จรรยาบรรณวิชาชีพครู

จรรยาบรรณวิชาชีพครู

รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์วัฒน์ มิ่งมิตร

กลุ่มวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์

           วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง มีวิถีทางแห่งปัญญาในการบริการ มีเสรีภาพทางวิชาการ และได้รับการยกย่องจากสังคมทั่วไป เช่นเดียวกับวิชาชีพชั้นสูงอื่น ๆ เช่น แพทย์ วิศวกร ทนายความ สถาปนิก วิชาชีพเหล่านี้ต่างมีจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพนั้น ๆ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ และเป็นการสร้างความเชื่อถือให้เกิดในวิชาชีพ และมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ สร้างความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ และยกระดับวิชาชีพของตนให้เป็นที่ยอมรับในสังคม จรรยาบรรณในวิชาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการจำแนกอาชีพว่า ครูเป็นวิชาชีพ การกำหนดมาตรฐานของความประพฤติของผู้อยู่ในวงการวิชาชีพครูซึ่งเรียกว่า “จรรยาบรรณ” เพื่อให้สมาชิกในวิชาชีพครูดำเนินชีวิตตามหลักมาตรฐานที่กำหนดไว้ในจรรยาบรรณวิชาชีพ จรรยาบรรณวิชาชีพครูของประเทศไทย ได้ถูกกำหนดขึ้นโดยคุรุสภา ซึ่งเป็นองค์การวิชาชีพ และการกำหนดจรรยาบรรณดังกล่าวได้ผ่านการศึกษาค้นคว้าทั้งในรูปของการวิจัย การศึกษาเอกสาร การประชุมสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการและอื่น ๆ เพื่อประมวลข้อมูลกำหนดเป็น “จรรยาบรรณวิชาชีพครู” โดยทั่วไป คือ แนวความประพฤติปฏิบัติที่มีต่อตนเอง วิชาชีพ ผู้รับบริการ ผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ และสังคม

ความหมายและความสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพครู

จรรยาบรรณ เป็นคำสมาสระหว่าง “จรรยา” มีความหมายเช่นเดียวกับ “จริยา” หมายถึงความประพฤติหรือกิริยาที่ควรปฏิบัติ สิ่งที่พึงปฏิบัติ หรือสิ่งที่ต้องปฏิบัติในวงการวิชาชีพขั้นต่าง ๆ นิยมใช้คำว่า “จรรยา” แปลว่า จริยาที่ควรปฏิบัติในหมู่คณะ ส่วนคำว่า “บรรณ” แปลว่า “เอกสารหรือหนังสือ” เมื่อรวมคำ 2 คำนี้เข้าด้วยกันเป็นคำใหม่ว่า “จรรยาบรรณ” จึงมีความหมายว่า ความประพฤติที่ผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ กำหนดขึ้นเพื่อรักษาชื่อเสียงเกียรติคุณของวิชาชีพนั้น ๆ โดยบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

1. ความหมายของจรรยาบรรณ และจรรยาบรรณวิชาชีพครู

     พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ (2554 : 1) ได้นิยามความหมายของ “จรรยา” ไว้ว่าเป็นคำนาม คือ ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติในหมู่คณะ เป็นคำที่นิยมใช้ในทางที่ดี เช่น จรรยาบรรณแพทย์ ส่วนคำว่า “จรรยาบรรณ” หมายถึง ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

     กัลยาณี สูงสมบัติ (2550 : 1) กล่าวว่า จรรยาบรรณ คือ กรอบหรือแนวทางในการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามของการประกอบอาชีพในสาขาต่าง ๆ หรือรูปแบบในการดำรงตนของคนในกลุ่ม สังคม หมู่คณะ หรือองค์กรต่าง ๆ ซึ่งนอกเหนือจากการแสดงออกในแนวทางที่ถูกต้องที่สังคมยอมรับแล้ว การมีจิตสำนักที่ดี มีจิตใจงาม มีความเมตตา โอบอ้อมอารี ซื่อสัตย์สุจริต เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ประกอบสัมมาอาชีพ หรือการดำรงตนที่จะส่งผลต่อชื่อเสียง เกียรติยศ และความมีคุณธรรมของแต่ละบุคคล หรือผู้ประกอบการหรือกลุ่มสังคมนั้น ๆ ที่สามารถจะมองเห็นเป็นรูปธรรมได้

     ศูนย์การศึกษานอกระบบโรงเรียนจังหวัดลำพูน (2554 : 1) กล่าวว่า จรรยาบรรณ หมายถึง มาตรฐานในการตัดสินใจที่จะประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ที่แต่ละคนในสังคมต้องรับผิดชอบ ซึ่งมาตรฐานนั้นอาจจะได้มาจากระเบียบ ข้อบังคับ ค่านิยมของสังคม จารีตประเพณี ขนบธรรมเนียม รวมทั้งจากการศึกษาและประสบการณ์การเรียนรู้

     ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (2557 : 1) ให้ความหมายของจรรยาบรรณ คือ หลักความประพฤติปฏิบัติอันเหมาะสมแสดงถึงคุณธรรมและจริยธรรมที่พึงปฏิบัติในการประกอบวิชาชีพที่บุคคลในแต่ละวิชาชีพได้ประมวลขึ้นเป็นหลัก เพื่อให้สมาชิกในสาขาวิชาชีพนั้น ๆ ยึดถือปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นถึงจริยธรรมปลูกฝัง และเสริมสร้างให้สมาชิกมีจิตสำนึกบังเกิดขึ้นในตนเองเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร และมุ่งหวังให้สมาชิกได้ยึดถือ เพื่อรักษาชื่อเสียงและส่งเสริมเกียรติคุณของสมาชิก และสาขาวิชาชีพของตน

     จากการศึกษาความหมายของจรรยาบรรณ จากนานาทัศนะได้ข้อสรุปว่า จรรยาบรรณ หมายถึง ข้อกำหนดแห่งความประพฤติสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่เป็นศาสตร์ชั้นสูงอันมีองค์กรหรือสมาคมรองรับ และผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องประพฤติปฏิบัติตามจรรยาบรรณที่วิชาชีพนั้น ๆ ได้กำหนดไว้ เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และฐานะของสมาชิกในองค์กรนั้น

2. ความหมายของจรรยาบรรณวิชาชีพครู

     ยนต์ ชุ่มจิต (2541 : 197) กล่าวว่า จรรยาบรรณของครู หมายถึง ประมวลความประพฤติ หรือกิริยาอาการที่ผู้ประกอบวิชาชีพครูควรปฏิบัติ เพื่อรักษาส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และฐานะ ของความเป็นครู

