พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อความหมายของเด็กปฐมวัย

พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อความหมายของเด็กปฐมวัย

              พัฒนาการทางด้านภาษาและการสื่อความหมาย (Language and communication development)  หมายถึง  การเปลี่ยนแปลงของความสามารถเกี่ยวกับ  การติดต่อระหว่างบุคคลกับผู้อื่น  โดยผ่านกระบวนการรับรู้ แปลความหมาย ตัดสินใจและแสดงออก  ซึ่งอาจเป็นภาษาพูด เขียนหรือท่าทางก็ได้    ซึ่งความสามารถด้านนี้มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ภาษาและการสื่อความหมายเป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดการเรียนรู้    การแสดงออกถึงความนึกคิด  ความรู้สึก  ความต้องการของตนตลอดจนการอยู่ร่วมกับผู้อื่น    จึงถือได้ว่าการสื่อความหมาย  เป็นการแสดงออกถึงความสามารถทางสติปัญญาของมนุษย์ (นิตยา คชภักดี, 2543 , น. 41)

              ทิศทางของพัฒนาการทางภาษา จากการวิจัยของ Werker and Desjardins พบว่า  การรับรู้ภาษาของวัยทารกอายุ 6-8 เดือนนั้น   สามารถแยกแยะเสียงพยัญชนะ   ซึ่งแตกต่างจากภาษาที่ครอบครัวพูด   แต่ความสามารถนี้จะไม่ปรากฏเมื่ออายุ 10-12 เดือน  ทั้งในทารกจากครอบครัวที่พูดภาษาอังกฤษและครอบครัวที่พูดภาษา  ฮินดี และซาลิช ปรากฏการณ์นี้ อธิบายได้ว่าช่วงเดือนแรก ๆ จะมีการสร้างจุดเชื่อมต่อซินแนป์ (Synapses)   ของเซลล์ประสาทในสมองอย่างมากมายและรวดเร็ว    จึงทำให้ทารกแยกแยะเสียงได้มาก   ต่อมาเฉพาะวงจรประสาทที่ได้รับการกระตุ้นจากเสียงที่ได้ยินจะพัฒนาต่อไป โดยส่วนที่ไม่ได้ใช้รับสัญญาณจะถูกกำจัดออกไป (Synaptic pruning)

              1.  พัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย

                  1.1 ขั้นตอนของการพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย ภาษาเป็นลักษณะของเสียงหรือกิริยาที่ทำให้เกิดการสื่อสารกับผู้อื่นที่เข้าใจได้ ซึ่งต้องอาศัยความสามารถทางสมองในการคิดและเข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อความหมาย  ขั้นตอนของการพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัยมีดังนี้ (อุบลรัตน์  เพ็งสถิตย์, 2542 , น. 60-62, พวงรัตน์ รอดมณี, 2549 , น. 252 – 254 , เพ็ญพิไลฤทธาคณานนท์, 2550 , น. 72-73)

                    ขั้นตอนในการออกเสียง (Stage of Vocalization) นักจิตวิทยามีความสนใจว่าเด็ก  เรียนรู้การใช้ภาษาอย่างไร จากการศึกษาทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการทางภาษา ดังนี้

                          1) การร้องไห้ (ตั้งแต่แรกเกิด – 1 เดือน)  ทารกร้องไห้เป็นอย่างเดียว  เรียกว่า  การร้องไห้แบบแบ่งแยกไม่ได้ (Undifferentiated Crying)   โดยผู้ใหญ่ไม่รู้ว่าการร้องไห้ของทารกนั้น  เพราะอะไร เช่น หิว ไม่สบาย ปวดท้องหรือกลัว   แต่เมื่อเข้าเดือนที่ 2 เป็นต้นไป   ทารกร้องไห้แบบแบ่งแยกได้ (Differentiated Crying)  ผู้ใหญ่เริ่มรู้ว่าทารกร้องเพราะอะไรเช่น หิว หรือไม่สบาย การวิจัยพบว่า ทารกจะร้องมากหรือน้อยนั้น ขึ้นกับการตอบสนองของแม่ว่ารวดเร็วเพียงใด (Promptness)  การที่แม่ตอบสนองต่อการร้องไห้เร็ว ทำให้ทารกร้องไห้น้อยลงและระยะเวลาที่ร้องไห้จะสั้นลง  ทำให้

