การใช้การศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์: คุณค่าของการพัฒนาผู้หญิงในบทเพลงสุนทราภรณ์

     บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการนำแนวคิดทางพัฒนศึกษา มาวิเคราะห์คุณค่าของผู้หญิงผ่านบทเพลงสุนทราภรณ์ ในช่วงทศวรรษ 2480 ซึ่งเป็นยุคอุดมการณ์สร้างชาติ โดยคัดสรรบทเพลง จำนวน 12 เพลง มาวิเคราะห์เนื้อหาและตีความผ่านภาษาและบริบททางสังคม โดยใช้กรอบของการพัฒนามนุษย์ในมิติของมนุษยศาสตร์การศึกษา ผลการศึกษา พบว่า บทเพลงสุนทราภรณ์ในช่วงดังกล่าวให้คุณค่าการพัฒนาผู้หญิงในมิติมนุษยศาสตร์โดยมุ่งให้การศึกษาเพื่อขัดเกลาด้านต่าง ๆ ได้แก่ มีความประพฤติดี กล้าหาญ รักชาติ เสียสละ เป็นภรรยาและเป็นแม่ที่ดี นอกจากนั้น เนื้อหาของบทเพลงที่นำมาศึกษายังสะท้อนนโยบายการสร้างชาติของรัฐบาลซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างวัฒนธรรมอันเป็นเครื่องมือพัฒนาชาติให้เกิดความแข็งแกร่งของยุคนั้น    ในแง่นี้คุณค่าของผู้หญิงจึงผนวกเข้าไปกับนโยบายของยุคสมัย