     อดิศร ก้อนคำ (2551 : 1) จรรยาบรรณวิชาชีพครู หมายถึง ประมวลพฤติกรรมที่กำหนด ลักษณะมาตรฐานการกระทำของครู อันจะทำให้วิชาชีพครูก้าวหน้าอย่างถาวร โดยที่ครูจะต้องดำเนินการเรียนการสอนโดยการยึดจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ ต่อผู้เรียน และต่อตนเอง ในการทำหน้าที่ของครูให้สมบูรณ์

     สุเทพ ธรรมะตระกูล (2555 : 9) สรุปความหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพครู เป็นแนวทางหรือข้อกำหนดที่ครูพึงปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วยจรรยาบรรณต่อตนเอง ต่อวิชาชีพ ต่อผู้รับบริการ ต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ และต่อสังคม

     ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2556 กำหนดความหมายของจรรยาบรรณของวิชาชีพ หมายความว่า มาตรฐานการปฏิบัติตนที่กำหนดขึ้นเป็นแบบแผนในการประพฤติตน ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องปฏิบัติตาม เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียง และฐานะของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ผู้รับบริการและสังคม อันจะนำมาซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ (ราชกิจจานุเบกษา, 2556)

     พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ (2557 : 1) ให้ความหมายของ จรรยาบรรณวิชาชีพครู คือ กฎแห่งความประพฤติสำหรับสมาชิกวิชาชีพครู ซึ่งองค์กรวิชาชีพครูเป็นผู้กำหนด และสมาชิกในวิชาชีพทุกคนต้องถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด หากมีการละเมิดจะมีการลงโทษ สรุป จรรยาบรรณวิชาชีพครู หมายถึง กฎแห่งความประพฤติที่องค์กรวิชาชีพครูกำหนดขึ้น ให้ครูประพฤติปฏิบัติตามในแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และฐานะของสมาชิกครู

3. ความสำคัญของจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพครู

     รัตนวดี โชติกพนิช (2550 : 1) จรรยาบรรณมีความสำคัญดังนี้

     1) ช่วยควบคุมมาตรฐาน รับประกันคุณภาพที่ถูกต้องในการประกอบอาชีพ ในการผลิตและการค้า

     2) ช่วยควบคุมจริยธรรมของผู้ประกอบอาชีพ

     3) ช่วยส่งเสริมมาตรฐาน คุณภาพและปริมาณที่ดี มีคุณค่าและเผยแพร่ให้รู้จักเป็นที่นิยมเชื่อถือ

     4) ช่วยส่งเสริมจริยธรรมของผู้ประกอบอาชีพ

     5) ช่วยลดปัญหาอาชญากรรม ลดปัญหาการคดโกง เอารัดเอาเปรียบ เห็นแก่ตัวและแก่ได้

     6) ช่วยเน้นให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในภาพพจน์ที่ดีของผู้มีจริยธรรม

     7) ช่วยทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิตามกฎหมายสำหรับผู้ประกอบอาชีพให้เป็นไปถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม

     พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ (2557 : 1) จรรยาบรรณวิชาชีพครู มีความสำคัญต่อวิชาชีพครูเช่นเดียวกับที่จรรยาบรรณวิชาชีพ มีความสำคัญต่อวิชาชีพอื่น ๆ ซึ่งสรุปได้ 3 ประการ คือ

     1) ปกป้องการปฏิบัติงานของสมาชิกในวิชาชีพ

     2) รักษามาตรฐานวิชาชีพ

     3) พัฒนาวิชาชีพ

     จากการศึกษาความสำคัญของจรรยาบรรณครูที่กล่าวมาข้างต้น สามารถได้ข้อสรุปว่า จรรยาบรรณครูมีความสำคัญต่อผู้ประกอบวิชาชีพครู ดังนี้

     1) ช่วยควบคุมมาตรฐานคุณภาพของครูให้ครูมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทั้งด้านการประพฤติปฏิบัติตนและจริยธรรมของครู

     2) ช่วยส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพและปริมาณที่ดีมีคุณค่าสู่สังคม ทำให้ครูได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากผู้พบเห็น

     3) ช่วยพิทักษ์สิทธิในการประกอบวิชาชีพครูและควบคุมมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ

     4) ช่วยลดปัญหาความประพฤติปฏิบัติของครูที่ไม่เหมาะสมไม่สมควร ผิดหลักศีลธรรมคุณธรรม เช่น ความประพฤติผิดทางเพศ การทำร้ายร่างกายเด็ก การเอารัดเอาเปรียบเด็ก

     5) ช่วยเน้นภาพลักษณ์ของครูที่มีคุณธรรมจริยธรรมให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้น เช่น ความรัก ความเมตตา ความเสียสละ อุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความรับผิดชอบในหน้าที่การงานและอาชีพความโอบอ้อมอารี

     6) ช่วยรักษาชื่อเสียง เกียรติยศ และศักดิ์ศรีของผู้อยู่ในวงการวิชาชีพ

     7) ช่วยให้ครูได้ตระหนักรู้ในความสำคัญของบทบาทหน้าที่ และภาระงานของตนต่อสังคม

     8) ช่วยปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์และการประพฤติปฏิบัติตนของครูให้ถูกต้องตามครรลองครองธรรม

ความเป็นมาของจรรยาบรรณครูไทย

อาชีพทุกสาขาต้องมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของตนกำหนดไว้ เช่นเดียวกับอาชีพครู แต่ในสมัยโบราณอาชีพครูไทยยังไม่มีจรรยาบรรณเป็นลายลักษณ์อักษร ครูไทยจะยึดถือเอาแนวคำสอนตามพระพุทธศาสนาเป็นหลักปฏิบัติต่อ ๆ มา จนกระทั่งใน พ.ศ. 2506 ม.ล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภาในสมัยนั้น ได้ออกระเบียบจรรยาบรรณสำหรับครูไทยขึ้นมา 2 ฉบับพร้อมกันเป็นครั้งแรกและยกเลิกไป

1. จรรยาบรรณครู พ.ศ. 2506 (ฉบับที่ 1)

     ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยวินัยตามระเบียบประเพณีของครู มีสาระสำคัญดังนี้

     1.1 ครูต้องสนับสนุนและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลด้วยความบริสุทธิ์ใจ

     1.2 ครูต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของครูให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ ระมัดระวัง รักษา ประโยชน์ของสถานศึกษา

     1.3 ครูต้องสุภาพเรียบร้อย เชื่อฟัง และไม่แสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วย กฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษาในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ห้ามมิให้กระทำข้าม ผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปเป็นผู้สั่งให้กระทำ หรือได้รับอนุญาต เป็นพิเศษชั่วครั้งชั่วคราว

