จะเข้ : การเตรียมความพร้อมก่อนการปฏิบัติ(1)

จะเข้ : การเตรียมความพร้อมก่อนการปฏิบัติ(1)

            การปฏิบัติจะเข้มีเทคนิควิธีที่ผู้บรรเลงจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในหลักทฤษฎี  โดยต้องคำนึงถึงการเตรียมความพร้อมก่อนการปฏิบัติจะเข้ในเรื่องต่างๆ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติเทคนิควิธีต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยความอดทน พากเพียรในการฝึกซ้อม เพื่อให้สามารถปฏิบัติจะเข้ให้เกิดความชำนาญ และเกิดรสมือที่ไพเราะ

การเตรียมความพร้อมก่อนการปฏิบัติจะเข้

            การปฏิบัติจะเข้ผู้บรรเลงจำเป็นที่จะต้องอาศัยความอดทน พากเพียรในการฝึกซ้อมเพื่อให้สามารถปฏิบัติจะเข้ได้อย่างไพเราะ โดยผู้บรรเลงจะต้องเรียนรู้ถึงเทคนิควิธีต่างๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติทำนองเพลงต่างๆ ได้  ซึ่งการเตรียมความพร้อมก่อนการปฏิบัติจะเข้ จะต้องพิจารณาถึงรายละเอียดในส่วนต่างๆ ได้แก่ การวางจะเข้ การสำรวจความพร้อมของจะเข้ ท่านั่ง การพันไม้ดีดและการใช้ไม้ดีด ท่าจับจะเข้ และการเทียบเสียง ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึง การวางจะเข้ การสำรวจ
ความพร้อมของจะเข้ ท่านั่ง การพันไม้ดีดและการใช้ไม้ดีด

            1.    การวางจะเข้

              1.1 ควรเลือกพื้นที่ที่จะวางจะเข้ให้เหมาะสม โดยเป็นพื้นเรียบไม่เอียง ไม่ลื่น และไม่ปูวัสดุ
ที่เป็นอุปสรรคต่อคุณภาพเสียงและการปฏิบัติ

              1.2   ส่วนหัวซึ่งเป็นส่วนที่เรียกว่ากระพุ้ง(กล่องเสียง) จะอยู่ทางด้านขวามือของผู้บรรเลง

            2.    การสำรวจความพร้อมของจะเข้

              2.1       จะเข้ไม่โคลงเคลง และไม่โยก ขาต้องไม่หลวมและต้องมีครบ 5 ขา ถ้าเป็นขาที่ไม่ได้ฝังไว้กับตัวจะเข้ แต่เป็นขาที่ขันด้วยน็อตหรือสกรู ต้องทดสอบดูว่าขาแน่นหรือไม่ และต้องทดสอบเสียง เพราะถ้าน็อตหรือสกรูหลวมเสียงจะผิดปกติได้

              2.2       จะเข้ต้องไม่ร้าวหรือแตก

              2.3       ลูกบิดอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่แตก ไม่ร้าว ไม่หลวมและมีขนาดพอเหมาะกับรูลูกบิด

              2.4       มีสายครบ 3 สาย แต่ละสายอยู่ถูกตำแหน่ง สายเอก สายทุ้ม(สายกลาง) และสายลวด โดยเรียงจากด้านนอกเข้าหาตัวผู้บรรเลง เมื่อวางจะเข้ถูกตำแหน่งที่จะบรรเลงสายเอกพันกับลูกบิดด้านนอกใกล้กับหย่อง สายทุ้มพันกับลูกบิดด้านนอกอันที่เหลือ และสายลวดพันกันลูกบิดด้านในใกล้ตัวผู้บรรเลง

      การใส่สายจะเข้มี 2 ลักษณะ ดังนี้

                      2.4.1    การใส่สายที่เป็นขดหรือกลุ่ม ต้องเริ่มต้นใส่จากทางลูกบิดขึ้นมาหาหลัก  เริ่มต้นด้วยการร้อยปลายสายเข้ารูที่ลูกบิดลอดและพาดสายผ่านร่องบนหย่องให้ถูกต้องตามตำแหน่งของสายแล้วพาดสายบนแหนที่อยู่บนโต๊ะไปผูกไว้ที่หลักด้วยเงื่อนผูกซุง (ถ้าใส่สายไหม) ถ้าใช้สายเอ็นต้องผูกสายก่อนแล้วพันคล้องต่อไปอีกอย่างน้อย 3 รอบ ก่อนดึงให้เงื่อนแน่น หรือจะผูกวิธีอื่นให้เงื่อนแน่นก็ได้ จับขดหรือกลุ่มสายไขว้ 2 รอบ แล้วบิดลูกบิดลงในลักษณะคว่ำมือเข้าหาตัว (กรณีใช้มือซ้าย) จนทดสอบได้ระดับเสียงแขวนขดที่เหลือไว้ที่ลูกบิดซึ่งมักจะอ้อมไปแขวนไว้ที่ลูกบิดของสายลวดเพื่อความเรียบร้อยไม่รุงรัง

