การวิเคราะห์นาฏศิลป์ไทยระดับอาเซียนของอาจารย์สถาพร สนทอง Analyses of Thai Dances which were Choreographed for Performances at ASEAN activites by Sathapon Sontong

บทคัดย่อ

            การวิเคราะห์นาฏศิลป์ไทยระดับอาเซียนของอาจารย์สถาพร สนทอง ผู้วิจัยใช้หลักทฤษฎีทางด้านนาฏยประดิษฐ์ (Choreography) จุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบของการแสดง และกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานนาฏศิลป์ไทยระดับอาเซียนของอาจารย์สถาพร สนทอง

ผลการวิจัยพบว่า

              ผลงานนาฏศิลป์อาเซียนของอาจารย์สถาพร สนทอง มีจุดเด่นและรูปแบบของการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ในการสร้างผลงานได้ปฏิบัติขึ้นตามมาตรฐานของหลักวิธีการออกแบบนาฏยประดิษฐ์ที่เป็นสากล โดยทำการวิเคราะห์จากผลงานจำนวน 10 ชุด ดังนี้ ประเพณีลอยกระทง (Loy Kratong Festival) ละคร 3 ฉาก“นิยายแห่งคิมหันต์” (Trilogy Tropic) สวนเกษม (Blissful Garden) อรัญชีวิน (The Forest Life) ผลัดปีที่ยอดดอย (New Year Celebration on The Hills) งานฉลอง (The Jubilation) พีระพายัพพิไล (Brave and Beauty of The North) ออนชอนอิสาน  (Incredible Isan) รุ้งลีลา (Roong Leela) และมโนราห์ (Manorah) ซึ่งผู้วิจัยได้ใช้หลักทฤษฎีนาฏยประดิษฐ์ขั้นสูง โดยแบ่งหัวข้อออกเป็น ดังนี้

            1.องค์ประกอบของการแสดง พบว่ามีหลักการดังนี้ วิธีแสดง ท่ารำ การแปรแถว ดนตรี และการแต่งกาย ซึ่งชุดการแสดงทั้ง 10 ชุด มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เช่น การเรียบเรียงเนื้อหาเรื่องราวมีความสัมพันธ์กันต่อเนื่อง ท่ารำมีการออกแบบโดยการนำท่ารำนาฏศิลป์ไทยแบบดั้งเดิมที่มีอยู่มาคิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ด้วยวิธีการสร้างสรรค์และพัฒนาจากท่ารำใช้บท ท่ารำจากความหมายในบทเพลง ท่ารำจากขั้นตอนการแสดง ท่ารำจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการเคลื่อนไหวของชาวเขาเผ่าลีซอ ท่ารำจากนาฏศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ และท่ารำจากนาฏศิลป์พื้นบ้านภาคอีสาน นอกจากนี้มีการแปรแถวที่หลากหลายโดยคำนึงถึงเรื่องราวเป็นหลัก เช่น แถวสลับงูเลื้อย แถวเฉียง แถวตอนคู่ แถวครึ่งวงกลม และการเข้าวง ส่วนดนตรีมีการนำเฉพาะจังหวะมาใช้บรรเลงประกอบหรือการนำโน้ต 5 ตัว ได้แก่ ฟา โด ซอล ลา โด มาร้อยเรียงเป็นเพลงขึ้นใหม่บรรเลงทำนองจังหวะช้า-เร็ว และใช้เครื่องดนตรีภาคเหนือบรรเลง การแต่งกายยึดตามแบบเดิม แต่มีการคิดออกแบบเพิ่มเติมขึ้นในบางชุด เช่น ผลงานชุดมโนราห์มีการออกแบบโดยนำปีกหางของนกกิงกะหล่ามาประยุกต์ใช้กับชุดไทยเรือนต้น