     1.4 ครูต้องอุทิศเวลาของตนให้สถานศึกษา จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานมิได้

     1.5 ครูต้องประพฤติตนอยู่ในความสุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม

     1.6 ครูต้องรักษาชื่อเสียงของครูมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามมิให้ประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์และชื่อเสียงของครู เช่น ประพฤติตนเป็นคนเสเพล เสพเครื่องดองของเมาจนไม่อาจครองสติได้ มีหนี้สินรุงรัง หมกมุ่นในการพนัน กระทำผิดอาญา ประพฤติผิดในทางประเวณีต่อบุคคลหรือคู่สมรสของผู้อื่น กระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำอื่นใด อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ของตน

     1.7 ครูต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ และไม่ดูหมิ่นเหยียดหยาม

     1.8 ครูต้องถือและปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมของสถานศึกษา

     1.9 ครูต้องรักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหน้าที่ การงาน 1.10 ครูต้องรักษาความลับของศิษย์ ผู้ร่วมงาน และสถานศึกษา

2. จรรยาบรรณครู พ.ศ. 2506 (ฉบับที่ 2)

     ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยามารยาทตามระเบียบประเพณีของครู พ.ศ. 2506 (ฉบับที่ 2) มีสาระสำคัญดังนี้

     2.1 ครูควรมีศรัทธาในอาชีพครูและให้เกียรติแก่ครูด้วยกัน

     2.2 ครูควรบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู

     2.3 ครูใฝ่ใจศึกษาหาความรู้ความชำนาญอยู่เสมอ

     2.4 ครูตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ

     2.5 ครูควรร่วมมือกับผู้ปกครองในการอบรมสั่งสอนเด็กอย่างใกล้ชิด

     2.6 ครูควรรู้จักเสียสละและรับผิดชอบในหน้าที่การงานทั้งปวง

     2.7 ครูควรรักษาชื่อเสียงของคณะครู

     2.8 ครูควรรู้จักมัธยัสถ์และพยายามสร้างฐานะของตนเอง

     2.9 ครูควรยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ และไม่ลบหลู่ศาสนาอื่น

     2.10 ครูควรบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม

     ต่อมาจรรยาบรรณทั้ง 2 ฉบับนี้ได้ถูกยกเลิก เนื่องจากจรรยาบรรณ พ.ศ. 2506 นี้มิได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ คุรุสภาเกรงว่าครูอาจารย์จะเกิดความสับสนในทางปฏิบัติ ดังนั้น คุรุสภาจึงได้ปรับปรุงจรรยาบรรณครูขึ้นใหม่และประกาศใช้ใน พ.ศ. 2526 จรรยาบรรณฉบับนี้ได้ใช้ติดต่อกันมาถึง 12 ปี ประกอบกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนความ เจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จึงมีมติให้แก้ไขปรับปรุงจรรยาบรรณครูเพื่อกำหนดระเบียบว่าด้วยจรรยามารยาทและวินัย เพื่อให้ครูยึดถือเป็นแนวปฏิบัติและประพฤติตนสืบไป

3. จรรยาบรรณครู พ.ศ. 2526

     จรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู ของคุรุสภา พ.ศ. 2526 มีสาระสำคัญดังนี้ (คุรุสภา, 2526)

     3.1 เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

     3.2 ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น

     3.3 ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งทอดทิ้งหน้าที่การงานมิได้

     3.4 รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู

     3.5 ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา

     3.6 ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษยชาติ

     3.7 ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการโดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน

     3.8 ประพฤติอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรม ไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

     3.9 สุภาพเรียบร้อย ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงาน และของสถานศึกษา

     3.10 รักษาความสามัคคีระหว่างครู และช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน

     ดังนั้น ผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นครูจึงควรศึกษาจรรยาบรรณของครูให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ในแต่ละข้อ เพื่อจะได้ปฏิบัติตาม นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ เป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพยกย่องตามที่สังคมคาดหวังไว้

     จากการศึกษาความเป็นมาของจรรยาบรรณครูไทย ผู้เขียนได้ข้อสรุปว่า จรรยาบรรณครูมาจาก 4 องค์ประกอบหลัก ดังนี้

     1) อุดมการณ์ครูซึ่งจัดได้ว่าเป็นหัวใจของความเป็นครู ได้แก่ ความรักความศรัทธาในวิชาชีพ อุทิศตน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

     2) เอกลักษณ์ของครู หมายถึง ลักษณะเฉพาะของครูหรือคุณสมบัติของครู ได้แก่ อดทน รู้จักผ่อนปรนต่อปัญหา สามารถควบคุมอารมณ์ได้ตลอดเวลา รับผิดชอบต่อหน้าที่และต่อตนเอง

     3) การปฏิบัติตนของครู คือ สิ่งที่ครูต้องถือปฏิบัติ ได้แก่ การรักษาความสามัคคี รักษาชื่อเสียงของหมู่คณะ และสถานศึกษาที่สังกัดอยู่

     4) จรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู ได้แก่ การเลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ด้วยใจบริสุทธิ์ ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น ตั้งใจสั่งสอน อุทิศเวลาให้แก่ศิษย์ ไม่ละทิ้งหน้าที่การงาน รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติ และปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา

4. จรรยาบรรณสำหรับครู ฉบับ พ.ศ. 2539

     คุรุสภา (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, 2554 :1) ได้ประกาศใช้ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539 แทนระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณี ครู พ.ศ. 2526 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6(20) และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา จึงได้วางระเบียบไว้เป็นจรรยาบรรณครู เพื่อเป็นหลักปฏิบัติในการประกอบวิชาชีพครู จรรยาบรรณที่กำหนดให้ครูปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบันนี้มีทั้งหมด 9 ข้อ (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, 2554 : 1) ดังต่อไปนี้

     4.1 ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า

          หมายถึง การตอบสนองต่อความต้องการ ความถนัด ความสนใจของศิษย์ อย่างจริงใจ สอดคล้องกับการเคารพ การยอมรับ การเห็นอกเห็นใจ ต่อสิทธิพื้นฐานของศิษย์เป็นที่ไว้วางใจเชื่อถือ และชื่นชมได้ เป็นผลไปสู่การพัฒนารอบด้านอย่างเท่าเทียมกัน พฤติกรรมที่ครูแสดงออก ได้แก่

         4.1.1 สร้างความรู้สึกเป็นมิตร เป็นที่พึ่งพาและไว้วางใจได้ของศิษย์แต่ละคนและทุกคน เช่น ให้ความเป็นกันเองกับศิษย์ รับฟังปัญหาของศิษย์ และให้ความช่วยเหลือศิษย์ ร่วมทำกิจกรรมกับศิษย์เป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม สนทนาไต่ถามทุกข์สุขของศิษย์

