ความงามของวรรณคดีที่แทรกอยู่ในศิลปะไทย

บทคัดย่อ

          วรรณคดีกับศิลปะทุกแขนงล้วนแต่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมิได้ ศิลปะของไทยมีความเจริญรุ่งเรืองมานับพันปี  ตั้งแต่สมัยเชียงแสน  สมัยสุโขทัย  สมัยอู่ทอง  สมัยอยุธยา  และสมัยรัตนโกสินทร์ ถึงแม้ว่าจะมีวัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัยผ่านการหล่อหลอมและผสมผสานทั้งตะวันออกและตะวันตก  แต่ในปัจจุบันศิลปะไทยก็ยังคงรักษารูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ไว้อย่างเด่นชัดสามารถถ่ายทอดความงดงาม  ความประณีตบรรจง  จินตนาการ  และความรู้สึกนึกคิด  ผสมผสานกับการอ่านวรรณกรรมและวรรณคดีจนเกิดเป็นความซาบซึ้งทางสุนทรียภาพที่สอดแทรกอยู่ในศิลปะแขนงต่างๆ

คำสำคัญ : ความงามของวรรณคดี, ศิลปะแขนงต่าง ๆ

บทนำ

          “ศิลปะ”  ตามพจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. (2554 : 1144)  ให้ความหมายถึง “ฝีมือ”  ฝีมือการช่าง การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์;  (กลอน)  เป็นชื่ออาวุธประเภท “ศร” เช่น “งามเนตร ดังเนตรมฤคมาศงามขนงวงวาดดังคันศิลป์” (จากเรื่องอิเหนา) หรือจากข้อความที่ว่า “พิศพักตร์ผ่องพักตร์ดั่งจันทร พิศขนง ก่งงอนดั่งคันศิลป์” (รามเกียรติ์ ร.1) ตามรูปศัพท์เป็นคำภาษาสันสฤตหากเป็นคำภาษาบาลีเขียนเป็น “สิปฺป” แปลว่า “ฝีมืออย่างยอดเยี่ยม”  หรือแม้แต่ย้อนหลังไปในพจนานุกรมฉบับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของ“ศิลปะ” หมายถึง  ฝีมือ  ฝีมือทางการช่างการทำให้วิจิตรพิสดาร เช่น เขาทำดอกไม้ประดิดประดอยอย่างมีศิลปะผู้หญิงสมัยนี้มีศิลปะในการแต่งตัว รูปสลักวีนัสเป็นรูปศิลป์ การแสดงออกทางอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่างๆ อย่างเสียง เส้น สี  ผิว รูปทรงเป็นต้น  เช่น  ศิลปะการดนตรี  ศิลปะการวาดภาพ  ศิลปะการละคร  วิจิตรศิลป์.(ส. ศิลฺป ป.สิปฺป ว่า   มีฝีมืออย่างยอดเยี่ยม)

 

ศิลปกรรมไทยในแขนงต่างๆ

          ศิลปกรรมไทยเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจ จากความเลื่อมใสศรัทธาและความภูมิใจในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดความงามแขนงต่างๆ ดังที่ประสิทธิ์  กาพย์กลอนและนิพนธ์  อินสิน (2533 : 23)  กล่าวถึงศิลปกรรมไทยไว้ว่า ศิลปกรรมไทยซึ่งสงเคราะห์เข้าตามหลักวิจิตรศิลป์  อันเป็นศิลปะที่เกี่ยวกับความประณีตงดงาม  แบ่งออกเป็น 6 แขนง  คือ สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม หรือ ปฏิมากรรม นาฏศิลป์ ดนตรีและบทเพลงจากดนตรี วรรณคดี ในบรรดาศิลปกรรมไทยทั้ง 6 แขนงดังกล่าวข้างต้น เป็นศิลปะที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาโดยตรงส่วนศิลปะแขนงอื่น ๆ เป็นลักษณะเด่นที่แสดงความเป็นไทย  ทั้งเฉพาะแขนงและโดยส่วนรวมดังรายละเอียดต่อไปนี้

