ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมต่อต้นดาวอินคา

บทนำ

              ดินเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการเกษตร เนื่องจากดินเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของพืช โดยทั่วไปดินที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช คือ ดินที่อุดมสมบูรณ์ มีแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืชขณะเดียวกันก็มีสมบัติทางกายภาพที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่ยึดเกาะของรากพืช ช่วยยึดลำต้นให้แน่น ไม่ให้ล้มเอียง และยังทำหน้าที่เก็บกักน้ำเพื่อการเจริญเติบโตของพืช ให้อากาศแก่รากพืชเพื่อการหายใจ ดินในธรรมชาติมีการเรียงตัวเป็นชั้นต่อเนื่องกันอย่างกลมกลืน โดยชั้นดินบนเป็นชั้นที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกอย่างยิ่ง องค์ประกอบและสัดส่วนของดินในอุดมคติต่อการเจริญเติบโตของพืช คือ อนินทรียวัตถุ อินทรียวัตถุ น้ำหรือสารละลาย และอากาศ ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับ 45 5 25 และ 25 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาณ หรือปริมาตร(กรมพัฒนาที่ดิน, 2553) ความอุดมสมบูรณ์ของดิน (soil fertility) เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงผลิตภาพดิน (soil productivity) เป็นความสามารถของดินในการให้ผลผลิตพืชภายใต้การจัดการแบบหนึ่งหรือระบบหนึ่ง และความสามารถของดินในการให้ธาตุอาหารที่จำเป็นเพื่อการเจริญเติบโตของพืช เมื่อธาตุอาหารในดินที่อยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มีปริมาณที่พอเหมาะและสมดุล จะช่วยให้พืชมีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดี (คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา, 2548)

              ดาวอินคาเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ที่ราคาดีมีความต้องการของตลาดสูง ปลูกง่าย โตไว ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้หลายปี ต้นดาวอินคา (ภาพที่1) หรือ Sacha  inchi เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่มาแรงและได้ส่งเสริมการปลูกกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันโดยได้มีการทดลองปลูกในไทยเมื่อไม่นานประมาณ 7-8 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคกลางโดยต้นดาวอินคาเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดจากบริเวณลุ่มแม่น้ำอเมซอน ประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ (รักชนก, 2559)

            ประโยชน์ของต้นดาวอินคาทางด้านคุณค่าสารอาหาร โดยเมล็ดดาวอินคา  เป็นแหล่งโปรตีนและกรดไขมันที่จำเป็น ได้แก่ กรดไขมันโอเมก้า 3, 6 และ 9  ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดคอเลสเตอรอลในเลือด  น้ำมันดาวอินคามีสารไฟโตสเตอรอล หรือสารประกอบอินทรีย์ประเภท สเตียรอยด์ที่พบเฉพาะในพืช และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่ม ฟีโรฟีล และ แคโรทีนอยด์ (กรมวิชาการเกษตร, 2549) กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USDA Branded Food Products Database ได้รายงานคุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดดาวอินคาไว้ดังนี้ คือ เมล็ดดาวอินคา 100 กรัม ให้พลังงาน 607 กิโลกรัมแคลอรี่ โปรตีน 32.14 กรัม ไขมัน 46.63  กรัม คาร์โบไฮเดรต 17.86 กรัม  น้ำตาล3.57 กรัม แคลเซียม 143 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 4.59 มิลลิกรัม (กรมวิชาการเกษตร, 2549) 

            ในแต่ละพื้นที่มีการเจริญเติบโตของต้นดาวอินคาที่แตกต่างกันซึ่งอาจมีผลมาจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมในแต่ละภูมิภาคที่มีความแตกต่างกัน เช่น สภาพเนื้อดิน ความชื้น อุณหภูมิ แสง ปริมาณน้ำที่ได้รับ และปริมาณธาตุอาหารในดิน ดังนั้นจึงได้รวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาปัจจัยทางกายภาพเคมีและธาตุอาหารของดินที่เหมาะสมต่อการปลูกต้นดาวอินคา

            ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่

                       1)  ปัจจัยทางกายภาพ  ประกอบด้วย เนื้อดิน ความเค็ม และความชื้นในดิน

                       2) ปัจจัยทางอากาศ  ประกอบด้วย แสง อุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์อากาศ

                       3)  ปัจจัยทางเคมี  ประกอบด้วย ความเป็นกรดด่าง และอินทรียวัตถุในดิน

                       4)  ปริมาณธาตุอาหาร ประกอบด้วย ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K)

1.ปัจจัยทางกายภาพของดิน

         การศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของดินนั้นเป็นการเน้นทางด้านเชิงปริมาณซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดินตามเวลา และยังสามารถสังเกตลักษณะของดินจากส่วนประกอบภายนอกได้ เช่น เนื้อดิน โครงสร้างของดิน สีดิน ตลอดจนการซึมของน้ำและความชื้นของดินโดยทั่ว ๆ ไปดินที่ใช้ทำการเกษตร จะมีส่วนที่เป็นของแข็งไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักซึ่งประกอบด้วยอนินทรีย์สารและอินทรีย์สารเกือบทั้งหมด จึงทำให้ส่วนประกอบเหล่านั้นเกิดมีขนาด และรูปร่างของอนุภาคดินที่แตกต่างกันไป และการจัดเรียงตัวของอนุภาคดินก็ทำให้เกิดเป็นช่องว่าง (pore space) ที่มีขนาดและรูปร่างต่าง ๆ กันไปเป็นผลทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินเหล่านี้นำไปสู่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน (เกษมศรี, 2541)

          1.1 เนื้อดิน 

          เนื้อดินเป็นสมบัติทางฟิสิกส์ขั้นสูง ซึ่งจะมีผลควบคุมสมบัติทางฟิสิกส์อื่นๆของดิน เนื้อดินสื่อความหมายด้านขนานหรือความหยาบ ละเอียดของอนุภาคอนินทรีย (inorganic particles) ที่เป็นองค์ประกอบของดินนั้นในด้านปฐพีวิทยา เนื้อดินถูกจำแนกเป็นหลายประเภท สิ่งที่กำหนดประเภทของเนื้อดิน คือ สัดส่วนโดยมวลของอนุภาคอนินทรีย 3 กลุ่มขนาด (soil separates)  ได้แก่ ทราย(Sand) หรืออนุภาคทราย จัดเป็นกลุ่มขนาดโตที่สุดในดิน 2-0.02 มิลลิเมตร ซิลท์(Silt) หรืออนุภาคทรายตะกอนหรืออนุภาคทรายแป้ง จัดเป็นกลุ่มขนาดกลาง 0.02-0.002 มิลลิเมตร และ Clay หรืออนุภาคดินเหนียว จัดเป็นขนาดเล็กที่สุดในดิน น้อยกว่า 0.002 มิลลิเมตร (เอิบ, 2542)

        ความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกต้นดาวอินคาเนื้อดินควรเป็นดินร่วน ดินร่วนเหนียว หรือดินร่วนเหนียวปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีการระบายน้ำและอากาศดี น้ำไม่ท่วมขัง ระดับน้ำใต้ดินลึกกว่า 1เมตร โดยดินไม่เป็นดินเกลือหรือดินเค็ม (ขวัญฤทัยและพินิจ, 2559)

