ประเภทเพลงตับที่ปรากฏในดนตรีไทย

ประเภทเพลงตับที่ปรากฏในดนตรีไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วงศ์วสันต์ วสันตสุรีย์

 

                เพลงตับ คือ เพลงหลายๆเพลงมารวมกันประหนึ่งเอาใบจากหลายๆใบมารวมกันเข้าเป็นตับจาก และที่เรียกประหนึ่งว่าเพลงตับ ก็เห็นจะเป็นด้วยเหตุผลนี้ เพบงตับมี 2 ชนิด คือ ตับเรื่องและตับเพลง

                ตับเพลงนั้นเรียบเรียงขึ้นโดยถือเอาเพลงประเภทเดียวกัน มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาร้อยกรองกันเข้า เมื่อเล่นติดต่อกันไปแล้ว จะฟังดุจว่าเป็นเพลงยาวเหยียดทีเดียว ทั้งนี้เพราะเพลงเหล่านั้นเข้าไปสนิทนั่นเอง ส่วนเนื้อร้องนั้นไม่สำคัญ จะเอาเนื้ออะไรมาร้องกับเพลงอะไรก็ได้ แม้เนื้อร้องจากละครคนละเรื่องก็ยังใช้ได้ ทั้งนี้เพราะถือเอาเพลงเป็นสำคัญยิ่งกว่าเนื้อร้องนั่นเองส่วนตับเรื่องนั้นตรงกันข้าม ถึงจะมีเพลงหลายเพลงมาร้อยกรองกันเข้า แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพลงประเภทเดียวกัน อาจจะเป็นเพลงที่มีอารมณ์ต่างกัน หรือมีความเร็วลักลั่นกันอย่างไรก็ได้ ขอแต่ให้บทร้องที่นำมาร้องนั้น ฟังได้เรื่องราวติดต่อกันเป็นชุดไปเป็นใช้ได้ โดยมากบทร้องเพลงตับเรื่องนี่ก็มักปรับปรุงมาจากบทละครตอนใดตอนหนึ่งนั่นเอง เช่น เพลงตับเรื่องรามเกียรติ์ ตอน “นางลอย” (สุรพล สุวรรณ, 2549) ส่วนพูนพิศ อมาตกุล (2529 : 71) ได้อธิบายไว้ว่า เพลงตับ คือเพลงหลาย ๆ เพลงที่มีจังหวะเหมือนกัน (จังหวะสามชั้นทุกเพลงหรือสองชั้นทุกเพลง) โดยนำเพลงเหล่านี้มาบรรเลงขับร้องต่อกันจนเป็นเรื่องราวขึ้นหรือกลายเป็นเพลงชุดตัวอย่าง เช่นชุดพระลอลงสวนก็เรียกว่า ตับพระลอลงสวน ซึ่งเป็นเพลง สองชั้นล้วน ๆ เพลงตับในอัตรา สองชั้นนี้มีทั้งขนาดสั้นและยาว บางตับใช้เวลาหลายชั่วโมงก็มี เพลงตับ สองชั้นยาว ๆ ได้แก่  ตับพรหมาสตร์ ตับนางลอย ในเรื่องรามเกียรติ์ ตับเรื่องกากี เป็นต้น เพลงตับ สองชั้นสั้น ๆ ได้แก่ ตับสมิงทอง ตับวิวาห์พระสมุทร ซึ่งมีเพียง 3 เพลงนำมาต่อกัน ถ้านำเพลงในอัตรา 3 ชั้นหลาย ๆ เพลงมาต่อกันก็เรียกว่า ตับเพลง สามชั้น เช่น ตับลมพัดชายเขา 3 ชั้น ตับต้นเพลงฉิ่ง 3 ชั้น เป็นต้น (พูนพิศ อมาตยกุล, 2529 : 71) ซึ่งอรวรรณ บรรจงศิลป์ และคณะ (2546 : 177-178) ได้ขยายความถึงความหมายของเพลงตับและประเภทของเพลงตับ ว่า เพลงตับ คือ เพลงชุดที่นำมาเพลงรับร้องหลาย ๆ เพลงมารวมกันประหนึ่งเอาใบจาก   หลาย ๆ ใบมารวมกันเข้าเป็นตับจาก ซึ่งอาจจะเป็นด้วยเหตุนี้จึงเรียกเพลงประเภทนี้ว่า เพลงตับ เพลงตับมี 2 ชนิดคือ ตับเรื่อง และตับเพลง

                      ตับเพลง เรียบเรียงขึ้นโดยนำเพลงหลาย ๆ เพลงที่เป็นประเภทเดียวกันมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาร้อยกรองกันเข้า เมื่อเล่นติดต่อกันไปแล้ว จะฟังดุจว่าเป็นเพลงยาว ทั้งนี้เพราะเพลงเหล่านั้นเข้ากันได้สนิท ส่วนเนื้อร้องไม่จำกัดว่าเป็นบทร้องเรื่องใด แม้นำมาจากละครคนละเรื่องก็ย่อมได้ ทั้งนี้เพราะถือเอาเพลงเป็นสำคัญยิ่งกว่าเนื้อร้องนั่นเอง