         4.1.2 ตอบสนองข้อเสนอและการกระทำของศิษย์ ในทางสร้างสรรค์ และตามสภาพปัญหาความต้องการและศักยภาพของศิษย์แต่ละคนและทุกคน เช่น สนใจคำถามและคำตอบของศิษย์ทุกคนให้โอกาสศิษย์แต่ละคนได้แสดงออกตามความสามารถ ความถนัด และความสนใจ ช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของศิษย์ รับการนัดหมายของศิษย์เกี่ยวกับการเรียนรู้ก่อนงานอื่น

         4.1.3 เสนอและแนะแนวทางการพัฒนาของศิษย์แต่ละคนและทุกคนตามความถนัด ความสนใจ และศักยภาพของศิษย์ เช่น มอบหมายงานตามความถนัด จัดกิจกรรมหลากหลายตามสภาพความแตกต่างของศิษย์เพื่อให้แต่ละคนประสบความสำเร็จเป็นอยู่เสมอ แนะแนวทางที่ถูกให้แก่ศิษย์ ปรึกษาหารือกับครู ผู้ปกครอง เพื่อนนักเรียน เพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ปัญหาของศิษย์

         4.1.4 แสดงผลงานที่ภูมิใจของศิษย์แต่ละคน และทุกคนทั้งในและนอกสถานศึกษา เช่น ตรวจผลงานของศิษย์อย่างสม่ำเสมอ แสดงผลงานของศิษย์ในห้องเรียนหรือห้องปฏิบัติการ ประกาศหรือเผยแพร่ผลงานของศิษย์ที่ประสบความสำเร็จ

4.2 ครูต้องอบรมสั่งสอนฝึกฝนสร้างเสริมความรู้ ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้เกิดแก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ

     หมายถึง การดำเนินงานตั้งแต่การเลือกกำหนดกิจกรรมการเรียนที่มุ่งผลต่อการพัฒนาในตัวศิษย์อย่างแท้จริง การจัดให้ศิษย์มีความรับผิดชอบ และเป็นเจ้าของการเรียนรู้ตลอดจนการประเมินร่วมกับศิษย์ในผลการเรียนและการเพิ่มพูนการเรียนรู้ภายหลังบทเรียนต่าง ๆ ด้วยความปรารถนาที่จะให้ศิษย์แต่ละคนและทุกคนพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพและตลอดไป พฤติกรรมที่ครู แสดงออกได้แก่

     4.2.1 อบรม สั่งสอน ฝึกฝนและจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาศิษย์อย่างมุ่งมั่นและตั้งใจ ตัวอย่างเช่น สอนเต็มเวลา ไม่เบียดบังเวลาของศิษย์ ไม่ไปหาผลประโยชน์ส่วนตนเอาใจใส่ อบรม สั่งสอนศิษย์จนเกิดทักษะในการปฏิบัติงาน อุทิศเวลาเพื่อพัฒนาศิษย์ตามความจำเป็นและเหมาะสม ไม่ละทิ้งชั้นเรียนหรือขาดการสอน

     4.2.2 อบรม สั่งสอน ฝึกฝนและจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาศิษย์อย่างเต็มศักยภาพ เช่น เลือกใช้วิธีการที่หลากหลายในการสอนให้เหมาะสมกับสภาพของศิษย์ ให้ความรู้โดยไม่ปิดบัง สอนเต็มความสามารถ เปิดโอกาสให้ศิษย์ได้ฝึกปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถ สอนเต็มความสามารถและด้วยความเต็มใจ กำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย พัฒนาขึ้น ลงมือจัด เลือกกิจกรรมที่นำสู่ผลจริง ประเมิน ปรับปรุง ให้ได้ผลจริงและภูมิใจเมื่อศิษย์มีการพัฒนา

     4.2.3 อบรม สั่งสอน ฝึกฝนและจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาศิษย์ด้วยความ บริสุทธิ์ใจ เช่น สั่งสอนศิษย์โดยไม่บิดเบือนหรือปิดบัง อำพราง อบรมสั่งสอนศิษย์โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง และมอบหมายงานและตรวจผลงานด้วยความยุติธรรม

4.3 ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ

     หมายถึง การประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี การแสดงออกอย่างสม่ำเสมอของครูที่ศิษย์สามารถสังเกตรับรู้ได้เอง และเป็นการแสดงที่เป็นไปตามมาตรฐานแห่งพฤติกรรมระดับสูงตามค่านิยม คุณธรรม และวัฒนธรรมอันดีงาม พฤติกรรมที่ครูแสดงออก ได้แก่

     4.3.1 ตระหนักว่าพฤติกรรมการแสดงออกของครูมีผลต่อการพัฒนาพฤติกรรมของศิษย์อยู่เสมอ เช่น ระมัดระวังในการกระทำและการพูดของตนเองอยู่เสมอ ไม่โกรธง่ายหรือแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวต่อหน้าศิษย์ มองโลกในแง่ดี

     4.3.2 พูดจาสุภาพและสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับศิษย์และสังคม เช่น ไม่พูดคำหยาบหรือก้าวร้าว ไม่นินทาหรือพูดจาส่อเสียด พูดชมเชยให้กำลังใจศิษย์

     4.3.3 กระทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี สอดคล้องกับคำสอนของตน และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ตัวอย่างเช่น ปฏิบัติตนให้มีสุขภาพและบุคลิกภาพที่ดีอยู่เสมอ แต่งกายสะอาดสุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับกาลเทศะ แสดงกิริยามารยาทสุภาพเรียบร้อยอยู่เสมอ ตรงต่อเวลา แสดงออกซึ่งนิสัยที่ดีในการประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน สามัคคี มีวินัย รักษาสาธารณสมบัติและสิ่งแวดล้อม

4.4 ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ และสังคมของศิษย์

     หมายถึง การไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ หมายถึง การตอบสนองต่อศิษย์ ในการลงโทษหรือให้รางวัลหรือการกระทำอื่นใดที่นำไปสู่การลดพฤติกรรมที่พึงปรารถนา และการเพิ่มพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา พฤติกรรมที่ครูแสดงออก ได้แก่

     4.4.1 ละเว้นการกระทำที่ทำให้ศิษย์เกิดความกระทบกระเทือนต่อจิตใจ สติปัญญา อารมณ์และสังคมของศิษย์ เช่นไม่นำปมด้อยของศิษย์มาล้อเลียน ไม่ประจานศิษย์ ไม่พูดจาหรือกระทำการใดที่เป็นการซ้ำเติมปัญหาหรือข้อบกพร่องของศิษย์ ไม่นำความเครียดมาระบายต่อศิษย์ ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือสีหน้า ท่าทาง ไม่เปรียบเทียบฐานะความเป็นอยู่ของศิษย์ ไม่ลงโทษศิษย์เกินกว่าเหตุ