2.กระบวนการสร้างสรรค์ พบว่า มีหลักทฤษฎีและขั้นตอนการสร้างสรรค์แบ่งออกเป็น ดังนี้ แรงบันดาลใจ เทคนิค ลีลา นาฏยลักษณ์ และคุณค่าของผลงาน โดยเฉพาะเรื่องแรงบันดาลใจของผู้สร้างสรรค์ มีแนวคิดและเอกลักษณ์เด่นคือ มีความคิดริเริ่ม กล้าคิดนอกกรอบเดิม ไม่ชอบสร้างสรรค์งานซ้ำๆ รวมถึงการเลือกใช้เทคนิคด้านการแสดง เช่น ในบางชุดมีการผสมผสานของนาฏศิลป์เชื้อชาติอื่น หรือการนำการแสดงประเภทต่างๆ มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกัน เรื่องลีลาจะเน้นการมีอารมณ์ร่วมเข้าไปในการร่ายรำ และการเพิ่มจริต กิริยาท่าทางของตัวละครให้สมบทบาทเกิดสีสรรในการแสดง นอกจากนี้ยังพบว่า ในการแสดงแต่ละชุดมีนาฏยลักษณ์ที่เป็นลักษณะเฉพาะของผู้สร้างสรรค์ สามารถทำให้เกิดสุนทรียะและเอกภาพในการแสดง

การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยพบหลักทฤษฎีในการสร้างผลงานนาฏศิลป์ไทยระดับอาเซียนของอาจารย์สถาพร สนทอง ใช้หลักวิธีการสร้างสรรค์ในการจัดองค์ประกอบของศิลปะ เช่น ขั้นเตรียมการ ได้แก่ การกำหนดความคิดหลัก (Theme ) การกำหนดขอบเขตของการดำเนินงาน (Dance Frame Work) การกำหนดรูปแบบของการแสดง (Form and Style) และการกำหนดองค์ประกอบของการแสดง (Element of Dance Presentation) ขั้นปฏิบัติการ ได้แก่ การออกแบบท่ารำ (Selecting the Dance Posture) ต้องคำนึงถึงเรื่อง การเชื่อมต่อกัน (Transition) ความต่อเนื่องของท่ารำ (Continuity) ลำดับความช้า-เร็ว (Progression) ความกลมกลืนของท่ารำกับจังหวะดนตรี และองค์ประกอบอื่น (Harmony) เอกภาพ (Unity) ความหลากหลาย (Diversity) มีจุดเด่นของระบำ (Highlight) และความสัมพันธ์ของนักแสดง (Dancer’s Interaction)

 

Abstract

The analysis of Sathaporn Sontong Teacher’s Association of Southeast Asian Nations level of Thai classical dance, the researcher uses theory pillar of Choreography) with an aim to analyze the element of acting and the creative work procedure of Sathaporn Sontong Teacher’s Association of Southeast Asian Nations level of Thai classical dance.  The research result found that.

The achievement of Sathaporn Sontong Teacher’s Association of Southeast Asian Nations level of Thai classical dance had the prominent point and the format in the show that are especial identity. Moreover, the creativity has been standardized according to the international methodology of Choreography. The researcher has divided the topics into 2 parts i.e. the element of acting and the creative work procedure by doing the analysis of 10 shows Loy Kratong Festival, Trilogy Tropic, Blissful Garden, The Forest Life, New Year Celebration on The Hills, The Jubilation, Brave and Beauty of The North, Incredible Isan, Roong Leela, Manorah. These 10 shows had the element of acting and the creative work procedure by using the high level of theory pillar of Choreography as follows;

1. The element of acting found the principles i.e. the acting method, dancing manner, deploying, music, and the dressing. These 10 shows had the same features such as composing  the story which has the  continual relation, the dancing manner was designed by using the dancing manner of Thai classical dance in creating new dancing manner with the development of using text, the dancing manner from the meaning in the words of a song, the dancing manner  from acting steps, the dancing manner from way of  life of hill  tribes, the dancing manner from North classical dance, and  from  Northeastern classic dance. Besides, there are many various kinds of deploying by considering a story, such as, deploying of a snake crawls, askew deploying, semicircle deploying, and circle deploying. For music part, it uses only the rhythm to assemble the music or to take 5 notes FA, DO, Zol, La, DO to write the new song;  play slow or fast rhythm, use North musical instrument. For the dressing, it uses as before but, there is new design for some shows, such as Manorah show by using  wing of a bird “Ginggala” to apply with Thai Ruen Ton dressing.

