คติชนออนไลน์: การสวดมนต์ช่วงโควิค -19

บทนำ

          คติชนวิทยาเป็นศาสตร์ที่สนใจศึกษาวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆ ตั้งแต่เรื่องเล่า บทเพลง การแสดงความเชื่อประเพณี กิ่งแก้ว อัตถากร (2520:2) ให้ความหมายว่าด้วยคติชนหรือผลผลิตทางวัฒนธรรมของกลุ่มชน และผลผลิตนี้จะเป็นมรดกที่ได้ทีการสืบทอดต่อๆ กันมา ทั้งภายในกลุ่มชนเดียวกันและแพร่กระจายไปสู่ชนต่างกลุ่ม โดยได้ให้เหตุผลของการใช้คำว่า คติชนวิทยา แทนคติชาวบ้าน คติชาวบ้านจึงเป็นข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งที่นักคติชนวิทยาสนใจที่จะศึกษา และในคำว่าคติชนวิทยา จะมีความหมายที่กว้างกว่าคติชาวบ้านด้วยตามศัพท์ Folklore จะเป็นเรื่องที่ว่าด้วยวิถีชีวิตตามขนบประเพณีของกลุ่มชน  ปัจจุบันการศึกษาคติชนมีความกว้างขวางและหลากหลายในกลุ่มชนต่างๆ มากขึ้น  เช่น กลุ่มนักศึกษา กลุ่มลัทธิความเชื่อ กลุ่มวัยหนุ่มสาว อีกทั้งปัจจัยทางอาชีพ ภาษา ศาสนา การท่องเที่ยว เป็นต้น เป็นข้อมูลทางคติชนที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยในสังคมออนไลน์ที่เป็นวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน ดังนั้นการศึกษา การเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ศาสตร์ทางคติชนต้องทำความเข้าใจความหมาย มุมมอง ความคิด ความเชื่อ ในบริบทของวิถีชีวิตในยุคใหม่เช่นกัน

          สังคมออนไลน์ (Social Network) สังคมออนไลน์(Social Media) เป็นรูปแบบการสื่อสารข้อมูลที่เข้าถึงผู้คนทุกระดับในปัจจุบัน โดยมีการใช้กันอย่างแพร่หลายภายใต้การพัฒนาตลอดเวลาของเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ โดยเน้นให้ผู้ใช้ทั้งที่เป็นผู้ส่งสารและผู้รับสารมีส่วนร่วม  อย่างสร้างสรรค์ ในการผลิตเนื้อหาขึ้นเอง  ในรูปของข้อมูล ภาพ และเสียง พิชิต วิจิตรบุญยรักษ์ (ม.ป.ป) ในปัจจุบันสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้นรวมทั้งผู้คนมีการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบการสื่อสารข้อมูลด้วยรูปแบบเก่าๆ อาจไม่สามารถ รองรับความต้องการการสื่อสารข้อมูลของมนุษย์ได้ สื่อสังคมออนไลน์เป็นหนึ่งในทางเลือกของการสื่อสารข้อมูลในรูปแบบที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องที่มีรูปแบบการ สื่อสารข้อมูลที่หลากหลาย เหมาะสำหรับผู้คนในโลกปัจจุบัน และโลกอนาคตสาเหตุสำคัญที่ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ มาจาก การใช้งานที่ง่าย เข้าถึงกลุ่มคนได้รวดเร็ว มีการแสดงความคิดเห็นไปมา และสื่อที่นำมาแบ่งปันมีลักษณะหลากหลาย รวมทั้งการพัฒนาตลอดเวลาของเทคโนโลยีการสื่อสารและอินเทอร์เน็ต

         กองบริการสาธารณสุขและคณะ. (2563 :1) จากอิทธิพลของโลกาภิวัตน์และวิวัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกด้านรวมทั้งด้านการแพทย์การสาธารณสุขและการสื่อสารและสารสนเทศ มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การดำเนินวิถีชีวิตของประชาชนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วยในช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่โรคติดต่อเดิมก็ยังมีอยู่และโรคอุบัติใหม่ก็ยังลุกลามมาเป็นระลอกๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 โรค COVID-2019 ทำให้มีผู้ป่วยไปใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลทั่วไประดับจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน อัตรากำลังทางการแพทย์การพยาบาลและวิชาชีพการแพทย์และการสาธารณสุขอื่นๆ รวมทั้งงบประมาณไม่เพียงพอ มีผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพและสาธารณสุขอย่างมาก

