ก้าวให้ทันสอนออนไลน์กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว

บทนำ

         ผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21 คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เท่าทัน เพื่อสามารถนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการเอื้อประโยชน์กับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ด้านการศึกษาก็เช่นเดียวกัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการอำนวยความสะดวกต่อผู้สอน และกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนมากขึ้น สื่อการเรียนการสอนจึงเป็นสิ่งที่ผู้สอนใช้เป็นตัวกลางที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ของการเรียนการสอนที่กำหนดไว้อย่างง่ายและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นบุคคล วัสดุ อุปกรณ์ ตลอดจน เทคนิควิธีการเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายในการสอนโดยรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่จึงแตกต่างไปจากผู้คนยุคก่อนอย่างสิ้นเชิง (ฤดี กมลสวัสดิ์. 2560) การเรียนรู้ออนไลนไลน์ผ่านอีเลิร์นนิง คอร์สแวร์เป็นกระบวนการและสื่อที่ตรงกับลักษณะความสนใจของผู้เรียนระดับอุดมศึกษา และเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้สอนเลือกใช้ให้เกิดรูปแบบการเรียนแบบผสมผสาน (hybrid learning) อันจะช่วยเร้าความสนใจของผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ภัทธิรา ธีรสวัสดิ์. 2556) ดังนั้น อีเลิร์นนิงคอร์สแวร์จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเป็นสื่อกลางถ่ายทอดเนื้อหาอย่างเป็นระบบที่มีความเหมาะสมกับผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21 เนื่องจากมีการจัดเนื้อหาออกเป็นตอน ๆ ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง มีปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมในการเรียนตลอดเวลา สามารถศึกษาเรียนรู้ได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่โดยผ่านระบบเครือข่าย

คำสำคัญ : สอนออนไลน์

การเรียนรู้ออนไลน์

          การเรียนการสอนออนไลน์ เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มีการออกแบบการเรียนการสอนไว้อย่างเป็นระบบ มีการกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายการจัดการเรียนการสอนไว้อย่างชัดเจน จัดการเรียนการสอนตามหลักทฤษฎีทางการศึกษาและถ่ายทอดกลยุทธ์การสอนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือ ซึ่งในปัจจุบันเน้นไปที่การใช้ระบบ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงและเรียนรู้โดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา เนื้อหาบทเรียนของอีเลิร์นนิงจะอยู่ในรูปแบบสื่อผสมอิเล็กทรอนิกส์ (electronic multimedia) ซึ่งออกแบบไว้ในลักษณะคอร์สแวร์ ประกอบด้วยสื่อผสม ได้แก่ ข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง และที่สำคัญ คือ ผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับบทเรียนและผู้สอนได้ การบริหารจัดการอีเลิร์นนิงใช้ซอฟต์แวร์ประเภทบริหารจัดการการเรียนรู้ (learning management system: LMS) ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการอย่างอัตโนมัติเกือบทุกขั้นตอนแทนการปฏิบัติด้วยมือ ตั้งแต่ขั้นตอน การลงทะเบียนเรียนจนถึงขั้นตอนการวัดและประเมินผลการเรียนการสอน

