ลักษณาการและบทบาทหน้าที่ “ความชราภาพ”ของพระโพธิสัตว์ ในอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณาการและบทบาทหน้าที่ “ความชราภาพ” ของพระโพธิสัตว์ในอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยใช้กุล่มข้อมูลอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 เล่ม 1 – 4 จำนวน 255 เรื่อง ซึ่งค้นพบข้อมูลตรงตามการศึกษาตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษาและคัดเลือกไว้จำนวน 5 เรื่อง โดยวิเคราะห์ข้อมูลตามกรอบแนวคิดของ ฮอลล์ (Hall) เรื่องหลักเกณฑ์ของความเป็นผู้สูงอายุประกอบด้วย 1) การสูงอายุตามวัย 2) การสูงอายุตามสภาพร่างกาย 3) การสูงอายุตามสภาพจิตใจ และ 4) การสูงอายุตามสภาพสังคม ผลการศึกษาพบว่า พระโพธิสัตว์ที่เสวยพระชาติเป็นมนุษย์ชราภาพประกอบด้วย พระราชาชรา, ท้าวสักกะแปลงเพศเป็นคนแก่, และพฤฒาจารย์สอนดีดพิณ ลักษณาการความชราดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงสภาวะความแก่ชราทางชีวภาพร่างกาย ได้แก่ ผมหงอก สรีระร่างกายเสื่อม ความอาวุโสและลักษณาการความชราภาพทางด้านจิตใจ ได้แก่ การถดถ้อย อาการท้อถอย น้อยใจ หดหู่ กรณีพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสัตว์ชรา ได้แก่ นกกระทาแก่ที่มีความอาวุโสกว่าสัตว์อื่นๆ กับพญานกแขกเต้าแก่ที่มีจักษุทุรพล ส่วนบทบาทลักษณาการความชราภาพของตัวละครพระโพธิสัตว์นั้น ประกอบด้วยบทบาท การสอนธรรมโดยตรงในเรื่องความชรา คุณธรรม ความเคารพ และการสอนคติเตือนภัย บทบาทลักษณาการความชราภาพดังกล่าวมีผลทำให้เรื่องเล่าชาดก โครงเรื่อง ตัวละคร มีความเข้มข้นในการดำเนินเรื่องชวนให้ติดตามและตระหนักสังเวชในลักษณาการความชราภาพอันนำไปสู่ความสังวรในสังขาร ทำให้ผู้อ่านไม่ประมาทต่อการดำเนินชีวิต