การแสดงความไม่เคารพ” เป็นความผิดตามมาตรา 112 ได้จริงไหม ?

หลังจากทางเพจของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เผยแพร่ Infographic เกี่ยวกับองค์ประกอบความผิดของกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งจัดทำโดยฝ่ายกฎหมายกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กองกฎหมายกระบวนการยุติธรรม แต่ปรากฎว่าโพสต์ดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และถูกลบไปในท้ายที่สุด
.[คำถามก็คือ Infographic ดังกล่าวมีความถูกต้องทางกฎหมายหรือไม่ ?] (ยาว : ข้อสรุปอยู่ในข้อ 3-4)
.[1. หลักประกันและการใช้กฎหมายอาญา]กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่บทลงโทษที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้กระทำ ดังนั้น กฎหมายอาญาจึงต้องมีหลักประกันเพื่อป้องกันการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยหลักการที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือ “การจะลงโทษบุคคลใดได้ก็ต่อเมื่อเขาได้ทำสิ่งซึ่งกฎหมายบัญญัติเอาไว้ว่าเป็นความผิด” ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ถูกบัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญ 60 และกฎหมายอาญามาตรา 2
.
นอกจากนี้ ในมาตรา 59 ของประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติหลักเกณฑ์เอาไว้ว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา…” ดังนั้น จะเห็นการกระทำของบุคคลจะถือเป็นความผิดและต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันได้แก่ องค์ประกอบภายนอก + องค์ประกอบภายใน (ยกเว้นกรณีความผิดลหุโทษที่ความผิดสำเร็จได้โดยไม่ต้องมีเจตนาตามมาตรา 104)
.
ในส่วนของวิธีการใช้และการตีความกฎหมายอาญายังมีหลักการสำคัญอีกว่า “กฎหมายอาญาจะต้องตีความโดยเคร่งครัด” หรือก็คือไม่สามารถตีความขยายความจากที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ได้
.[2. กฎหมายอาญามาตรา 112]การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 112 จะต้องเป็นการกระทำใน 3 ลักษณะ ได้แก่ “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย”
.[3. การแสดงความไม่เคารพ เป็นความผิดตามกฎหมายจริงไหม ?]เมื่อเรานำหลักเกณฑ์เรื่องทั้งหมดข้างต้นมาพิจารณา เราจะเห็นได้ว่า การใช้และตีความมาตรา 112 จะต้อง “ตีความอย่างเคร่งครัด” ดังนั้น การที่เขียนขยายความว่า “การแสดงความไม่เคารพ” จะเป็นความผิดตามมาตรา 112 จึงไม่สามารถทำได้
.
นอกจากนี้ การจะตีความว่า การไม่เคารพ อยู่ในความหมายของ “การดูหมิ่น” “หมิ่นประมาท” หรือ “อาฆาตมาดร้าย” ก็ไม่อาจเป็นไปได้เช่นกัน มิเช่นนั้นจากนี้ไปเราคงได้เห็นคนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทคนที่ไม่ยกมือไหว้ผู้ใหญ่ หรือไม่โค้งตัวเมื่อเดินผ่านผู้ใหญ่เป็นแน่
.
อีกทั้ง หากพิจารณาประมวลกฎหมายอาญาทั้งฉบับก็ไม่มีปรากฎว่ามีการบัญญัติให้ “การแสดงความไม่เคารพ” เป็นความผิด ดังนั้น จึงไม่อาจลงโทษผู้ที่แสดงความไม่เคารพผู้อื่นได้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามหลักประกันของกฎหมายอาญา
.
นอกจากนี้ “การเคารพ” หรือ “ไม่เคารพ” เป็นเรื่องทางอัตวิสัย ที่เป็นเรื่องเฉพาะของบุคคลโดยแท้ซึ่งไม่มีใครสามารถบังคับ หรือก้าวล่วงได้ ดังนั้น การแสดงความไม่เคารพจึงไม่ควรเป็นความผิด เว้นเสียแต่ว่าจะมีการนำ “การไม่เคารพ” มาเป็นเหตุจูงใจในการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป
.[4. การใช้กฎหมายกับความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกฎหมาย]ในขณะที่สังคมมีความเคลือบแคลงสงสัยต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในหลาย ๆ ภาคส่วน สิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็คือการใช้และตีความขยายขอบเขตแห่งกฎหมายจนไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
.
การกระทำดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเพิ่มความสงสัยในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม แต่ยังเป็นการทำให้หน่วยงานของรัฐผู้บังคับใช้กฎหมายกลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับประชาชนโดยตรง
.
เจ้าหน้าที่รัฐควรคำนึงไว้เสมอว่า ตนในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นบุคคลที่สามารถให้คุณหรือโทษแก่ผู้อื่นได้ ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายจึงต้องใช้อย่างระมัดระวังและใช้อย่างมีความรับผิดชอบ
.
ท้ายที่สุด กฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีปัญหาหรือไม่มีปัญหาในทางกฎหมาย ก็ควรให้เป็นปัญหาในเชิงเนื้อหาและหลักการของกฎหมายที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงความเหมาะสมได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ #จงอย่าสร้างเงื่อนไขหรือเพิ่มเติมปัญหาให้แก่กฎหมายด้วยการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เพราะการกระทำดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดผลใด ๆ ในทางบวกแก่สังคม
.
ให้ปัญหาของกฎหมายเป็นปัญหาที่ตัวบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จงอย่าเพิ่มปัญหากฎหมายด้วยการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง