ผลของการอบรมโดยใช้กิจกรรมสะเต็มศึกษาที่มีต่อระดับความรู้ความเข้าใจระดับความคิดสร้างสรรค์ และระดับความคิดเห็นที่มีต่อสะเต็มศึกษาของนักศึกษาสังกัดคณะครุศาสตร์ที่มีระดับผลการเรียนที่แตกต่างกัน

บทคัดย่อ  
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบคะแนนด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสะเต็มศึกษา ระดับความคิดสร้างสรรค์ และระดับความคิดเห็นที่มีต่อสะเต็มศึกษาของนักศึกษาคณะครุศาสตร์ก่อนและหลังอบรมโดยใช้กิจกรรมสะเต็มศึกษา และเปรียบเทียบผลคะแนนด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสะเต็มศึกษา ระดับความคิดสร้างสรรค์ และระดับความคิดเห็นของนักศึกษาครุศาสตร์ที่มีผลการเรียนแตกต่างกันที่ผ่านการอบรมโดยใช้กิจกรรมสะเต็มศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในวิจัย ได้แก่ นักศึกษาคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 สาขาที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาในโรงเรียน จำนวน 30 คน ได้จากการเลือกแบบเจาะจง แล้วแยกออกเป็นสามกลุ่มตามระดับผลการเรียน คือ กลุ่มสูง กลุ่มปานกลาง และกลุ่มต่ำ ทำการอบรมโดยใช้กิจกรรมสะเต็มศึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญสะเต็มศึกษา และเก็บรวมรวมข้อมูลโดยใช้เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แบบสอบวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสะเต็มศึกษา 2) แบบวัดความคิดสร้างสรรค์ด้วยแบบทดสอบมาตรฐาน (TCT-DP) ของ Jellen and Urban 3) แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อสะเต็มศึกษา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย t-test การวิเคราะห์ค่าความแปรปรวนแบบทางเดียว และ Duncan Test ผลการวิจัยพบว่า
1) ก่อนอบรม กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสะเต็มศึกษาอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อผ่านการอบรม มีระดับความรู้ความเข้าใจก่อนและหลังการอบรมต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนด้านความคิดสร้างสรรค์ อยู่ในระดับปานกลาง เมื่อผ่านอบรม คะแนนก่อนและหลังอบรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยมีคะแนนด้านความคิดริเริ่ม และความคิดละเอียดลออ สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ยกเว้นด้านการคิดคล่องแคล่ว และความคิดยืดหยุ่น มีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ในด้านระดับความคิดเห็นต่อสะเต็มศึกษาอยู่ในระดับมาก และมีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
2) นักศึกษาที่มีระดับผลการเรียนที่แตกต่างกัน เมื่อผ่านการอบรม พบว่าในระดับความรู้ความเข้าใจ และระดับความคิดเห็นที่มีต่อสะเต็มศึกษามีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนระดับความคิดสร้างสรรค์ พบว่านักศึกษากลุ่มสูงและกลุ่มปานกลาง มีคะแนนด้านความคิดสร้างสรรค์สูงกว่ากลุ่มต่ำ โดยมีความแตกต่างอย่างมีนัยทางสถิติ ที่ระดับ 0.05           

คำสำคัญ: กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ความคิดสร้างสรรค์ สะเต็มศึกษา

link >> PDF