                      2.4.2    การใส่สายที่มีความเฉพาะตัวจะเข้ สามารถใส่ได้ 2 แบบ คือ จะเริ่มใส่ทางลูกบิด ตามวิธีที่ 1 หรือเริ่มต้นด้วยการผูกปลายสายข้างหนึ่งกับหลักด้วยเงื่อนผูกซุง พาดสายบนโต๊ะผ่านนม ลอด และพาดร่องบนหย่องผ่านลงไปในลางไหม ร้อยสายเข้ารูที่ลูกบิด ดึงสายจนตึงก่อนหมุนลูกบิดลงในลักษณะคว่ำมือเข้าหาตัว (กรณีใช้มือซ้าย) จัดให้สายพาดอยู่บนลูกบิดแล้วพันทับสายที่พาดอยู่นั้น

            3.    ท่านั่ง

           การหัดจะเข้ในเบื้องต้นต้องจัดท่านั่งให้ดีเสียก่อน ลักษณะการนั่งจะนั่งพับเพียบขวาหลังตรง มือขวาวางทางขวา ลักษณะเตรียมดีด มือซ้ายเกาะทางซ้ายใกล้กับหย่องจะเข้(นิภา อภัยวงศ์. 2542 : 40)

           ท่านั่งในการดีดจะเข้ ผู้บรรเลงต้องนั่งพับเพียบขาชิดกัน หัวเข่าของขาขวาอยู่ที่มุมรอยต่อตรงหัวจะเข้พอดี ผู้บรรเลงนั่งตัวตรงไม่ก้มหน้า ลำตัวเฉียงไปทางหางจะเข้เพียงเล็กน้อย ส่วนมือขวาที่จับไม้ดีดนั้นให้วางไว้ที่หัวจะเข้ตรงกลางระหว่างนมที่ 11 กับโต๊ะ ผู้บรรเลงควรวางมือค่อนมาทางนมจะเข้ที่ 11 เล็กน้อย แขนและลำตัวอยู่ในท่าที่สบายไม่เหยียดเกร็งจนเกินไป  ตำแหน่งในการกดนิ้วของมือซ้ายนั้น
            ผู้บรรเลงจะเข้ต้องกดนมจะเข้แล้วจึงใช้มือขวาดีด นิ้วมือซ้ายจะอยู่ในลักษณะหย่งนิ้วไม่เหยียดนิ้วตรงใช้ปลายนิ้วกดที่ด้านซ้ายของสาบนมในตำแหน่งที่ชิดกับนมจะเข้ ส่วนนิ้วหัวแม่มือเกาะไปที่ขอบจะเข้อยู่ในลักษณะที่สวยงาม เป็นจุดยันให้มืออยู่ในลักษณะที่เหมาะสม(ขำคม พรประสิทธิ์. 2548 : 10 – 11)

            4.    การพันไม้ดีดและการใช้ไม้ดีด

            การพันและการจับไม้ดีด ต้องพันไม้ดีดแน่น โดยนำไม้ดีดมาวางบนนิ้วชี้ข้างขวาในตำแหน่งระหว่างข้อนิ้วที่หนึ่งกับข้อนิ้วที่สอง ให้ไม้ดีดตั้งฉากกับนิ้วชี้ ใช้นิ้วกลางและนิ้วหัวแม่มือยึดส่วนโคนและปลายไม้ดีด โดยไม้ดีดวางอยู่บนหลังนิ้วชี้ จากนั้นดึงเชือกขึ้นกันไขว้บนล่างสลับซ้ายขวา โดยเชือกจะไขว้เป็นกากบาททับกันประมาณสองรอบจึงผูกเงื่อนรัดด้านบน เวลาดีดใช้นิ้วหัวแม่มือกดที่ปลายไม้ดีด โดยที่ให้นิ้วหัวแม่มือขนานกับนิ้วชี้ การจับไม้ดีดจึงใช้เพียงสองนิ้ว คือ นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือเท่านั้น ส่วนที่เหลือให้ยึดขนานกับนิ้วชี้ เพื่อความสวยงามและเพื่อรับน้ำหนักจากนิ้วชี้บ้าง(นิภา  อภัยวงศ์. 2542 : 40)

