ปู๊น ปู๊น ฉึกกะฉัก…อะไรเอ่ย

ดิฉันนั่งดูรายการทอล์คโชว์กึ่งสอนภาษาอังกฤษที่ชอบเชิญ celeb มานั่งสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษกันไฟแล่บ มาถึง EP หนึ่งซึ่งพิธีกรรายการเชิญนักเดินทางรอบโลก (Globaltrotter) ชื่อดังมานั่งถ่ายทอดประสบการณ์การเดินทางในประเทศห่างไกลประเทศหนึ่ง…ซึ่งก็ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการหรือภาษาแม่ เรื่องมีอยู่ว่า นางต้องการจะถามทางคนในท้องถิ่นเกี่ยวกับการไปขึ้นรถไฟเพื่อจะเดินทางต่อไปที่ไหนสักแห่ง โดยพยายามใช้คำง่าย ๆ อย่าง train แล้วก็ไม่ได้ผล นางเลยจบด้วยความพยายามใช้สัทพจน์ (Onomatopoeia) หรือการเลียนเสียงธรรมชาติอย่าง “ปู๊น ปู๊น” (ในภาษาไทย) ไปยกใหญ่ แต่ก็ไร้แวว…แล้วก็พอจะเดาได้เลยว่า นางไม่รู้ว่า สัทพจน์ของเสียงรถไฟในภาษาอังกฤษเขาใช้ว่าอะไร หรือเป็นไปได้ว่านางอาจเคยรู้ แต่อาจนึกไม่ออกเพราะลืมเนื่องจากไม่ได้ใช้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน หรือเพราะอาจจะเคยชินกับคำในภาษาไทยมากกว่า

มาถึงตรงนี้ ดิฉันก็นั่งนึกถึงคอร์ส Semantics สมัยเรียน ป.โท ในทฤษฎีที่ว่า คนต่างวัฒนธรรม ต่างภูมิประเทศ ต่างสภาพแวดล้อมกันมักมีมโนทัศน์ในเรื่องเดียวกันหรือสิ่ง ๆ เดียวกันที่มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสัทพจน์ อย่างเสียงของเหล่าสรรพสัตว์ต่าง ๆ ขนาดไทยกับอังกฤษหลายเสียง ยังฟังเพี้ยนต่างกันไปไกลสุดกู่ อย่างบ้านเราได้ยินกบร้อง “อ๊บ อ๊บ” ฝรั่งกลับได้ยินว่า “ribbit” หรือเสียงหนูบ้านเราได้ยินมันร้อง “จิ๊ด ๆ” ฝรั่งกลับได้ยิน “squeak” ไอ้ที่เกือบเหมือนหรือคล้าย ๆ ก็มี อย่างเสียงสุนัข โฮ่ง ๆ หรือ บ๊อก บ๊อก (woof หรือ bow-wow หรือ ruff) หรือเสียง อู๊ด ๆ ของหมูที่เราได้ยิน ฝรั่งก็ได้ยินว่า oink (ออกเสียงคล้าย ออยคฺ) ดังนั้น เสียงรถไฟของเรากับประเทศเขา ก็ใช่ว่าจะเป็นเสียง ๆ เดียวกันที่ฟังแล้วสื่อความเข้าใจตรงกัน

เคสนี้ ดิฉันเชื่อว่า ต่อให้นางรู้และใช้สัทพจน์ในภาษาอังกฤษ ก็ใช่ว่าอีกฝ่ายจะรู้เรื่อง ขนาดคำว่า train ยังแป้กเลย อย่างไรก็ตาม ดิฉันเห็นว่าความรู้ในเรื่องดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาภาษาอังกฤษของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราต้องการเข้าใจหรือใช้ภาษาให้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา (ในกลุ่ม inner circle country)
หรือเห็นว่ายังคงใช้ได้กับการสื่อสารในระดับนานาชาติในฐานะรูปแบบภาษาที่ใช้อ้างอิงในลักษณะมาตรฐานกลาง

สัทพจน์ของรถไฟ ในภาษาไทย เราคงนึกถึง 2 คำคือ ปู๊น ปู๊น ที่เป็นเสียงหวูดรถไฟ กับเสียง ฉึกฉัก ซึ่งเป็นเสียงการทำงานของเครื่องจักรเวลารถไฟวิ่ง ส่วนภาษาอังกฤษ เขาก็มีเหมือนกัน เอาที่มีเหมือนเราและเข้าใจกันอย่างกว้างขวางในวงหลายประเทศเพราะเป็น children’s word หรือศัพท์ที่พัฒนามาจากภาษาเด็ก ก็คือ คำว่า Choo-Choo (ออกเสียงคล้าย ชู ชู) ซึ่งจะหมายถึงเสียง ปู๊น ปู๊น หรือจะหมายถึงรถไฟก็ได้ ส่วนเสียงฉึกฉัก มีใช้อยู่ 2 คำ คือ clackety-clack (ออกเสียงคล้าย’ แคลก คิ ถิ่ ‘แคลก) หรือจะ clickety-clack (ออกเสียงคล้าย ‘คลิ คิ ถิ่ ‘แคลก) ก็ได้ค่ะ