2. Creative work procedure found that there were the theory principles and the steps of creativities which divided as inspiration, technique, grace, dancing aspect, and value of performance especially for the creative maker’s inspiration which have their own personalities and concepts namely have the initiative, dare to think out of the old frame, do not like to create the work repeatedly including the selection of the acting techniques such as it combines  the dramatic art of  other nations  for some shows or takes any kinds of acting to write the story. Regarding the grace of show, it  emphasizes the dance that shows the sharing temper inside the show, and adds the manner and behavior of the character in making  a color of the show. Besides, we still found that each set of the show have the dancing aspect which is especially for creative makers in creating the beautiful scene and unity.

For this research, the researcher found the theory principles in building the achievement of Sathaporn Sontong Teacher’s Association of Southeast Asian Nations level of Thai classical dance uses the creative methods in setting  the elements of the arts such as the preparation steps i.e. set the Theme, set the Dance Frame Work, set the Form and Style and set the Element of Dance Presentation, the action steps i.e. Selecting the Dance Posture, must consider about the Transition, the continuity of the dancing manner, the level of Progression, the harmony of the melody, dancing manner and other elements, Unity, Diversity, the Highlight of dancing, and the Dancer’s Interaction.

 

ความเป็นมาของปัญหา

          นาฏศิลป์ไทยเป็นศิลปะการแสดงแขนงหนึ่ง ที่รวมเอาศิลปวัฒนธรรมประจำชาติของตน มาถ่ายทอดในรูปแบบระบำ รำ ฟ้อน โดยผสมผสานความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อสะท้อนให้เห็นวิถีความเป็นอยู่ ปรัชญา แง่คิดและมุมมองของสังคมในทุกระดับชั้น เมื่อระยะเวลาผ่านไปนาฏศิลป์ไทยมีการเสื่อมสลายไปตามวัฏจักรของการเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคสมัย ทำให้เกิดการวิวัฒนาการและการปรับเปลี่ยนพัฒนาอยู่เสมอ ซึ่งในการพัฒนาและการปรับเปลี่ยนแต่ละครั้งมุ่งให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ค้นพบทฤษฎีในการสร้างสรรค์นาฏศิลป์ไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าสู่ระดับนานาชาติ

         ผลงานการแสดงในระดับอาเซียนที่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า ได้ก่อตั้งสมาคมอาเซียน (THE ASSOCIATION OF SOUTHEAST ASIA NATIONS ) ภายใต้โครงการศิลปวัฒนธรรมอาเซียนที่เรียกว่า นาฏศิลป์อาเซียน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการพาณิชย์ ทั้งยังส่งเสริมสันติภาพ กระตุ้นให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ก้าวหน้าทางสังคมและศิลปวัฒนธรรม โดยได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุน ด้านการจัดการ ร่วมถึงด้านการดำเนินการจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น สมาคมอาเชียนดำเนินกิจกรรมภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยเรื่องของวัฒนธรรมและสนเทศ (THE ASEAN COMMITTEE ON CULTURE AND INFORMATION หรือ COCI) มีคณะกรรมการประสานงานด้านวัฒนธรรมและสนเทศแห่งชาติ ดำเนินงานรับผิดชอบโครงการที่เกี่ยวข้องในฝ่ายต่างๆ ได้แก่         

1.โครงการด้านทัศนศิลป์และศิลปการแสดง

2.โครงการด้านอาเซียนศึกษาและ

วรรณกรรม

3.โครงการด้านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อบุคคล

4.โครงการด้านวิทยุ โทรทัศน์

(อีเล็กทรอนิกมีเดีย) วีดีโอและภาพยนตร์

ด้านศิลปะการแสดงนั้น  มีการจัดโครงการศิลปวัฒนธรรมอาเซียนขึ้น  เพื่อเชื่อมสัมพันธภาพด้านวัฒนธรรม เป็นการพัฒนาคุณภาพงานทำให้เกิดผลงานนาฏศิลป์ไทยในงานแสดงนาฏศิลป์อาเซียน ซึ่งผลงานที่ได้รับเชิญในงานแสดงระดับอาเชียน จัดเป็นผลงานที่มีคุณภาพสูงระดับนานาชาติ ประกอบด้วยขั้นตอนและวิธีการสำคัญๆ เช่น วิธีการวางแนวคิดในการสร้างสรรค์ วิธีการออกแบบ รูปแบบของแสดง การประดิษฐ์ท่ารำ และการนำเสนอการแสดง  รวมถึงวิธีการจัดแสดง การทำงานแบบมืออาชีพระดับสากล ในแต่ละส่วนต้องอาศัยหลักทฤษฎีที่เป็นสากล นอกจากนี้ผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญพิเศษในการสร้างสรรค์งานนาฏศิลป์ไทย จึงจะสามารถพัฒนารูปแบบการแสดง คุณภาพของนักแสดง และเทคนิคต่างๆ เพื่อนำเสนอสู่ระดับนานาชาติของเทศกาลการแสดงศิลปวัฒนธรรมอาเซียนปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา หน่วยงานสำนักการสังคีต กรมศิลปากร มีหน้าที่และรับผิดชอบโดยตรงในการผลิตผลงาน การพัฒนางานด้านนาฏศิลป์ไทยให้เผยแพร่สู่สากล โดยมีนาฏศิลปิน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับของวงการการศึกษานาฏศิลป์ไทยระดับประเทศ ในด้านการสร้างผลงานนาฏศิลป์ไทยแบบสร้างสรรค์

อาจารย์สถาพร สนทอง เป็นลูกศิษย์ที่ได้รับการไว้วางใจจากหม่อมอาจารย์ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ในการเป็นผู้ช่วยด้านกำกับการแสดง การออกแบบท่ารำ การควบคุมการฝึกซ้อม ตลอดจนได้รับความรู้การถ่ายทอดท่ารำนาฏศิลป์ไทยแบบจารีต และวิธีการสร้างสรรค์ผลงาน ทำให้อาจารย์สถาพร สนทอง ประสบความสำเร็จในด้านการสร้างงานนาฏศิลป์อาเซียน ประกอบกับผลงานเป็นที่ยอบรับจากองค์กรด้านศิลปวัฒนธรรมระดับนานาชาติ ด้วยการได้รับเชิญนำเสนอผลงานนาฏศิลป์อาเซียน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523-2540 ดังนั้นผลงานจึงทำให้ได้มาตรฐานที่เป็นสากล