            การพันเชือกไม้ดีดจะเข้ เมื่อพันแล้วและคว่ำมือขนานกับพื้น ไม้ดีดจะตะแคงทำมุมประมาณ45 องศากับแนวราบ เมื่อใช้นิ้วหัวแม่มือกดปลายไม้ดีดนิ้วชี้จะบิดตามแรงกด หากพันเชือกแน่นหรือหลวมมากเกินไปส่งผลให้ดีดจะเข้ได้ไม่ดี หรือหากพันไม้ไม่ได้มุมที่ถูกต้องกับนิ้วชี้มือขวาหรือพันไม่แน่นพอ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการดีดอย่างมาก

            ลักษณะการพันไม้ดีดจะเข้ที่ดี ผู้บรรเลงต้องวางไม้ดีดที่นิ้วชี้มือขวาระหว่างข้อนิ้วที่ 1 และข้อนิ้วที่ 2 โดยปลายไม้ดีดชี้ลงด้านล่าง จากนั้นพันเชือกไขว้สลับกัน 2 รอบ และพันคาดคอไม้ดีดอีกประมาณ 1-2 รอบและใช้ปลายเชือกขมวดเป็นวงกลมคล้องไปที่หัวของไม้ดีด ดึงเชือกให้กระชับขึ้น เมื่อพันไม้ดีดเรียบร้อบแล้ว ให้คว่ำมือขนานกับพื้น ไม้ดีดจะตะแคงทำมุมประมาณ 45 องศา(ขำคม พรประสิทธิ์. 2548 : 6 – 7)

           การดีดจะเข้ จะต้องใช้ทั้งข้อมือและแขนประกอบกัน ในส่วนของข้อมือการฝึกขั้นแรกอาจใช้วิธีการโบกมือไปมาคล้ายกับการโบกมือลาจากกัน เพื่อให้เข้าใจและคุ้นเคยกับการสะบัดข้อมือในการดีดจะเข้ ส่วนมือซ้ายวางลงในตำแหน่งที่พร้อมจะใช้นิ้วในการกดในตำแหน่งต่างๆ บนนมจะเข้ตามทำนองเพลง การลงไม้ดีด ปักไม้ดีดลงให้ได้ฉาก ใช้นิ้วหัวแม่มือดันปลายไม้ดีด โดยการปัดไม้ดีดออกเรียกว่า “ไม้ดีดออก” การปัดไม้ดีดเข้า เรียกว่า “ไม้ดีดเข้า” ฝึกหัดดีดสายเอกสายเดียวเฉพาะสายเปล่า ดีดไม้ดีดออกเข้าสลับกันไป ประกอบกับการสะบัดข้อมือให้เกิดความชำนาญและได้เสียงที่ใสไม่บอด การดีดไม้เข้าไม้ออกในจังหวะ
ที่สม่ำเสมอ เรียกว่า “การดีดเดินทำนอง” การดีดในแต่ละวรรคตอนของเพลงมีจำนวนครั้งเป็นได้ ทั้งจำนวนคู่และจำนวนคี่ หากจำนวนครั้งเป็นคู่ต้องเริ่มด้วยการใช้ไม้ดีดออก หากจำนวนครั้งเป็นคี่ให้เริ่มด้วยการใช้ไม้ดีดเข้า ไม้ดีดของการเล่นจะจบด้วยไม้ดีดเข้าเสมอ (นิภา  อภัยวงศ์. 2542 : 42)

 

เอกสารอ้างอิง

ขำคม พรประสิทธิ์. (2546). การผูกกลอนเพลงของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายของไทย ใน ที่ระลึกงานส่งเสริมดนตรีไทยภาคใต้ ครั้งที่ 16. สงขลา : มหาวิทยาลัยทักษิณ.

ขำคม พรประสิทธิ์. (2548). การดีดจะเข้เบื้องต้น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ขำคม พรประสิทธิ์. (ม.ป.ป.). เอกสารคำสอน เรื่อง การดำเนินทำนองของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายไทย รายวิชาทักษะดุริยางค์ไทย 3 วิชาเอกเครื่องสายไทย รหัสวิชา 3503-242. กรุงเทพฯ : ภาควิชาดุริยางคศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นิภา  อภัยวงศ์. (2542).  นิภา อภัยวงศ์ ในงานเสด็จพระราชดำเนิน พรราชทานเพลิงศพครูนิภา อภัยวงศ์. กรุงเทพฯ : ศิลปสนองการพิมพ์.

ปาหนัน คำฝอย. (2553). การพัฒนาระบบบันทึกโน้ตเพลงไทยเดิมสู่มาตรฐานสากล. ปริญญานิพนธ์ ปร.ด.(วัฒนธรรมศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

พงษ์ศิลป์ อรุณรัตน์. (2543). ประวัติการบันทึกโน้ตเพลงในดนตรีไทย ใน วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร. 19-20(1) : 182 – 215.

พิภัช สอนใย. (2553). การบรรเลงจะเข้. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.