การสร้างหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย

การสร้างหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย

          การวิจัยเรื่อง การสร้างหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย เป็นการศึกษาในลักษณะของการวิจัยและพัฒนา(Research and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณลักษณะปัจจุบัน และความต้องการในการเสริมสร้างคุณลักษณะของครูดนตรีไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย และสร้างหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย โดยมีขั้นตอนการดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอน คือ

          ขั้นตอนที่ 1  การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน  เป็นการศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร หลักการการจัดฝึกอบรม เกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย และเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นการศึกษาคุณลักษณะปัจจุบันและความต้องการในการเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องของครูดนตรีไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการสร้างหลักสูตรฝึกอบรมให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการที่แท้จริงของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ผู้วิจัยใช้ในการศึกษา เป็นครูผู้สอนดนตรีไทยในสถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 222 คน(โรงเรียนละ 1 คน) โดยผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการจัดส่งแบบสอบถามที่ปรับปรุงและแก้ไขแล้วไปยังกลุ่มตัวอย่าทั้งหมด แล้วจึงนำแบบสอบถามที่ได้รับมาตรวจสอบและคัดเลือกเฉพาะฉบับที่สมบูรณ์เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปหาค่าเฉลี่ย(Means) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน(Standard Deviation) 

          ขั้นตอนที่ 2 การสร้างหลักสูตร เป็นการสร้างหลักสูตร(ฉบับร่าง) ให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย ขั้นที่ 6 และผลจากการศึกษาในขั้นตอนที่ 1 มากำหนดหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย(ฉบับร่าง) โดยมีขั้นตอนย่อย 3 ขั้นตอน คือ การสร้างหลักสูตร(ฉบับร่าง)การตรวจสอบหลักสูตร(ฉบับร่าง) และการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร(ฉบับร่าง)

          ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้หลักสูตร เป็นการนำหลักสูตรที่พัฒนาในขั้นตอนที่ 2 มาทดลองใช้หลักสูตรด้วยการนำไปปฏิบัติจริงกับกลุ่มตัวอย่าง คือ ครูดนตรีไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สังกัดอยู่ในสถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษาถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 15 คน

          ขั้นตอนที่ 4 การประเมินผลหลักสูตร เป็นกระบวนการตรวจสอบผลที่เกิดจากการทดลองใช้หลักสูตรฝึกอบรม เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ สำหรับนำไปใช้ในการปรับปรุงองค์ประกอบต่างๆ ของหลักสูตร โดยประเมินจาก

          1. ด้านความรู้ความเข้าใจภาคทฤษฎี ประเมินโดยใช้แบบสอบถามความรู้ความเข้าใจก่อนและหลังการฝึกอบรมหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทย เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย ซึ่งประเมินโดยแบบสอบถามปลายเปิด ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นหลังการฝึกอบรม

          2. ด้านคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย ประเมินโดยใช้แบบประเมินคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยก่อนและหลังการฝึกอบรมหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทย เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีค่าคะแนนเฉลี่ยผ่านเกณฑ์การฝึกอบรม ร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม

          3. ด้านความคิดเห็นของผู้เข้ารับการฝึกอบรมต่อหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย ประเมินโดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เข้ารับการฝึกอบรมต่อหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีความคิดเห็นต่อรายการประเมินในระดับความคิดเห็นตั้งแต่ 3.50 ขึ้นไป(ระดับมาก)

          4. ด้านความพึงพอใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ประเมินโดยใช้แบบประเมินผลความพึงพอใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีต่อการฝึกอบรมครูดนตรีไทย เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีความพึงพอใจต่อรายการประเมินในระดับความพึงพอใจตั้งแต่ 3.50 ขึ้นไป(ระดับมาก)

          โดยผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินผลหลักสูตรมาปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร เพื่อให้ได้หลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยที่สมบูรณ์ ซึ่งผลการวิจัย พบว่า