          สถาปัตยกรรม ได้แก่ ศิลปะที่เกี่ยวกับการก่อสร้างศิลปกรรมไทยแขนงนี้มีหลายชนิดดังนี้ ปราสาท  คือ เรือนมียอดโดยเฉพาะเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินทั้งส่วนพระองค์และส่วนราชการบ้านเมืองแต่ส่วนมากมักมิใช่เป็นที่ประทับเพราะเป็นที่ประดิษฐาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และใช้ประกอบพิธีตามแบบโบราณราชประเพณี          หรือไม่เช่นนั้นก็ใช้รับแขกเมืองเพื่อเป็นเกียรติยศแก่บ้านเมือง  ตัวอย่างปราสาท ที่สำคัญของไทย  เช่น  พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สร้างในรัชกาลที่ 1  พระที่นั่งพุทไธสวรรค์สร้างในรัชกาลที่ 3 พระที่นั่งมหิศรปราสาท  และ     พระที่นั่งศิวาลัย สร้างในรัชกาลที่ 4 เป็นต้น

          โบสถ์และวิหาร  เป็นสิ่งก่อสร้างในศาสนา  โบสถ์เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ  เช่นการอุปสมบทหรือการบวช  การถวายผ้ากฐิน  และการฟังพระธรรมเทศนา  เป็นต้น  ส่วนวิหารใช้เฉพาะการจำศีลภาวนา  รูปลักษณะของโบสถ์และวิหารคล้ายคลึงกัน เฉพาะโบสถ์นั้นต้องมีกำแพงแก้วหรือเสมาล้อมรอบเพราะ “เสมา” หมายถึง หลักแสดงเขตของโบสถ์ซึ่งกำหนดเอาไว้ให้เป็นที่สำหรับพระสงฆ์มาประชุมทำพิธีต่าง ๆ ในศาสนา      ส่วนวิหารไม่ต้องมีเสมา ทั้งโบสถ์และวิหารจะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระประธานอยู่ลักษณะของโบสถ์และวิหารมักจะมีหลังคาสามเหลี่ยมใหญ่ซ้อนกันหลายชั้นบนยอดหลังคาแต่ละชั้นประกอบด้วยตัวช่อฟ้านาคสะดุ้ง  และใบระกา จั่วในหลังคาประดับด้วยภาพหรือลายแกะสลักไม้บางแห่งเป็นรูปลงรักปิดทอง และประดับกระจก  ต่อจากตัวหลังคาที่แท้ก็มีหลังคาปีกนกเสริมต่อมาอีก 1 หรือ 2 ชั้น  หลังคาสามเหลี่ยมนี้ตั้งอยู่บนผนังและเสา

               สถูปเจดีย์  สร้างขึ้นเป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธศาสนาหรือพระพุทธเจ้าซึ่งเห็นกันอยู่ตามวัดทั่วไปสถูปเจดีย์ที่ถูกต้องมักจะมีส่วนประกอบ 3 อย่าง  คือ  องค์สถูป  หรือ  ระฆัง หมายถึง การก่อพูนอิฐหรือหินเป็นเนินกลม ๆ  แท่นหรือฐาน ตั้งซ้อนบนองค์สถูป และส่วนยอด  สถูปเจดีย์ยังแบ่งออกเป็น   3 ชนิด คือ เจดีย์กลม  เจดีย์เหลี่ยม และเจดีย์ย่อมุม ฐานเจดีย์จะสร้างเป็นฐานเฉียง บอกให้รู้ว่าในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืนล้วนแปรสภาพและแตกสลายไปในที่สุด

1.       บัวคว่ำ 3 ชั้น  หมายถึง  โลกนรก  โลกมนุษย์  และโลกสวรรค์

2.       ปล้องไฉน  หมายถึง  สวรรค์ 6 ชั้น  และพรหมโลก  16 ชั้น  ซึ่งแบ่งไว้เป็น 2  ตอนเรียงตามลำดับ

3.       ลูกแก้ว  ซึ่งอยู่ปลายยอดเจดีย์  เป็นชั้นอรูปพรหม

4.       หยาดน้ำค้าง  หมายถึง  พระนิพพาน

              ปรางค์  หรือที่เรียกว่าพระปรางค์นั้น  ถือว่าเป็นเจดีย์อย่างหนึ่ง  ซึ่งเราได้รับอิทธิพล  มาจากอินเดีย ลักษณะของปรางค์เป็นสถูปที่มียอดสูงขึ้นไป  รูปคล้ายต้นกระบองเพชร  และมีฝักเพกา แยกเป็นกิ่ง ๆ อยู่ข้างบน

               วัง  เป็นที่ประทับสูงสุดของพระมหากษัตริย์  จึงถูกสร้างขึ้นอย่างวิจิตรตระการตาเป็นศูนย์รวมความงามเลิศในแผ่นดินเอาไว้  ณ  ที่แห่งเดียวกัน ประดับประดาด้วยสิ่งของที่มีค่ายิ่ง  เป็นสถานที่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ภาคภูมิใจใคร่จะได้เห็นได้ชม

               นอกจากนี้บุญเกิด รัตนแสง (2541 : 32-33) ยังกล่าวถึงความงามอันวิจิตรตระการตาที่ช่างฝีมือได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้นตามแบบที่นักออกแบบได้วาดไว้ตามจินตนาการ ดังเช่น

               วัดไทย  เป็นศูนย์รวมใจชาวพุทธ  สร้างเพื่อใช้ทำกิจกรรมรวมวัดจึงต้องโล่งปลอดโปร่ง  อากาศถ่ายเทสะดวกดี  ยึดหลักเช่นเดียวกับบ้าน  แต่อาจต่อกันหลายหลังไม่เปิดจั่วกลายเป็น “ทรงปั้นหยา”  ไปบางแห่งก็สร้างเป็นที่รวมศิลปะพื้นบ้านทุกชนิดเอาไว้ให้เห็นเพื่อสร้างให้ผู้นับถือเกิดศรัทธา  ปีติ  ยินดี 

               บ้านไทย  สร้างเป็นที่อาศัย  ต้องสะดวก  ปลอดภัย  สบาย  อากาศถ่ายเทได้สะดวก  รูปทรงสวยงาม  ทำประโยชน์ได้หลายอย่างแยกอธิบายตามองค์ประกอบของบ้านไทยได้ดังนี้

1.       หลังคาบ้าน ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วยกสูง  ใต้อกไก่ปล่อยเป็นช่องลมให้อากาศดีเข้ามาแทนที่อากาศเสียลอยต่ำเคลื่อนหนีไปด้วยอุณหภูมิสูงกว่า

2.       ใต้ถุนสูง  เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก  ทำเป็นที่พักผ่อนและทำงานบ้านบางแห่งเป็นที่เก็บยานพาหนะ  ไว้เลี้ยงสัตว์กันขโมย  เพราะใช้บันไดชักลากเมื่อยามเข้านอน

3.       เรือนทุนหลักจะหันหน้าไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ก็ได้  ที่สำคัญมักปลูกเรือนยาวตามทางเดินดวงอาทิตย์ (ไม่ขวางตะวัน)  เพื่อให้แสงตะวันลอดขื่อก็ตื่นขึ้นมาทำงานเช้าทันที และเมื่อมีลมมรสุมจะพัดจากตะวันออกเฉียงเหนือสู่ตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูหนาว  หรือสลับทางกันในฤดูฝน  จะไม่ทำให้บ้านเรือนพังทลายเพราะไม่ขวางทางลม

4.  หลังคาทรงสามเหลี่ยมสูงจะไม่ทำให้ผู้อาศัยร้อนอบอ้าว  เพราะหลังคาเอียงรับแสงในแนวเฉียง  บางส่วนก็สะท้อนกลับ บางส่วนก็เล็ดลอดไปได้ ทำให้ปรับอุณหภูมิไปในตัว และเมื่อเวลาฝนตกลงมาน้ำฝนจะไหลไปรวมกันทางใดทางหนึ่งตามที่กำหนดเอาไว้  ทำให้เจ้าของบ้านรองรับน้ำฝนมาใช้ได้อีกทางหนึ่งด้วย 

วรรณคดีที่สัมพันธ์กับศิลปะ

          บุญเกิด  รัตนแสง (2541 : 35 – 38) กล่าวถึงความสัมพันธ์ของวรรณคดีกับสถาปัตยกรรมไว้ว่าสถาปัตยกรรมไทยมีความสง่างาม  ความงดงามเลอเลิศ  เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นกวีแทบทุกคนได้บรรยายและพรรณนาถึงสถาปัตยกรรมไทยไว้ด้วยความชื่นชม  ข้อที่น่าสังเกต คือ กวีบรรยายและพรรณนาถึงปราสาทราชวัง  โบสถ์  วิหาร  ปรางค์  ฯลฯ  โดยเน้นความสวยงาม  ความสง่า  ความวิจิตรบรรจง  มากกว่าที่จะบรรยายถึงรายละเอียดของส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมนั้นๆ วรรณคดีจึงมีความสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรม วรรณคดีได้บรรจุศิลปะด้านสถาปัตยกรรมแบบไทยไว้ในเรื่องต่างๆ  หลายเรื่องเพื่อชี้ให้เห็นฝีมือเชิงช่างที่มีความประณีต  สวยงาม  กลมกลืนกับธรรมชาติ  ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