          การเรียนรู้ออนไลน์ที่ดีประกอบไปด้วยลักษณะสำคัญ ดังนี้ (1) ทุกที่ ทุกเวลา (everywhere everytime)หมายถึง บทเรียนออนไลน์ที่สามารถช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล และเนื้อหาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้จริง ในที่นี้หมายรวมถึงการที่ผู้เรียนสามารถเรียกดูเนื้อหาได้ตามความสะดวกของผู้เรียน (2) สื่อผสม (multimedia) หมายถึง บทเรียนออนไลน์ต้องผสมผสานสื่อต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับการนําเสนอเนื้อหาโดยใช้ประโยชน์จากสื่อประสมเพื่อช่วยในการประมวลผล สารสนเทศของผู้เรียนให้เกิดความคงทนในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น (3) ไม่ใช่เส้นตรง (non-linear) หมายถึง บทเรียนออนไลน์สำหรับการเรียนรู้แบบที่ควรต้องมีการนําเสนอเนื้อหาในลักษณะที่ไม่เป็นเชิงเส้นตรง กล่าวคือ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาตามความต้องการในแต่ละบทเรียนออนไลน์จะต้องจัดหาการเชื่อมโยงที่ยืดหยุ่นแก่ผู้เรียน (4) ปฏิสัมพันธ์ (interaction) หมายถึง บทเรียนออนไลน์ต้องมี การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหา หรือผู้ที่มีความต้องการเข้าถึงข้อมูลอื่นได้ กล่าวคือ บทเรียนออนไลน์ควรต้องมีการออกแบบกิจกรรมซึ่งผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับเนื้อหา รวมทั้งมีการจัดเตรียมแบบฝึกหัดและแบบทดสอบให้ผู้เรียนสามารถตรวจสอบความเข้าใจด้วยตนเองได้ บทเรียนออนไลน์ควรต้องมีการจัดทำเครื่องมือในการให้ช่องทางแก่ผู้เรียนในการติดต่อสื่อสารเพื่อการปรึกษา สนทนา อภิปราย ซักถามแสดงความคิดเห็นกับผู้สอน วิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ หรือเพื่อน ๆ ได้เป็นอย่างดี (5) การตอบสนองแบบทันทีทันใด (immediate response) หมายถึง บทเรียน ออนไลน์ควรต้องมีการออกแบบให้มีการทดสอบ การวัดผลและการประเมินผล ซึ่งให้ผลตอบกลับโดย ทันทีแก่ผู้เรียนไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะของแบบทดสอบก่อนเรียน (pre-test) หรือแบบทดสอบ หลังเรียน (post-test) เป็นต้น

องค์ประกอบของบทเรียนออนไลน์

              สุนันท์ สังข์อ่อง (2549) กล่าวถึงบทเรียนออนไลน์ว่ามีองค์ประกอบหลาย ๆ ด้านได้แก่ (1) วิธีสอน (pedagogy) หมายถึง วิธีการนําเสนอการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมการเรียนการใช้แรงเสริม แรงจูงใจ การจัดระบบการมอบหมายงาน การให้ข้อมูลป้อนกลับ การวัดผล และการบูรณาการกับหลักสูตร (2) การประเมินผล (assessment) ถ้าเป็นการสอนปกติครูจะเก็บข้อมูลจากการวัดผลด้วยคะแนนหรือจากวิธีการสังเกต เพื่อตัดสินว่าผู้เรียนมีพัฒนาการอย่างไร ในการเรียนแบบบทเรียนออนไลน์จะใช้วิธีประเมินแบบไม่เป็นทางการไม่ได้เนื่องจากยากที่จะวัดได้ การประเมินผลจะต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุมชัดเจนเพื่อมุ่งวัดสมรรถภาพที่เกิดขึ้น มีการให้ข้อมูล ป้อนกลับและมีการตัดสินคะแนน การประเมินผลในบทเรียนออนไลน์มีความจําเป็นมากกว่าการสอนปกติ เนื่องจากผู้เรียนและผู้สอนไม่ได้พบกันแบบหน้าต่อหน้า การประเมินแบบไม่เป็นทางการ เช่น การสังเกต         การซักถาม จึงทำไม่ได้ในบทเรียนออนไลน์ดังนั้นจึงต้องมีการประเมินบ่อย ๆ และ ประเมินทุกขณะของการเรียนรู้ (3) เนื้อหา (content) ตามทฤษฎีเนื้อหาควรสัมพันธ์กับวิธีสอนหรือวิธีเรียนจึงยังคงมีคําถามที่ต้องวิจัยว่าเนื้อหาที่ใช้สอนในบทเรียนออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จควรมีลักษณะเช่นไร (4) การนําเสนอเนื้อหา (instruction delivery) วิธีการที่ใช้ในการนําเสนอการเรียนแบบออนไลน์มีความสำคัญยิ่งในการเรียนแบบบทเรียนออนไลน์ (5) การบริหารการเรียนการสอน (instructional management) มีสิ่งสำคัญ 2 อย่างคือ แหล่งความรู้(resource) และระบบ (systems) หมายถึง การจัดแหล่งความรู้ การให้ข้อมูลป้อนกลับ การจัดเก็บข้อมูลการประเมิน และการสนับสนุนเกี่ยวกับสมรรถภาพผู้เรียน แหล่งความรู้ ข้อมูลระหว่างเรียนการออกแบบการเรียนงานที่มอบหมาย และบันทึกระเบียบพัฒนาการ (6 ) มาตรฐานและเป้าหมาย (standard and policies) หมายถึง ความสามารถเข้าถึงได้ (accessibility) ความยืดหยุ่น (flexibity) การเรียนการสอนแบบไม่ประสานเวลา (asynchronous) บทเรียนออนไลน์และการจัดองค์ประกอบของบทเรียนออนไลน์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานและเป้าหมายปัจจุบัน    (7) รูปแบบบทเรียนออนไลน์ที่ใช้กันอยู่นั้นยังไม่มีข้อมูลเชิงวิจัยสนับสนุนว่าแบบใดจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการทำให้บทเรียนออนไลน์เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด การสอนแบบออนไลน์เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่นําระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ใน   การเรียนการสอน การสอนในยุคสมัยใหม่ไม่ต้องอาศัยตําราเพียงอย่างเดียว ผู้เรียนทุกคนในชั้นเรียนไม่ใช้ตําราจากที่กำหนดโดยอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น แต่สามารถแสวงหาแหล่งความรู้อื่นได้อีกมากมาย บทบาทการสอนของอาจารย์จะเปลี่ยนจากการใช้ชอล์กและกระดานดำมาเป็นการชี้นํา การใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาจัดการให้เกิดปฏิสัมพันธ์ ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้เรียน และผู้เรียนกับแหล่งข้อมูล จะช่วยให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถเข้าถึงเนื้อหาและใช้งานได้ง่าย โดยมีเครื่องมือทางด้านการจัดการ การปรับปรุง การควบคุม การสำรองข้อมูล การบันทึกสถิติผู้เรียน และการประเมินผล ตลอดจนการตรวจให้ คะแนนผู้เรียน ผู้ใช้สามารถเรียกใช้เครื่องมือเหล่านี้ผ่านโปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์

