คำในภาษาไทย : การสื่อความหมาย

 

                                                               คำในภาษาไทย : การสื่อความหมาย

                                                                                                                                       พรรณษา  พลอยงาม1

บทนำ

 

          ในการพูดในชีวิตประจำวัน พยางค์หรือคำที่เราพูดมานั้น เกิดมาจากเสียงที่เราเปล่งออกมาครั้งหนึ่ง ๆ โดยประกอบด้วยเสียงขั้นต่ำ 3 เสียง คือ พยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ โดยคำเป็นสารที่ผู้พูดหรือผู้เขียนเจตนาหรือตั้งใจสื่อไปยังผู้ฟังหรือผู้อ่าน คำทุกคำจึงต้องมีความหมาย เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด (Isolating language) ถ้าคำอยู่ต่างที่หรือเปลี่ยนที่ไป ก็จะมีความหมายเปลี่ยนไป ความหมายจะขึ้นกับบริบทที่แวดล้อมอยู่ อีกทั้งความหมายของคำในภาษาไทยมีคำเป็นจำนวนมากที่สื่อทั้งความหมายโดยตรง ซึ่งหมายถึง คำที่มีความหมายอย่างตรงไปตรงมาตามตัวหนังสือ และความหมายโดยนัย ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายแฝงอยู่ อาจเป็นในเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งช่วยให้เกิดความรู้สึก หรือเห็นลักษณะของสิ่งนั้นได้ชัดเจนขึ้น หรือเมื่อกล่าวถึงแล้วจะไม่ได้นึกถึงความหมายโดยตรงแต่จะนึกไปถึงอีกสิ่งที่มีความหมายเกี่ยวโยงกันกับคำนั้น หากปรากฏตามลำพังจะไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นความหมายลักษณะใด แต่หากปรากฏร่วมกับคำอื่นในประโยคหรือในข้อความ จะช่วยให้เข้าใจความหมายได้ ดังนั้นความหมายจะขึ้นกับบริบทที่แวดล้อมอยู่เช่นเดียวกัน ความหมายของคำในแง่ของการสื่อความหมาย จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการรับรู้และเข้าใจของผู้ส่งสารและผู้รับสาร เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ถูกต้องและเกิดประสิทธิผล

______________________________

1 อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย (ค.บ.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

1.      ความหมายของคำ

 

          วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ (2527 : 35) กล่าวว่า คำ เป็นหน่วยทางภาษาซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ประกอบด้วยเสียงและความหมาย เป็นหน่วยทางภาษาที่อาจเกิดโดด ๆ ตามลำพังได้

          สนิท ตั้งทวี (2528 : 58) ได้ให้ความหมายของคำ คือ เสียงพูดหรือลายลักษณ์อักษรที่เขียนหรือพิมพ์ขึ้น เพื่อแสดงความคิด โดยปรกติถือว่าเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดซึ่งมีความหมายในตัว ในทางภาษาศาสตร์นั้นคำเป็นหน่วยทางภาษาซึ่งประกอบขึ้นด้วยเสียงและความหมาย

          กำชัย ทองหล่อ (2554 : 193) กล่าวถึงคำว่า คำ คือ พยางค์ที่เปล่งออกมา จะเป็นพยางค์เดียว หรือหลายพยางค์รวมกันก็ตาม ถ้ามีความหมายเป็นที่รู้กันได้ เรียกว่า คำหรือถ้อยคำ ซึ่งเปล่งออกมาเป็นเสียงพูดก็เรียกว่า คำพูด ถ้าเขียนเป็นตัวหนังสือก็เรียกว่า คำเขียน       

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (2556 : 258) ได้ให้ความหมายของคำ หมายถึง เสียงพูด, เสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง ๆ, เสียงพูดหรือลายลักษณ์อักษรที่เขียนหรือพิมพ์ขึ้นเพื่อแสดงความคิด โดยปรกติถือว่าเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดซึ่งมีความหมายในตัว, ใช้ประกอบหน้าคำอื่นที่มีความหมายเช่นนั้น เช่น คำนาม คำกริยา คำบุรพบท

          นอกจากนี้ พระยาอุปกิตศิลปสาร (2546 : 59) กล่าวถึง คำในตำราไวยากรณ์ มีความหมายต่างกัน   3 อย่าง คือ

