ผลงานสร้างสรรค์ เดี่ยวซอสามสาย เพลงกล่อมนารี สามชั้น

คลิปการบรรเลงเดี่ยวซอสามสาย เพลงกล่อมนารี สามชั้น

การวิเคราะห์ข้อมูล (Results)

เป็นบทที่นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปตาราง หรือในรูปอื่นให้สอดคล้องกับ วัตถุประสงค์ ของการวิจัย มีการแปลความหมายผลการวิเคราะห์ ข้อมูล ทั้งนี้ต้องไม่แสดงความคิด เห็น หรืออภิปรายผล ประกอบการแปลความหมาย

หมายเหตุ  :  ซึ่งจะเหมือนในส่วนของบทที่ 4-5 ของงานวิจัย และให้ผู้นำเสนอผลงาน สร้างสรรค์ โดยจัดทำในรูปแบบเล่มรายงานตามความเหมาะสม  (ใช้ฟอนต์ TH SarabunPSK, ขนาด 16)  จัดพิมพ์จำนวน 3 ชุด

 

ชื่อผลงาน (ภาษาไทย) การบรรเลงเดี่ยวซอสามสาย เพลงกล่อมนารี สามชั้น

ขื่อผลงาน (ภาษาอังกฤษ) Klomnaree: saw sam sai solo

ประเภทของผลงาน/สาขาวิชา ดุริยางคศิลป์
ที่มา/ความสำคัญ แรงบันดาลใจการสร้างสรรค์ มีการทบทวนวรรณกรรม

เพลงกล่อมนารี ชั้นเดียวเป็นเพลงโบราณ สำนวนเพลงคล้ายเพลงเร็วในเพลงเรื่องประเภทสองไม้ เรื่องสีนวล นายมนตรี ตราโมทได้ประพันธ์ขึ้นเป็นเพลงเถาเมื่อ พ.ศ. 2474 (มนตรี ตราโมทและวิเชียร กุลตัณฑ์, 2523: 234)
เพลงกล่อมนารีเป็นเพลงท่อนเดียว หน้าทับปรบไก่ ความยาว 4 จังหวะ ใช้กลุ่มเสียงปัญจมูล จำนวน 2 กลุ่มเสียงได้แก่ กลุ่มเสียงเพียงออล่างและกลุ่มเสียงเพียงออบน มีความหมายตามสุนทรียรสในเชิงนารีปราโมทย์ โบราณจารย์ใช้บทเพลงนี้ในการบรรเลงในเชิงสุนทรียะ ไม่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม

          การบรรเลงดี่ยวซอสามสายในขั้นต้นที่มีมาแต่โบราณนั้น ส่วนมากมักเป็นเพลงที่มีความยาวมากกว่า
1 ท่อน และแต่ละบทเพลงไม่ต่ำกว่า 4 จังหวะทั้งสิ้น เช่น เพลงบุหลันลอยเลื่อนเป็นเพลง 2 ท่อน
เพลงต้นเพลงฉิ่ง สามชั้น เป็นเพลง 2 ท่อน เพลงนกขมิ้น สามชั้น เป็นเพลง 3 ท่อน เพลงหกบท สองชั้น
เป็นเพลงท่อนเดียว มี 8 จังหวะ เพลงพญาโศกเป็นเพลงท่อนเดียว มี 8 จังหวะ เพลงพญาครวญเป็นเพลง
ท่อนเดียว มี 6 จังหวะ ซึ่งในแต่ละเพลงนั้นผู้บรรเลงต้องมีพื้นฐานทักษะ มีความเข้าใจในเรื่องรูปแบบบทเพลง ความพอดีของจังหวะ เป็นอย่างดีซึ่งต้องอาศัยช่วงเวลาที่ยาวนานกว่าจะทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจดังกล่าว

          ด้วยบริบทสังคมปัจจุบันที่มีความเร่งรีบ รวบรัด อีกทั้งผู้เรียนยังต้องศึกษาวิชาอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบสัมมาอาชีวะในอนาคตกาลอีกมากมาย เพลงกล่อมนารี สามชั้นซึ่งเป็นบทเพลงที่มีความยาวไม่มาก ไม่น้อยเกินไป
มีรูปแบบทำนอง สังคีตลักษณ์ กลุ่มเสียงที่สามารถเป็นแบบฝึกหัดที่ดี ที่จะสร้างความเข้าใจรูปแบบของบทเพลงเดี่ยวซอสามสายอันประกอบไปด้วย “ทางโอด” ซึ่งนิยมสร้างสรรค์คล้ายทำนองร้องและ “ทางพัน” ซึ่งจะต้องอาศัยความเข้าใจรูปแบบฉันทลักษณ์กลอนเพลง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนซึ่งต้องมีความเข้าใจและนำไปต่อยอดในเพลงเดี่ยวขั้นต่อไปได้ เพลงกล่อมนารีจึงเป็นเพลงที่มีความเหมาะสมในการนำมาใช้เพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบรรเลงเดี่ยวซอสามสายของนักศึกษาได้เป็นอย่างดี

