม่ เหนือพื้นที่อำเภอเดิมขึ้นมาประมาณ 3 กิโลเมตร ชาวมอญเองก็ต้องอพยพโยกย้ายไปอยู่ในที่ดินของวัดวังก์วังวิเวการาม ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยกให้กรมการศาสนา เท่ากับเป็นการยกที่ดินให้กับหลวงพ่ออุตตมะไว้สำหรับจัดสรรพื้นที่สร้างวัดและหมู่บ้าน หมู่บ้านใหม่ซึ่งหลวงพ่ออุตตมะช่วยเหลือให้ชาวมอญมาอยู่นี้ มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงๆ ละ 1 งาน (ประมาณ 100 ตารางวา) ตั้งบ้านเรือนเรียงรายกันไปด้านริมห้วยซองกาเลียจนถึงริมลำน้ำบีคลี่ ด้านตะวันออกของวัด โดยจะมีการเขียนหมายเลขแปลงและให้ชาวบ้านจับฉลาก และเข้าอยู่อาศัยตามหมายเลขที่จับได้ บางส่วนก็จะเลือกอยู่อาศัยรวมกันในกลุ่มเครือญาติของตนเอง บ้างก็เลือกอาศัยอยู่กับเพื่อนบ้านที่เคยอยู่เดิม

          สภาพของหมู่บ้านในปัจจุบันสามารถเข้าถึงได้สองทาง ทางหนึ่งโดยทางเดินเท้าจากสะพานไม้ข้ามแม่น้ำซองกาเลียจากฝั่งบ้านวังกะหรือฝั่งไทยซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอสังขละบุรีไปยังฝั่งหมู่บ้านมอญ โดยได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากทั้งชาวไทย ชาวกะเหรี่ยง และชาวมอญ รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ ได้ร่วมกันสร้างสะพานไม้ขนาดใหญ่เพื่อข้ามแม่น้ำซองกาเลียนี้ เพื่อใช้เป็นทางสัญจรติดต่อถึงกัน สะพานไม้นี้มีความสูงและยาวเป็นอย่างมากเนื่องจากต้องสร้างให้พ้นระดับน้ำที่ท่วม โดยใช้โครงสร้างซึ่งเป็นโครงถักไม้แบบภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งออกแบบโดยหลวงพ่ออุตตมะ โครงถักไม้นี้สร้างยึดกันไปมาอย่างถี่ยิบเพื่อให้เกิดความคงทนแข็งแรง ทั้งเพื่อรับน้ำหนักของคนและรถจักรยานที่ผ่านสัญจรไปมาบนสะพาน และเพื่อรับแรงไหลของน้ำในฤดูน้ำหลาก และแรงลมซึ่งปะทะเต็มที่รอบด้าน ความสวยงาม ขนาดอันใหญ่โต และโดดเด่นของสะพานจึงทำให้สะพานไม้นี้เป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของหมู่บ้าน

          สำหรับสะพานไม้ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เป็นสะพานที่ผ่านการซ่อมแซมบูรณะใหม่ในช่วงวาระครบพระชันษา 5 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. 2539 ด้วยความร่วมมือจากชาวบ้านทั้งชาวไทย ชาวกะเหรี่ยง และชาวมอญ ร่วมด้วยพระสงฆ์ และภาคเอกชน เนื่องจากสะพานเก่าชำรุด ในปัจจุบันจึงไม่อนุญาตให้รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ผ่าน ทั้งเพื่อป้องกันการชำรุด และเพื่อความปลอดภัยของชาวบ้านที่สัญจรไปมา

วัฒนธรรมดนตรีมอญบ้านวังกะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

          คณะดนตรีมอญที่คงเหลืออยู่ในหมู่บ้านมอญและเป็นที่รู้จักของชาวมอญในปัจจุบันมีเพียง 1 คณะ คือ คณะดนตรีมอญบ้านวังกะของคุณกนกพันธุ์  โพธิ์เผือก  ซึ่งร่วมกันก่อตั้งคณะดนตรีขึ้นจากนักดนตรีเชื้อสายมอญที่มีความสามารถด้านดนตรีอยู่ก่อนแล้ว โดยต่างก็มีความสมัครใจและสุขใจที่จะร่วมกันก่อตั้งวงดนตรี  และถ่ายทอดให้กับเยาวชนที่สนใจโดยไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ

          นอกจากมีการจัดการเรียนการสอนด้านดนตรีแล้ว ทางคณะดนตรีมอญบ้านวังกะของคุณกนกพันธุ์  โพธิ์เผือกยังมีการถ่ายทอดศิลปะการแสดงมอญให้กับผู้ที่สนใจ  และรับงานแสดงในงานมงคลและงานอวมงคลต่างๆ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานมงคล  เนื่องจากงานอวมงคลไม่นิยมว่าจ้าง  โดยก่อนการบรรเลงจะต้องมีการไหว้ครู โดยมีเครื่องไหว้ครู คือ กล้วย 3 หวี มะพร้าว ธูป เทียน ใบยา หมาก ใบพลู และเงิน 37 บาท

          การถ่ายทอดดนตรีมอญของชุมชนบ้านวังกะมีเพียงการถ่ายทอดนอกระบบการศึกษาในกลุ่มชนที่สนใจ  โดยรวมตัวกันที่คณะของคุณกนกพันธุ์  โพธิ์เผือก  และสอนโดยนักดนตรีสมัครเล่นภายในวง  บทเพลงแรกที่ทำการสอนให้กับผู้ที่สนใจทุกคน คือ เพลงหงษ์(เจ้าหงษ์ทอง)  เนื่องจากเป็นเพลงที่ใช้บรรเลงเป็นเพลงแรกทุกครั้งในการออกแสดงตามที่ต่างๆ เนื้อหาของบทเพลงเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานของเมืองหงสาวดี ซึ่งผู้ที่สนใจเข้ารับการถ่ายทอดดนตรีมอญส่วนใหญ่เป็นเยาวชนเพศหญิง  ซึ่งเข้ารับการถ่ายทอดทั้งทางด้านดนตรีและศิลปะการแสดงของมอญควบคู่กัน 

          เครื่องดนตรีที่มีผู้สนใจเรียน ได้แก่  ระนาดเหล็ก  ระนาดไม้ ขลุ่ย ปี่ ฆ้อง จระเข้ กลองชุด กลองวง ฉิ่ง และฉาบ  ซึ่งเครื่องดนตรีทั้งหมดได้ซื้อมาจากพม่า  และนำมาเทียบเสียงให้เสียงโดเท่ากับเสียงโดของคียบอร์ดในบ้านคุณกนกพันธุ์

การถ่ายทอด

          การถ่ายทอดดนตรีของคณะดนตรีมอญบ้านวังกะมีการถ่ายทอดทั้งแบบอาศัยการเลียนแบบ  การจำ  และการท่องโน้ต แต่ในการถ่ายทอดส่วนใหญ่นิยมใช้การถ่ายทอดโดยให้ผู้เรียนเลียนแบบการบรรเลงแต่ละเครื่องดนตรี โดยผู้สอนจะสอนโดยการสาธิตทีละทำนองและให้ผู้เรียนจำและเลียนแบบการบรรเลง  นอกจากนี้ในบางโอกาสจะมีผู้สอนที่เป็นคนมอญมาจากพม่าคือคุณลุงของคุณกนกพันธุ์มาสอนดนตรีมอญ  และทำการบันทึกโน้ตเพลงมอญเพื่อใช้ในการถ่ายทอด ในกรณีของเพลงขับร้องที่เป็นภาษามอญจะมีการถ่ายทอดให้กับผู้ที่สนใจ แต่เนื่องจากเกิดอุปสรรคทางด้านการอ่านภาษามอญของผู้เรียน  จึงมีการนำภาษามอญมาถอดเสียงและเขียนใหม่เป็นภาษาไทยให้ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจและอ่านได้ง่ายขึ้น

การบันทึกโน้ต

          การบันทึกโน้ตเพลงมอญของคณะดนตรีมอญบ้านวังกะจะทำการบันทึกโดยคุณลุงของคุณกนกพันธุ์ที่มาจากพม่า  โดยการบันทึกโน้ตเป็นแบบเชอเว และมีสัญลักษณ์ที่ใช้ในการบันทึกและการอ่านโน้ตดังนี้