         1.2 ความชื้นในดิน

                ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติสามารถกักเก็บนำให้สามารถเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ ซึ่งน้ำมีพลังงานที่แตกต่างกันในแต่ละท้องที่ ซึ่งพลังงานที่มีความแตกต่างดังนี้ จึงทำให้น้ำเกิดการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ และยังมีแรงสามารถกระทำต่อน้ำในดินได้อีกหลายชนิด เช่น แรงดึงดูดของโลก แรงระหว่างไอออนที่ละลายน้ำ และแรงระหว่างโมเลกุลของน้ำด้วยกัน ซึ่งพลังงานเหล้านี้ก็มีความสัมพันธ์ต่อการดูดยึดน้ำของดินได้   สำหรับธรรมชาติความชื้นของดินหรือน้ำในดิน มักจะบรรจุอยู่ในช่องว่างของดินดังนั้นน้ำกับก๊าซจึงมีความสัมพันธ์ กล่าวคือน้ำกับก๊าซเก็บบรรจุอยู่ในช่องว่างของดิน ถ้าในช่องว่างของดินมีก๊าซแสดงว่าในช่องว่างนั้นมีอยู่มากหรือ ถ้าไม่มีก๊าซ หรือถ้ามีก็น้อยมากเนื่องจากน้ำอยู่ระหว่างดิน ทำให้การแลกเปลี่ยนของก๊าซระหว่างภายในดินกับเหนือผิวดิน ย่อมเป็นไปได้ยาก เกิดมีปริมาณของก๊าซออกซิเจนในดินลดลง และกลับมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น (เกษมศรี, 2541)

              1.3 ความเค็ม

              ความเค็มเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่จำกัดอัตราการเจริญเติบโตของพืช ความเค็มจะส่งผลกระทบต่าง ๆภายในเซลล์พืช อาทิ เช่น การเจริญเติบโต การสังเคราะห์แสง การสังเคราะห์โปรตีน รวมไปถึงเมแทบอลิซึมของชีวโมเลกุลต่าง ๆ ทำให้อัตราการสังเคราะห์แสงของพืชลดลง ส่งผลให้การเจริญเติบโตของพืชถูกจำกัด พืชเกิดการขาดน้ำ พืชต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติเพื่อดูดน้ำและธาตุอาหารมาใช้ในการเจริญเติบโต (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2545)  พืชส่วนใหญ่มีผลผลิตลดลงเมื่อสารละลายดินมีค่าการนำไฟฟ้า (ECe) มากกว่า 2 dS/m พืชบางชนิดทนเค็มได้ถึง 4-8 dS/m แต่เมื่อระดับความเค็มสูงถึง 16 dS/m พืชเกือบทุกชนิดแสดงอาการที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจะทำให้ต้นเกิดการ แคระแกร็น ใบด่างเหลือง และผลผลิตต่ำ (Bernstein, 1964)

  2. ปัจจัยสภาพอากาศ

       ปัจจัยทางอากาศประกอบด้วย ความเข้มแสง อุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ทางอากาศ ที่มีความสัมพัทธ์กันที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งแต่ละปัจจัยจะมีข้อจำกัดในการที่จะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งสามารถบอกความหมายหลักได้ดังนี้

           2.1 ความเข้มแสง

           แสงเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่ง ซึ่งมีผลกับการเจริญเติบโตของพืชและพัฒนาการของพืช เพราะแสงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างอาหารหรือการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชโดยมีคลอโรฟิลล์เป็นตัวรับแสงใช้เป็นพลังงาน ในการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำเป็นคาร์โบไฮเดรตและออกซิเจน แสงเป็นตัวให้พลังงานแก่พืช ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นขบวนการที่ก่อให้เกิดแป้งและน้ำตาล นอกจากนั้นยังมีบทบาทที่สำคัญในกระบวนการต่าง ๆในพืชอีกหลายประการ ความเข้มของแสงมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของต้นพืช เพราะหากแสงมีความเข้มข้นน้อยเกินไป จะทำให้พืชอ่อนแอ หรือการยึดของต้นข้อ การสังเคราะห์แสงจะไม่สมบูรณ์ ทำให้พืชโตช้ากว่าปกติ  (รุ่งนภา, 2558) ความเข้มแสงที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับชนิดของพืช โดยทั่วไปพืชต้องการความเข้มแสง 1000-2000 ฟุต-แคนเดิล หรือประมาณ 968.4- 1936.8 ลักซ์ (เกษมศรี, 2541)