          1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน

          การศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการสร้างหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย เป็นการศึกษาคุณลักษณะปัจจุบันและความต้องการในการเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องของครูดนตรีไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย  โดยผู้วิจัยได้กำหนดกลุ่มตัวอย่าง คือ ครูผู้สอนดนตรีไทยในสถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 222 คน(โรงเรียนละ 1 คน) ซึ่งผู้วิจัยได้รับแบบสอบถามกลับมายังผู้วิจัย จำนวน 177 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 79.73 ผลการศึกษาพบว่า

          1.1 คุณลักษณะปัจจุบันด้านการขับร้องของครูดนตรีไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง(  = 3.04, S.D. = 0.97) จำแนกตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง(  = 3.14, S.D. = 0.93 และ  = 2.97, S.D. = 1.01 ตามลำดับ)

          1.2 ความต้องการในการพัฒนาคุณลักษณะด้านการขับร้องของครูดนตรีไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก(  = 3.94,S.D. = 0.85) จำแนกตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติอยู่ในระดับมาก(  = 3.94, S.D. = 0.85 และ  = 3.95, S.D. = 0.85 ตามลำดับ)

          2. ผลการสร้างหลักสูตร

          ผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์คุณลักษณะปัจจุบันและความต้องการในการเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องของครูดนตรีไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยประกอบกับการศึกษาข้อมูลตามขอบเขตของเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย พุทธศักราช 2553 มาเป็นแนวทางในการกำหนดหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย และนำหลักสูตร(ฉบับร่าง) ดังกล่าวไปให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน พิจารณาในประเด็นต่างๆ และมีผลการพิจารณา ดังนี้

                   2.1 ความเหมาะสมของแต่ละองค์ประกอบในหลักสูตร(ฉบับร่าง) มีผลการประเมินในค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.80 – 4.60 และมีค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานระหว่าง 0.00 – 0.84 แสดงว่า ทุกองค์ประกอบของหลักสูตร(ฉบับร่าง) มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากขึ้นไป  

                   2.2 ความสอดคล้องของหลักสูตร(ฉบับร่าง) มีค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่าง 0.8 – 1.00 แสดงว่า หลักสูตร(ฉบับร่าง) มีความสอดคล้องกันทุกประเด็น

                   2.3 ความเที่ยงตรงของเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากทุกรายการระหว่าง  4.00 – 4.40 แสดงว่า เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยมีความเหมาะสมเที่ยงตรงเพียงพอสำหรับการใช้ในการประเมินผลหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย

             ผู้วิจัยนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการตรวจสอบหลักสูตร(ฉบับร่าง) ผู้วิจัยได้สรุปเป็นประเด็นในการปรับปรุงและการดำเนินการปรับปรุงของผู้วิจัยได้ดังนี้

          1)  สภาพปัญหาและความจำเป็น ได้ดำเนินการปรับปรุงโดยปรับปรุงภาษาและการเขียนความจำเป็นที่ต้องสร้างหลักสูตรฝึกอบรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

          2)  หลักการของหลักสูตร ได้ดำเนินการปรับปรุงโดยปรับปรุงภาษาและการเขียนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

          3)  กิจกรรมและระยะเวลา ซึ่งเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของหลักสูตรที่ต้องการเน้นการฝึกอบรมในภาคปฏิบัติ  จึงได้ดำเนินการปรับแก้รูปแบบของกิจกรรม และจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญจากจำนวน 30 คน เป็นจำนวน 15 คน

          4)  การประเมินผลและเครื่องมือที่ใช้ ได้ดำเนินการปรับปรุงภาษาในการวัดและประเมินผลด้านความรู้ความเข้าใจ และความพึงพอใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้ชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