นอกจากนี้อาจารย์สถาพร สนทอง ได้ทำหน้าที่ด้านการสอน การบรรยายพิเศษให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆมากมาย ทำให้อาจารย์สถาพร สนทอง ได้รับตำแหน่งศิลปินประจำสำนักจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(Artist in Residence) ในปี พ.ศ. 2539 และได้รับรางวัลศิลปินต้นแบบแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2555 อาจารย์เป็นผู้หนึ่งที่วางแนวทาง และให้หลักทฤษฎีด้านการสร้างสรรค์งานนาฏศิลป์ไทยให้มุ่งพัฒนาสู่ระดับสากลในสถาบันการศึกษาเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร  สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ผลงานนาฏศิลป์ไทยระดับอาเซียนของอาจารย์สถาพร สนทอง มีสอดคล้องกับหลักทฤษฎีนาฏศิลป์ที่เป็นสากล เช่น ทฤษฎีของการออกแบบท่าเต้น การใช้พื้นที่บนเวที การใช้ร่างกาย การใช้กล้ามเนื้อ การใช้พลังงาน รวมถึงการแปรแถว เป็นต้น ปัจจุบันการเรียนการสอนด้านนี้ในระดับมหาวิทยาลัยพบว่า ยังขาดตำราและเอกสารวิชาการที่ใช้ในการเรียนการสอนวิชาการออกแบบท่าเต้น หรือ วิชานาฏยประดิษฐ์ (Choreography)  ซึ่งแต่เดิมในอดีตการเรียนการสอนด้านนาฏศิลป์ไทยเป็นการเรียนแบบตัวต่อตัวกับครูผู้สอน ใช้วิธีการจดจำเท่านั้น ไม่มีการบันทึกเป็นตำรา การศึกษาค้นคว้าทั้งด้านปฏิบัติและด้านวิชาการอาจสูญหาย ไม่มีข้อมูลให้สืบค้นพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ผู้วิจัยจึงเล็งเห็นความสำคัญและปัญหา จึงมีความสนใจทำการวิจัยเรื่องนี้ เพื่อบันทึกเป็นเอกสารวิชาการไว้ อนึ่งหวังว่าผู้เรียนด้านนี้ จะได้มีแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม อีกทั้งช่วยให้เกิดความเข้าใจถูกต้องตรงตามหลักวิชาการสากล

ฉะนั้นการศึกษา การวิเคราะห์ผลงานนาฏศิลป์ไทยระดับอาเซียนของอาจารย์สถาพร สนทอง จะมีประโยชน์ต่อนิสิตนักศึกษาที่เรียนด้านนาฏศิลป์ไทยอย่างมาก ด้วยผลจากการวิจัยครั้งนี้ จะนำมาจัดทำเป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอน เพื่อให้นิสิตนักศึกษาแขนงนาฏศิลป์ สาขาวิชาศิลปกรรมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และผู้ที่สนใจ ได้มีเอกสารประกอบการศึกษา ด้านนี้ อีกทั้งเป็นข้อมูลในการสืบค้น และการพัฒนางานนาฏศิลป์ไทยให้กับหน่วยงานการศึกษาต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

          1.เพื่อศึกษาผลงานนาฏศิลป์ไทยระดับอาเซียนของอาจารย์สถาพร สนทอง

          2.เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของการแสดง และกระบวนการสร้างสรรค์นาฏศิลป์อาเซียนของอาจารย์สถาพร สนทอง

 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

1.ได้เอกสารประกอบการสอนวิชา นาฏยประดิษฐ์ (Choreography)

  2.ได้หลักทฤษฎีการสร้างสรรค์งานนาฏศิลป์และวิธีการออกแบบท่าเต้นแบบมาตรฐานสากล

  3.ได้ข้อมูลในการเรียนการสอนวิชานาฏยประดิษฐ์ (Choreography) และวิชานาฏยศิลป์ร่วมสมัย (Contemporary Dance) สำหรับนิสิตแขนงนาฏศิลป์ สาขาวิชาศิลปกรรมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

            4.ได้ส่งเสริมการพัฒนางานด้านนาฏศิลป์ไทยสู่ระดับนานาชาติ      

 

ขอบเขตของการวิจัย

         ผู้วิจัยมุ่งศึกษาและวิเคราะห์ผลงานนาฏศิลป์ไทยของอาจารย์สถาพร สนทอง ที่ได้รับเชิญเป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมแสดงในงานนาฏศิลป์อาเซียน ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2524-2539  กรณีศึกษาจากชุดการแสดงจำนวน  10 ชุด ดังต่อไปนี้

            1.ประเพณีลอยกระทง (Loy Kratong Festival)