           1. หมายความว่า พยางค์หนึ่ง ๆ คือ เสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง ๆ ดังที่ใช้อยู่ในตำราอักขรวิธีว่า     คำเป็น คำตาย และที่ใช้ในตำราฉันทลักษณ์ว่าคำครุ คำลหุ หรือจำนวนคำที่ใช้ในวรรคหนึ่ง ๆ ของคำประพันธ์ว่า โคลงบาทนั้นมีเท่านั้นคำ ฉันท์บทนี้มีเท่านั้นคำ เป็นต้น

            2. หมายความว่า คำร้องท่อนหนึ่ง เป็นคำหนึ่ง ดังที่ใช้ในคำกลอนบทละครต่าง ๆ คือ คำกลอน       2 วรรค เป็นคำหนึ่ง เช่นตัวอย่าง “มาจะกล่าวบทไป ถึงสี่องค์ทรงธรรม์นาถา” เรียกว่าคำหนึ่ง คือ หมายถึงคำร้องคำหนึ่ง

            3. คำที่ใช้ในตำราวจีวิภาคนี้ คือ เสียงที่พูดออกมา ได้ความอย่างหนึ่ง ตามความต้องการของผู้พูดจะเป็นกี่พยางค์ก็ตามเรียกว่าคำหนึ่ง บางคำก็มีพยางค์เดียว บางคำก็มีหลายพยางค์ ดังตัวอย่าง

                             นา (ที่ปลูกข้าว)                 เป็นคำ 1 คำ มี 1 พยางค์

                             นาวา (เรือ)                         เป็นคำ 1 คำ มี 2 พยางค์

                             นาฬิกา (โมงหรือทุ่ม)         เป็นคำ 1 คำ มี 3 พยางค์ เป็นต้น                   

          ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า คำ คือ เสียงหรือพยางค์ที่เปล่งออกมาแล้วมีความหมาย อาจมีพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์ก็ได้ เช่น                                                                             

                             ลุง                               =         1 พยางค์    1 คำ                            

                             กระรอก                       =         2 พยางค์    1 คำ                                                                                                                      

2.      คำในภาษาไทย : การสื่อความหมาย

 

             2.1  คำเดียวกันแต่มีความหมายหลายอย่าง

              ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด คำเดียวกันแต่มีความหมายได้หลายความหมาย ถ้าคำอยู่ต่างที่หรือเปลี่ยนที่ไป ก็จะมีความหมายเปลี่ยนไป ความหมายจะขึ้นกับบริบทที่แวดล้อมอยู่

              ตัวอย่าง   เช้าวันนี้ฉันมีอารมณ์ขันเมื่อได้ยินไก่ขัน ในขณะที่กำลังใช้ขันตักน้ำ

              คำว่า “ขัน” ทั้ง 3 คำ มีความหมายแตกต่างกัน ดังนี้

              ขัน คำที่ 1 เป็นคำวิเศษณ์ขยายคำว่าอารมณ์ คือ น่าหัวเราะ

              ขัน คำที่ 2 เป็นคำกริยา คือ อาการร้องของไก่

              ขัน คำที่ 3 เป็นคำนาม คือ ภาชนะตักหรือใส่น้ำ

             จากตัวอย่างข้างต้น เราจะทราบคำว่า “ขัน” มีความหมายว่าอย่างไรนั้น ต้องพิจารณาจากบริบทที่แวดล้อมคำนั้นอยู่ และตำแหน่งที่ปรากฏของคำนั้น ๆ

             นอกจากนี้ ความหมายของคำในภาษาไทยมีคำเป็นจำนวนมากที่มีทั้งความหมายโดยตรง คือคำที่มีความหมายอย่างตรงไปตรงมาตามตัวหนังสือ และความหมายโดยนัย ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายแฝงอยู่ในเชิงเปรียบเทียบ คำนั้นหากปรากฏตามลำพังจะไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นความหมายลักษณะใด แต่หากปรากฏร่วมกับคำอื่นในประโยคหรือในข้อความ จะช่วยให้เข้าใจความหมายได้ ดังนั้นความหมายจะขึ้นกับบริบทที่แวดล้อมอยู่เช่นเดียวกัน ดังนี้