ทารกสามารถติดต่อสื่อสารได้ดีเมื่ออายุมากขึ้น

                          2) การส่งเสียงอ้อแอ้ (Babbling and Cooing) (ตั้งแต่อายุ 2 เดือนถึง 8-9เดือน)

ในระยะนี้ทารกเริ่มออกเสียงที่เป็นพื้นฐานของภาษา (Phonemes) ทารกเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ จากการที่ได้ฟังและทำเสียงอ้อแอ้กับผู้ใหญ่ ทารกเริ่มเรียนรู้ว่าเสียงใดผู้ใหญ่ใช้พูดหรือไม่ใช้พูด และจะตัดเสียงที่ไม่ใช้ออกไในขณะที่ออกเสียงที่ใช้มากขึ้น  เมื่ออายุ 6-8 เดือน ทารกจะออกเสียง “Lallation”  เป็นเสียงซ้ำ ๆ กันคือ         บาบา ดาดา มามา และจะออกเสียงทั้งเสียงสระและพยัญชนะ   ซึ่งในระยะทารกนี้การส่งเสียงอ้อแอ้เกิดจากการเล่นกับอวัยวะออกเสียงของตนเท่านั้น  ไม่ได้ต้องการจะสื่อสารกับคนอื่นพอทารกอายุ 10 เดือน   จะเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า “ระยะก่อนใช้ภาษา” (Prelinguistic Period)   เป็นระยะที่ทารกเลียนเสียงและทำความเข้าใจกับเสียงผู้ใหญ่   ทารกจะมีปฏิกิริยาต่อเสียงของผู้ใหญ่ต่าง ๆ กัน เช่น เริ่มเข้าใจคำว่า “อย่า” หรือ “ไม่เอา” ทารกบางคนโบกมือได้เมื่อผู้ใหญ่พูดคำว่า “บายบาย”

                          3) การเล่นเสียง ถ้าเด็กมีพัฒนาการดีมาตลอด  เมื่อย่างเข้าสู่เดือนที่ 6-12 เด็กจะเล่นเสียงได้   ถ้าเด็กคว้าสิ่งของไว้ได้เด็กจะใช้เสียงเพื่อเรียกร้องความสนใจ บางครั้งเด็กจะมองและเปล่งเสียงพร้อมกัน  เสียงที่เปล่งออกมาเป็นคำ 2 พยางค์ เช่น มามา ปาปา   พ่อแม่ควรพูดคุยกับเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฝึกให้เด็กเคลื่อนไหวลิ้นและริมฝีปาก

                          4) การเริ่มพูด เด็กอายุ 1 ½ – 2 ปี  เริ่มพูดเป็นคำแต่จะเป็นคำโดด ๆ   พยางค์ เดียวเช่น พ่อ แม่ บ้าน ตา ยาย เป็นต้น

                          5) การพูดเป็นประโยค  พัฒนาการทางภาษาของเด็ก เริ่มพัฒนาจากการพูดคำโดด   เป็นการพูดคำซ้ำและท่องจำจนติดปาก   คือ  เมื่อเด็กได้ยินประโยคสั้น ๆ เด็กจะพูดตามทันที ลักษณะของภาษาที่ใช้จะมีคำและความหมายเฉพาะ ซึ่งผู้ใกล้ชิดจะเข้าใจสิ่งที่เด็กต้องการสื่อสาร