สรุป

           การเรียนรู้ออนไลน์เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคปัจจุบันซึ่ง ทำให้การเรียนรู้ไม่หยุดชะงัก โดยไม่มีข้อจำกัดของสถานที่และเวลาในการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ทั้งนี้การเรียนรู้ออนไลน์ยังมีความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลาและสถานที่ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งผู้เรียนไม่ต้องเผชิญปัญหารถติด  เพื่อเข้าชั้นเรียนให้ทันหรือเสียเวลาเดินทางไปกลับวันละหลาย ๆ ชั่วโมงสำหรับการเดินทาง และใช้เวลาเรียนรู้    สิ่งต่าง ๆ ได้เพิ่มเติม นอกจากนี้การเรียนรู้แบบออนไลน์ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้ามาทบทวน บทเรียนและเนื้อหาต่าง ๆ ได้ตลอดเวลาตามที่ต้องการ การเรียนรู้ ออนไลน์จึงตอบสนองข้อจำกัดเหล่านี้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนที่สะดวกเข้ามาเรียนรู้เนื้อหาและทำกิจกรรมได้ไม่แตกต่างกับการเข้าชั้นเรียนปกติมีโอกาสได้รับคะแนนและฝึกฝนทักษะต่าง ๆ โดยไม่ต้องกดดัน อีกทั้งกิจกรรมจากสื่อต่าง ๆ ในการเรียนรู้ออนไลน์นั้น มีความหลากหลายสอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้เรียนในยุคปัจจุบันที่มีความสนใจและถนัดใช้งาน ด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยตนเอง แม้ว่าการเรียนรู้ออนไลน์จะทำให้การมีปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนลดน้อยลงแต่ผู้สอนสามารถออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มเติมได้ ซึ่งการเรียนรู้ออนไลน์นั้นยังช่วยเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนที่ไม่กล้าแสดงออกในชั้นเรียนปกติได้มีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นผ่าน Chat Box และช่วยปรับพฤติกรรมของผู้เรียนให้มีความกล้าขึ้นได้ตามลำดับอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

ภัทธิรา ธีรสวัสดิ์. (2556). รายงานการวิจัยเรื่อง การพัฒนาสื่อบทเรียนลิเล็กทรอนิกส์: การจัดการสื่อสาร.

           กรุงเทพฯ: วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ฤดี กมลสวัสดิ์. (2560). สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูภาษาไทยยุคใหม่. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย

          ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.

สุนันท์ สังข์อ่อง. (2545). สื่อการสอนและนวัตกรรมทางการศึกษา. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

 

บทความเพิ่มเติมใน MEDIUM BLOG