              2.2  คำที่มีความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัย

                     2.2.1 ความหมายโดยตรง  คือ คำที่มีความหมายตรงตัว ซึ่งเป็นความหมายตามพจนานุกรม ไม่ต้องแปลความหมาย ไม่ต้องตีความ เช่น

                     กล้วย หมายถึง น. ชื่อไม้ล้มลุกหลายปีในสกุล Musa วงศ์ Musaceae จัดแยกออกได้เป็น 2 จำพวก จำพวกที่แตกหน่อเป็นกอ ผลสุกเนื้อนุ่ม กินได้ มีหลายชนิดและหลายพันธุ์ เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอม บางชนิดผลสุกเนื้อแข็ง มักเผา ต้ม หรือเชื่อมกิน เช่น กล้วยกล้าย กล้วยหักมุก จำพวกที่ไม่แตกหน่อเป็นกอ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ใบประดับไม่ร่วง เช่น กล้วยนวล กล้วยผา

                     ลิง หมายถึง น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายสกุลในอันดับ Primates ลักษณะคล้ายคน แขนขายาว ตีนหน้าและตีนหลังใช้จับเกาะได้ มีทั้งชนิดที่มีหาง เช่น ลิงวอก และชนิดที่ไม่มีหาง เช่น กอริลลา

                     2.2.2 ความหมายโดยนัย คือ ความหมายที่ชักนำความคิดให้เกี่ยวโยงไปถึงสิ่งอื่น ความหมายโดยนัยจะแฝงความเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความรู้สึก กาลเทศะ และเจตนาในการใช้คำ จำเป็นที่จะต้องแปลความหรือตีความก่อนจึงจะเข้าใจความหมายที่แท้จริง อีกทั้งมักแสดงผ่านการเปรียบเทียบ เช่น

                     กล้วย   มีความหมายโดยนัยหมายถึง   ง่ายมาก

                    ตัวอย่าง  เรื่องกล้วยๆแค่นี้ เธอทำได้แน่นอน

                    ลิง   มีความหมายโดยนัยหมายถึง  ซุกซน

                     ตัวอย่าง  แม่ไม่อยู่บ้านช่วยดูแลน้องๆด้วยนะ อย่าให้ซนเหมือนลิง

               2.3 คำที่มีความหมายพื้นฐาน ความหมายแฝง และความหมายในปริบท

               นอกจากนี้ ได้มีนักวิชาการ ได้กล่าวถึงความหมายของคำ โดยแบ่งความหมายของคำเป็นลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ ความหมายพื้นฐาน ความหมายแฝง และความหมายในปริบท ดังที่ ปราณี กุลละวณิชย์ และคณะ (2540 : 102 -104) ได้กล่าวไว้ ดังนี้

                     2.3.1 ความหมายพื้นฐาน คำทุกคำมีความหมายพื้นฐาน ไม่ว่าจะปรากฏในถ้อยคำใด คำเหล่านี้ก็จะมีความหมายนั้นอยู่ ตัวอย่างเช่น คำว่า “ครู” มีความหมายว่า “ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์” คำต่อไปนี้นี้มีความหมายดังนี้ในทุกประโยค            ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                    ครูสมหมายสอนวิชาภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

                    มีคนกล่าวว่าครูเปรียบเสมือนเรือจ้าง

                    เป็นศิษย์ต้องให้ความเคารพครู

                    นักเรียนนำดอกไม้ธูปเทียนมาร่วมพิธีไหว้ครู

                    2.3.2 ความหมายแฝง ได้แก่ ความหมายที่คำ ๆ หนึ่งอาจมีเพิ่มขึ้นจากความหมายพื้นฐาน ความหมายที่เพิ่มขึ้นนี้มักจะบอกให้รู้ถึงความรู้สึกของผู้พูด ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                     “เล่า” กับ “โม้”

                      ก. เขาเล่าเรื่องที่บ้านให้เพื่อนฟัง

                     ข. เขาโม้เรื่องที่บ้านให้เพื่อนฟัง

                     จากตัวอย่างข้างต้น มีความหมายพื้นฐานเหมือนกัน คือ “บอกเล่าเรื่องราวให้ผู้อื่นฟัง” แต่คำ 2 คำนี้ มีความหมายแฝงต่างกัน คำว่า “เล่า” เป็นคำที่แสดงว่าเรามีความรู้สึกธรรมดาเมื่อพูดถึงเขา ส่วนคำว่า “โม้” เป็นคำที่แสดงให้เห็นว่าไม่ชอบการกระทำครั้งนี้ของเขา

                    “ประหยัด” กับ “ขี้เหนียว”

                    ก. เขาเป็นคนประหยัด

                    ข. เขาเป็นคนขี้เหนียว

                     จากตัวอย่างข้างต้น มีความหมายพื้นฐานเหมือนกัน คือ “ไม่ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย” แต่คำ         2 คำนี้มีความหมายแฝงต่างกัน คำว่า “ประหยัด” แสดงว่าเรานิยมชมชอบคน ๆ นั้น แต่คำว่า “ขี้เหนียว” แสดงว่าเราไม่ชอบคน ๆ นั้น

                     2.3.3 ความหมายในปริบท ในทุกภาษามีคำอยู่จำนวนหนึ่งที่มีความหมายพื้นฐานที่ค่อนข้างกว้าง เมื่อคำเหล่านี้ปรากฏร่วมกับคำอื่น ๆ จะมีความหมายเพิ่มเติม หรือแคบลงกว่าความหมายพื้นฐาน  ตัวอย่างเช่น คำว่า “ดี” มีความหมายพื้นฐานว่า “มีลักษณะเป็นไปในทางที่ต้องการ น่าปรารถนา น่าพอใจ” เมื่อคำ ๆ นี้ปรากฏกับคำอื่น ๆ จะมีความหมายเพิ่มขึ้น ดังนี้

                                                                                                 ความหมายที่เพิ่มขึ้น

                      เด็กดี                                                                       ว่านอนสอนง่าย

                      ข้าราชการดี                                                            ไม่คดโกง ขยัน และรับผิดชอบในหน้าที่การงาน

                      ห้องเรียนดี                                                             ไม่มีเสียงรบกวน ไม่มืดหรือร้อน

                      ดวงดี                                                                      รุ่งโรจน์ ไม่มีเคราะห์

                      เสียงดี                                                                     ไพเราะ

                       สุขภาพดี                                                                 ไม่มีโรค

                       ความหมายที่คำ ๆ หนึ่งมีเพิ่มขึ้นจากความหมายพื้นฐานเมื่อปรากฏร่วมกับคำอื่น เช่นที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นกรณีหนึ่งของความหมายในปริบท แต่ความหมายในปริบทอาจหมายถึงการที่คำกลุ่มหนึ่งมีความหมายพื้นฐานร่วมกัน แต่การปรากฏร่วมกับคำอื่นของคำเหล่านั้นมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ความหมายของคำแต่ละคำแตกต่างกันเพิ่มขึ้นจากความหมายร่วมพื้นฐาน ดังตัวอย่างเช่น

                      ก.  หล่อ กับ สวย มีความหมายพื้นฐานร่วมกันว่า “งามน่าพึงพอใจ” แต่คำว่า “หล่อ”ปรากฏร่วมกับคำ ผู้ชาย เท่านั้น ส่วนคำ “สวย” ปรากฏร่วมกับคำต่าง ๆ ได้หลายคำ เช่น ผู้หญิง  ดอกไม้ และบ้าน ทำให้เราได้ความหมายของคำ “หล่อ” กับ “สวย” เพิ่มขึ้น คือ หล่อ นั้นต้องเป็นความงามของผู้ชาย และ สวย เป็นความงามของผู้หญิง สัตว์ พืช หรือสิ่งไม่มีชีวิตก็ได้

                      ข. บี๋ อ๋อย แจ๋ มีความหมายพื้นฐานว่า “มาก” เมื่อคำเหล่านี้ปรากฏกับคำบอกสีจะสามารถปรากฏเฉพาะกับเพียงบางคำเท่านั้น ดังนี้