     4.4.2 ละเว้นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและร่างกายของศิษย์ เช่น ละเว้นการกระทำที่เป็นอันตราต่อสุขภาพและร่างกายของศิษย์ ไม่ทำร้ายร่างกายศิษย์ ไม่ลงโทษศิษย์เกินกว่าระเบียบกำหนด ไม่จัดหรือปล่อยปละละเลยให้สภาพแวดล้อมเป็นอันตรายต่อศิษย์ ไม่ใช้ศิษย์ทำงานเกินกำลังความสามารถ

     4.4.3 ละเว้นการกระทำที่สกัดกั้นพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์ จิตใจ และสังคมของศิษย์ เช่น ไม่ตัดสินคำตอบถูกผิดโดยยึดคำตอบของครู ไม่ดุด่าซ้ำเติมศิษย์ที่เรียนช้า ไม่ขัดขวางโอกาสให้ศิษย์ได้แสดงออกทางสร้างสรรค์ และไม่ตั้งฉายาในทางลบให้แก่ศิษย์

4.5 ครูต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และไม่ใช้ศิษย์กระทำการใด ๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ

     หมายถึง การไม่กระทำการใดที่จะได้มาซึ่งผลตอบแทนเกินสิทธิที่พึงได้จากการปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบตามปกติ พฤติกรรมที่ครูแสดงออก ได้แก่

     4.5.1 ไม่รับหรือแสวงหาอามิสสินจ้างหรือผลประโยชน์อันมิควรจากศิษย์ เช่น ไม่หารายได้จากการนำสินค้ามาขายให้ศิษย์ ไม่ตัดสินผลงานหรือผลการเรียนโดยมีสิ่งแลกเปลี่ยน ไม่บังคับหรือสร้างเงื่อนไขให้ศิษย์ มาเรียนพิเศษเพื่อหารายได้

     4.5.2 ไม่ใช้ศิษย์เป็นเครื่องมือหาประโยชน์ให้กับตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีหรือความรู้สึกของสังคม เช่น ไม่นำผลงานของศิษย์ไปแสวงหากำไรส่วนตน ไม่ใช้แรงงานศิษย์เพื่อประโยชน์ส่วนตน ไม่ใช้หรือจ้างวานศิษย์ไปทำสิ่งผิดกฎหมาย

4.6 ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิชาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ

     หมายถึง การพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ หมายถึง การใฝ่รู้ศึกษาค้นคว้า ริเริ่มสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ให้ทันสมัย ทันเหตุการณ์ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี สามารถพัฒนาบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ พฤติกรรมที่ครูแสดงออก ได้แก่

     4.6.1 ใส่ใจศึกษาค้นคว้า ริเริ่มสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวกับวิชาชีพอยู่เสมอ เช่น หาความรู้จากเอกสาร ตำรา และสื่อต่าง ๆ อยู่เสมอ จัดทำและเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ตามโอกาสเข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนา หรือฟังการบรรยาย หรืออภิปรายทางวิชาการ

     4.6.2 มีความรอบรู้ ทันสมัย ทันเหตุการณ์ สามารถนำมาวิเคราะห์ กำหนดเป้าหมาย แนวทางพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การอาชีพ และเทคโนโลยี เช่น นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ประกอบการเรียนการสอน ติดตามข่าวสาร เหตุการณ์บ้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ วางแผนพัฒนาตนเองและพัฒนางาน

     4.6.3 แสดงออกทางร่างกาย กิริยา วาจาอย่างสง่างาม เหมาะสมกับกาลเทศะ เช่น รักษาสุขภาพและปรับปรุงบุคลิกภาพอยู่เสมอ มีความเชื่อมั่นในตนเอง แต่งกายสะอาดเหมาะสมกับกาลเทศะและทันสมัย และมีความกระตือรือร้น

4.7 ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู

     หมายถึง การแสดงออกด้วยความชื่นชมและเชื่อมั่นในอาชีพครูด้วยตระหนักว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีความสำคัญและจำเป็นต่อสังคม ครูพึงปฏิบัติงานด้วยความเต็มใจและภูมิใจ รวมทั้งปกป้องเกียรติภูมิของอาชีพครู เข้าร่วมกิจกรรมและสนับสนุนองค์กรวิชาชีพครู พฤติกรรมที่ครูแสดงออก ได้แก่

     4.7.1 ครูเชื่อมั่น ชื่นชม ภูมิใจในความเป็นครูและองค์กรวิชาชีพครู ว่ามีความสำคัญและจำเป็นต่อสังคม เช่น ชื่นชมในเกียรติและรางวัลที่ได้รับและรักษาไว้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ยกย่องชมเชยเพื่อนครูที่ประสบผลสำเร็จเกี่ยวกับการสอน เผยแพร่ผลสำเร็จของตนเองและเพื่อนครู แสดงตนว่าเป็นครูอย่างภาคภูมิ

     4.7.2 เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพครูและสนับสนุนหรือเข้าร่วมหรือเป็นผู้นำในกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพครู เช่น ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดขององค์กร ร่วมกิจกรรมที่องค์กรจัดขึ้นเป็นกรรมการหรือคณะทำงานขององค์กร

     4.7.3 ปกป้องเกียรติภูมิของครูและองค์กรวิชาชีพ เช่น เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานของครูและองค์กรวิชาชีพครู เมื่อมีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับวงการวิชาชีพครูก็ชี้แจงทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

4.8 ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์ การช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์

     หมายถึง การให้ความร่วมมือ แนะนำปรึกษาช่วยเหลือแก่เพื่อนครูทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว และการงานตามโอกาสอย่างเหมาะสม รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน โดยการให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางวิธีการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน พฤติกรรมที่ครูแสดงออก ได้แก่

     4.8.1 ให้ความร่วมมือ แนะนำ ปรึกษาแก่เพื่อนครูตามโอกาสและความเหมาะสม เช่น ให้คำปรึกษาการจัดทำผลงานทางวิชาการให้คำแนะนำการผลิตสื่อการเรียนการสอน

     4.8.2 ให้ความช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์สิ่งของแด่เพื่อนครูตามโอกาสและความเหมาะสม เช่น ร่วมงานกุศล ช่วยทรัพย์เมื่อเพื่อนครูเดือนร้อน จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

     4.8.3 เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางวิธีการปฏิบัติตน ปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เช่น แนะแนวทางการป้องกัน และกำจัดมลพิษร่วมกิจกรรมตามประเพณีของชุมชน

 

4.9 ครูพึงประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญา และวัฒนธรรมไทย การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย

     หมายถึง การริเริ่มดำเนินกิจกรรม สนับสนุนส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย โดยรวบรวมข้อมูล ศึกษาวิเคราะห์เลือกสรร ปฏิบัติตนและเผยแพร่ศิลปะ ประเพณี ดนตรี กีฬา การละเล่น อาหาร เครื่องแต่งกาย เพื่อใช้ในการเรียนการสอน การดำรงชีวิตตนและสังคม พฤติกรรมที่ครูแสดงออก ได้แก่

     4.9.1 รวบรวมข้อมูลและเลือกสรรภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมที่เหมาะสมมาใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น เชิญบุคคลในท้องถิ่นมาเป็นวิทยากรนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้จัดการเรียนการสอน นำศิษย์ไปศึกษาในแหล่งวิทยาการชุมชน

     4.9.2 เป็นผู้นำในการวางแผน และดำเนินการเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรม เช่น ฝึกการละเล่นท้องถิ่นให้แก่ศิษย์ จัดตั้งชมรม สนใจศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น จัดทำพิพิธภัณฑ์ในสถานศึกษา

     4.9.3 สนับสนุนส่งเสริมเผยแพร่และร่วมกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนอย่างสม่ำเสมอ เช่นรณรงค์การใช้สินค้าพื้นเมือง เผยแพร่การแสดงศิลปะพื้นบ้าน และร่วมงานประเพณีของท้องถิ่น

     4.9.4 ศึกษาวิเคราะห์ วิจัยภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อนำผลมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน เพลงกล่อมเด็ก ตำนานและความเชื่อถือ นำผลการศึกษาวิเคราะห์มาใช้ในการเรียนการสอน

     จรรยาบรรณครู ฉบับ พ.ศ. 2539 นี้ คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาได้วางระเบียบปฏิบัติ โดยมีลักษณะมุ่งเน้นความเป็นครูในด้านบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบที่พึงมีต่อศิษย์เป็นสำคัญ ข้อสังเกตของจรรยาบรรณครูฉบับนี้มี 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง จรรยาบรรณครูไม่ใช่กฎหมายและไม่ได้เป็นกฎกระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นระเบียบที่คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภากำหนดไว้ เพื่อใช้เป็นหลักปฏิบัติของสมาชิกคุรุสภาที่เป็นครูอาจารย์เท่านั้น กรณีครูอาจารย์ที่เป็นสมาชิกของคุรุสภาละเมิดจรรยาบรรณครูข้างต้น ไม่มีบทลงโทษแต่อย่างใด แม้คณะกรรมการ คุรุสภาไม่มีอำนาจลงโทษครูอาจารย์โดยตรง ประการที่สอง จรรยาบรรณครูฉบับนี้เป็นฉบับที่ถูกนำไปใช้ในทุกสถานศึกษา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคุรุสภาในฐานะเป็นองค์กรวิชาชีพครูเป็นผู้ออกจรรยาบรรณครู ซึ่งมีกฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการ คือ พระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 ความแตกต่างของจรรยาบรรณครูฉบับนี้กับจรรยาบรรณของครูในอดีต คือ บ่งบอกถึงจรรยาบรรณของครูโดยตรงและโดยรวม มิได้จำแนกเป็นจรรยามารยาท จารีตประเพณี หรือวินัยของครู

จรรยาบรรณวิชาชีพครู พ.ศ. 2556

คุรุสภาได้ออกข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ พ.ศ. 2556 อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) (11) (จ) และมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ประกอบกับมติคณะกรรมการคุรุสภา โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น โดยมีสาระสำคัญคือการกำหนดจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ทั้งต่อตนเอง ผู้รับบริการ ผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ และสังคม ซึ่งมีผลบังคับใช้ ภายหลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยข้อบังคับดังกล่าวได้ให้นิยาม “ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา” ว่าหมายถึง ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลาการทางการศึกษาอื่น ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2556 มีสาระสำคัญ 5 หมวด ดังนี้

1) หมวด 1 จรรยาบรรณต่อตนเอง

     ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ

2) หมวด 2 จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ

     ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพและเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ

3) หมวด 3 จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ

     3.1) ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ศิษย์และผู้รับบริการ ตามบทบาทหน้าที่โดยเสมอหน้า

     3.2) ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะ และนิสัย ที่ถูกต้องดีงามแก่ศิษย์และผู้รับบริการ ตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

     3.3) ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ

     3.4) ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์และผู้รับบริการ

     3.5) ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องให้บริการด้วยความจริงใจและเสมอภาค โดยไม่เรียกรับหรือยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ

4) หมวด 4 จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ

     ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พึงช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ

5) หมวด 5 จรรยาบรรณต่อสังคม

     ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พึงประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

1. จรรยาบรรณต่อตนเอง

     หมายถึง ครูต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพ พัฒนาตนเองด้านบุคลิกภาพ พัฒนาตนเองด้านวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ

     1.1 แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณครู

         พฤติกรรมที่พึงประสงค์

         1.1.1 ประพฤติตนเหมาะสมกับสถานภาพและเป็นแบบอย่างที่ดี

         1.1.2 ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จอย่างมีคุณภาพตามเป้าหมาย

         1.1.3 ศึกษา หาความรู้ วางแผนพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และสะสมผลงานอย่างสม่ำเสมอ

         พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

         1.1.1 เกี่ยวข้องกับอบายมุขหรือสิ่งเสพติดจนขาดสติหรือแสดงกิริยาไม่สุภาพ เป็นที่น่ารังเกียจในสังคม

         1.1.2 ประพฤติผิดทางชู้สาวหรือมีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ

         1.1.3 ขาดความรับผิดชอบ ความกระตือรือร้น ความเอาใจใส่ จนเกิดความเสียหายในการปฏิบัติงานตามหน้าที่

         1.1.4 ขัดขวางการพัฒนาองค์กรเกิดผลเสียหา

     1.2 แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณผู้บริหาร

         พฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น

         1.2.1 ประพฤติตนเหมาะสมกับสถานภาพและเป็นแบบอย่างที่ดี

         1.2.2 ศึกษา ค้นคว้า ริเริ่มสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาวิชาชีพอยู่เสมอ

         1.2.3 ส่งเสริมและพัฒนาครูในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้

         พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น

         1.2.1 เกี่ยวข้องกับอบายมุขหรือสิ่งเสพติดจนขาดสติหรือแสดงกิริยาไม่สุภาพเป็นที่น่ารังเกียจในสังคม

         1.2.2 ประพฤติผิดในทางชู้สาวหรือมีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ

         1.2.3 ไม่พัฒนาความรู้ในวิชาชีพเพื่อพัฒนาตนเองและองค์กร

         1.2.4 ไม่ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อไปปรับปรุงพัฒนาการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

 

2. จรรยาบรรณต่ออาชีพ

     หมายถึง ครูต้องรักและศรัทธาวิชาชีพ ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ

     2.1 แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณครู

     พฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น

     2.1.1 แสดงความชื่นชมและศรัทธาในคุณค่าของวิชาชีพ

     2.1.2 รักษาชื่อเสียงและปกป้องศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ

     2.1.3 ยกย่องและเชิดชูเกียรติผู้มีผลงานในวิชาชีพให้สาธารณชนรับรู้

     2.1.4 อุทิศตนเพื่อความก้าวหน้าของวิชาชีพ

     2.1.5 เข้าร่วมกิจกรรมของวิชาชีพหรือองค์กรวิชาชีพอย่างสร้างสรรค์

     พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น

     2.1.1 ไม่แสดงความภาคภูมิใจในการประกอบวิชาชีพ

     2.1.2 ดูหมิ่น เหยียดหยาม ให้ร้ายผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ ศาสตร์ในวิชาชีพ หรือองค์กรวิชาชีพ

     2.1.3 ประกอบการงานอื่นที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา

     2.1.4 คัดลอกหรือนำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน

2.2 แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณผู้บริหาร

     พฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น

     2.2.1 แสดงความชื่นชมและศรัทธาในคุณค่าของวิชาชีพ

     2.2.2 รักษาชื่อเสียงและปกป้องศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ

     2.2.3 ยกย่องและเชิดชูเกียรติผู้มีผลงานในวิชาชีพให้สาธารณชนรับรู้

     2.2.4 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต ตามกฎ ระเบียบ และแบบแผนของทางราชการ

     2.2.5 เข้าร่วม ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์กิจกรรมของวิชาชีพ หรือองค์กรวิชาชีพอย่างสร้างสรรค์

     พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น

     2.2.1 วิพากษ์หรือวิจารณ์องค์กรหรือวิชาชีพจนทำให้เกิดความเสียหาย

     2.2.2 ดูหมิ่น เหยียดหยาม ให้ร้ายผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ ศาสตร์ในวิชาชีพ หรือองค์กรวิชาชีพ

     2.2.3 ประกอบการงานอื่นที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา

     2.2.4 ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่รับผิดชอบหรือไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ หรือแบบแผนของทางราชการจนก่อให้เกิดความเสียหาย

 

 

3. จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ

     หมายถึง ครูต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริม ให้กำลังใจ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ส่งเสริมให้เกิดทักษะ ส่งเสริมให้เกิดนิสัยที่ถูกต้องดีงาม ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีทางกาย วาจา จิตใจ ไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ และอารมณ์ สังคม ให้บริการด้วยความจริงใจ ความเสมอภาค ไม่เรียกรับหรือยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ

     3.1 แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณครู

         พฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น

         3.1.1 ให้คำปรึกษาหรือช่วยเหลือศิษย์และผู้รับบริการด้วยความเมตตากรุณาอย่างเต็มกำลังความสามารถและเสมอภาค

         3.1.2 สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อปกป้องสิทธิเด็ก เยาวชน และผู้ด้อยโอกาส

         3.1.3 ตั้งใจ เสียสละ และอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ศิษย์และผู้รับบริการได้รับการพัฒนาตามความสามารถ ความถนัด และความสนใจของแต่ละบุคคล

         พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น

         3.1.1 ลงโทษศิษย์อย่างไม่เหมาะสม

         3.1.2 ไม่ใส่ใจหรือไม่รับรู้ปัญหาของศิษย์หรือผู้รับบริการจนเกิดผลเสียหายต่อศิษย์หรือผู้รับบริการ

         3.1.3 ดูหมิ่นเหยียดหยามศิษย์หรือผู้รับบริการ

         3.1.4 เปิดเผยความลับของศิษย์หรือผู้รับบริการเป็นผลให้ได้รับความอับอายหรือเสื่อมเสียชื่อเสียง

         3.1.5 จูงใจ โน้มน้าว ยุยงส่งเสริมให้ศิษย์หรือผู้รับบริการปฏิบัติขัดต่อศีลธรรมหรือกฎระเบียบ

     3.2 แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณผู้บริหาร

         พฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น

         3.1.1 ปฏิบัติงานหรือให้บริการอย่างมีคุณภาพ โดยคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้รับบริการ

         3.1.2 ส่งเสริมให้มีการดำเนินงานเพื่อปกป้องสิทธิเด็ก เยาวชน และผู้ด้อยโอกาส

         3.1.3 บริหารงานโดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

         3.1.4 รับฟังความคิดเห็นที่มีเหตุผลของศิษย์และผู้รับบริการ

         พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น

         3.1.1 ปฏิบัติงานมุ่งประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง

         3.1.2 ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเลือกปฏิบัติ

         3.1.3 เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้รับบริการในงานตามบทบาทหน้าที่

4. จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ

     หมายถึง ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างสร้างสรรค์ ยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ

     4.1 แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณครู

         พฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น

         4.1.1 เสียสละ เอื้ออาทร และให้ความช่วยเหลือผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ

         4.1.2 มีความรัก ความสามัคคี และร่วมใจกันผนึกกำลังในการพัฒนาการศึกษา

         พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น

         4.1.1 ปิดบังข้อมูลข่าวสารในการปฏิบัติงานจนทำให้เกิดความเสียหายต่องานหรือผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ

         4.1.2 ปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยตำหนิให้ร้ายผู้อื่นในความบกพร่องที่เกิดขึ้น

         4.1.3 สร้างกลุ่มอิทธิพลภายในองค์กรหรือกลั่นแกล้งผู้ร่วมประกอบวิชาชีพให้เกิดความเสียหาย

         4.1.4 เจตนาให้ข้อมูลเท็จทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเกิดความเสียหายต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ

     4.2 แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณผู้บริหาร

         พฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น

         4.2.1 ริเริ่มสร้างสรรค์ในการบริหารเพื่อให้เกิดการพัฒนาทุกด้านต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ

         4.2.2 ส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิของผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ

         4.2.3 เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา

         4.2.4 ใช้ระบบคุณธรรมในการพิจารณาผลงานของผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ

         พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น

         4.2.1 นำเสนอแง่มุมทางลบต่อวิชาชีพ ข้อเสนอไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา

         4.2.2 ปกปิดความรู้ ไม่ช่วยเหลือผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ

         4.2.3 แนะนำในทางไม่ถูกต้องต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพจนทำให้เกิดผลเสียต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ

         4.2.4 ไม่ให้ความช่วยเหลือหรือร่วมมือกับผู้ร่วมประกอบวิชาชีพในเรื่องที่ตนมีความถนัดแม้ได้รับการร้องขอ

