ดูหนังดูละคร สะท้อนจรรยาบรรณบรรณารักษ์ ในการอนุรักษ์สัญลักษณ์สำคัญของชุมชนอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษาจากภาพยนตร์เรื่อง Colors of Love

อารัมภบท

“บรรณารักษ์” หรือ “นักสารสนเทศ” เป็นหนึ่งในสัมมาอาชีวะที่บุคคลที่จบการศึกษาสาขาวิชาดังกล่าวสามารถนำมาใช้เลี้ยงชีพโดยชอบได้อย่างมั่นคงยั่งยืนเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ ทั่วไป โดยมีการจัดการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหลากหลายแห่งตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงระดับปริญญาเอก

บทบาทของบรรณารักษ์ที่ปรากฏในภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์อาจมีจำนวนไม่มากนักไม่ว่าจะเป็นบทสมทบหรือบทนำ หนึ่งในจำนวนนั้นคือเรื่อง Colors of Love เป็นภาพยนตร์ขนาดความยาวประมาณ 110 นาที (1.50 ชั่วโมง) เผยแพร่ทาง Netflix ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิงภาพยนตร์ ซีรีย์ และรายการบันเทิงรูปแบบต่างๆ ที่ต้องบอกรับเป็นสมาชิกผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

ดูหนังดูละคร

เนื้อเรื่องกล่าวถึง นางเอก (Taylor Harris รับทโดย Jessica Lowndes) เป็นบรรณารักษ์นักค้นคว้าวิจัย (Research Librarian) ที่ห้องสมุดแห่งหนึ่งในเมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอชิงตัน มีความเชี่ยวชาญในการศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี แต่เนื่องจากห้องสมุดดังกล่าวถูกตัดงบประมาณจากคณะกรรมการบริหารห้องสมุดของเมือง นางเอกจึงต้องออกจากงาน ระหว่างที่รองานใหม่พี่ชายของนางเอกได้ชวนไปพักผ่อนที่เมือง Forest Ridge ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในมลรัฐมอนทานา (ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่ติดกับมลรัฐวอชิงตันที่นางเอกทำงานอยู่)

ระหว่างที่นางเอกขับรถสู่มลรัฐมอนทานาเข้าสู่เมือง Forest Ridge ขณะนั้นเป็นฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูใบไม้เปลี่ยนสีราวกลางเดือนตุลาคม ต้นไม้จึงมีสีสันหลากหลายงดงาม (ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อเรื่อง Colors of Love) ด้วยสภาพถนนที่ลื่นจากน้ำค้างแข็งทำให้รถนางเอกเสียหลักไถลลงข้างทางไม่สามารถขับต่อไปได้จึงได้พบกับพระเอกที่บังเอิญขับรถผ่านมา พระเอกช่วยเหลือขับพานางเอกมาส่งที่บ้านพี่ชายและช่วยเรียกรถลากนำรถของนางเอกมาส่งถึงบ้านในเวลาต่อมา จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทั้งคู่ได้รู้จักกันและเกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน

ส่วนพระเอก (Joel Sheenan รับบทโดย Chad Michael Murray) พื้นเพเป็นชาวเมือง Forest Ridge เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาได้ไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย จบแล้วได้ทำงานในบริษัทด้านเทคโนโลยีในเมืองใหญ่ และในที่สุดก็สามารถสร้างตัวเป็นเจ้าของธุรกิจ Start Up ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) ของตนเองได้ เมื่อมีฐานะมั่งคั่งมั่นคงพระเอกจึงกลับมาซื้อกิจการโรงแรมกราฟฟ์ (Graff Hotel) ซึ่งเป็นโรงแรมเดียวในเมืองและมีอายุเก่าแก่กว่าหนึ่งร้อยปีเพื่อนำมาปรับปรุงให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับยุคศตวรรษที่ 21 โดยมีเจตนาดีที่จะสร้างความเจริญ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และยกระดับเศรษฐกิจให้บ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