          3. ผลการทดลองใช้หลักสูตร

          ในการทดลองใช้หลักสูตรผู้วิจัยได้ชี้แจงรายละเอียด เนื้อหา และรูปแบบการฝึกอบรมแก่วิทยากรล่วงหน้า เพื่อให้วิทยากรได้เตรียมความพร้อมในการศึกษาข้อมูลเนื้อหาของหลักสูตร และได้ทวนทางเพลงให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยที่กำหนดไว้ในการฝึกอบรม รวมทั้งมีการเตรียมการใช้หลักสูตรโดยมีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้วิจัย วิทยากร และผู้เข้ารับการฝึกอบรม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการทดลองใช้หลักสูตร ซึ่งปรากฏว่า การกำหนดระยะเวลาการฝึกอบรมในภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติได้มีการปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นในแต่ละเนื้อหาของแต่ละหน่วยย่อย แต่กำหนดให้ระยะเวลาการฝึกอบรมในภาพรวมเป็นไปตามที่กำหนด และได้เพิ่มระยะเวลาในการทำแบบสอบถามความรู้ความเข้าใจก่อนและหลังการฝึกอบรมหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทย เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยและแบบประเมินคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยก่อนและหลังการฝึกอบรม โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องปฏิบัติการขับร้องในบทเพลงที่กำหนดในการฝึกอบรมร่วมกับวงดนตรีไทย เพื่อสร้างประสบการณ์ในการขับร้องเพลงไทยที่กำหนดร่วมกับวงดนตรีไทย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมและการเรียนการสอนดนตรีไทยภาคปฏิบัติได้จริง รวมทั้งกำหนดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เข้ารับการฝึกอบรมต่อหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย และแบบประเมินผลความพึงพอใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีต่อการฝึกอบรมครูดนตรีไทย เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย ในช่วงท้ายของการฝึกอบรม

          นอกจากนี้ ผู้วิจัยซึ่งเป็นผู้ดำเนินการประสานงานการฝึกอบรมและเป็นผู้สังเกตการณ์ตลอดระยะเวลาการฝึกอบรม พบว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกท่านสามารถใช้เวลาในการปรับตัวและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้เข้ารับการฝึกอบรมต่างมีความกระตือรือร้นในการเพิ่มพูนความรู้และทักษะจากการฝึกอบรมอย่างเต็มที่ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมส่วนใหญ่จะมาร่วมกันฝึกซ้อมบทเพลงที่ได้รับการถ่ายทอด ก่อนการฝึกอบรมตั้งแต่เวลา 7.30 น. และผู้เข้ารับการฝึกอบรมบางท่านจะอยู่ฝึกซ้อมเพิ่มเติมร่วมกับวงดนตรีไทยของนิสิตภายหลังการฝึกอบรมในแต่ละวัน และระหว่างการฝึกอบรมผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น อภิปรายซักถาม และแลกเปลี่ยนทรรศนะกับวิทยากรทั้งภายในและภายนอกห้องฝึกอบรม ในส่วนของการกิจกรรมและระยะเวลาในการฝึกอบรมตามหลักสูตรนั้น พบว่า ระยะเวลาสำหรับการทดลองใช้ในหน่วยการเรียนรู้ที่ 2 หลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย ภาคปฏิบัติ จำนวน 25 ชั่วโมง เป็นระยะเวลานานเกินไป เนื่องจากสื่อที่ผู้วิจัยเตรียมไว้ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมซึ่งครอบคลุมถึงโน้ตทำนองร้อง และแผ่นบันทึกเสียงบทเพลงที่กำหนดนั้น เป็นส่วนสนับสนุนให้การฝึกอบรมในแต่ละบทเพลงเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว จึงควรปรับระยะเวลาในการฝึกอบรมในหน่วยการเรียนรู้นี้ให้คงเหลือ จำนวน 20 ชั่วโมง  และต้องกำหนดกิจกรรมในการขับร้องร่วมกับวงดนตรีไทยให้เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งในการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เกิดประสบการณ์การขับร้องร่วมกับวงดนตรีไทยก่อนมีการประเมินรายบุคคล โดยกำหนดกิจกรรมดังกล่าวไว้ท้ายการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ จำนวน 2 ชั่วโมง แล้วจึงเข้าสู่กิจกรรมการประเมินหลังการทดลองใช้หลักสูตรตามปกติ

