พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยใน ยุค New Normal

บทนำ

        ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยล้วนทำให้พฤติกรรมท่องเที่ยวของผู้คนเปลี่ยนไป การระบาดของโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวมักคำนึงถึงความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้พฤติกรรมในการท่องเที่ยวของผู้คนมีการเปลี่ยนแปลงไป ถึงแม้ว่าวัคซีนจะถูกค้นพบและได้มีการผลิตและนำไปใช้ในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว แม้ว่าจะมีวัคซีนก็ไม่ได้แก้ปัญหาทุกอย่างในทันที เนื่องจากผู้ได้รับวัคซีนยังอาจติดโรคและเป็นพาหะได้อยู่ ดังนั้นธุรกิจท่องเที่ยวจึงจำเป็นต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก จึงต้องทราบถึงพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยในยุคNew Normal ว่าจะเป็นรูปแบบใด

 

โควิด – 19 กับการท่องเที่ยวในยุค New Normal
            ไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 116 ล้านคนทั่วโลก ส่งผลให้การท่องเที่ยว ไม่ว่าจะในประเทศ หรือระหว่างประเทศหยุดชะงัก กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวทั่วโลกต้องเปลี่ยนแปลงไป นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปแทบกลายเป็นศูนย์ คนไทยเองก็ไม่สามารถออกเที่ยวต่างประเทศได้ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์โรคระบาดค่อยๆ ฟื้นตัว การกระตุ้นการท่องเที่ยวในระยะเริ่มแรกนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยการเที่ยวในประเทศเป็นหลัก ซึ่งในช่วงเวลานี้โรงแรมต่าง ๆ ได้มีโปรโมชั่น มีการแข่งขันด้านราคากันอย่างน่าสนใจ โดยส่วนมากสามารถเลือกวันพักได้ทั้งวันธรรมดาและวันหยุดสุดสัปดาห์ รวมถึงจองได้ยาว ถึงสิ้นปี 2564 นับเป็นช่วงเวลาทองของนักท่องเที่ยวที่ยังพอมีกำลังซื้อ ที่จะได้ที่พักสวย และดี ในราคาย่อมเยา และยังมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศด้วย

 

การท่องเที่ยว ในยุค New Normal

ในช่วงปี 2020 – 2021 คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของไทยอาจลดลง แม้ว่าวัคซีนถูกค้นพบได้ตั้งแต่ต้นปี 2021 แต่กว่าที่ วัคซีนจะถูกผลิตในปริมาณมากและกระจายอย่างทั่วถึง อาจเป็นช่วงปลายปี 2021 ซึ่งจะทำให้ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้แบบจำกัดจำนวนคนและรับนักท่องเที่ยวได้แบบเฉพาะกลุ่มเท่านั้น   ท้ายสุดแล้วรายได้จากการท่องเที่ยวจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับนโยบายการรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นหลัก ว่าจะมีวิธีหรือกลยุทธ์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างไร โดยยังคงรักษาระดับการติดเชื้อ          ในประเทศที่ต่ำไว้ให้ได้ ซึ่งก็มีหลายแนวทาง เช่น การเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวประเภทเกาะและมีสนามบิน อย่างเช่น ภูเก็ต และเกาะสมุย ที่ในภาวะปกติมี นักท่องเที่ยวมาเที่ยวถึง 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวที่มาไทยทั้งหมด หรือการเปิดรับ นักท่องเที่ยวกลุ่ม Medical กลุ่มที่มาตีกอล์ฟ หรือกลุ่มที่มาเที่ยวระยะยาว ซึ่งแม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็มีระดับการใช้จ่ายที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่มาก

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้รับนักกอล์ฟพร้อมผู้ติดตามชาวเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เข้าสู่กอล์ฟควอรันทีน (Golf Quarantine ) กลุ่มแรกจำนวน 42 คน โดยกอล์ฟควอรันทีน จะเป็นสถานที่กักกันโรคโควิด-19 ทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่ง มีความแตกต่างจากการกักกันทางเลือกทั่วไป และมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยมูลค่าประมาณ 11.4 ล้านบาท

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่1 : Golf Quarantine

ที่มา: https://www.facebook.com/photo?fbid

 