ปมความขัดแย้งเกิดจากการที่คนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่ใคร่เห็นด้วยกับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโรงแรม ดังกล่าวแบบพลิกโฉมให้เป็นรีสอร์ตหรูหรา เนื่องจากมีความคุ้นชินกับสถาปัตยกรรมที่เป็นอัตลักษณ์แบบเดิม และมองว่าโรงแรมนี้เป็น “สัญลักษณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์” (Historical Landmark) ของเมือง โดยเฉพาะพี่ชายของนางเอกที่เป็นแกนนำในการคัดค้านดังกล่าว และนางเอกก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนแนวคิดคัดค้านนั้น โดยสภาเมืองเปิดโอกาสให้หาหลักฐานว่าหากโรงแรมดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนอนุรักษ์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมตามกฎหมายของรัฐ โดยให้เวลาหาหลักฐาน 1 สัปดาห์

นางเอกได้ใช้ทักษะความสามารถทางวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ในการเสาะแสวงหาและสืบค้นข้อมูล จนพบหลักฐานจดหมายและภาพถ่ายของประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ หรือ เท็ดดี้ (Theodore Roosevelt) ประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐอเมริกาพร้อมคณะผู้ติดตามและพนักงานโรงแรมถ่ายภาพร่วมกันหน้าโรงแรมกราฟฟ์ นำไปสู่การค้นหาข้อมูลในหอจดหมายเหตุที่มีบันทึกประจำวันของประธานาธิบดีเก็บไว้ ซึ่งมีข้อความชัดเจนว่าประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์เคยพักค้างที่โรงแรมดังกล่าว 3 คืนอันเนื่องมาจากในปีนั้นเกิดสภาพอากาศแปรปรวนผิดธรรมชาติ มีหิมะตกหนาราว 2–3 นิ้วในฤดูใบไม้ผลิทำให้ไม่สะดวกในการเดินทางเนื่องจากไม่ได้เตรียมการรับสภาพอากาศดังกล่าว คณะของประธานาธิบดีจึงพักค้างคืนที่โรงแรมซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในเมืองนั้นเพื่อรอให้สภาพอากาศเป็นปกติเสียก่อน จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างแรงบันดาลใจให้ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ ในเวลาต่อมาจึงมีการประกาศพระราชบัญญัติด้านการอนุรักษ์โบราณสถานต่อแต่นั้นเป็นต้นมา

ในที่สุด เมื่องค้นพบหลักฐานสำคัญที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์สำคัญได้ โรงแรมดังกล่าวก็ได้รับการอนุรักษ์ให้คงสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมไว้เป็น “สัญลักษณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์” (Historical Landmark) ของเมือง ไม่สามารถปรับโฉมให้เปลี่ยนไปเป็นรีสอร์ตหรูหราตามยุคสมัยได้ แต่บทสรุปดังกล่าวนี้ก็เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย แม้แต่ตัวพระเอกซึ่งเป็นผู้ซื้อกิจการก็ยินยอมพร้อมใจรับมติดังกล่าว เนื่องจากโดยเจตนาแล้วคือต้องการรักษามรดกตกทอดของเมืองไว้ในฐานะที่เป็นคนพื้นถิ่น ไม่ให้ตกเป็นของนายทุนจากถิ่นอื่นมาครอบครอง

สะท้อนจรรยาบรรณาบรรณารักษ์

จากบทบาทของนางเอกจะเห็นว่ามีความเชื่อมโยงกับจรรยาบรรณของบรรณารักษ์ที่สอดคล้องกับแนวทางการอนุรักษ์สัญลักษณ์สำคัญของชุมชนอย่างยั่งยืน ดังนี้

1. จรรยาบรรณต่อผู้ใช้

นางเอกเป็นผู้มีจรรยาบรรณต่อผู้ใช้บริการโดยการใช้วิชาชีพให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้อย่างเต็มความสามารถ โดยจะเห็นได้จากการทุ่มเทแสวงหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ติดต่อเครือข่ายเพื่อร่วมงานในเมืองใหญ่เพื่อค้นหาข้อมูลทั้งในรูปแบบของเอกสารจดหมายเหตุผสานกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย จึงสามารถค้นข้อมูลได้อย่างรวดเร็วทันเวลา

นอกจากนี้ในสถานการณ์ทั่วไปนางเอกก็ใช้ความรู้ความสามารถในการแนะนำหนังสือแก่ผู้ใช้บริการได้ เช่น การกล่าวถึงวรรณกรรมชิ้นเอกของโลกเรื่อง ความรักของ เจน แอร์ (Jane Eyre) ของ ชาร์ล็อตต์ บรอนเต และโรเมโอกับจูเลียต (Romeo and Juliet) ของวิลเลียม เชคสเปียร์ แสดงถึงการเป็นผู้ที่ “อ่านมาก” จึงทำให้ “รู้มาก” จนสามารถแนะนำผู้อื่นได้ รวมถึงการซื้อหนังสือนิทานให้หลานอ่านอันเป็นการสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กได้เป็นอย่างดี

2. จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ

นางเอกเป็นผู้หมั่นแสวงหาความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ มีความคล่องแคล่วในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการมีทักษะดิจิทัล รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเป็นบรรณารักษ์วิชาชีพเป็นอย่างมาก โดยมีพี่ชายเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมและเป็นแรงบันดาลใจให้พี่ชายอ่านหนังสือด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะต้องออกจากงานด้วยข้อจำกัดของงบประมาณก็ยังคงรอคอยที่จะทำงานบรรณารักษ์ต่อไป และท้ายที่สุดก็ได้กลับไปทำงานที่ตนเองรักเช่นเดิม

3. จรรยาบรรณต่อเพื่อนร่วมงาน

นางเอกเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์อันดียิ่งต่อเพื่อนร่วมงานและเพื่อร่วมวิชาชีพเห็นได้จากการเป็นที่รักของหัวหน้างาน แม้เมื่อต้องออกจากงานในเมืองใหญ่และไปพักผ่อนในเมืองเล็กกับครอบครัวพี่ชาย ขณะที่นางเอกไปใช้บริการในห้องสมุดประชาชนประจำเมือง นางเอกก็ได้ถูกบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนชักชวนให้มาทำงานนอกเวลา (Part time) แทนบรรณารักษ์คนเดิมที่ย้ายไปทำงานที่อื่น ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมวิชาชีพในอนาคตต่อไป

4. จรรยาบรรณต่อสถาบัน

นางเอกมีการวางตัวที่เหมาะสม โดยจะเห็นได้จากคำบอกเล่าของพี่ชายที่กล่าวถึงนางเอกว่าในสมัยที่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษาไม่เคยออกเดตหรือมีนัดกับเพื่อนชายเลยซึ่งแตกต่างจากเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ โดยนางเอกมักจะใช้เวลาว่างเข้าห้องสมุดมากกว่าการไปสนุกสนานเพลิดเพลินรูปแบบอื่น และด้วยความพิถีพิถันนี้จึงทำให้ยังไม่มีเพื่อนชายคนสนิท จนได้มาพบกับพระเอกซึ่งมี “ศีลเสมอกัน” คือเป็นคนชอบอ่านและสะสมหนังสือเช่นเดียวกัน ซึ่งพฤติกรรมส่วนตัวของนางเอกส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสถาบันโดยองค์รวม การวางตัวที่ดีของบุคลากรย่อมเสริมสร้างชื่อเสียงเกียรติภูมิที่ดีต่อสถาบันห้องสมุดที่ตนสังกัด

5. จรรยาบรรณต่อสังคม

นางเอกมีบุคลิกลักษณะของความเป็นผู้นำสังคมอย่างเข้มแข็งจากการที่อุทิศเวลาในการแสวงหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และนำเสนอข้อมูลอย่างถูกต้องแม่นยำน่าเชื่อถือ เพื่อช่วยธำรงรักษาโรงแรมที่เป็น “สัญลักษณ์สำคัญ” หนึ่งเดียวในเมือง เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมด้วยการใช้วิชาชีพโดยสุจริต จนสามารถผดุงรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพและความมั่งคงของชุมชนได้อย่างยั่งยืน

การอนุรักษ์สัญลักษณ์สำคัญของชุมชนอย่างยั่งยืน

การอนุรักษ์สัญลักษณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือ Historical Landmark มีความสำคัญและจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืนในแง่มุมต่างๆ ดังนี้

