คติชนสร้างสรรค์ใน “สรรพยา”

                                                                        คติชนสร้างสรรค์ใน “สรรพยา”

                                                                                                                                                         ดร.จริญญาพร สวยนภานุสรณ์[1]

 

บทนำ

                   ปัจจุบันคติชนสร้างสรรค์เป็นแนวคิดที่ท้องถิ่นหรือชุมชนนำมาใช้ เพื่อพัฒนาเป็นกระบวนทัศน์ใหม่เชิงนโยบายทางเศรษฐกิจระดับโลกและระดับประเทศตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เนื่องจากกระบวนการทัศน์ เรื่อง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” อาศัยแนวคิดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการสร้างมูลค่าเพิ่ม (value adding) โดยใช้ทุนวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม ซึ่งหมายถึงการนำเอาระบบคุณค่า ระบบความเชื่อ และคติชนที่มีอยู่เดิมในสังคมประเพณีมาสร้างสรรค์ใหม่ในสังคมปัจจุบัน คำว่า “คติชนสร้างสรรค์” (creative folklore) เป็นศัพท์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ หมายถึง คติชนที่มีการสร้างใหม่หรือผลผลิตซ้ำในบริบททางสังคมไทยปัจจุบันในลักษณะของการสืบทอดคติชนในบริบทใหม่ “การประยุกต์” “การต่อยอด” “การตีความใหม่และสร้างความหมายใหม่” หรือ การนำคติชนไปใช้เพื่อ “สร้างมูลค่าเพิ่ม” หรือเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของท้องถิ่นหรืออัตลักษณ์ชาติพันธุ์  ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “สร้างสรรค์” แปลว่า “มีลักษณะริเริ่มในทางดี “ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นความหมาย ในทางบวก (positive) (ศิราพร ณ ถลาง, 2559 : 19-20)

          การยกระดับของท้องถิ่นหรือชุมชนโดยการนำคติชนสร้างสรรค์ดำเนินการนั้น เป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจของท้องถิ่นได้มาก ดังเช่น  ตำบลสรรพยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เป็นชุมชนดั้งเดิมในจังหวัดชัยนาท  ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของจังหวัดชัยนาท ทิศเหนือติดกับอำเภอเมืองชัยนาท ทิศตะวันออกติดอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ทิศใต้ติดอำเภออินทร์บุรี และอำเภอสรรคบุรี จังหวัดสิงห์บุรี  ส่วนทิศตะวันตกติดกับอำเภอสรรคบุรีและอำเภอเมืองชัยนาท

          ภูมินามของ “สรรพยา” เป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านจากวรรณคดี เรื่อง “รามเกียรติ์” ที่เป็นชื่อ ตำบล อำเภอ ภูเขา บึงน้ำ รวมทั้งวัดด้วย “สรรพยา” เกี่ยวข้องกับวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เช่น เดียวกับชื่อของสถานที่ต่างๆ อาทิ ทุ่งพรหมมาสตร์ และทะเลชุบศรในจังหวัดลพบุรี ส่วน “สรรพยา”ปรากฏอยู่ในตอนศึกกุมภกรรณ ครั้งที่ 2 พระลักษมณ์ต้องหอกโมขศักดิ์ของกุมภกรรณจนสลบ ไม่สามารถเยียวยาให้ฟื้นคืนสติได้ หนุมานจึงต้องเร่งรีบเหาะไปยังเขาสรรพยา เพื่อเสาะหาต้นสังกรณีตรีชวามารักษาพระลักษมณ์ตามคำแนะนำของพิเภกเมื่อถึงเชิงเขาก็ตะโกนเรียกหาพืชสมุนไพร “สังกรณีตรีชวา” ได้ยินเสียงขานตอบ แต่เล่นตัวไม่ยอมออกมาโดยดี กลับหนีไปซ่อนทำให้หนุมานต้องหักกลางเขาสรรพยาด้วยความโกรธ แล้วแบกส่วนของภูเขาที่มีต้นสังกรณีตรีชวากลับมา