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้มีโครงการ Villa Quarantine  สำหรับ Villa Quarantine หรือ Hotel Quarantine นั้น หมายถึง การกักให้อยู่ในพื้นที่พักผ่อนที่ใดที่หนึ่ง หรือ การกักตัวที่ให้กรุ๊ปทัวร์พักอยู่ร่วมกัน โดยไม่จำกัดว่าจะอยู่เฉพาะในห้องพักเท่านั้น  ประเทศไทยได้เคยมีการพูดคุยเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ระหว่างที่มีการหารือเรื่องหลักการให้เปิดประเทศท่องเที่ยวอย่างจำกัด หรือ Travel Bubble [1]

 โดยเริ่มต้น Villa Quarantine หรือ Hotel Quarantine แห่งแรกที่ โรงแรมศรีพันวา จังหวัดภูเก็ต โดยมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากอินโดนีเซีย จำนวน 70 คน ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้ง 70 คน นี้ ถูก Travel Bubble มาอยู่แล้ว เพราะนักท่องเที่ยวเหล่านี้เดินทางไปเที่ยวมาหลายประเทศ ส่วนหนึ่งคืออินโดนีเซียด้วย แล้วนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวได้ทำการเหมาเครื่องบิน  เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง ได้เลือกมาเดินทางมา Villa Quarantine ที่ภูเก็ต โดยกลุ่มชาวต่างชาตินี้ 5 วันแรกจะอยู่ในการกักกันของรัฐ ส่วนวันที่เหลือจะขอไปอยู่ในวิลล่าเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสถานที่นั้น

 

 

 

ภาพที่ 2 : โรงแรมศรีพันวา

ที่มา: https://www.sripanwa.com/th/

 

พฤติกรรมนักท่องเที่ยวคนไทย ในยุค New Normal

พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยจะเปลี่ยนไป โดยคนไทยมีแนวโน้มที่จะ 1) เลือกเที่ยวในประเทศก่อน แม้ว่าจะสามารถเที่ยว ต่างประเทศได้ก็ตาม จากความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในประเทศที่สูงกว่าไทย         2) เที่ยวใกล้ๆ สั้นๆ ขับรถไป เนื่องจากการขับรถเป็นวิธีการเดินทางที่ปลอดภัยจากการติดเชื้อได้ ดีกว่า         3) เที่ยวที่ Unseen คนไม่พลุกพล่าน เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต คนในประเทศอาจเคยไปกันแล้ว และสถานที่ Unseen มีคนไม่มาก ทำให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อมากกว่า ทั้งนี้ รายได้จากนักท่องเที่ยวไทยจะกลายเป็นรรายได้หลัก โดยจะมีสัดส่วนกว่า 60% ในปี 2020 – 2021 จาก 36%  ในปี 2019

 

        1. การเลือกเดินทางภายในประเทศเป็นตัวเลือกแรก ในช่วงที่วัคซีนยังไม่ได้รับการค้นพบ ทดลองและ ฉีดกันอย่างแพร่หลาย ในหลายประเทศมีมาตรการจำกัดการเดินทางเข้า ประเทศจากต่างประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโรคทำให้การเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าไปจะเที่ยวพักผ่อนหรือติดต่อธุรกิจทำได้ยาก แม้จะเที่ยวนอกประเทศได้ แต่คนก็ยังคงเลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศกันอยู่ แม้จะไม่มีผลสำรวจไทยโดยตรง แต่ผลการสำรวจจากต่างประเทศ พอที่จะสามารถทำให้คาดการณ์พฤติกรรมของการเดินทางท่องเที่ยวคนไทยได้ โดยจากผลสำรวจของ McKinsey ต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนในเดือน พฤษภาคม 2020 โดยมีการถามว่า ในการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนในครั้งตอไปคิดว่า จะท่องเที่ยวในสถานที่ที่ไกลเพียงใด ซึ่งการท่องเที่ยวต่างประเทศถูกรวมอยู่ในคำถามนี้ด้วย ผลปรากฎว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 55% คิดว่าจะเที่ยวในประเทศก่อน  ซึ่งความต้องการเที่ยวในประเทศดังกล่าวอาจมาจากทั้งเหตุผลเรื่องเศรษฐกิจ และเหตุผลเรื่องความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 จากการไปเที่ยวต่างประเทศ

 

 

ภาพที่ 3: สัดส่วนแผนการท่องเที่ยวในอนาคตของนักท่องเที่ยวชาวจีน

ที่มา: รายงาน Hitting the Road again: How to Chinese travelers are thinking about their first trip after COVID-19 (May 2020) โดย McKinsey รวบรวมโดย Krungthai Compass

 