                    1.2 ระยะของพัฒนาการทางภาษา การพัฒนาภาษาให้กับเด็กปฐมวัยนั้น  ผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับลำดับขั้นตอนของการพัฒนาทางภาษาของเด็ก เพื่อหาวิธีการส่งเสริมได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่ง โลแกน และโลแกน ได้แบ่งพัฒนาการทางภาษาออกเป็น 7 ขั้นดังนี้

                          1) ระยะเปะปะ (Random Stage) อายุแรกเกิดถึง 6 เดือน ระยะนี้เด็กจะเปล่งเสียงดัง ๆ ที่ยังไม่มีความหมาย การเปล่งเสียงของเด็กเพื่อบอกความต้องการของตนและเมื่อได้รับการตอบสนองเด็กรู้สึกพอใจ เช่น เด็กจะร้องเมื่อถูกปล่อยให้อยู่คนเดียว  เมื่อรู้สึกหิว ปวดท้อง เป็นต้นแม้กระทั่งความรู้สึกที่เป็นสุข  การเปล่งเสียงทำให้เด็กได้รับการตอบสนองจากผู้เลี้ยงดู และเมื่ออายุ 6 เดือน เสียงของเด็กจะเริ่มชัดเจนซึ่งเสียงที่เปล่งในระยะนี้เราเรียกว่าเสียงอ้อแอ้ หรือที่เรียกว่าการเริ่มคุย  แต่ยังไม่สามารถสื่อให้ผู้อื่นเข้าใจได้  ในช่วงนี้เป็นระยะที่ควรสนับสนุนการพูดของเด็กโดยการพูดคุยตอบ   เพราะเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดมีคนพูดคุยด้วยและมีสุขภาพดี   จะมีโอกาสพัฒนาทางภาษาได้ดีกว่าเด็กที่เจ็บป่วย ร้องไห้โยเยหรือถูกทอดทิ้ง

                          2) ระยะแยกแยะ (Jergen Stage) อายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี ในระยะนี้ เด็กจะเริ่มแยกแยะเสียงที่เขาได้ยินในสิ่งแวดล้อมเช่น เสียงพูดคุยของแม่หรือผู้ให้การเลี้ยงดู  เด็กแสดงลักษณะของการหยุดฟังและแสดงอาการจดจำเสียงที่ได้ยินได้ เด็กจะรู้สึกพอใจ  ถ้าหากเปลี่ยนเสียงแล้วได้รับ

การตอบสนองในทางบวก เช่น การพูดคุยด้วยหรือการแสดงอาการยิ้มแย้ม  เด็กจะเปล่งเสียงเหล่านั้นซ้ำ ๆ อีกในบางครั้งถึงจะทำเสียงตามเสียงที่พูดคุยด้วย

                          3) ระยะเลียนแบบ (Imitation Stage) อายุ 1 ถึง 2 ปี เสียงที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเสียงของคนใกล้ชิดเป็นเสียงที่เด็กวัยนี้สนใจและเริ่มเลียนแบบ   เสียงที่เปล่งขึ้นของเด็ก จะเริ่มมีความหมายและแสดงกิริยาตอบสนองการได้ยินเสียงของผู้อื่น  นักภาษาศาสตร์ถือว่าเป็นขั้นตอนแสดงถึงพัฒนาการทางภาษาอย่างแท้จริงของเด็ก  คำศัพท์ส่วนใหญ่เด็กใช้เป็นคำง่าย ๆ และสามารถใช้คำบางคำได้ชัดเจน   การเรียนรู้คำศัพท์มากน้อยแค่ไหนนั้น   เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสติปัญญาของเด็กตลอดจนการส่งเสริมและให้โอกาสแก่เด็กที่จะเรียนรู้   ต้นแบบก็เป็นส่วนประกอบสำคัญเพราะเด็กจะเรียนรู้การพูดด้วยวิธีเลียนแบบ    เด็กจะสามารถจับเค้าความของคำพูดได้จากท่าทางและสีหน้าของผู้พูดในขณะที่พูด

                          4) ระยะขยาย (The Stage of expansion) อายุ 2 ถึง 4 ปี  เด็กจะเริ่มหัดพูดโดยเปล่งเสียงออกมาเป็นคำ   ระยะแรกจะเป็นการพูดโดยเรียกชื่อคำนาม    ออกชื่อคนที่อยู่รอบข้าง สิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ตัว รวมทั้งคำคุณศัพท์ที่เด็กได้ยินผู้ใหญ่พูดกัน ความสามารถของเด็กในการพูดแสดงให้เห็นได้ดังนี้

                              อายุ 2 ปี เริ่มพูดเป็นคำและสามารถใช้คำที่เป็นคำนามได้ถึงร้อยละ 20

                              อายุ 3 ปี เด็กจะเริ่มพูดเป็นประโยคได้

                              อายุ 4 ปี เริ่มใช้คำศัพท์ต่าง ๆ ได้กว้างขวางขึ้น สามารถใช้คำขึ้นต้นหรือคำลงท้ายอย่างที่ได้ยินผู้ใหญ่ใช้

                          5) ระยะโครงสร้าง (Structure Stage) อายุ 4 ถึง 5 ปี การรับรู้และการสังเกตของเด็กวัยนี้ดีขึ้นมาก   ซึ่งทำให้เด็กได้สังเกตการใช้ภาษาของบุคคลที่อยู่รอบข้าง และนำมาทดลองใช้ประสบการณ์ที่เด็กได้รับ เช่น จากการฟังนิทาน ดูโทรทัศน์ การเล่นกับเพื่อนหรือพี่น้อง การพูดคุยกับผู้ใหญ่   ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กเก็บข้อมูลทางภาษาได้เพิ่มมากขึ้น  เด็กจะรู้จักเล่นสนุกกับคำคิดสร้างคำและประโยคด้วยตนเอง โดยจดจำคำหรือวลี ตลอดจนประโยคที่ได้ยินมา

                          6) ระยะตอบสนอง (Responding State) อายุ 5 ถึง 6 ปี พัฒนาการทางภาษาของเด็กวัยนี้จะเริ่มสูงขึ้น   เพราะเด็กจะเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลเด็กได้พัฒนาคำศัพท์เพิ่มขึ้น  รู้จักการใช้ประโยชน์อย่างเป็นระบบตามหลักไวยากรณ์  การใช้ภาษาเป็นภาษาที่มีแบบแผนมากขึ้น ภาษาของเด็กจะใช้สำหรับการสื่อสารที่ให้ความหมาย และเพื่อแสดงให้ผู้อื่นรับรู้ถึงสิ่งที่เขามองเห็นหรือรับรู้

                          7) ระยะสร้างสรรค์  (Creative stage)   อายุ 6 ปีขึ้นไป  เด็กจะพัฒนาความ สามารถทางภาษาได้สูงขึ้น สามารถจดจำสัญลักษณ์ทางภาษาได้มากขึ้นด้านการพูดสามารถใช้ถ้อยคำที่เป็นสำนวนหรือคำที่มีความหมายลึกซึ้งได้ เด็กจะพัฒนาวิเคราะห์และสร้างสรรค์ทักษะทางภาษาได้สูงขึ้น ใช้ภาษาพูดที่เป็นนามธรรมมากขึ้นด้วย การสื่อสารในขั้นตอนนี้จะเป็นการแสดงออก  ซึ่งความ

รู้สึกนึกคิดของเด็ก  เด็กจะรู้สึกสนุกกับการแสดงความคิดเห็น   โดยการพูดและการเขียน ทั้งจะชอบสนทนากับเพื่อน ๆ หรือผู้ใหญ่มากกว่าการเล่น และจะมีความสุขมากเมื่อได้สนทนากับผู้อื่น