         จากสถานการณ์ในปัจจุบันประเทศไทยและนานาประเทศกำลังเผชิญกับโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดหนัก ทำให้มีมาตรการที่ต้องป้องกันควบคุมโรคเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายโรค โดยการให้เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย ถือหลักสะอาด อีกทั้งการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมกลุ่มต่างๆ ไม่สามารถปฏิบัติได้ รวมถึงสถานที่เสี่ยง และพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่ควรหลีกเลี่ยงในการแพร่เชื้อและรับเชื้อ หลายๆ คนมีความเชื่อในเรื่องการล้างโลกจากโรคระบาดที่ยากจะควบคุมนั้น ในทางวิถีไทยมีความเชื่อในเรื่องร้ายๆ เป็นสิ่งที่แก้เหตุการณ์ร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือสร้างเหตุการณ์ให้เกิดขวัญและกำลังใจด้วยการสวดมนต์

            มาตรการและแผนดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพป้องกัน รักษาพยาบาลและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังดังกล่าวล้วนแต่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านชีวะการแพทย์และการสาธารสุขแผนปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่ เพิ่งจะเริ่มใช้เทคนิควิธีการทางสังคมศาสตร์เช่น จิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์มนุษย์วิทยา ศาสนศาสตร์และเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขมาปฏิบัติผสมผสานกับด้านการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อไม่นานมานี้ซึ่งในประเทศไทยถือว่ามีการนำมาใช้ไม่กว้างขวาง เพียงพอและขาดการบูรณาการอย่างจริงจัง ที่จะส่งผลกระทบต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและพัฒนาสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการน้อมนำหลักศาสนธรรมมาปฏิบัติเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินวิถีชีวิต ที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น การสวดมนต์การปฏิสมาธิเพื่อสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งได้มีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันวิจัย สถาบันวิชาการ นักวิชาการหลายแห่งทั้งในต่างประเทศและในประเทศหลายแห่ง สรุปว่าการสวดมนต์ การปฏิบัติสมาธิมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพในการป้องกันและบำบัดรักษาโรคได้หลายชนิด แต่การนำผลวิจัยเหล่านั้นมาปฏิบัติยังมีไม่มากนัก และขาดความต่อเนื่องเชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพปัจจุบัน (กองบริการสาธารณสุขและคณะ. 2563:2)

                ศาสนาในโลกทุกศาสนามีองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ การสวดมนต์หรือคาถาประกอบพิธีกรรม ซึ่งถือว่า เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล ในศาสนาพราหมณ์ก็ได้นิยมสวดกันมาดังที่เรียกกันว่า สาธยายมนต์ ร่ายมนต์ เพื่อความทรงจำพระเวทบ้าง เพื่อเป็นสิริมงคลบ้าง ในทางพระพุทธศาสนาก็มีการสวดสาธยายเช่นเดียวกัน ในขั้นต้นเพียงสวดสาธยายเพื่อความทรงจำพระพุทธวจนะเท่านั้น เมื่อชาวบ้านได้ยินพระสงฆ์สวดสาธยายก็พากันอนุโมทนาและได้ถือกันว่า การได้ยินพระสงฆ์สวดสาธยายเช่นนั้นเป็นสิริมงคล ในสมัยนั้นยังไม่มีคัมภีร์ที่จะได้จดจารึก ต้องท่องจำทรงกันด้วยวาจา จำหลักคำสอนที่เรียกว่ามุขปาฐะ คือ การท่องจำให้ขึ้นใจจนติดปาก เมื่อมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น พระสงฆ์ก็ใช้สวดสาธยายพระพุทธวจนะนั้นตามสมควรแก่เหตุการณ์ด้วยเหตุที่การสวดมนต์มีความสำคัญเพื่อเป็นการสาธยายรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ยังความเข้าใจและนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในชีวิตอย่างมีคุณค่า และทัศนคติโดยรวมต่อการสวดมนต์ของชาวพุทธในสังคมไทย (พระวงศ์สรสิทธิ์รติกโรและคณะ. 2561:81-87)