5. จรรยาบรรณต่อสังคม

     หมายถึง ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

     5.1 แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณครู

         พฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น

         5.1.1 ยึดมั่น สนับสนุน และส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

         5.1.2 นำภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมมาเป็นปัจจัยในการจัดการศึกษาให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

         5.1.3 จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ศิษย์เกิดการเรียนรู้ และสามารถดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

         พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น

         5.1.1 ไม่ให้ความร่วมมือหรือสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนที่จัดเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาทั้งทางตรงหรือทางอ้อม

         5.1.2 ไม่แสดงความเป็นผู้นำในการอนุรักษ์หรือพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหรือสิ่งแวดล้อม

         5.1.3 ไม่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการอนุรักษ์หรือพัฒนาสิ่งแวดล้อม 5.2 แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณผู้บริหาร

         พฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น

         5.2.1 ยึดมั่น สนับสนุน และส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

         5.2.2 ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือในทางวิชาการหรือวิชาชีพแก่ชุมชน

         5.2.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อให้ศิษย์และผู้รับบริการเกิดการเรียนรู้ และสามารถดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

         พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น

         5.2.1 ไม่ให้ความร่วมมือหรือสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนที่จัด เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาทั้งทางตรงหรือทางอ้อม

         5.2.2 ไม่แสดงความเป็นผู้นำในการอนุรักษ์หรือพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหรือสิ่งแวดล้อม

         5.2.3 ไม่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการอนุรักษ์หรือพัฒนาสิ่งแวดล้อม

         จากข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพครู พ.ศ. 2556 ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาใดที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ หรือมีผู้ได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพสามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ คุรุสภา เพื่อตรวจสอบ โดยผลการตรวจสอบสามารถออกได้ 5 กรณี ยกข้อกล่าวหา ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 5 ปี และเพิกถอนใบอนุญาต ทั้งนี้ ตามมาตรา 51 ถึงมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 (สถาบันอิศรา, 2556 : 1)

ครูเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อควบคุม ดูแล การประกอบวิชาชีพครูให้ดำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง มีเกียรติและศักดิ์ศรีของวิชาชีพ เป็นผู้สามารถนำพาคนในชาติไปสู่การพัฒนาตามกระแสโลกาภิวัตน์ได้อย่างยั่งยืน มั่นคง และปลอดภัย และสร้างความตระหนัก รับผิดชอบในหน้าที่ของครู ปัจจุบันประเทศไทยใช้เกณฑ์ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2556 ซึ่งได้กำหนด มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาสำหรับเป็นแนวทางให้ครู มีคุณลักษณะ และคุณภาพที่พึงประสงค์ในการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งครูต้องประพฤติปฏิบัติตาม ประกอบด้วยมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ มาตรฐานการปฏิบัติงาน และมาตรฐานการปฏิบัติตน ตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาครูทั้งระบบ เช่น การกำหนดคุณลักษณะครูที่จะได้ใบประกอบวิชาชีพ การต่ออายุ การประเมินวิทยฐานะ การพัฒนาสมรรถนะของครู ดังนั้น ครูยุคใหม่ต้องมีการพัฒนาตนเองให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพกำหนดไว้

สรุป

จรรยาบรรณ หมายถึง ข้อกำหนดแห่งความประพฤติสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพครู จรรยาบรรณวิชาชีพครู ช่วยควบคุมมาตรฐานคุณภาพของครู ให้ครูมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทั้งด้านการประพฤติปฏิบัติตนและจริยธรรมของครู ส่งเสริมและควบคุมมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ และให้ครูได้ตระหนักรู้ในความสำคัญของบทบาทหน้าที่ และภาระงานของตนต่อสังคม ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2556 มีสาระสำคัญ 5 หมวด คือ จรรยาบรรณต่อตนเอง วิชาชีพ ผู้รับบริการ ผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ และต่อสังคม มาตรฐานวิชาชีพครูมีความสำคัญต่อผู้ประกอบวิชาชีพครูในหลายด้านได้แก่ ช่วยควบคุมมาตรฐานคุณภาพของครูทั้งด้านการประพฤติปฏิบัติตนและจริยธรรมของครู ช่วยพิทักษ์สิทธิในการประกอบวิชาชีพครู ควบคุมมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ ช่วยเน้นภาพลักษณ์ของครูที่มีคุณธรรมจริยธรรมให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

กัลยาณี สูงสมบัติ. (2550). สื่อการเรียนรู้ออนไลน์วิชาเทคนิคการจัดการสมัยใหม่ [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : http://uhost.rmutp.ac.th/kanlayanee.so/L3/3-1-1.htm.[13 เมษายน 2557]

กร กองสุข. (2548). การดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบโรงเรียน สามัคคีพิทยาคม อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

กรมสามัญศึกษา. (2542). การบริหารโรงเรียนตามแนวปฏิรูปการศึกษา. กรุงเทพฯ : หน่วยศึกษา นิเทศก์ กรมสามัญศึกษา.

คุรุสภา. (2506). ระเบียบว่าด้วยจรรยามารยาทอันดีงามตามประเพณีของครู พ.ศ. 2506 ตามอำนาจที่พระราชบัญญัติครูมาตรา 28. กระทรวงศึกษาธิการ.

คุรุสภา. (2526). ระเบียบว่าด้วยจรรยามารยาทอันดีงามตามประเพณีของครู. กระทรวงศึกษาธิการ.

คุรุสภา. (2556). ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2556. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.ksp.or.th/ksp2013/content/view.php?mid=94&did=416.[16 ตุลาคม 2557].

ธีระศักดิ์ ภัททิยากุล. (2557). วินัยและการรักษาวินัยมาตรา 82-97. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษายะลา เขต 1 [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : www.yala1.go.th/bukul/bunyalvinoy e/666.pptx. [1 พฤษภาคม 2557]

สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา. (2557). “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม”. คุรุสภา. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : http://site.ksp.or.th/about.php?site=osoi&SiteMenuID=557. [16 ตุลาคม 2557]

สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (2541). แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (2554). แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539 [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : http://www.edu.chula.ac.th/knowledge/rule/rule2539.htm. [13 เมษายน 2557]

แหล่งเรียนรู้พัฒนาศักยภาพความเป็นครู. (2554). จรรยาบรรรณวิชาชีพครู. บ้านสอบครู. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : http://www.sobkroo.com/detail_room_index.php?nid=92. [13 เมษายน 2557]

อดิศร ก้อนคำ. (2551). จรรยาบรรณในวิชาชีพครู [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : http:// www. Kroobannok.Com/ 2605. [13 เมษายน 2557]