             2.2 อุณหภูมิ

              อุณหภูมิของดินและของบรรยากาศควบคุมอุณหภูมิภายในต้นพืชต่าง ๆ ภายในพืชมีผลต่อขบวนการต่าง ๆ เช่น ขบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ( photosynthesis) ขบวนการหายใจ (respiration) และขบวนการเมตาโบลิสซึ่ม (metabolism) ของพืชจะเกิดได้ช้าเร็วอย่างไรขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ถ้าอุณหภูมิสูงขบวนการต่าง ๆ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้พืชเจริญเติบโตเร็ว และถ้าอุณหภูมิต่ำ ขบวนการเมตาโบลิสซึ่ม ต่าง ๆ ดังกล่าวก็จะช้าไปด้วยมีผลทำให้การเจริญเติบโตของพืชช้าไปด้วย อุณหภูมิของอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชทั่วไปอยู่ระหว่าง 15-40 องศาเซลเซียส(สัมฤทธิ์, 2538) โดยสภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของการปลูกต้นดาวอินคา ไม่สามารถทนกับอากาศหนาวได้ ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยหรือต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส จะทำให้ต้นดาวอินคาชะงักการเจริญเติบโต โดยเฉพาะเมื่อต้นยังเล็ก อุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกต้นดาวอินคาคือ 25 องศาเซลเซียส (ขวัญฤทัยและพินิจ, 2559)

             2.3 ความชื้นสัมพัทธ์ทางอากาศ

             ความชื้นสัมพัทธ์ทางอากาศที่พอเหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชมากที่สุด ไม่สามารถหาค่าเป็นตัวเลขได้แน่นอนเนื่องจากยังคงมีการเคลื่อนที่ของน้ำที่ดูดซับความชื้น โดยทั่วไปจะกำหนดให้ที่ความชื้นหลังฝนตกหนักหรือหยุดให้น้ำ 2-3 วันเป็นความชื้นที่พอเหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชมากที่สุด (เกษมศรี, 2541) โดยเฉลี่ยประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์

  3.ปัจจัยทางเคมีของดิน

             เป็นสมบัติที่เกี่ยวข้องกับการดูดยึด และแลกเปลี่ยนแร่ธาตุต่าง ๆ ระหว่างดินกับสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับปฏิกิริยาต่าง ๆ ทางเคมีของดิน เช่น ปฏิกิริยาดินหรือค่าพีเอชดิน ความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุ การอิ่มตัวด้วยเบส และอินทรียวัตถุในดิน (กรมพัฒนาที่ดิน, 2550)

         3.1 ความเป็นกรดด่างดิน

                ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืชโดยที่ความเป็นกรดด่างจะเป็นตัวควบคุมระดับความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชในดิน ถ้าดินนั้นมีระดับความเป็นกรดและด่างของดินที่เหมาะสมจะมีธาตุอาหารละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชได้มาก  (รุ่งนภา, 2558) โดยความเป็นกรดด่างของดินที่ปลูกพืชทั่วไป ควรอยู่ในช่วงพีเอชเท่ากับ 6.5-7.0 ถ้าดินมี พีเอช สูง หรือต่ำกว่าช่วงนี้ ความเป็นประโยชน์ของธาตุฟอสฟอรัส และไนโตรเจนในดินก็ลดน้อยลง ในดินที่มีความเป็นกรดจัด หรือเป็นด่างจัด จะไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช (กรมวิชาการเกษตร,  2549)

          3.2 อินทรียวัตถุของดิน

                 อินทรียวัตถุในดินคือสารประกอบอินทรีย์ที่ได้จากการสลายตัวจากซากพืชและซากสัตว์ ซึ่งเป็นผลจากการทำงานหรือกิจกรรมของจุลินทรีย์ดิน โดยสามารถพบได้ตามธรรมชาติโดยทั่ว ๆ ไป แล้วอินทรีย์วัตถุในดินนั้นประกอบด้วย 2 กลุ่มได้แก่กลุ่มแรกจะเป็นส่วนของพืชที่มีการสลายตัวและที่ยังไม่สลายตัวอย่างสมบูรณ์ กลุ่มที่สองจะเป็นวัตถุที่มีสีดำหรือสีน้ำตาลมีโครงสร้างซับซ้อนและคงทนต่อการสลายตัว (เกษม, 2541) อินทรียวัตถุในดินมีระดับที่เหมาะสมเท่ากับร้อยละ 5 โดยปริมาตร หรือ ร้อยละ 3.5 โดยน้ำหนัก อินทรีย์วัตถุเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อพืชโดยดินทั่วไปที่ใช้เพาะปลูกในประเทศไทยส่วนมากมีอินทรียวัตถุอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คือ น้อยกว่าร้อยละ 1  ถึงปานกลาง คือ ร้อยละ 1 – 2 ดินที่ขาดอินทรีย์วัตถุนี้มักขาดธาตุไนโตรเจนและธาตุอื่น ๆร่วมด้วย (ยงยุทธ และคณะ, 2554)

4. ปริมาณธาตุอาหารของพืชทั่วไป

              ชนิดและปริมาณธาตุอาหารพืชจะต้องได้รับธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช (essential element) ครบทุกธาตุ และในปริมาณที่เหมาะสมได้สัดส่วนกัน ซึ่งจะทำให้การเจริญเติบโตเป็นไปได้อย่างปกติ ถ้าหากพืชขาดธาตุใดธาตุหนึ่งไป ก็จะแสดงอาการผิดปกติของพืช (ภาพที่4) หรือทำให้การเจริญเติบโตชะงักงันไป และถึงแม้ดินจะมีธาตุอาหารครบทุกธาตุ แต่ไม่ได้สัดส่วนกัน อาหารธาตุที่มีต่ำที่สุดจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตการเจริญเติบโตของพืชนั้น ๆ (สัมฤทธิ์, 2538) พืชจะดูดแร่ธาตุอาหารจำนวนเล็กน้อยเข้าไปมากกว่า 90 ชนิด แต่มีเพียง 16 ชนิด (ตารางที่ 1) เท่านั้นที่จำเป็น (Epstein, 1972) ได้แก่ธาตุอาหารหลัก (Primary nutrient)  3 ธาตุ คือ  ไนโตรเจน  ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ธาตุในกลุ่มนี้มักมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช จึงจำเป็นต้องผลิตและใส่ให้แก่พืชในรูปของปุ๋ย และธาตุอาหารรอง (Secondary nutrient) มี 3 ธาตุ คือ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน ธาตุในกลุ่มนี้มักมีเพียงพอต่อความต้องการของพืชแต่ดินในหลายพื้นที่ (เกษมศรี, 2541)

          4.1ไนโตรเจน(N)

          ธาตุไนโตรเจนปกติจะมีอยู่ในอากาศในรูปของก๊าซไนโตรเจนเป็นจำนวนมากแต่ในโตรเจนในอากาศในรูปของก๊าซนั้นพืชนำเอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ยกเว้นพืชตระกูลถั่วเท่านั้นที่มีระบบรากพิเศษสามารถแปรรูปก๊าซไนโตรเจนจากอากาศเอามาใช้ประโยชน์ได้ ธาตุไนโตรเจนที่พืชทั่ว ๆไปดึงดูดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้นั้นจะต้องอยู่ในรูปของอนุมูลของสารประกอบ เช่นแอมโมเนียมไอออน (NH4) และไนเทรตไอออน (NO3) โดยพืชทั่วไปจะมีไนโตรเจนประมาณ 1-5 เปอร์เซ็นต์ ธาตุไนโตรเจนในดินที่อยู่ในรูปเหล่านี้จะมาจากการสลายตัวของสารอินทรียวัตถุในดินโดยจุลินทรีย์ในดินจะเป็นผู้ปลดปล่อยให้ นอกจากนั้นก็ได้มาจากการที่เราใส่ปุ๋ยเคมีลงไปในดิน พืชโดยทั่วไปมีความต้องการธาตุไนโตรเจนเป็นจำนวนมากเป็นธาตุอาหารที่สำคัญมากในการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของพืช พืชที่ได้รับไนโตรเจนอย่างเพียงพอใบจะมีสีเขียวสดมีความแข็งแรงโตเร็วและทำให้พืชออกดอกและผลที่สมบูรณ์เมื่อขาดไนโตรเจนจะแคระแกร็นโตช้าใบเหลืองโดยเฉพาะใบล่างๆจะแห้งร่วงหล่นเร็วทำให้แลดูต้นโกร๋นการออกดอกออกผลจะช้าและไม่ค่อยสมบูรณ์ (เกษมศรี, 2541)

              4.2 ฟอสฟอรัส (P)

              ฟอสฟอรัสในดินมักมีปริมาณที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของพืชเช่นกัน เนื่องจากเป็นธาตุที่ถูกตรึงหรือเปลี่ยนเป็นสารประกอบได้ง่าย สารเหล่านี้มักละลายน้ำได้ยาก ทำให้ความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสต่อพืชลดลง ฟอสฟอรัสที่พบในพืชจะในรูปของฟอสเฟตไอออนที่พบมากในท่อลำเลียงน้ำ เมล็ด ผล และในเซลล์พืช โดยทำหน้าสำคัญเกี่ยวกับการถ่ายทอดพลังงานเป็นวัตถุดิบในกระบวนการสร้างสารต่าง ๆ และควบคุมระดับความเป็นกรด-ด่าง ของกระบวนการลำเลียงน้ำในเซลล์ โดยทั่วไปพืชจะต้องการฟอสฟอรัสประมาณ 0.3-0.5 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักแห้งเพื่อให้การเจริญเติบโตทางใบเป็นปกติ แต่หากได้รับในปริมาณสูงกว่า 1 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักแห้งจะเกิดความเป็นพิษต่อพืช (สุชาติ, 2554)

             4.3 โพแทสเซียม(K)

              โดยทั่วไปโพแทสเซียมกระจายอยู่ดินชั้นบนและดินชั้นล่างในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน โพแทสเซียมเป็นธาตุที่จำเป็นสำหรับพืชเหมือนกับธาตุฟอสฟอรัส และธาตุไนโตรเจน พืชจะดูดโพแทสเซียมจากดินในรูปโพแทสเซียมไอออน โพแทสเซียมเป็นธาตุที่ละลายน้ำได้ดี และพบมาก ในดินทั่วไป แต่ส่วนใหญ่จะรวมตัวกับธาตุอื่นหรือถูกยึดในชั้นดินเหนียว ทำให้พืชนำไปใช้ไม่ได้ การเพิ่มปริมาณโพแทสเซียมในดินจะเกิดจากการสลายตัวของหินเป็นดินหรือปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ในดินที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ โพแทสเซียมที่เป็นองค์ประกอบของพืช พบมากในส่วนยอดของต้น ปลายราก ตาข้าง ใบ อ่อน ในใจกลางลำต้น และในท่อลำเลียงอาหาร โดยทั่วไป ความต้องการโพแทสเซียมของพืชอยู่ในช่วง 2-5 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักแห้ง บทบาทสำคัญของโพแทสเซียม คือ ช่วยกระตุ้นการทำงานของ เอนไซม์ ช่วยในกระบวนการสร้างแป้ง ช่วยในกระบวนการสังเคราะห์แสง ควบคุมศักย์ออสโมซีส ช่วยในการลำเลียงสารอาหาร ช่วยรักษาสมดุลระหว่างกรดและเบส (สุชาติ, 2554)

สรุป

             ปัจจัยทางกายภาพของดินที่เหมาะสมต่อการปลูกต้นดาวอินคาได้แก่ เนื้อดินที่เหมาะสมต่อการปลูกต้นดาวอินคา เนื้อดินควรเป็นดินร่วน ดินร่วนเหนียว หรือดินร่วนเหนียวปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีการระบายน้ำและอากาศดี น้ำไม่ท่วมขัง ระดับน้ำใต้ดินลึกกว่า 1 เมตร ไม่เป็นดินเกลือหรือดินเค็ม ความชื้นที่มีประโยชน์ต่อพืชของดินในบริเวณที่มีรากพืชให้อยู่ในช่วง 50-100 เปอร์เซ็นต์

              ปัจจัยทางสภาพอากาศประกอบด้วย แสงซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่ง ซึ่งมีผลกับการเจริญเติบโตของพืชและพัฒนาการของพืช เพราะแสงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างอาหารหรือการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช ความเข้มแสงที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับชนิดของพืช โดยทั่วไปพืชต้องการความเข้มแสง 1000-2000 ฟุต-แคนเดิล หรือประมาณ 968.4- 1936.8 ลักซ์  อุณหภูมิที่พอเหมาะของการเจริญเติบโตพืชทั่วไป อยู่ระหว่าง 15-40 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป กระบวนการ เมทาบอลิซึม ต่าง ๆจะเกิดขึ้นได้ช้าโดยสภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของการปลูกต้นดาวอินคา ไม่สามารถทนกับอากาศหนาวได้ ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยหรือต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส จะทำให้ต้นดาวอินคาชะงักการเจริญเติบโต     และอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกต้นดาวอินคาประมาณ 25 องศาเซลเซียส

              ปัจจัยทางเคมีได้แก่ ความเป็นกรดด่างของดินในพืชทั่วไป ควรอยู่ในช่วงพีเอช  6.5-7.0 ถ้าดินมี พีเอช สูงหรือต่ำกว่าช่วงนี้ ความเป็นประโยชน์ของธาตุฟอสฟอรัสในดินก็ลดน้อยลง ในดินที่มีความเป็นกรดจัด หรือเป็นด่างจัด จะไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช และอินทรียวัตถุในดินเป็นองค์ประกอบสำคัญของดินที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อสมบัติต่างๆของดินทั้งทางเคมี ฟิสิกส์ และชีวภาพ อันส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงระดับความอุดมสมบรูณ์ของดิน โดยดินทั่วไปที่ใช้เพาะปลูกในประเทศไทยส่วนมากมีอินทรียวัตถุอยู่ในเกณฑ์ต่ำคือ น้อยกว่า ร้อยละ1 และเกณฑ์ปานกลางร้อยละ1 – 2

              ปริมาณธาตุอาหารของดินโดยธาตุไนโตรเจนที่พืชทั่ว ๆไปดูดดึง(uptake)ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้นั้นจะต้องอยู่ในรูปของอนุมูลของสารประกอบ เช่นแอมโมเนียมไอออน  และไนเตรตไอออน โดยพืชทั่วไปจะมีไนโตรเจนประมาณ1-5 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืชโดยทั่วไปพืชจะต้องการฟอสฟอรัสประมาณ 0.3-0.5 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักแห้ง เพื่อให้การเจริญเติบโตทางใบเป็นปกติ แต่หากได้รับฟอสฟอรัสในปริมาณสูงกว่า 1 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักแห้งแห้ง จะเกิดความเป็นพิษต่อพืช และโพแทสเซียมเป็นธาตุที่ละลายน้ำได้ดี และพบมาก ในดินทั่วไป แต่ส่วนใหญ่จะรวมตัวกับธาตุอื่นหรือถูกยึดในชั้นดินเหนียวโดยทั่วไป ความต้องการโพแทสเซียมของพืชอยู่ในช่วง 2-5 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักแห้ง

เอกสารอ้างอิง

           กรมพัฒนาที่ดิน. (2533). เอกสารคำแนะนำเรื่องดินที่มีปัญหาต่อการเกษตรกรรมในประเทศไทย.  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

           กรมพัฒนาที่ดิน. (2550). คู่มือยุวหมอดิน. กรมพัฒนาที่ดินกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,  กรุงเทพฯ. 45 หน้า.