            1.  การแทนโน้ตด้วยตัวเลข 1 2 3 4 5 6 7  ให้อ่านออกเสียงเป็นโด เร มี ฟา ซอล ลา ที ดังนี้

                        1                      แทน                 เสียงโด (C)

                        2                      แทน                 เสียงเร (D)

                        3                      แทน                 เสียงมี (E)

                        4                      แทน                 เสียงฟา (F)

                        5                      แทน                 เสียงซอล (G)

                        6                      แทน                 เสียงลา (A)

                        7                      แทน                 เสียงที (B)

            2.  การแทนโน้ตตัวหยุดแทนด้วยเลข 0

            3.  ค่าของตัวโน้ตใช้ –  มากำหนดร่วมกับตัวเลขในตำแหน่งหลังตัวเลขและใต้ตัวเลข  ตัวอย่างเช่น

                        1 – – –                แทน                 โน้ตเต็มส่วน

                        1 –                    แทน                 โน้ต 2 ส่วน

                        1                      แทน                 โน้ต 4 ส่วน

                        1                      แทน                 โน้ต 8 ส่วน

                        1                      แทน                 โน้ต 16 ส่วน

            4.  การประจุดกระทำได้เช่นเดียวกันกับระบบโน้ตสากล 

            5. ไม่มีการใช้เครื่องหมายแปลงเสียง (Accidental) ในการเขียนโน้ต

            6.  ตัวโน้ตที่มีระดับเสียงต่ำกว่าระดับเสียงปกติให้ใส่จุดข้างใต้ตัวเลข

            7.  ตัวโน้ตที่มีระดับเสียงสูงกว่าระดับเสียงปกติให้ใส่จุดข้างบนตัวเลข

            8.  เครื่องหมายกำหนดจังหวะ (Time Signature) ใช้อัตราจังหวะ 1/4   2/4   และ4/4

            9.  มีการใช้สัญลักษณ์เช่นเดียวกันกับระบบโน้ตสากลและให้ความหมายเช่นเดียวกัน  คือ  barline  , double barline , tie , slur และมีจังหวะตกอยู่หน้าห้องเพลง

            การบันทึกโน้ตเพลงมอญของคณะดนตรีมอญบ้านวังกะมีเพียงบางบทเพลงเท่านั้น ไม่ครบถ้วน เนื่องจากผู้บันทึกเป็นคุณลุงของคุณกนกพันธุ์ที่มาจากพม่า เมื่อมาทำการบันทึกก็บันทึกได้เฉพาะเพลงหลักๆ เท่านั้น ประกอบกับผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการเรียนโดยการอ่านโน้ตในระบบดังกล่าว จึงทำให้โน้ตดังกล่าวมีไม่ครบถ้วนทุกบทเพลง

 

เอกสารอ้างอิง

กนกพันธุ์  โพธิ์เผือก.  (17 มกราคม 2552).  ผู้เชี่ยวชาญดนตรีมอญหมู่บ้านวังกะ ตำบลวังกะ อำเภอสังขละบุรี  จังหวัดกาญจนบุรี.  สัมภาษณ์.

จรัญ  กาญจนประดิษฐ์. (2547). การศึกษาดนตรีชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านกองม่องทะ ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. ปริญญานิพนธ์ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (มานุษยดุริยางควิทยา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

นิสสานารถ  ตรีเพ็ชร์. (2549). การศึกษาดนตรีจีนในจังหวัดชลบุรี. ปริญญานิพนธ์ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (มานุษยดุริยางควิทยา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

สุพัตรา  วิไลลักษณ์. (2548). การศึกษาดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกงเต๊กแบบฆราวาส  กรณีศึกษาศีลธรรมสมาคม. ปริญญานิพนธ์ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (มานุษยดุริยางควิทยา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

อรวรรณ  ทับสกุล.  (2547).  หลวงพ่ออุตตมะ  หลวงพ่อใหญ่ของชาวมอญ.  กรุงเทพฯ : มติชน.