                                ครั้นถึงสรรพยาสิงขร          วานรลงเดินริมเนินผา

                               ร้องเรียกสังกรณีตรีชวา       อยู่ไหนออกมาอย่าช้าที

                              ได้ยินขานข้างล่างลงไปค้น    กลับขึ้นไปกู่อยู่บนคิรีศรี

                               จึงเอาหางกระหวัดรัดคิรี     มือกระบี่คอยจับสรรพยา

             โดยเชื่อมโยงกับตำนานท้องถิ่นว่า ระหว่างเดินทางหนุมานวางเขากลางทุ่งนา และร้องขอน้ำแก้กระหายแต่เด็กเลี้ยงควายไม่ให้ จึงไปดื่มน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างนั้นเขาก็งอกรากติดกับพื้นดินจนยกไม่ขึ้น สุดท้ายต้องหักเฉพาะยอดเขาด้านทิศใต้ที่มีต้นสังกรณีตรีชวากลับไป พร้อมกับสาปด้วยความขุ่นเคืองใจว่า บนเขานี้มียารักษาได้ทุกโรคแต่คนที่นี่ใจจืด ขออย่าให้ได้ใช้ยาถูกกับโรคใดๆ เลย เป็นเหตุให้เรียก “เขาสาปยา”มาแต่แรก ต่อมาภายหลังชาวบ้านจึงแก้เคล็ด โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “เขาสรรพยา” (สำนักงานเทศบาลตำบลสรรพยา. 2566 : ออนไลน์) อีกทั้งชื่อ “เขาสรรพยา” ได้ปรากฏในเรื่องรามเกียรติ์เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังรอบพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว โดยแบ่งเป็นห้องๆ ทั้งหมด 178 ห้อง มีเนื้อหาของรามเกียรติ์ตั้งแต่เริ่มจนจบ ตามบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ดังปรากฏ ในห้องที่ 77 ดังนี้

                ฝ่ายหนุมานเห็นเป็นพระอินทร์แผลงศรเข้าใส่ก็เข้าใจว่าพระอินทร์ไปเข้ากับฝ่ายทศกัณฐ์ หนุมานโกรธมากตรงเข้าไปหักคอช้างเอราวัณจนอ่อนกำลัง จึงถูกอินทรชิตตีด้วยคันศรจนสลบไป พระรามออกตามหาพระลักษมณ์ในสนามรบพบพระลักษมณ์กับไพร่พลนอนสลบอยู่ จึงรู้ว่าถูกศรพรหมาสตร์ พระรามให้หนุมานไปเอายาที่ “เขาสรรพยา” หนุมานช้อนเอาเขาสรรพยามาตั้งไว้เหนือลม พระลักษมณ์และไพร่พลทหารได้กลิ่นยาก็ฟื้น แล้วก็พากันยกทัพกลับ (วัชรพงศ์ หงษ์สุวรรณ, 2558 : 66) โดยเขาสรรพยาในปัจจุบัน เป็นจุดชมทัศนียภาพแห่งใหม่ในสรรพยา เดิมเป็นภูเขาโดดเดี่ยวกลางทุ่งนาที่ไม่มีผู้ใดรู้จัก กระทั่งชาวบ้านค้นพบโบราณวัตถุและโบราณสถาน จึงได้รับความสนใจมากขึ้น หากเดินตามบันไดขึ้นเขาราว 200 ขั้น จะพบงานแกะสลักนูนต่ำรูปหนุมานบนหินขนาดใหญ่อยู่บนนั้น เมื่อมองจากจุดนั้นด้านบนจะเห็นท้องนาที่มีต้นตาลเรียงรายอย่างงดงาม

                    ส่วนต้นสังกรณีตรีชวา พืชตำนานในรามเกียรติ์ที่หนุมานตามหานั่น เป็นพืชสมุนไพรสองชนิดที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคแตกต่างกัน ดังนี้ “สังกรณี” มีลักษณะเป็นไม้พุ่มความสูงประมาณ 0.6-1.2 เมตร ออกดอกสีม่วงอ่อนในช่วงเดือนมิถุนายนถึงมกราคม มักพบในป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง รากมีรสขม ใช้ต้มน้ำดื่มแก้ร้อนใน ลดไข้ ถอนพิษไข้กาฬ ใบใช้ในการักษาไข้หวัดใหญ่และคออักเสบ หากใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่มจะเป็นยาบำรุงกำลังและแก้อาการไอเป็นเลือด ส่วน “ตรีชวา” มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ความสูงประมาณ 0.5-1.0 เมตร ดอกสีขาวหรือม่วงอ่อน ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง พบได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย ส่วนต้นที่อยู่ดินเหนือมีสารประกอบชื่อ Triterpenoid glycosides ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่า มีคุณสมบัติในการลดรอยแผลเป็น ช่วยสมานแผล เร่งการสร้างเนื้อเยื่อ และลดการอักเสบที่ผิวหนัง