           กรมพัฒนาที่ดิน. (2553). คู่มือการปฏิบัติงานกระบวนการวิเคราะห์ดินทางกายภาพ. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2562, จาก http://www.ldd.go.th/PMQA/2553/Manual/OSD-03.pfd.

            กรมส่งเสริมการเกษตร.กองส่งเสริมพืชไร่นา.(2545). เทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวผิวมันคุณภาพดี  กองส่งเสริมพืชไร่นา. 31 หน้า.

            กรมวิชาการเกษตร. (2549).  รายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัย และพัฒนาด้านพืช และเทคโนโลยีการเกษตร. วันที่ 20-24 พฤศจิกายน 2549.

            เกษมศรี ซับซ้อน. (2541).ปฐพีวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: นานาสิ่งพิมพ์.

            ขวัญฤดี ธราธารกุลวัฒนา และพินิจ จันทร. (2559). ถั่วดาวอินคาโอเมก้าบนดิน.พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ปัญญาชน.

            คณาจารย์ภาคปฐพีวิทยา.  (2548).  ปฐพีวิทยาเบื้องต้น.พิมพ์ครั้งที่ 8.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

            คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา. (2519). ปฐพีวิทยาเบื้องต้น. คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ. 620 หน้า.

            คณาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา. (2526). หลักการกสิกรรม. คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ. 395 หน้า.

            ถนอม คลอดเพ็ง. (2528). ปฐพีศาสตร์เบื้องต้น. ภาควิชาปฐพีศาสตร์และอนุรักษ์ศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่. 257 หน้า.

            รุ่งนภา  เหมแดง. (2558). การประเมินสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน.พิมพ์ครั้งที่ 1.  สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน  2562, จาก https://www.scimath.org/project/item/5875-2550.

            รักชนก  ภูวพัฒน์ .(2559). การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการผลิตสารทุติยภูมิจากใบอ่อนใบเพสลาดและใบแก่ของถั่วดาวอินคาเพื่อรองรับการผลิตใบชาเพื่อชุมชนของจังหวัดนราธิวาส. วารสารมหาวิทยาลัยพระธิวาสราชนครินทร์, 8(2).

            มหาวิทยาลัยแม่โจ้ .(2554). ดาวอินคา พืชมหัศจรรย์สุดยอดโภชนาการ. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2562, จาก http://doa.go.th/pibai/pibai/n17/v_10-nov/rai.html.

             ยงยุทธ โอสถสภา .(2554). ธาตุอาหารของพืช.พิมพ์ครั้งที่ 4 . ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร  กำแพงแสน  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

             สุชาติ จันทร์เหลือง. (2554). สารประกอบของธาตุอาหารในดิน. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2562, จาก http://guru.sanook.com/1039/.

             สัมฤทธิ์ เฟื่องจันทร์. (2538). ปัจจัยที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน

2562, จาก https://sites.google.com/site/reuxngphuch/paccay-thi-capen-tx-kar-ceriy-teibto-khxng-phuch-1.

              เอิบ เขียวรื่นรมย์ . (2542). คู่มือปฏิบัติการสำรวจดิน. พิมพ์ครั้งที่ 6.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์          มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

             Bernstein, L. (1964). Effects of salinity on mineral composition and growth of plants. Plantanalysis

and fertilizer problem IV.

             Epstein. (1965). Influence of the Coinoculation Azospirillum brasilense and Rhizobium meliloti plus 2,4-D on Grain Yield and N, P, K Content of Triticum aestivum (Cv. Baccros and  Mahdavi). American Eurasian Journal of Agricultural and Environmental Science 5(3): 296-307.