สำหรับผู้ชอบเที่ยวในประเทศ แผนการเที่ยวในประเทศในช่วงกลางปีไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักจากช่วงต้นปี ผลสำรวจจาก US Travel Association ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2020 เปิดเผยว่า ในบรรดานักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศหรือต่างประเทศ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา 64% ยังมีแผนที่จะเที่ยวในประเทศในช่วง 6 เดือนข้างหน้าอยู่ ซึ่งเป็นตัวเลขลดลงจากเดิมเล็กน้อย จากผลการสำรวจในเดือนมีนาคมที่มีสัดส่วน ดังกล่าวที่ 70%  สำหรับจุดประสงค์การเที่ยวส่วนใหญ่เป็นการเดินทางไป พักผ่อน ในขณะที่การเดินทางไปติดต่อธุรกิจลดน้อยลง

 

 

 

 

ภาพที่ 4 : สัดส่วนของผู้ที่ยังคงวางแผนที่จะท่องเที่ยวเหมือนเดิมใน 6 เดือนข้างหน้า จากกลุ่มตัวอย่างในสหรัฐฯ

ที่มา: รายงาน Travel Intentions Pulse Survey (TIPS) Impact of Covid-19 วิเคราะห์ โดย Krungthai Compass

 

2. การเดินทางท่องเที่ยวใกล้ ๆ  ระยะสั้น ๆ และขับรถไปท่องเที่ยว จากการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำหลายแห่ง 2 จากกลุ่ม ตัวอย่างกว่า 10 ประเทศ นักท่องเที่ยวเลือกที่จะขับรถไปท่องเที่ยวเอง ด้วยเหตุผล ด้านความปลอดภัยและการรักษาระยะห่างทางสังคม อย่างในกรณีของจีนระยะทางที่คนอยากไปเที่ยวมากที่สุดอยู่ในระยะการขับรถที่มากกว่า 3 ชั่วโมง (Mc Kinsey) เช่นเดียวกับในกรณีของสหรัฐฯ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 60% ของผู้ที่จะขับรถไปเที่ยว เลือกที่จะขับรถในรัศมีไม่เกิน 300 ไมล์ หรือ 483 กิโลเมตร ซึ่งผลสำรวจของ Lufthansa ในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น พบว่า นักท่องเที่ยว 70% มีแนวโน้มจะไปเที่ยวระยะสั้น ๆ ไม่กี่วันในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์

เช่นเดียวกันกับไทย ข้อมูลเดือนกรกฎาคมชี้ว่า จังหวัดที่อยู่ไม่ไกลเกินจากรัศมีการขับรถจากกรุงเทพฯ ได้นั้น มีอัตราการพัก (Occupancy Rate หรือ OR) ที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าจังหวัดอื่น อัตราการเข้าพักโดยเฉลี่ย ณ เดือน กรกฎาคม 2020 ทั้งประเทศอยู่ที่ 25.7% ฟื้นตัวจาก 2.3% และ 3.8% ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่มีการ Lockdown โดยจังหวัดท่องเที่ยวที่ค่า OR ฟื้นตัวได้ดีกว่าจังหวัดอื่น ส่วนหนึ่งคือ จังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้บริโภคจำนวนมาก และสามารถขับรถไปเที่ยวได้ เช่น ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี นครราชสีมา  ในขณะที่จังหวัดที่นักท่องเที่ยวมักต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก เช่น

ภูเก็ต กระบี่ และ จังหวัดที่อยู่รอบข้างกรุงเทพฯ กำลังเป็นที่นิยมในการท่องเที่ยว เช่น กาญจนบุรี นครราชสีมา เช่นเดียวกับจังหวัดที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวในภูมิภาคต่าง ๆ ก็มีคนไปท่องเที่ยวมากขึ้น เช่นกัน เช่น อุบลราชธานี และขอนแก่น ในขณะที่จังหวัดอย่างภูเก็ตและเชียงใหม่ คนยังไม่ขับรถไปเที่ยวกันน้อยกว่าช่วงก่อนโควิด-19 

          3. สถานที่ท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ คนไม่พลุกพล่าน การท่องเที่ยวยุคโควิด-19 ความปลอดภัยต้องมาก่อน จากผลสำรวจของ McKinsey กล่าวถึงปัจจัยที่จะทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง โดยพบว่า นักท่องเที่ยวในสหรัฐฯ ถึง 75% บอกว่าต้องมีวัคซีนก่อนจึงจะเริ่มเที่ยวอีกครั้ง ในขณะที่ 39% บอกว่าในพื้นที่จะต้องไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่ติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนสื่อให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยจากโควิด-19 ดังนั้นผู้ประกอบการที่พักต่าง ๆ ควรมีมาตรการความปลอดภัย ในทั้งในช่วงก่อนที่จะมีวัคซีน และหลังจากวัคซีนถูกค้นพบแต่ยังนำไปใช้ได้ไม่ทั่วถึง นักท่องเที่ยวยังคงมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการท่องเที่ยวอยู่ และให้ความสำคัญอย่างมากในการเลือกใช้บริการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับมาตรฐานด้านความปลอดภัย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรมีเครื่องการันตีให้นักท่องเที่ยวมั่นใจ เช่น การปรับมาตรการความปลอดภัยของที่พักให้ได้รับ SHA (Amazing Thailand Safety and Health Administration) ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 4 : สถานที่ท่องเที่ยวแปลกใหม่ เกาะไข่แมว จังหวัด ภูเก็ต

ที่มา: https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=119

 

นักเขียนหนังสือท่องเที่ยวยอดนิยมของสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า นักท่องเที่ยวอาจหลีกเลี่ยงที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่คนไปเยอะ ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงในการติดไวรัสเพิ่มมากขึ้น และเลือกไปสถานที่ที่คนไม่พลุกพล่าน และสามารถไปเที่ยวด้วยตัวเองได้แทน ซึ่งก็สอดคล้องกับผลการสำรวจนักท่องเที่ยวจีนของ McKinsey ที่พบว่านักท่องเที่ยวจีน 44% มีความต้องการที่จะเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นทิวทัศน์กลางแจ้งมากที่สุด ในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวประเภทช้อปปิ้งกลายเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวต้องการไปเที่ยวน้อยที่สุด

บทสรุป

          จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยใน ยุค New Normal มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศไทยส่วนหนึ่งมาจากการที่นักท่องเที่ยวไทยที่เคยเที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมาเที่ยวในประเทศ โดยพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยจะเปลี่ยนแปลงไป โดยคนไทย 1) มีแนวโน้มที่จะเลือกเดินทางในประเทศ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ 2) นิยมเดินทางโดยการขับรถไปเองแทนการใช้บริการขนส่งสาธารณะ  และ เป็นการท่องเที่ยวระยะสั้น ๆ ไม่ไกล 3) เลือกไปสถานที่ท่องเที่ยวแบบ Unseen คนไม่พลุกพล่าน โดยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้ทั้งหมดเพื่อความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โควิด-19 ซึ่งทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวไทยจะกลายเป็นรายได้หลักแทนรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

 

 

บรรณานุกรม

ประชาชาติ. (2564).รู้จัก Villa Quarantine ระบบการกักตัวรูปแบบใหม่แห่งแรก “ศรีพันวา”. สืบค้น   3

             มีนาคม 2564 จาก https://www.prachachat.net/tourism/news-615367

ประชาชาติธุรกิจ. (2564). Travel Bubble คืออะไร.สืบค้น   3  มีนาคม 2564 จาก   https://www.prachachat.net

             /tourism/news-476800

Krungthai Compass. (2563). เจาะพฤติกรรมท่องเที่ยว ใน New Normal เมื่อโควิดทำชีวิตเปลี่ยน.

สืบค้น   3 มีนาคม 2564 จาก https://krungthai.com /EconomyResourcesDownload.pdf
McKinsey & Company. (2020). Hitting the road again: How Chinese travelers are thinking

        about their first trip after COVID-19. สืบค้น 3 มีนาคม 2564 จาก https://www.mckinsey.com

          /featured-insights/asia-pacific/hitting-the-road-again-how-chinese-travelers-are-thinking-about-their-first-

           trip-after-covid-19

 

 

[1] “Travel Bubble คือ การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง 2 ประเทศ ที่สามารถจัดการโรคโควิด-19 ได้ดีเท่าๆ กัน โดยดูจากสถานการณ์การระบาดในประเทศว่ามีการผ่อนคลายการควบคุมโรคแล้วหรือไม่ มีการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศอยู่หรือไม่ และดูเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีต่อกันด้วย”ทั้งนี้ ผู้ที่เดินทางระหว่าง 2 ประเทศ ภายใต้ความตกลง Travel Bubble จะไม่ต้องถูกกักตัว แต่ทั้งสองประเทศ จะกำหนดจำนวนของผู้เดินทางเพื่อควบคุมจำนวนให้อยู่ในระดับที่จัดการได้ โดยจะจัดการแบบพิเศษในเรื่องวีซ่า การโดยสารเครื่องบิน ที่พัก การเยี่ยมเยือน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และผู้รับประกัน