รูปแบบการเรียนการสอนโดยการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม

บทนำ

       การพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การเรียนการสอนต้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ดังนั้น ผู้สอนต้องออกแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ควรออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องสัมพันธ์กับชีวิตของผู้เรียนด้วย ควรครอบคลุมวัตถุประสงค์การเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่

         1. ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจสาระสำคัญของเนื้อหาที่เรียน เข้าใจข้อเท็จจริง หลักการและเหตุผล

         2. ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) เพื่อให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้

         3. ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสฝึกฝนทักษะกระบวนการต่าง ๆ ด้วย

          นอกจากนี้การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษนี้ ควรจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการซึ่งเชื่อมโยงผสมผสานเนื้อหาความรู้ระหว่างสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถถ่ายโอน ประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะและเจตคติที่เกิดจากการเรียนภายในห้องเรียนไปสู่การนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ดังนั้น จึงควรเลือกใช้การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเพราะการเรียนการสอนที่เน้นบูรณาการมีวิธีการหรือเทคนิคการเรียนการสอนที่หลากหลาย บางครั้งใช้ผสมผสานกัน แต่ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือให้ผู้เรียนได้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียน ฝึกให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบด้วยวิธีสืบสอบ (Inquiry) หรือใช้วิธีการแก้ปัญหา (Problem Solving) เน้นการทำงานเดี่ยวหรือกลุ่มผสมผสานกันไป เน้นการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในประสบการณ์จริงในสถานการณ์ที่หลากหลาย แต่ควรอยู่ในขอบเขตสมรรถภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียน จึงต้องพิจารณาขอบเขตการเรียงลำดับของเนื้อหาของลักษณะวิชารวมทั้งลักษณะของผู้เรียนด้วย (ธิดารัตน์ ตันนิรัตร์, 2563: 25-26) ในการวิจัยเรื่อง รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศร่วมกับการเสริมการเรียนรู้ และกระบวนการ Z TO A เพื่อสร้างผลงานสร้างสรรค์ ของธิดารัตน์ ตันนิรัตร์ (2561) พบว่า ผู้เรียนสร้างผลงานสร้างสรรค์และยื่นคำขอสิทธิบัตร คิดเป็นร้อยละ 84.62 อยู่ในระดับมากที่สุด แต่มีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก

           ทิศนา แขมมณี (2560) และอาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา (2553: 127 – 135) นำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการที่มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนดี ซึ่งเรียนดีในที่นี่หมายถึง บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะสร้างให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีคุณธรรมนําหน้าความรู้ และรู้จักที่จะใช้ทั้งสองประการควบคู่กันไป มีการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย ใจ และจิตวิญญาณ รวมทั้งสร้างอุปนิสัยที่ดีงามให้กับผู้เรียน แต่สิ่งหนึ่งที่จำเป็นในปัจจุบันคือ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผู้เขียนพบว่า การใช้รูปแบบการเรียนการสอนโดยการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศเพียงหนึ่งตัวแปร สามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนสร้างนวัตกรรมได้ ในที่นี่ จะนำเสนอ 1) ทฤษฎี/หลักการ/หรือแนวคิดของรูปแบบการเรียนการสอนโดยการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศฯ2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบการเรียนการสอนโดยการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศฯ 3) กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบการเรียนการสอนโดยการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศฯ และ 4) ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบการเรียนการสอนโดยการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศฯ  มีรายละเอียดดังนี้

 

1) ทฤษฎี/หลักการ/หรือแนวคิดของรูปแบบการเรียนการสอนโดยการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศ
เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม

          รูปแบบการเรียนการสอนโดยการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมดัดแปลงมาจากแนวคิดการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศของแบรน กรูเวล วอเปอริส และวาลราเวน เป็นแนวคิดที่ผสมผสานทักษะที่จำเป็นในการเข้าถึงและใช้ข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ต และได้ร่วมกันพัฒนาโมเดลการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศ สำหรับอินเทอร์เน็ต  เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ หรือสร้างผลงานตามที่ได้รับมอบหมาย จากการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศในอินเทอร์เน็ตที่มีจำนวนมหาศาล และมีข้อมูลใหม่เพิ่มทุกวัน หากผู้เรียนมีความสามารถในการระบุข้อมูลที่ต้องการค้นหา สกัดข้อมูลที่ต้องการและจัดระเบียบข้อมูลในแต่ละแหล่งข้อมูล แล้วสังเคราะห์ข้อมูลจากหลาย ๆ แห่ง เพื่อสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้