1. เชิงเศรษฐกิจ การที่ชุมชนมีสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญจะเกิดประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว เพราะจากอุปนิสัยโดยทั่วไปของนักท่องเที่ยวมักชอบสถานที่ที่มี “Gimmick” คือมีลูกเล่นหรือกลเม็ดเคล็ดลับที่แตกต่างจากที่อื่น การที่ชุมชนมีโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่าหนึ่งร้อยปี ย่อมเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจที่มีวงจรธุรกิจเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจโดยองค์รวมต่อไป

2. เชิงสังคม การอนุรักษ์สัญลักษณ์สำคัญของชุมชนสะท้อนถึงการมี “จิตสำนึกรักบ้านเกิด” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปทางสังคม ที่คนหนุ่มสาวมักออกจากบ้านเกิดเพื่อไปศึกษาเล่าเรียนและหางานทำในเมืองใหญ่ เมื่อประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วจึงย้อนกลับมาพัฒนาภูมิลำเนาเดิมที่ตนรักและผูกพันต่อไป

3. เชิงศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มนุษย์รังสรรค์ขึ้น มีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์แตกต่างกันออกไปตามถิ่นอาศัยและตามยุคสมัย เป็นสิ่งโดดเด่นที่เป็น “ภาพจำ” ให้แก่ผู้พบเห็น โดยเฉพาะหากมี “เรื่องราว” หรือ “เรื่องเล่า” (Story) ก็จะยิ่งเป็นจุดขายให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

4. เชิงประวัติศาสตร์ สถานที่ทุกแห่งล้วนมีประวัติศาสตร์ของตนเอง แต่หากประวัติศาสตร์นั้นเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญของชาติ ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสถานที่และเรื่องราวนั้น อนุชนรุ่นหลังจะได้เกิดความภาคภูมิใจและเต็มใจที่จะสืบสานจากรุ่นสู่รุ่นให้ยืนนานต่อไป

บทสรุป

ภาพยนตร์เรื่อง Colors of Love (สีสันแห่งรัก) ใช้ฉากของฤดูใบไม้เปลี่ยนสีจึงมีสีสันที่สดใสสวยงามตลอดทั้งเรื่อง โดยได้เชื่อมโยงเหตุการณ์สำคัญเข้ากับฤดูกาลที่ไม่ปกติทั้งในอดีตและปัจจุบัน เป็นมุมมองของการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ในวิกฤติ (ของอากาศ) ทำให้เกิดโอกาสถึง 2 ครั้ง 2 ครา ในอดีตอากาศที่วิกฤติทำให้ประธานาธิบดีต้องติดอยู่ในโรงแรมทำให้โรงแรมในอีกกว่าหนึ่งร้อยปีต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญ (Landmark) ของเมือง ส่วนในปัจจุบัน วิกฤติของอากาศทำให้ถนนลื่นจึงทำให้พระเอกและนางเอกมีโอกาสได้พบกันและสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับปมความย้อนแย้งที่ปรากฏในเรื่องระหว่างมุมมองของนักเทคโนโลยีที่ทันสมัยกับนักอนุรักษ์ ในประเด็นของการปรับตัวสู่ยุคโลกาภิวัตน์กับการอนุรักษ์ยุคอดีตโดยมีวาทกรรมสำคัญคือแม้ว่าประวัติศาสตร์จะมีความสำคัญยิ่งแต่ก็ไม่ควรนำอดีตมาฉุดรั้งความก้าวหน้าในอนาคต โลกควรดำเนินไปตามพลวัตของยุคศตวรรษที่ 21 แต่ท้ายที่สุดความประนีประนอมด้วยหลักเหตุและผล ผนวกกับการมีจุดร่วมในความต้องการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกันจึงนำมาซึ่งความสงบสุขในชุมชน

รายการอ้างอิง

สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. (2552). จรรยาบรรณบรรณารักษ์ พุทธศักราช 2552. สืบค้นจาก https://www.tla.or.th/index.php/th/1/ethics

Agrawal, S. (2021). ‘Colors Of Love’ Summary & Review-Much Predictable, Less Emotional . Digital Mafia Talkies. Retrieved from: https://dmtalkies.com/colors-of-love-summary-review-2021-film/

Anselmo, D. (Producer), & Walsh, B. (Director). (2021). Colors of Love [Motion picture]. United States of America: Netflix.