                      ตับเรื่อง มีลักษณะตรงข้ามคือ แม้จะมีเพลงหลายเพลงมาร้อยกรองกันเข้า แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเพลงประเภทเดียวกัน อาจเป็นเพลงที่มีอารมณืต่างกันหรือมีความเร็วลักลั่นกันอย่างไรก็ได้ ขอแต่ให้บทร้องที่นำมาร้องนั้นฟังเป้นเรื่องราวติดต่อกันไปเป็นชุด โดยมากบทร้องเพลงตับเรื่องนี้มักปรับปรุงมาจากบทละครในตอนใดตอนหนึ่ง เช่น เพลงตับเรื่องรามเกียรติ์ตอน นางลอย (อรวรรณ บรรจงศิลป์ และคณะ, 2546 : 177-178) ซึ่งกล่าวไปในทิศทางเดียวกันกับณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์ ว่า เพลงตับเป็นประเภทของเพลงที่รวมเรียงกันหลาย ๆ เพลงเป็นชุด จะเป็นเพลงประเภทอัตราจังหวะกี่ชั้นก็ได้ เพลงตับแบ่งเป็น 2 ชนิด คือตับเรื่อง คือเพลงตับที่เรียบเรียงขึ้นจากเพลงหลายเพลงโดยยึดเอาเนื้อร้องหรือบทร้องของเพลงเป็นสำคัญ ไม่ยึดถือทำนองเพลงเป็นหลัก เรื่องจึงดำเนินเป็นหลัก ฟังแล้วเข้าใจตลอด เช่นตับเรื่องกากี ตับเรื่องสามก๊ก ตับเรื่องนิทราชาคริต ตับเรื่องของดำดิน ตับเรื่องพระลอ ตับเรื่องนางซิลเดอร์เรลา เป็นต้น

                ตับเพลง คือเพลงตับที่เรียบเรียงขึ้นจากเพลงหลายเพลงโดยยึดเอาทำนองเพลงเป็นหลัก เพลงที่นำมาเรียบเรียงจะต้องอยู่ในอัตราจังหวะเดียวกัน จะต้องมีความเหมาะสมกลมกลืนกันทั้งในระดับเสียง ทางขึ้นลง สามารถบรรเลงสวมต่อกันอย่างสนิทสนม ฟังแล้วไม่ขัดหรือสะดุดทำนอง เนื้อร้องบทร้องไม่สำคัญจะเป็นเรื่องเดียวกันหรือคนละเรื่องก็ได้ เช่น ตับสมิงทอง ตับมอญกละ ตับลมพัดชายเขาตับสามลาว เป็นต้น ตัวอย่างการลำดับเพลงเข้าเป็นชุดเพลงตับ

              ตับจูล่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงพระนพนธ์และบรรจุเพลงโดยดำเนินเรื่องสามก๊ก ประกอบด้วยเพลงจีนขิมเล็ก จีนเสียผี และเพลงฮูหยิน

              ตับจีนโยธา มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตับขงเบ้ง เป็นเพลงตับที่ดำเนินเรื่องตามพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก มี 4 เพลงคือ เพลงจีนขิมเล็ก เพลงจีนไจ๋ยอ เพลงจีนโป้ยกังเหล็ง และเพลงจีนเก็บบุปผา (ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์, มปพ. : 85-86) สอดคล้องกับพงษ์ศิลป์ อรุณรัตน์ ความว่า เพลงตับคือการนำเอาเพลงจำนวนหลายๆเพลงตั้งแต่ 3 เพลงขึ้นไป มาบรรเลงต่อเนื่องกัน โดยมีการขับร้อง ประกอบไปด้วย เนื่องจากเพลงอัตรา สองชั้น มีความยาวไม่มาก ใช้เวลาในการบรรเลงไม่มาก ดังนั้นจึงมีการรวมเอาเพลงตั้งแต่ 3 เพลงขึ้นไปมาบรรเลงติดต่อกัน เพื่อเพิ่มอรรถรสในการฟังดนตรี สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ตับเรื่อง หมายถึงตับที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงโขนละคร โดยบทร้องต้องเป็นบทเดียวกัน และดำเนินไปตามลำดับเป็นเรื่องราว การเรียกชื่อของตับเรื่องนั้น จะเรียกตามบทหรือตามตอนของวรรณคดีที่นำมาร้อง เช่น ตับนางลอย คือ ตับเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนางลอย ตับเพลง หมายถึงเพลงตับที่มีเพลงในอัตราเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นเพลงในอัตรา 2 ชั้น ในสมัยอยุธยา เรียกว่า ตับมโหรี หรือ เพลงใหญ่ โดยจะคัดเลือกเพลงที่มีทำนองเพลงในบางวรรคเพลงคล้ายกันส่วนบทร้องไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ในตับเพลงตับหนึ่ง อาจใช้บทร้องจากวรรณคดีที่ต่างกันได้ ส่วนการเรียกชื่อตับเพลงนั้น จะเรียกชื่อตามเพลงในอันดับแรก เช่น มโหรีตับต้นเพลงฉิ่ง (พงษ์ศิลป์ อรุณรัตน์, 2554 : 147)

 

เอกสารอ้างอิง

ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์. (มปพ.). สังคีตนิยม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา.   

พงษ์ศิลป์ อรุณรัตน์. (2554). ปฐมบทดนตรีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. นครปฐม: โครงการตำราและหนังสือ
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. 

พูนพิศ อมาตยกุล. (2529). ดนตรีวิจักษ์ : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับดนตรีของไทยเพื่อความชื่นชม. 
พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: รักษ์สิปป์. 

สุรพล สุวรรณ. (2549). ดนตรีไทยในวัฒนธรรมไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 

อรวรรณ บรรจงศิลป และคณะ. (2546). ดุริยางคศิลป์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยศึกษา.