การอยู่ไฟในมารดาหลังคลอด

การตั้งครรภ์ และคลอดบุตร ทำให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง และบางส่วนได้รับผลกระทบอย่างมาก การฟื้นฟูให้ร่างกายกลับมาสู่สภาพปกติจำเป็นต้องได้รับการดูแลและปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังคลอด

มดลูก เป็นอวัยวะที่รับภาระหนักมาตลอดเก้าเดือน จากขนาดที่เล็กประมาณผลชมพู่ ต้องขยายใหญ่กว่าแตงโม เพื่อรองรับทารกในครรภ์ระหว่างคลอดต้องบีบตัวให้ทารกเคลื่อนออกมา รวมทั้งขับรกและของเสียต่างๆ ในมดลูกให้ออกมา หลังคลอดแล้วยังต้องบีบรัดตัวให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ทำให้เกิดการเจ็บปวดบ้าง ประมาณ2-3วัน และอาจเจ็บเล็กน้อย ต่อไปอีก ราว 7 วัน จนมดลูกกลับเข้าสู่เชิงกราน การดูแลอาจจะมีการประคบด้วยความร้อนบ้าง ก็จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้หรือจะใช้วิธีการอยู่ไฟแบบแพทย์แผนไทยก็จะช่วยได้มาก

ในช่วงนี้จะมีน้ำคาวปลาถูกขับออกมาจากโพรงมดลูก 2-3 วันแรกจะมีสีเข้มเหมือนเลือดเก่า และมีกลิ่นคล้ายประจำเดือน ในวันถัดมาสีจะจางลง เป็นสีชมพูหลังจากนั้นจะจางลง และปริมาณจะน้อยลงเรื่อยๆ จนหมดไปภายใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอด

ฝีเย็บ เป็นผิวหนังที่อยู่ระหว่างอวัยวะเพศกับทวารหนัก ในการคลอดอาจจะถูกกรีดเพื่อให้สะดวกต่อการคลอด และเย็บติดไว้ หลังคลอดจะรู้สึกเจ็บปวดแผลบ้างแต่จะรู้สึกบรรเทาลงและเป็นปกติใน 5-7 วัน

ระบบขับถ่าย ไม่มีผลกระทบเท่าใดนัก แต่วันแรกอาจจะไม่ถ่ายเพราะงดอาหารและน้ำก่อนคลอด บางคนอาจจะกลัวเจ็บเวลาถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระจนไม่อยากเบ่งถ่าย แต่ส่วนมากจะเป็นปกติภายใน 6-8 ชั่วโมง

เต้านม ภายหลังจากการคลอดกลไกในร่างกายจะกระตุ้นให้มีน้ำนม จึงอาจเกิดอาการตึงคัดควรให้ลูกดูดนมแม่ เพราะนอกจากจะช่วยลดอาการตึงคัดแล้ว ทารกยังได้รับสารอาหารที่มีคุณค่า รวมทั้งภูมิต้านทานที่เหมาะสมและดีที่สุดจากแม่ การให้นมลูกจะต้องให้ทารกงับถึงลานนมจึงจะมีน้ำนมพุ่งออกมา อย่าเพียงแค่เอาหัวนมใส่ปากให้ดูด เพราะน้ำนมจะไม่ออก การดูแลเต้านมช่วงนี้ไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากนอกจากการทำความสะอาด แต่ไม่ถึงกับต้องทำบ่อยจนเกินไป เพราะต่อมไขมันภายในจะผลิตไขออกมาช่วยถนอมเต้านมและหัวนมอยู่แล้ว

กล้ามเนื้อหน้าท้อง หลังคลอดอาจจะมีอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อหน้าท้อง โดยปกติจะกลับคืนสู่สภาพปกติภายใน 6 สัปดาห์ แต่ถ้าบริหารสม่ำเสมอจะช่วยให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้เร็วขึ้น

การปฏิบัติตัวหลังคลอด

อ่านต่อเพิ่มเติม