          อนึ่ง เดี่ยวซอสามสาย เพลงกล่อมนารี แม้ได้มีโบราณจารย์คิดประดิษฐ์ขึ้นมาอยู่บ้างแล้ว ซึ่งเป็น
ทางเดี่ยวที่มีความไพเราะ สุขุม ราบเรียบ ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษา หรือผู้เรียน
ซอสามสายเพื่อเป็นกิจกรรมอดิเรก แต่ในการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ ผู้ประพันธ์ได้เพิ่มเติมกลวิธีพิเศษที่จะมีประโยชน์ต่อการฝึกฝนบทเพลงเดี่ยวขั้นกลาง ขั้นสูงของสำนักต่าง ๆ เอาไว้ เช่นการพรมเปิด พรมปิด พรมจาก
รูดสาย นิ้วชุน นิ้วแอ้ นิ้วควง นิ้วโอดลอย คันชักน้ำไหล คันชักไกวเปล การสีเลียนเสียงร้อง นิ้วนาคสะดุ้ง การเดินกลอนครบสามสายแบบไต่ขึ้น การลักจังหวะ การสีย้อย การลอยจังหวะ ซึ่งผู้ประพันธ์ได้สร้างสรรค์กลวิธีที่มีความเหมาะสมกับพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญาและทัศนคติของผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาที่ศึกษาวิชาซอสามสายอย่างจริงจัง

 

วัตถุประสงค์การสร้างสรรค์สอดคล้องกับผลงาน

เพื่อสร้างสรรค์เดี่ยวซอสามสายเพลง กล่อมนารี สามชั้น สำหรับเตรียมความพร้อมผู้เรียนในรายวิชาทักษะ
ซอสามสาย

 

วิธีการดำเนินงานสร้างสรรค์ลักษณะคล้ายกับบทที่ 3 ของงานวิจัย (แนวคิด และทฤษฎีที่นำมาสร้างสรรค์)  

1. ค้นคว้าข้อมูลบทเพลงจากเอกสารต่าง ๆ และบุคคลข้อมูล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญซอสามสายในสำนักต่าง ๆ ได้แก่ ศาสตราจารย์พงษ์ศิลป์ อรุณรัตน์ สำนักพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ครูเชวงศักดิ์ โพธิสมบัติสำนักหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) รองศาสตราจารย์พิชิต ชัยเสรี สำนักครูเทวาประสิทธ์ พาทยโกศล ครูเลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้สืบสานแนวทางของอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน

          2. วางแนวคิดในการสร้างสรรค์

3. ศึกษาวิเคราะห์ทำนองหลัก ตามทฤษฎีของรองศาสตราจารย์พิชิต ชัยเสรี (2559)

4. ตีความสุนทรียภาพตามบทร้องของเพลง และทางร้อง

5. ศึกษา ทบทวน ถอดเค้าโครงทำนอง กลวิธี กระสวนทำนอง ฉันทลักษณ์กลอนเพลงของเดี่ยว
ซอสามสายจากสำนักพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) สำนักหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) สำนัก
ครูเทวาประสิทธ์ พาทยโกศลและแนวทางของอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน จากการสัมภาษณ์และตีความจากแผ่นเสียงโบราณ

6. สร้างสรรค์เดี่ยวซอสามสาย เพลงกล่อมนารี สามชั้น

7. ตรวจสอบ ปรับแก้ไขข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ

8. ทดลองใช้กับนักศึกษาวิชาเอกซอสามสาย

9. เผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณชน

 

อรรถาธิบาย/อภิปรายผล  (อธิบายผลงานสร้างสรรค์โดยละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างของผลงานอย่างชัดเจน)

การสร้างสรรค์ในครั้งนี้ ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้ศึกษา ทบทวน ถอดเค้าโครงทำนอง กลวิธี กระสวนทำนอง ฉันทลักษณ์กลอนเพลงของเดี่ยวซอสามสายจากสำนักพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) สำนักหลวงไพเราะเสียงซอ
(อุ่น ดูรยชีวิน) สำนักครูเทวาประสิทธ์ พาทยโกศลและแนวทางของอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน รวมถึงสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการบรรเลงซอสามสายของผู้เรียน รวมถึงการใช้ทฤษฎีดนตรีและการใช้ความรู้สึกต่าง ๆ เพื่อตีความบทเพลงของผู้เรียน ในช่วงขึ้นต้นเพลงนั้น จึงได้สร้างสำนวนจากการตีความบทร้อง
ความว่า

“พระแย้มยิ้มพริ้มเพราเย้าหยอก             สัพยอกยียวนสรวลสม

พักตร์เจ้าเศร้าสลดอดบรรทม                           พี่จะกล่อมเอวกลมให้นิทรา”

 

รสของวรรณกรรณที่เกิดจากบทประพันธ์นี้เป็นรสที่เรียกว่า “นารีปราโมทย์” กล่าวถึงความรักความหวังดีต่อตัวละคร จึงควรใช้ท่วงทำนองที่แสดงรสในดนตรีที่เรียกว่า “ศฤงคารส” หรือรสแห่งความรัก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า
เนื้อทำนองหลักในช่วงต้นของเพลงกล่อมนารีนั้นมีความคล้ายบทเพลงพญาโศก แต่ด้วยการตีความที่แตกต่างทำให้ทำนองหลักเดียวกันนี้สามารถให้รสที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้บรรเลงจะต้องมีความคิดว่าบทเพลงนี้ไม่ใช่เพลงเศร้าแต่เป็นเพลงที่แสดงอารมณ์แห่งความรัก ผู้สร้างสรรค์ผลงานจึงเลือกที่จะใช้เสียงสูงโดยใช้กลวิธีการรูดเสียง และการเอื้อนเสียงโดยใช้นิ้วแอ้ และนิ้วโอด ดังโน้ตเพลงต่อไปนี้

 

 

 

ในช่วงต่อมานั้นเป็นเสมือนการพรรณนาเพื่อจะนำไปสู่ท่อนเอกหรือท่อนที่เป็นจุดสนใจของบทเพลงซึ่งในการสร้างสรรค์ครั้งนี้ได้มีการใช้เสียงที่ครบทั้งสามสาย โดยเฉพาะเสียงสายเปล่าของสายที่สามซึ่งใช้เสียงลากยาวให้เกิดความรู้สึกถึงเสียงอันเป็นศักยภาพของซอสามสายที่เครื่องดนตรีไทยชนิดอื่นไม่สามสารถทำได้ดังโน้ตต่อไปนี้

 

 

 

ในช่วงสุดท้ายของทางโอดนั้นจะมีการใช้กลวิธีที่ต้องอาศัยทักษะ ความรู้ ความเข้าใจและความรู้สึกของผู้บรรเลง
เป็นอย่างมากมีการรวบรวมกลวิธีการบรรเลงจากหลายสำนัก เพื่อให้เกิดอรรถรสของบทเพลงที่เข้าถึงศฤงคารสเพื่อตอบสนองบทประพันธ์ที่กล่าวว่า “พี่จะกล่อมเอวกลมให้นิทรา” ซึ่งถือได้ว่าเป็นมโนทัศน์ (concept) หลักของ
บทเพลง มีการใช้กลวิธีต่าง ๆ ได้แก่ การรูดนิ้ว นิ้วพรมบน นิ้วแอ้ นิ้วโอดลอย นิ้วนาคสะดุ้ง คันชักน้ำไหล ดังโน้ตเพลงต่อไปนี้

 

 

สำหรับในทางพันนั้นได้ผูกสำนวนกลอนให้มีการใช้นิ้วครบทุกนิ้วโดยเฉพาะการใช้นิ้วควง ซึ่งต้องใช้นิ้วนาง
กดลงบนสายสองและสายสาม ซึ่งโดยปกติแล้วนิ้วนางนี้จะเป็นนิ้วที่ผู้บรรเลงมักจะอ่อนแรงอีกทั้งการบรรเลงนิ้วควงยังสามารถให้เสียงที่มีความอ่อนกว่าการสีสายเปล่า จึงได้สร้างสรรค์ให้มีการใช้นิ้วควงอยู่ในทางพันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการใช้เอกลักษณ์ของซอสามสายเช่นการสีเอื้อนในทางพัน ซึ่งมักปรากฏในบทเพลงเดี่ยวซอสามสายสำนักพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ดังปรากฏในโน้ตเพลงต่อไปนี้

 

 

 

 

 

 

 

ในส่วนท้ายของบทเพลงมีการใช้สำนวนกลอนที่ปรากฏอยู่ในเพลงเดี่ยวโบราณ มีการใช้นิ้วก้อยเพื่อฝึกให้
ผู้บรรเลงรู้จักการใช้นิ้ว และสร้างกำลังนิ้วให้มีความแข็งแรง ในช่วงท้ายมีการลอยจังหวะซึ่งมักปรากฏในบทเพลงเดี่ยว
ซอสามสายสำนักครูเทวาประสิทธิ พาทยโกศล และในช่วงก่อนจบเพลงมีการใช้นิ้วเอื้อนเสียงที่ปรากฏในบทเพลงเดี่ยวนกขมิ้นสำนักหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยะชีวิน)

 

 

 

สรุปผลงานสร้างสรรค์ผลงาน (จุดเด่นในงานวิจัย/งานสร้างสรรค์)

ผลงานสร้างสรรค์การบรรเลงเดี่ยวซอสามสาย เพลงกล่อมนารี สามชั้นนี้เปรียบเสมือนงานวิจัยในชั้นเรียน
ชิ้นหนึ่งที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาผู้เรียนที่กำลังมีพัฒนาการทางด้านทักษะที่ดี แต่ยังไม่มีความเข้าใจวรรคตอนของเพลงไทย กลวิธีต่าง ๆ ช่องไฟ สัดส่วนของการการเอื้อนเสียงที่มีความซับซ้อนมากขึ้น กำลังนิ้วที่ยังไม่แข็งแรงมากนัก รวมถึงการศึกษากลอนเพลงเดี่ยวที่มักจะมีการผูกกลอนอันมีลักษณะเฉพาะที่ปรากฏในซอสามสาย รวมถึงฝึกพื้นฐานการใช้ทฤษฎีดนตรีในการตีความบทเพลงเพื่อสื่อสารอารมณ์แก่ผู้ฟัง บทเพลงนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเกิดพัฒนาพฤติกรรมทางด้านทักษะ ด้านพุทธพิสัยและจิตพิสัยทางดนตรีเพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

การบูรณาการ และนวัตกรรมในงานสร้างสรรค์ 

              การสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ได้อิงศาสตร์ทางวรรณศิลป์มาใช้ในการตีความบทเพลง และการสร้างอารมณ์เพลงเพื่อการสร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงนำเอาทฤษฎีทางสุนทรียศาสตร์ซึ่งเป็นหัวใจหลักของงานศิลปะทั้งหลาย
เป็นตัวตั้งในการสร้างสรรค์ ถ่ายทอดและเผยแพร่ผลงาน

การสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ยังได้อาศัยความรู้ที่ได้สั่งสมจากการร่ำเรียน พร่ำสอนของครูอาจารย์ที่ได้เมตตา กรุณามอบให้แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน จึงมีสำนวนกลอนเพลงโบราณ กลวิธีโบราณที่นำมาใช้ และมีหลายกลวิธีที่เกิดขึ้นใหม่ไม่มีปรากฏในบทเพลงอื่น ๆ ทั้งนี้เกิดขึ้นด้วยความเคารพต่อวิชาดุริยางคศิลป์ไทยและด้วยจิตที่หมายมุ่งจะพัฒนา ต่อยอดศาสตร์ทางดนตรีให้คงอยู่ต่อไปในบริบทสังคมปัจจุบันและหมายมุ่งให้เกิดการสร้างสรรค์ พัฒนาต่อไปในอนาคตกาล

 

 

การใช้ประโยชน์เชิงสาธารณประโยชน์ และเชิงพาณิชย์  

1. ได้บทเพลงเดี่ยวซอสามสาย กล่อมนารี สามชั้น ที่สามารถใช้เพื่อเตรียมความพร้อม ด้านทักษะสำหรับผู้เรียนในรายวิชาทักษะซอสามสายที่เหมาะสมกับบริบทสังคมปัจจุบัน

2. ได้บทเพลงที่สามารถสร้างสุนทรียภาพแก่ผู้คนในสังคมไทย

ข้อเสนอแนะในผลงานสร้างสรรค์

ในสังคมดนตรีไทยนั้นยังขาดบทเพลงที่ใช้เพื่อเตรียมความพร้อม ด้านทักษะสำหรับผู้เรียน รวมถึงยังขาดบทเรียนในการตีความบทเพลง การสื่อสารต่อผู้ฟังและการสร้างรูปแบบการแสดงต่อสาธารณชนซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องการการสร้างสรรค์ที่เคารพขนบและมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา ต่อยอดซึ่งการเริ่มสร้างสรรค์บทเพลงใหม่ ๆ ทำให้ค้นพบทฤษฎี ข้อคิดเห็น และมุมมองใหม่แก่ผู้ที่ได้ทำการสร้างสรรค์ บทเพลงไทยยังมีจำนวนมากมายที่สามารถนำมาสร้างสรรค์และพัฒนา ต่อยอดได้

 

การอ้างอิงข้อมูลในแบบ APA (American Psychological Association)

มนตรี ตราโมทและวิเชียร กุลตัณฑ์, (2523). ฟังและเข้าใจเพลงไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยเขษม.

พิชิต ชัยเสรี. (2559). สังคีตลักษณ์วิเคราะห์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภาคผนวกของผลงานสร้างสรรค์ (ตัวอย่างเช่น สกอร์โน้ตเพลง รูปภาพท่ารำ ฉากการแสดง อื่นๆ)