                      จากขั้นตอนการพัฒนาการทางภาษาทั้ง 7 ขั้นตอน ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่าภาษาไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อความหมายเท่านั้น   แต่เป็นแนวทางในการแสดงความคิดริเริ่ม และเป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิต  ดังนั้น  ถ้าเราสามารถส่งเสริมให้เด็กมีทักษะในการใช้ภาษาอย่างสร้างสรรค์ จะช่วยให้เด็กสามารถแสดงความคิด ความเข้าใจของตนให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ซึ่งอาจช่วยให้เด็กกลายเป็น นักเขียน นักเล่านิทาน ในอนาคตได้

              2.  การเรียนรู้ภาษาของเด็กปฐมวัย

              กระบวนการเรียนรู้ทางภาษาของเด็กปฐมวัย มี 4 ขั้นตอน ดังนี้

                    2.1 การออกเสียง   เสียงของเด็กปฐมวัยจะเริ่มจากแรกเกิด  เด็กจะร้องซึ่งการร้องนอกจากจะใช้เป็นการสื่อสารแล้ว  ยังเป็นการฝึกการออกเสียงของเด็กอีกด้วย มีอายุราว 6-8 อาทิตย์ เสียงร้องของเด็กจะเริ่มน้อยลง แต่จะออกเสียงในลักษณะครางขึ้นมาแทน เมื่อเกิดความพอใจต่อการได้อาหาร หรือมีความตื่นเต้น เช่น การได้รับของเล่นใหม่ ๆ ลักษณะการออกเสียงครางนี้ จะอยู่ไปจนถึงราวอายุ 6 เดือน   ซึ่งการออกเสียงของเด็กในระยะ 6 เดือนแรก จะยังไม่เป็นระบบและไม่สามารถควบคุมบังคับเสียงได้ เช่น เสียง “แบะ” ออกจากเสียง “แกะ” หลังจากอายุ 6 เดือนไปแล้ว   เสียงที่ออกมาจากลำคอเริ่มจะเป็นระบบขึ้น    เด็กเริ่มสามารถที่จะควบคุมบังคับเสียงที่ออกมาจากลำคอได้ในระยะนี้เด็กจะออกเสียงซ้ำ ๆ กันบ่อยขึ้น จนบางครั้งอาจจะทำให้ผู้ใหญ่คิดว่าลูกของตนสามารถพูดได้แล้ว  ซึ่งเสียงที่เปล่งออกมาจากลำคอนั้น อาจเป็นเสียงเดียวกันตลอดทั้งวันเช่น เสียง “แบะ” การที่เด็กออกเสียงเดียวกันตลอดทั้งวันนั้น   จะเป็นจุดสำคัญเบื้องต้นที่นำไปสู่การเรียนรู้การออกเสียงคำต่าง ๆ ในระดับที่สูงต่อไป

                    2.2 การเข้าใจความหมายของคำ   เมื่ออายุประมาณ 1 ขวบ   เด็กจะเริ่มออกเสียงเป็นคำได้ครั้งแรก  โดยจะพูดคำที่เป็นชื่อของสิ่งของ หรือบุคคลที่อยู่รอบตัว  การออกเสียงเป็นคำจะคล้าย ๆ กัน 2 ครั้งติดกัน เช่น คำว่า ป๋าป๋า พ่อพ่อ หรือ แม่แม่   นอกจากนี้เด็กจะเริ่มแสดงท่าทางที่ แสดงให้เห็นว่าตนเข้าใจภาษาได้มากกว่าที่จะพูดได้ เช่น การที่ผู้ใหญ่บอกเด็กว่า ยิ้มหน่อย ยิ้มหน่อย เด็กก็จะยิ้ม แสดงให้เห็นว่าเด็กเริ่มเข้าใจภาษาที่ผู้ใหญ่พูดแล้ว