                    จากวรรณคดีและตำนานพื้นบ้านดังกล่าว ชุมชนสรรพยาและเทศบาลตำบลสรรพยาได้ต่อยอดคติชนจากวรรณคดีและตำนานพื้นบ้านที่เชื่อมโยงกับภูมินามต่างๆ ของสถานที่ในชุมชน โดยใช้รูปหนุมานเป็นสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชุมชน อาทิ ชาตรีชวา, สมุนไพรเมืองสาปยา (ยาหม่องตรีชวา), ผ้าบาติก, ผ้ามัดย้อม, ข้าวสรรพยา, สาปยา ผงยาสีฟันสมุนไพร สูตรโบราณ (นางเง็กลั้ง จันทรวรรณกูร เป็นเจ้าของสูตร) เป็นต้น โดยได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในชุมชนที่บอกเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นผ่านวรรณคดีและตำนานพื้นบ้าน ดังเช่น “ชาตรีชวา” มีส่วนผสมของพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่มีอยู่บน “เขาสรรพยา” สอดคล้องกับวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ตอนพระลักษมณ์ถูกหอกโมกขศักดิ์ สรรพคุณ บำรุงหัวใจ สดชื่น ผ่อนคลาย ดับกระหายคลายร้อน ขับปัสสาวะ และดับพิษโลหิต ส่วนประกอบ ใบเตย มะลิ หอมหมื่นลี้ และตรีชวา ส่วน “สมุนไพรเมืองสาปยา” (ยาหม่องตรีชวา) มีสารสกัดจากตรีชวาและสังกรณีผสมด้วย สรรพคุณ ช่วยสมานแผล ลดการอักเสบของผิวหนัง แก้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามร่างกาย ใช้สูดดมเพื่อบรรเทาอาการวิงเวียน

               นอกจากนั้นคติชนประเภทอมุขปาฐะ ยังพบในงานหัตถกรรมผักตบชวาบ้านอ้อย (ศูนย์หัตถกรรมผักตบชวาบ้านอ้อย) โดยใช้ผักตบชวามาเป็นวัสดุทำเครื่องจักสานที่มีความหลากหลายทั้ง กระเป๋า รองเท้าแตะ ตะกร้า หมวก ถาดผลไม้ ทั้งยังพัฒนาออกแบบโดยใช้เทคนิคย้อมสีงานจักสานให้มีความสวยงามมากขึ้น จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ Otop ระดับ 5 ดาว ที่เน้นส่งออกขายในตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงค์โปร์ ฝรั่งเศส เป็นต้น อีกทั้งคติชนประเภทผสม เช่น ประเพณีวันเพ็ญเดือนสามงานบุญเผาข้าวหลาม ยังเป็นประเพณีพิเศษที่เรียกว่า “ทำบุญข้าวหลาม” ในอดีตชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนจะนำข้าวเหนียวซึ่งมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติมาหุงในกระบอกไม้ไผ่ นำมาเผาได้เป็นข้าวหลามสำหรับนำไปถวายพระที่วัด โดยมีความเชื่อว่าหลังจากพิธีสงฆ์คือ นำพวงมาลัยไปไหว้บูชาศาล พร้อมกับหักตอกจำนวนเท่ากับสมาชิกในครอบครัว เรียกว่า การหักตอกไถ่โทษตัว เชื่อว่าจะนำสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ออกไปจากชีวิต และนำสิ่งดี ๆ เข้ามาสู่สมาชิกทุกคนในครอบครัว

                 อีกหนึ่งประเพณีเป็น “ประเพณีอัฏฐมีบูชา” คำว่า “อัฏฐมีบูชา” คือวันถวายพระพลิงพระพุทธสรีระ หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว 8 วัน เดือน 6 หรือวันแรม 8 ค่ำ เดือน 7 ในปีอธิกมาส[2] โดยเมื่อปี พ.ศ.2560 ได้จัดงานประจำปีที่วัดสรรพยาวัฒนาราม และย่านชุมชนตลาดเก่า ภายใต้ชื่อ “งานเล่าขานตำนานเมืองสาปยา (สรรพยา) อัฏฐมีบูชารำลึก” โดยมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น รำโทน แม่ไม้มวยไทย รำวงย้อนยุค โขนรามเกียรติ์ อีกทั้งการแสดง แสง สี เสียงที่บอกเล่าเรื่องราวตำนานเมืองสาปยา (สรรพยา) และพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลองที่น่าสนใจ งานจะจัดขึ้นหลังวันวิสาขบูชาของทุกปี  (สำนักงานเทศบาลตำบลสรรพยา, 2566 : ออนไลน์)

                ศิราพร ณ ถลาง (2559: 136-137) ปรากฏการณ์ ประเพณีสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มเติม ปรับเปลี่ยน ผสมผสาน และสร้างสรรค์ ไปกับกระแสทุนนิยม วัตถุนิยม และกระแสการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ปรากฏการณ์ ประเพณีสร้างสรรค์ ในสังคมปัจจุบันจึงสะท้อนวิธิคิด เชิงพลวัต ของคนไทย เพราะเป็นผลจากการต่อยอด การประยุกต์ การปรับเปลี่ยน ประเพณีดั้งเดิม มาใช้ในบริบทใหม่ด้วยวัตถุประสงค์ใหม่ หรือหากเป็นประเพณีที่สร้างใหม่ ก็สร้างจากฐานวัฒนธรรมหรือความเชื่อเดิมบางประการ ดังนั้นคติชนสร้างสรรค์ในสรรพยา จึงสอดคล้องกับแนวคิดคติชนสร้างสรรค์ ของ เจตนา นาควัชระ (2546 : 104) กล่าวว่า คติชนสร้างสรรค์ คือทฤษฎีที่มีจุดกำเนิดที่ผูกอยู่กับประสบการณ์เฉพาะหรือพื้นฐานทางวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง และวงวิชาการควรจะสร้างทฤษฎีได้โดยไม่ต้องหยิบยืมมาจากแหล่งอื่น ควรมาจากภูมิปัญญาของเราเอง

สรุป

                คติชนสร้างสรรค์ในการนำคติชนไปใช้ในการประยุกต์และการต่อยอดของทุนวัฒนธรรมในชุมชนสรรพยา พลวัตของคติชนในตำนานพื้นบ้านที่เคยมีสถานะเป็นเรื่องเล่าเพื่ออธิบายภูมินามหรือสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ในชุมชนที่ชาวบ้านในท้องถิ่นได้ผลิตเองและจำหน่ายในชุมชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน อีกทั้งผลิตภัณฑ์งานจักสานยังได้สร้างเอกลักษณ์ท้องถิ่นให้ผู้คนภายนอกและนักท่องเที่ยวได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงประเพณีท้องถิ่นที่ประยุกต์ที่บอกเล่าเรื่องราวตำนานของสรรพยาได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นทุนวัฒนธรรมที่สามารถมาปรับใช้ด้วยวัตถุประสงค์ใหม่ในบริบทใหม่เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง

      เจตนา นาควัชชระ. (2546). แนวทางทฤษฎีศิลปะจากแผ่นดินแม่ ในศิลป์ส่องทาง. กรุงเทพฯ : คมบาง.

      วัชรพงศ์ หงส์สุวรรณ. (2558) . มหาภารตรามเกียรติ์. กรุงเทพฯ : วาดศิลป์.

       ศิราพร ณ ถลาง. (2559). “คติชนสร้างสรรค์”: บทสังเคราะห์และทฤษฎี. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

(องค์การมหาชน).

        สำนักงานเทศบาลตำบลสรรพยา. (2566). ฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น. สืบค้น 16 กุมภาพันธ์ 2566,     

จาก http://www.sapphaya.go.th/

[1] อาจารย์สาขาภาษาไทย (ค.บ) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา[2] ปีที่มีเดือน 8 สองครั้ง เพื่อให้ปฏิทินทางจันทรคติเทียบกับปฏิทินทางสุริยคติได้โดยจำนวนวันไม่ต่างกันมากเกินไป