                    ใช้ได้                                                        ใช้ไม่ได้

                    เขียวปี๋                                                     ขาวปี๋  เหลืองปี๋

                    เหลืองอ๋อย                                              ขาวอ๋อย ดำอ๋อย

                    แดงแจ๋                                                      ดำแจ๋  เขียวแจ๋

                    จากตัวอย่างข้างต้น เราได้ความหมายของคำ “ปี๋” “อ๋อย” และ “แจ๋” เพิ่มเติมขึ้น จากปริบทดังนี้ “ปี๋” หมายถึง มากในลักษณะเข้ม “อ๋อย” หมายถึง มากในลักษณะสดใส และ “แจ๋” หมายถึง มากในลักษณะจัด

สรุป

          ในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน สิ่งที่สามารถสร้างความเข้าใจในเบื้องต้นคือ คำ โดยคำนั้นเกิดมาจากเสียงที่เราเปล่งออกมาครั้งหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยเสียงขั้นต่ำ 3 เสียง คือ เสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ โดยคำเป็นสารที่ผู้พูดหรือผู้เขียนเจตนาหรือตั้งใจสื่อไปยังผู้ฟังหรือผู้อ่าน ดังนั้นคำทุกคำจึงมีความหมาย เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด (Isolating language) คำเดียวกันแต่มีความหมายได้หลายความหมาย ถ้าคำอยู่ต่างที่หรือเปลี่ยนที่ไป ก็จะมีความหมายเปลี่ยนไป              ความหมายจะขึ้นกับบริบทที่แวดล้อม

          บางครั้งคำที่ผู้ส่งสารสื่อออกไปอาจมีความหมายไม่คงที่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการสื่อสารแต่ละครั้ง ซึ่งอาจมีความหมายโดยตรง หรือที่เรียกว่าคำที่มีความหมายประจำรูปหรือคำที่มีความหมายตรงตัว หรือนักวิชาการบางท่านเรียกอีกชื่อว่า ความหมายพื้นฐาน ซึ่งนักวิชาการได้กล่าวว่า คำทุกคำนั้นมีความหมายพื้นฐาน

          นอกจากนี้ ยังปรากฏคำที่มีความหมายโดยนัย หรือคำที่มีความหมายไม่ตรงตามความหมายโดยตรง โดยคำที่มีความหมายโดยนัย อาจเป็นคำที่มีความหมายนัยประหวัด คือเมื่อกล่าวถึงแล้วจะไม่ได้นึกถึงความหมายโดยตรง แต่จะนึกไปถึงอีกสิ่งที่มีความหมายเกี่ยวโยงกันกับคำนั้น หรือเป็นคำที่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งการเปรียบเทียบจะช่วยให้เกิดความรู้สึก หรือเห็นลักษณะของสิ่งนั้นได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้งถ้าพิจารณาการสื่อความหมายของคำในอีกแง่มุมของนักวิชาการ คำ ๆ หนึ่งอาจมีเพิ่มขึ้นจากความหมายพื้นฐานในลักษณะความหมายแฝง โดยความหมายที่เพิ่มขึ้นนี้มักจะบอกให้รู้ถึงความรู้สึกของผู้พูด และความหมายในปริบท ซึ่งทุกภาษามีคำอยู่จำนวนหนึ่งที่มีความหมายพื้นฐานที่ค่อนข้างกว้าง เมื่อคำเหล่านี้ปรากฏร่วมกับคำอื่น ๆ จะมีความหมายเพิ่มเติม หรือแคบลงกว่าความหมายพื้นฐาน ซึ่งความหมายในปริบทเหมือนกับความหมายแฝงตรงที่ความหมายทั้งสองประเภทเป็นความหมายที่เพิ่มขึ้นจากความหมายพื้นฐานของคำในทุกภาษา ดังที่กล่าวว่า คำทุกคำมีความหมายพื้นฐาน แต่ไม่ใช่ทุกคำที่มีความหมายแฝงหรือความหมายในปริบท

 เอกสารอ้างอิง 

กำชัย ทองหล่อ. (2554). หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 53. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น (1977).

ปราณี กุลละวณิชย์ และคณะ. (2540). ภาษาทัศนา. กรุงเทพฯ : โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์

         มหาวิทยาลัย.

พระยาอุปกิตศิลปสาร. (2546). หลักภาษาไทย : อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณ์.

         พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ :  นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์. 

วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์. (2527). ภาษาและภาษาศาสตร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สนิท ตั้งทวี. (2528). ความรู้และทักษะทางภาษา. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.