         แบรน กรูเวล วอเปอริส และวาลราเวน (Brand – Gruwel, Wopereis & Walraven, 2009) สร้างวิธีการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศ (Information Problem Solving: IPS) เป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่

       1. การกำหนดปัญหาข้อมูล  (Define information problem) ประกอบด้วย อ่านข้อมูลสารสนเทศ กำหนดคำถาม กระตุ้นความรู้เดิม ชี้แจงความต้องการงานและตรวจสอบข้อมูล
ที่จำเป็น

       2.การค้นหาข้อมูล (Search information) ประกอบด้วย กลยุทธ์การค้นหา การเลือกสารสนเทศ ระบุคำที่ใช้ค้นหาและการประเมินแหล่งที่มา

       3.การสแกนข้อมูล (Scan information) ประกอบด้วย อ่านข้อมูลทั่วโลก การประเมินข้อมูล / แหล่งที่มา การจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องและการอ่านอย่างละเอียดในเนื้อหา

       4. การประมวลผลข้อมูล  (Process information) ประกอบด้วย อ่านข้อความในเชิงลึก   การประเมินแหล่งที่มาของข้อมูลและการประมวลเนื้อหาอย่างละเอียด

       5. การจัดระเบียบและการนำเสนอข้อมูล (Organize and present information) ประกอบด้วย กำหนดเค้าโครงการนำเสนอ โครงสร้างข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ร่างผลิตภัณฑ์ ตระหนักถึงผลิตภัณฑ์และเนื้อหาอย่างละเอียด

        กฏ 4 ข้อที่กำกับดูแลระหว่างการดำเนินการแต่ละขั้นตอน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรูปแบบการเรียนการสอน คือ

       1. การปฐมนิเทศ (Orientation) การปฐมนิเทศ ทำให้เกิดความเข้าใจเบื้องต้น และส่งผลให้งานมีโอกาสสำเร็จมากยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้น การเตรียมผู้เรียนเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ชี้วัดหลักว่า
การเรียนการสอนจะสำเร็จหรือไม่ ในการเรียนการสอน มีบุคคลที่สำคัญ 2 คือ อาจารย์และผู้เรียน โดยอาจารย์ต้องจัดเตรียมการเรียนการสอน อุปกรณ์ สื่อการเรียนรู้ และทรัพยากรที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ส่วนผู้เรียนต้องมีความเข้าใจในวัตถุประสงค์การเรียนการสอน ตั้งใจร่วมและทำกิจกรรมในแต่ละขั้นตอน

       2. การตรวจสอบ (Monitoring) การตรวจสอบ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การตรวจสอบอาจารย์ เช่น ดำเนินการตามกระบวนการเรียนการสอนหรือไม่ ตรวจสอบสื่อการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเนื้อหาหรือกิจกรรม ความเหมาะสมกับผู้เรียนและระยะเวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เป็นต้น ส่วนที่ 2 การตรวจสอบผู้เรียน เช่น มีความรู้หรือประสบการณ์เดิมก่อนการเรียนหรือไม่ ดำเนินการตามกระบวนการเรียนการสอนหรือไม่ มีความเข้าใจในการเรียนมากน้อยเพียงใด เป็นต้น

       3. การควบคุม (Steering) สิ่งที่สำคัญ คือ อาจารย์จำเป็นต้องควบคุมการสร้างนวัตกรรมของผู้เรียนอย่างใกล้ชิด เพราะผู้เรียนขาดประสบการณ์ในด้านการสร้างนวัตกรรมและบางส่วนขาดวินัย
ในการทำงานนี้

       4. การประเมิน (Evaluating) การประเมินควรทำทั้งระหว่างจัดกิจกรรม (Formative evaluation) และประเมินผล เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอน (Summative evaluation)

         ทักษะที่สำคัญที่สุด 3 ทักษะ ที่ผู้เรียนหรือผู้ใช้การแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศต้องมี ได้แก่
         1) ทักษะการอ่าน เพราะการอ่านทำให้เกิดความเข้าใจในข้อมูลสารสนเทศ จึงจำเป็นในการอ่านข้อมูลสารสนเทศที่ได้จากการสืบค้น หากอ่านแล้วไม่สามารถทำความเข้าใจในเนื้อหาได้ ก็จะทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการแก้ปัญหาได้ 2) ทักษะการประเมิน เพราะข้อมูลสารสนเทศมีมากมาย หากไม่สามารถประเมินความน่าเชื่อถือ ความสอดคล้องกับเรื่องที่จะนำไปใช้ ก็อาจทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือได้ข้อมูลที่เป็นขยะ ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และ 3) ทักษะคอมพิวเตอร์ เพราะข้อมูลสารสนเทศในปัจจุบันอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ต ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีทักษะคอมพิวเตอร์

     จากข้างต้น สามารถแสดงความเชื่อมโยงของกฎกระบวนการของการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน จำเป็นต้องมีทักษะอย่างน้อย 3 ทักษะคือ ทักษะด้านการอ่าน  ทักษะด้านการประเมิน และทักษะด้านคอมพิวเตอร์

2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบการเรียนการสอนโดยการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม

       รูปแบบการเรียนการสอนนี้ มุ่งส่งเสริม/พัฒนาความสามารถในการสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยสร้างนวัตกรรมมาก่อน

3) กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบการเรียนการสอนโดยการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม

        กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบการเรียนการสอนโดยการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม มี 5 ขั้นตอน ดังนี้

          ขั้นตอนที่ 1 กำหนดปัญหา เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนฝึกฝนการกำหนดปัญหา หรือสิ่งที่ต้องการสร้างนวัตกรรม เพื่อปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เป้าหมายของขั้นตอนนี้ คือการกำหนดนวัตกรรมที่สนใจพัฒนา

        ขั้นตอนที่ 2 ค้นหาข้อมูล ผู้สอนทำการแนะนำการค้นหาข้อมูลใน Search Engine  เพราะในเว็บไซต์มีข้อมูลมากมาย การที่จะค้นหาข้อมูล จึงเป็นเรื่องยากที่จะได้ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการได้ ผู้สอนจำเป็นต้องสอนเทคนิคการสืบค้นเบื้องต้น เพื่อความถูกต้อง สะดวกและรวดเร็ว

        ขั้นตอนที่ 3 พิจารณาข้อมูล ผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนพิจารณาความน่าเชื่อถือ ความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลบางอย่างในเว็บไซต์ อาจเป็นข้อมูลที่ผิด หรือมีข้อมูลจำนวนมาก แต่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการนำไปใช้สร้างนวัตกรรม

        ขั้นตอนที่ 4 นำข้อมูลไปใช้ในการสร้างนวัตกรรม

        ขั้นตอนที่ 5 ทดลองใช้และปรับปรุงนวัตกรรม

4) ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบการเรียนการสอนโดยการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม

          ผู้เรียนได้รับการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม จนสามารถสร้างนวัตกรรมได้ ภายใต้การดูแลของอาจารย์ เพราะผู้เรียนยังขาดประสบการณ์ในการสร้างนวัตกรรม ควรได้รับการแนะนำจากอาจารย์ โดยผู้สอนควรศึกษาหาความรู้ทางด้านการสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา อีกทั้งควรเพิ่มทักษะการให้คำปรึกษา เพื่อให้การแนะนำผู้เรียนประสบผลสำเร็จตามที่ต้องการได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

ทิศนา แขมมณี. (2560). ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. (พิมพ์ครั้งที่ 21). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ธิดารัตน์ ตันนิรัตร์. (2561). รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการแก้ปัญหาด้วยสารสนเทศร่วมกับการเสริมการเรียนรู้ และกระบวนการ Z TO A เพื่อสร้างผลงานสร้างสรรค์. (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

_______. (2563). การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: สหธรรมิก.

อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา. (2553). คุณธรรมนำความรู้ (ฉบับปรับปรงใหม่). (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ฟรีมายด์.

Brand – Gruwel, S., Wopereis, I., & Walraven, A. (2009). A descriptive model of information problem solving while using internet. Computers and Education, 53(4), 1207–1217. doi:10.1016/j.compedu.2009.06.004.

……………………………………………………………………