                    ในช่วงต้นของอายุ 2 ขวบ  เด็กจะสามารถพูดคำที่มีความหมายมากขึ้น ในช่วงอายุประมาณ 1 ปี 3 เดือน เด็กจะใช้คำพูดเพียงคำเดียวแทนความหมายของเหตุการณ์ หรือพฤติกรรมที่สลับซับซ้อนกว่าที่จะใช้เพียงคำเดียวอธิบายได้ เช่น เด็กอาจจะพูดคำว่า “กิน” เมื่อเกิดการหิวขึ้นมา ซึ่งจะหมายถึง  “อยากกินข้าว”    ในขณะเดียวกันเมื่อเป็นผู้ใหญ่กำลังกินข้าวอยู่ก็จะใช้คำว่า “กิน” เช่นเดียวกัน   กินในที่นี้หมายถึง “พ่อแม่กินข้าว” เป็นต้น  ลักษณะการใช้คำพูดเพียงคำเดียว  เพื่ออธิบายถึงเหตุการณ์หรือพฤติกรรมที่สลับซับซ้อนนี้เป็นอยู่ไม่นาน  จะหายไปเมื่อเด็กมีอายุประมาณ

1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี

                    2.3 การสร้างประโยคของเด็กจะเริ่มขึ้นครั้งแรก  เมื่อเด็กอายุประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี  เด็กจะเชื่อมคำต่อกัน  โดยการสร้างประโยคที่มี 2 คำได้ เช่น คำพูดว่า “ไปกิน”“กินข้าว” และ ก่อนที่เด็กจะผ่านอายุ 2 ขวบไป   เด็กจะสามารถเรียนรู้คำใหม่ ๆ ได้ ประมาณ 200 คำ จากนั้นการพัฒนาภาษาของเด็กจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอายุประมาณ 3 ปี เด็กจะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของประโยคเริ่มเข้าใจหลักไวยากรณ์อย่างง่าย ๆ    ซึ่งแสดงให้เห็นได้จากการสร้างประโยคที่พูดได้อย่างถูกต้อง เช่น เด็กจะไม่พูดว่า หนูขนมกิน  แต่เด็กจะพูดว่าหนูกินขนม หรือไม่พูดว่าแดงสีแต่จะพูดว่าสีแดง อีกทั้งเด็กยังสามารถจะสร้างประโยคที่ยากขึ้นอีกด้วย เมื่ออายุ 3 ปี เด็กจะสามารถเรียนรู้คำใหม่ ๆ ได้อีกประมาณ 1,000 คำ  ในขณะที่เด็กกำลังพัฒนาทางภาษา  ช่วงนี้เด็กอาจจะพูดประโยคที่มีบางคำตกหล่นไปที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเด็กมีความเข้าใจว่าประโยคที่ตนพูดนั้นเป็นประโยคที่สมบูรณ์แล้ว

                    2.4 เข้าใจความหมายของประโยค เมื่อเด็กอายุประมาณ 5 ปี เด็กสามารถที่จะเชื่อมคำและสร้างประโยคขึ้นได้มาก เนื่องจากเด็กสามารถเข้าใจหลักไวยากรณ์ได้อย่างถูกต้องและสามารถสร้างประโยคที่ใช้ได้ในการพูดทุกสถานการณ์

 

เอกสารอ้างอิง

 

นิตยา คชภักดี. (2543). ขั้นตอนการพัฒนาของเด็กปฐมวัยตั้งแต่ปฏิสนธิถึง 5 ปี.

          กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา.

พวงรัตน์ รอดมณี. (2549). ศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย. อุตรดิตถ์ : คณะครุศาสตร์

          มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์.

เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์. (2549). พัฒนาการมนุษย์. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงทพฯ : โรงพิมพ์ธรรมดาเพร

ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์. (2543).  สิ่งแวดล้อมและการเรียนรู้สร้างสมองเด็กให้ฉลาดได้อย่างไร

          (ฉบับพ่อแม่). (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.

อุบลรัตน์ เพ็งสถิตย์. (2542). จิตวิทยาพัฒนาการ. (พิมพ์ครั้งที่ 1 ปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ :

สำนักพิมพ์รามคำแหง.