 

               “…มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด          ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น

          ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน                     เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม

          บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น                        ต่างชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม…”

                                                                 (นิราศภูเขาทอง ของ สุนทรภู่)

                    จากคำประพันธ์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า  สถาปัตยกรรมไทย  นิยมหักเหลี่ยมย่อมุม  พบตามต้นเสาและเจดีย์หากหักย่อเหลี่ยมละสามหยัก  สี่มุมก็เป็นสิบสองหยัก  เรียกว่า  “เจดีย์ไม้สิบสอง” ถ้าหักมุมละสี่หยักก็เรียกว่า  “เจดีย์ย่อมุมสิบหกเหลี่ยม”  กลายเป็นสำนวนพูด  “หักเหลี่ยม…”  เป็นต้น

          ความรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบบ้านทรงไทย  พบได้ในวรรณคดีร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ชูชก  ก่อนที่ชูชกจะเดินทางไปขอสองกุมารคือพระชาลีและพระกัณหา  มาเป็นทาสรับใช้  ก็แต่งบ้านให้มั่นคงแข็งแรง  เพื่อเป็นมงคลสำหรับการเดินทางดังความต่อไปนี้

                     “…ธชีมิไว้ใจด้วยเคหา  เก่าคร่ำคร่าซวนโซเซ  อ่อนโอ้เอ้เอียงโอนเอน  กลัวว่าจะคว่ำเครนครืนโครมลง  โย้ให้ตรงกรานไม้ยัน  ค้ำจดจันจุนจ้องไว้  เกลากลอนใส่ซีกครุคระ มุงจะจะจากปรุโปร่ง  แลตะละโล่งลอดเห็นฟ้า  ขึ้นหลังคาครอบจากหลบ  โก้งโค้งกบกดซีกกรอบ  ผ่าไม้ครอบคร่อมอกไก่  ไม้ข้างควายแขวะเป็นรู  สอดเสียบหนูแน่นขันขัด  ปั้นลมดัดเดาะหักห้อย  กบทูย้อยแยกแครกคราก  จั่วจุจากจัดห่างห่าง ฝาหน้าต่างแต่งให้มิด  ล่องหลวงปิดปกซี่ฟาก  ตงรอดครากเครียดรารัด  ตอม่อขัดค้ำขึงขัง…” (ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก  กัณฑ์ชูชก)

                     คำที่เน้นล้วนเป็นเครื่องเรือนผูกของไทยสมัยโบราณทั้งสิ้น  อนึ่ง  เครื่องเรือนผูก คือ  ไม่มีการตอกตะปูใช้เชือกผูกทั้งหมด

                     นอกจากนี้วรรณคดีจะบรรยายถึงสิ่งก่อสร้างในวัดวาอาราม  เพื่อเสริมศรัทธาในพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น  คำสอนเป็นนามธรรมย่อมเห็นไม่ชัดเจนเท่ารูปธรรม  เมื่อสร้างงานศิลป์ด้วยใจรักและแรงศรัทธา  ร่วมแรงเสียสละเพื่อหวังรับกุศลผลบุญ  งานที่สำเร็จนั้นย่อมงดงามยิ่ง  ตรึงตาใจผู้พบเห็น ดังข้อความต่อไปนี้

          “…เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น             พันแสง

รินรสพระธรรมแสดง                           ค่ำเช้า

เจดีย์ระดะแซง                                  เสียดยอด

ยลยิ่งแสงแก้วเก้า                               แก่นหล้าหลากสวรรค์…”

                                          (นิราศนรินทร์ ของ นายนรินทรธิเบศร์ (อิน))

วรรณคดีบางเรื่องสร้างจินตนาการไว้ยาวไกลเกินกว่าคนสมัยนั้นจะเห็นจริงหรือคล้อยตามจนกลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน  หลายเรื่องอาศัยวันเวลาผนวกกับเทคโนโลยีสมัยใหม่  ทำให้ความฝันนั้นกลับเป็นจริงขึ้นมาได้  ตัวอย่างเรือกำปั่นขนาดใหญ่ของโจรฝรั่งที่สุนทรภู่เขียนไว้ในเรื่องพระอภัยมณี  มีใจความว่า

          “…มีกำปั่นนั้นยาวสิบเก้าเส้น        กระทำเป็นตึกร้านสถานถิ่น

หมากมะพร้าวส้มสูกปลูกไว้กิน                ไม่รู้สิ้นเอมโอชโภชนา

เลี้ยงทั้งแพะแกะไก่สุกรห่าน                   คชสารม้ามิ่งมหิงสา

มีกำปั่นห้าร้อยลอยล้อมมา                     เครื่องศาสตราสำหรับรบครบทุกลำ…”

                    (พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ ตอนสินสมุทรโดยสารเรือโจรฝรั่ง)

          ในปัจจุบันเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ขับระวางน้ำสูง  เดินทางไกล ๆ มีขนาดใหญ่โต สามารถดัดแปลงตบแต่งบรรยากาศให้คล้ายกับบ้านเพื่อให้ลูกเรือ กัปตัน  และคนอื่นที่อยู่ในเรือนาน ๆ คลายความคิดถึงบ้านลงได้

วรรณคดีบางเรื่องผู้แต่งได้บรรยายให้เห็นความงดงามของสถาปัตยกรรมไทยว่างามเด่นเลิศกว่าสถาปัตยกรรมชาติใดในโลก  แต่จะเทียบได้ก็เฉพาะฝีมือชาวสวรรค์  แดนในฝันของพวกเขาเท่านั้น  แสดงว่าผู้แต่งนั้นกล่าวด้วยความภาคภูมิในศิลปะของไทย  ภูมิใจในสถาปัตยกรรมไทยที่บรรพบุรุษได้ร่วมใจกันบรรจงสร้างไว้    คู่ชาติไทยไม่ว่าวัดพระแก้วก็ดี  พระบรมหาราชวังก็ดี  หรือสถานที่สวยงามอื่น ๆ ก็ตาม ล้วนชี้นำความเป็นเลิศของช่างไทยทั้งสิ้น  ดังตัวอย่าง

                               “…อำพนพระมณทิรพระราช        สุนิวาสน์วโรฬาร์

                     อัพภันตรไพจิตรและพา                        หิรภาคก็พึงชม

                     เล่ห์เลื่อนชะลอดุสิตฐา                          นมหาพิมานรมย์

                     มารังสฤษฎิ์พิศนิยม                             ผิจะเทียบก็เทียมทัน

                               สามยอดตลอดระยะระยับ           วะวะวับสลับพรรณ

                     ช่อฟ้าตระการกลจะหยัน                       จะเยาะยั่วทิฆัมพร

                     บราลีพิลาศศุภจรูญ                            นภศูลประภัสสร

                     หางหงส์ผจงวิจิตรงอน                          ดุจกวักนภาลัย

                               รอบด้านตะหง่านจัตุรมุข            พิศสุกอร่ามใส

                     กาญจน์แกมมณีกนกไพ-                       ฑูรย์พร่างพะแพรวพราย…”

                                                              (สามัคคีเภทคำฉันท์ ของ นายชิต บุรทัต)

สรุป

        ศิลปกรรมไทยมีลักษณะเด่นและเป็นเอกลักษณ์ในด้านความอ่อนหวาน  ความประณีตการผสมผสานธรรมชาติและความยึดมั่นในพระพุทธศาสนา  ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สืบเนื่องมาช้านาน  แม้ว่ากาลเวลาตลอดจนความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนที่ทำให้ศิลปะแขนงต่าง ๆ  เปลี่ยนแปลงไปบ้างในแง่ของการบันทึกถ่ายทอดที่ทำให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมไทย  ศิลปะทุกแขนงก็ยังมีคุณค่า   ต่อคนไทยและสังคมไทยอย่างแจ่มชัดในด้านความไพเราะ ด้านคุณธรรม ด้านที่สะท้อนชีวิตสภาพสังคม และความรู้สึกนึกคิดของคนในชาติ อีกทั้งศิลปกรรมเหล่านี้ยังมีความสัมพันธ์กับภาษาไทยในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ในแง่ศัพท์เฉพาะของศิลปะแต่ละแขนง และในแง่ถ้อยคำสำนวนในภาษาไทยอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

เต็มสิริ  บุณยสิงห์ และเจือ  สตะเวทิน. (ม.ป.ป.). การละครเพื่อการศึกษา.  กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว.

นิตยา บุญสิงห์. (2554). วัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ : พัฒนาศึกษา.

บุญเกิด รัตนแสง.  (2541). ภาษากับวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.

ประพนธ์  เรืองณรงค์. (2520). “ศิลปกรรมไทย”เอกลักษณ์ไทย. (2)42-47.

ประสิทธิ์ กาพย์กลอน และนิพนธ์ อินสิน.  (2533). ภาษากับวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ :

           นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ จำกัด.