              ความเชื่อ ของการสวดมนต์ คือ ข้อวัตรอันเป็นหลักใจของชาวพุทธเป็นบุญกิจ บุญกิริยาที่ถือปฏิบัติสืบ ๆ กันมา นับตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ถือกันว่าเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต อีกทั้งช่วยรักษาการรักษาโรคภัยปรารถนาพ้นทุกข์ผลแห่งการวิจัย ตามหลักวิทยาศาสตร์ก็ดีทางการแพทย์ก็ดี ผลที่เกิดขึ้นจริงๆ กับผู้ที่ปฏิบัติแล้วเห็นผลก็มีต่างสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่าการสวดมนต์นั้นสามารถช่วยบำบัด ช่วยรักษา ช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ ยิ่งโรคที่เกี่ยวเนื่องด้วยกับสภาพจิตใจยิ่งได้ผลดีมาก แม้กระทั่งอุปสรรค เคราะห์กรรม ปัญหาชีวิตก็ช่วยให้ผ่านพ้นได้ด้วยดี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 หน่วยงานรัฐและองค์กรหลายที่ได้ใช้พื้นที่ของสังคมออนไลน์ในหลายช่องทางเพื่อประชาสัมพันธ์และให้คนไทยสวดมนต์ออนไลน์อยู่บ้าน เพื่อให้ประเทศพ้นวิกฤตในช่วงนี้ กิจจ์ศรัณย์ จันทร์โป๊ (2556:บทคัดย่อ) ได้ศึกษาผลของการสวดมนต์ตามแนวพุทธศาสนาและการทำสมาธิแบบอานาปานสติที่มีต่อความเครียดของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มตัวอย่างคือ นิสิตระดับปริญญาตรี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุระหว่าง 18-21 ปี ทั้งหมดจำนวน 60 คนในการจัดเข้ากลุ่มสวดมนต์และกลุ่มทำสมาธิแบบอานาปานสติ กลุ่มละ 30 คน ทำการวัดคลื่นสมองด้วยเครื่อง NeXus-10 โดยวัดเป็นรายบุคคลก่อนทำการสวดมนต์และทำสมาธิแบบอานาปานสติ ให้ผู้ทำการทดลองนั่งพัก 5 นาที แล้ววัดคลื่นสมองขณะพัก จากนั้นเริ่มทำการสวดมนต์ในกลุ่มสวดมนต์ และทำสมาธิในกลุ่มทำสมาธิแบบอานาปานสติวัดคลื่นสมองทุก 5 นาทีเป็นเวลา 30 นาทีผลการวิจัยพบว่า (1) หลังการทดลองของกลุ่มสวดมนต์และกลุ่มทำสมาธิแบบอานาปานสติ มีค่าเฉลี่ยคะแนนความเครียด ก่อนการทดลองและหลังการทดลองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (2) ค่าเฉลี่ยของคลื่นสมองอัลฟ่า และเบต้า ภายในทั้งสองกลุ่มก่อนการทดลอง ระหว่างการทดลองในนาทีที่ 5, 10, 15, 20, 25, 30 และหลังการทดลอง แตกต่างกันโดยคลื่นสมองอัลฟ่าในกลุ่มสวดมนต์เริ่มแตกต่างสูงขึ้นในนาทีที่ 5-10 เป็นต้นไป และคลื่นอัลฟ่าในกลุ่มทำสมาธิเริ่มแตกต่างสูงขึ้นในนาทีที่ 0-5 เป็นต้นไป สรุปผลการวิจัย จากผลการวิจัยสรุปได้ว่าการสวดมนต์ และการทำสมาธิแบบอานาปานสติมีผลทำให้ลดระดับความเครียดลงได้ โดยการสวดมนต์สามารถผ่อนคลายความเครียด (คลื่นอัลฟ่า) ได้ตั้งแต่นาทีที่ 5 เป็นต้นไป ส่วนการทำสมาธิแบบอานาปานสติสามารถผ่อนคลายความเครียด (คลื่นอัลฟ่า) ได้ตั้งแต่นาทีแรกจนถึงนาทีที่ 5

บทสรุป

          ในโลกของสังคมการเปลี่ยนแปลงบางสถานการณ์ต้องปรับตัวไปตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น คติชนเช่นเดียวกันการศึกษาให้ทันตามกาลเวลาของกลุ่มชนที่เปลี่ยนไป ทำให้เห็นมุมมอง ทัศนคติ วิถีชีวิต ที่เป็นองค์ความรู้ใหม่มากขึ้น คติชนออนไลน์เป็นการศึกษาของวิถีกลุ่มชนในยุคปัจจุบันเช่น ภาษา อาชีพ ศาสนา ความเชื่อ เป็นต้น จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทั้งภายในและนอกประเทศ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไปซึ่งคาดการณ์ไม่ได้ว่าเมื่อใดสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ กิจกรรมการดำเนินการต้องควบคุมและปรับเปลี่ยนเช่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ช่วยเหลือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ไม่เครียด ทำจิตใจให้สงบสุข ดังนั้นการเข้าใจและปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยใช้ความเชื่อดั้งเดิมในการผ่อนคลายความเครียดและรักษาโรคระบาดนั้นผ่านช่องทางออนไลน์ในปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงในรูปแบบการสวนมนต์ออนไลน์ในที่อยู่อาศัยเพื่อเป็นฝึกจิตใจสมาธิให้เป็นยา ให้เกิดประโยชน์ทางใจต้องจดจ่อไม่ฟุ้งซ่าน และสามารถสวดมนต์บำบัดอาการป่วยของโรค มีการศึกษาวิจัยการสวดมนต์ เพื่อบำบัดอาการป่วยให้ทุเลาลงหรือไม่เกิดโรคแทรกซ้อนบางอาการ บางรายอาการหายได้ ตามความเชื่อทางหลักพระพุทธศาสนาเพราะการสวดมนต์สามารถปฏิบัติได้ทุกเมื่อและทุกสถานที่  ผลการสวดมนต์ต่อสภาพร่างกายและสุขภาพของคนปกติ มีการนำมาปฏิบัติเพื่อการผ่อนหลายหลายรูปแบบอย่างแพร่หลาย เช่น ใช้ในการลดความเครียดและโรคที่เกี่ยวข้องกับความเครียด เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายในการนำมาประยุกต์ใช้และมีการถ่ายทอดไม่ยุ่งยากซับซ้อน

เอกสารอ้างอิง

กิจจ์ศรัณย์ จันทร์โป๊. (2556). ผลของการสวดมนต์ตามแนวพุทธศาสนาและการทำสมาธิแบบอานาปานสติ       

         ที่มีต่อความเครียด ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต       

          สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา.กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

กิ่งแก้ว อัตถากร. 2520. คติชนวิทยา. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์คุรุสภา.

พระวงศ์สรสิทธิ์รติกโรและคณะ. 2561. คุณค่าของการสวดมนต์ที่มีต่อพุทธศาสนิกชนไทย: กรณีศึกษาสำนักปู่ 

          สวรรค์. วารสารสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาเชิงพุทธ, 3 (ฉบับที่ 2), 79.

พิชิต วิจิตรบุญยรักษ์ (ม.ป.ป) สื่อสังคมออนไลน์: สื่อแห่งอนาคต Social Media: Future Media.

        สืบค้นเมื่อ16สิงหาคม  2664,จาก

        https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/oct_dec_11/

อุทัย สุดสุข และคณะ 2563. ประมวลผลประสิทธิผลของการสวดมนต์ การปฏิบัติสมาธิและเครื่องมือ

          3ส.3อ.1น. นนทบุรี : บริษัท เดอะ กราฟิโก ซิสเต็มส์ จำกัด.