          4. ผลการประเมินหลักสูตร

             4.1 ผลการประเมินความรู้ความเข้าใจก่อนและหลังการฝึกอบรมหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทย เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย พบว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจในหัวข้อประวัติการขับร้อง องค์ประกอบด้านกายภาพของผู้ขับร้อง ประวัติศิลปินต้นแบบที่สำคัญ ระบบการขับร้อง แบบแผนการเรียนรู้และแบบแผนกระบวนการฝึกฝน/ฝึกซ้อม การใช้อุปกรณ์และเครื่องมือเสริมสร้างพัฒนาการ แบบแผนและจรรยาบรรณวิชาชีพ และศัพท์สังคีตเพิ่มขึ้นหลังจากเข้ารับการฝึกอบรม โดยทราบถึงเนื้อหาและรายละเอียดของเนื้อหาในแต่ละหัวข้อมากยิ่งขึ้น

             4.2 ผลการประเมินคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย พบว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนมีผลการประเมินร้อยละ 70 ขึ้นไป (คะแนนเฉลี่ย 8.53 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) โดยผลการประเมินคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย ก่อนทดลองใช้หลักสูตรฝึกอบรมและหลังทดลองใช้หลักสูตรฝึกอบรมแตกต่างกัน โดยผลการประเมินคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยหลังทดลองใช้หลักสูตรฝึกอบรมมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าผลการประเมินคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยก่อนทดลองใช้หลักสูตรฝึกอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

             4.3 ผลการประเมินความคิดเห็นของผู้เข้ารับการฝึกอบรมต่อหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทย เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย พบว่า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด(  = 4.60, S.D. = 0.54)

             4.4 ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีต่อการฝึกอบรมครูดนตรีไทย เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านการขับร้องตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย พบว่าโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก(  = 4.46, S.D. = 0.61)

ข้อเสนอแนะ

        1. ข้อเสนอแนะในการนำหลักสูตรไปใช้

           1.1 ก่อนนำหลักสูตรไปใช้ต้องศึกษาหลักสูตรฉบับนี้ทุกองค์ประกอบ เพื่อให้การฝึกอบรมบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดในหลักสูตร

           1.2 หลักสูตรที่สร้างขึ้นพัฒนาจากพื้นฐานของผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีความรู้ความสามารถทางดนตรีไทย โดยสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับดนตรีไทย จึงควรนำไปใช้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกัน หากต้องการนำไปใช้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มิได้มีคุณสมบัติดังกล่าว ควรมีการปรับปรุงเนื้อหา กิจกรรม และระยะเวลาที่ใช้ในการฝึกอบรมให้มีความเหมาะสมก่อนนำไปใช้

           1.3 ระยะเวลาในการฝึกอบรมควรจัดให้มีความต่อเนื่องกัน เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ “ต่อเพลง” อย่างต่อเนื่อง และไม่ก่อให้เกิดปัญหา “ลืมทำนอง”

           1.4 ควรมีการแจกและชี้แจงเอกสารและสื่อที่ใช้ในการฝึกอบรมให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมล่วงหน้า เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถศึกษาก่อนเข้ารับการฝึกอบรม อันจะก่อให้เกิดความ “คุ้นทำนอง” เพื่อให้การต่อเพลงเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในระยะเวลาที่กำหนด

           1.5 วิทยากรควรมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการให้ความรู้ความเข้าใจและการเป็น “ครูเพลง” รวมทั้งควรมีเวลาและความพร้อมในการฝึกอบรม

        2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

           2.1 ควรมีการขยายการฝึกอบรมแก่ครูดนตรีไทยในทุกจังหวัด เพื่อให้ผู้สอนดนตรีไทยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานทางด้านวัฒนธรรมดนตรีไทยสู่ผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และพัฒนาวิชาการและวิชาชีพดนตรีไทย

           2.2 ควรมีการจัดตั้งเครือข่ายดนตรีไทยในสถาบันการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาจกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขาวิชาทางด้านดนตรีไทยเป็นแม่ข่ายของกลุ่มเครือข่าย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการพัฒนาครูผู้สอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ

        3. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยในครั้งต่อไป

           3.1 ควรมีการวิจัยเกี่ยวกับการสร้างหลักสูตรฝึกอบรมครูดนตรีไทยเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยในด้านอื่นๆ เช่น ปี่พาทย์ เครื่องสาย หรือในระดับขั้นอื่นๆ เพื่อเป็น
การส่งเสริมให้เกิดการนำเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม

           3.2 ควรมีการวิจัยเกี่ยวกับการสร้างหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยสำหรับนักศึกษาครู เพื่อเป็นการเตรียมความรู้ความสามารถและทักษะตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยให้พร้อมสู่การประกอบวิชาชีพครูในสถานศึกษา

           3.3 ควรมีการวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้ตามเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย เพื่อสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าและการเรียนรู้ด้วยตนเอง

 

บรรณานุกรม

กริช อัมโภชน์. 2545. การสร้างหลักสูตรและโครงการฝึกอบรม. เอกสารประกอบการบรรยายในการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารงานฝึกอบรม สำนักฝึกอบรม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

กุลยา  ตันติผลาชีวะ. 2537. การฝึกอบรม. กรุงเทพฯ: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ขวัญใจ   ฮีลีย์. 2533. สภาพและปัญหาของดนตรีศึกษาในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญา ค.ม. กรุงเทพฯ:  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ใจทิพย์ เชื้อรัตนพงษ์. 2539. การพัฒนาหลักสูตร : หลักการและแนวปฏิบัติ. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชมพันธ์  กุญชร ณ อยุธยา. 2540.  การพัฒนาหลักสูตร.  กุรงเทพฯ : คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ.

ธงชัย สันติวงษ์. 2539. การบริหารงานบุคคล. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

ธำรง  บัวศรี. 2542. ทฤษฎีหลักสูตร:การออกแบบและพัฒนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : พัฒนาศึกษา.

บุญชม  ศรีสะอาด. 2546. การพัฒนาหลักสูตรและการวิจัยเกี่ยวกับหลักสูตร. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น.

 “พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542,” 2542, 19 สิงหาคม. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่116. ตอนที่ 74ก. หน้า 3.  

มาเรียม  นิลพันธุ์. 2536. การพัฒนาหลักสูตรการวิจัยวัฒนธรรม. ปริญญานิพนธ์ กศ.ด. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

สงัด  อุทรานันท์. 2532. พื้นฐานและหลักการพัฒนาหลักสูตร. กรุงเทพฯ : มิตรสยาม.

สมบูรณ์  ตันยะ. 2530. การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อสร้างเสริมสมรรถภาพด้านการสอนของครูประจำการระดับประถมศึกษา. ปริญญานิพนธ์ กศ.ด. กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา. 2553. เกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทย พุทธศักราช 2553. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.

สำนักมาตรฐานอุดมศึกษา สำนักงานปลัดทบวง มหาวิทยาลัย. 2544. เกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยและเกณฑ์การประเมิน. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.

สุดารัตน์  ชาญเลขา. 2549. สถานภาพการจัดการเรียนการสอนและวิจัยด้านดนตรีไทยในระดับอุดมศึกษา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.

Taba, Hilda. 1962. Curriculum Development: Theory and Practice. New York: Hartcourt Brance and World.

Wexley, Kenneth N and Latham Glay P. 1981. Developing and Training Human Resources in Organization. Illinois : Scott, Toresman and Company.