            2.ละคร 3 ฉาก (Trilogy Tropic)

            3.สวนเกษม (Blissful Garden)

            4.อรัญชีวิน (The Forest Life)

            5.ผลัดปีที่ยอดดอย (New Year Celebration on The Hills)

            6.งานฉลอง (The Jubilation)

            7.พีระพายัพพิไล (Brave and Beauty of The North)

            8.ออนชอนอิสาน  (Incredible Isan)

            9.รุ้งลีลา (Roong Leela)

            10.มโนราห์ (Manorah)

 

วิธีดำเนินการวิจัย

1. เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูล

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ผู้วิจัยได้ออกแบบและสร้างเครื่องมือที่ใช้สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลการวิจัย ดังต่อไปนี้

1.1 การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม

1.2 แบบสัมภาษณ์

 

2. การเก็บรวบรวมข้อมูล

            ผู้วิจัยได้ออกแบบการเก็บรวบรวมข้อมูลการวิเคราะห์งานนาฏศิลป์ระดับอาเซียนของอาจารย์สถาพร สนทอง โดยมีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ดังต่อไปนี้

          2.1 การเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น

                        2.1.1ศึกษาข้อมูลเอกสารจากหนังสือ เอกสารวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง                2.1.2 การสัมภาษณ์ อาจารย์สถาพร สนทอง ผู้สร้างสรรค์ผลงาน    

2.2 การเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม

                        2.2.1 การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-Participant Observation)   เพื่อชมวีซีดีผลงานการแสดงนาฏศิลป์อาเซียนของอาจารย์สถาพร สนทอง

            2.2.2 การสัมภาษณ์ (Interview) ผู้วิจัยใช้เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยที่ได้สร้างขึ้น สัมภาษณ์ประวัติ และผลงานการแสดงด้วยแบบสัมภาษณ์  

2.3 การบันทึกข้อมูล ผู้วิจัยทำการบันทึกข้อมูลจากการดำเนินงานภาคสนาม ดังนี้

                        2.3.1 บันทึกลงสมุดบันทึก และบันทึกลงคอมพิวเตอร์

                        2.3.2 บันทึกเสียงด้วยเครื่องบันทึกเสียงระบบดิจิตอล

                        2.3.3 บันทึกภาพนิ่งด้วยกล้องดิจิตอล

 

3. การวิเคราะห์ข้อมูล

            ผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ ดังต่อไปนี้

            3.1 ผลงานการสร้างสรรค์

                        3.1.1 องค์ประกอบของการแสดง วิเคราะห์โดยการชมวีซีดีผลงานการแสดงนาฏศิลป์อาเซียน จำนวน 10 ชุด ใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อบันทึกภาพนิ่ง โดยนำมาจำแนกเป็นกลุ่มๆ เช่น วิธีแสดง ท่ารำ การแปรแถว ดนตรี และเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

                        3.1.2 กระบวนการสร้างสรรค์ วิเคราะห์โดยการใช้เครื่องบันทึกเสียงระบบดิจิตอล และกล้องถ่ายภาพนิ่งด้วยกล้องดิจิตอล นำข้อมูลจากการสัมภาษณ์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อได้ข้อมูลกระบวนการสร้างสรรค์แล้ว จึงได้แยกออกเป็นขั้นตอนคือ แรงบันดาลใจ เทคนิค ลีลา นาฏยลักษณ์ คุณค่าของผลงาน เพื่อบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

             เมื่อได้ข้อมูลครบตามวัตถุประสงค์แล้ว จึงนำมาบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

 

4. ขั้นสรุป 

การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล  ผู้วิจัยใช้วิธีพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis) ประกอบรูปภาพ เพื่อให้ได้ผลสรุปคือ หลักทฤษฎีและรูปแบบการแสดงนาฏศิลป์ไทยระดับอาเซียนของอาจารย์สถาพร สนทอง โดยนำเผยแพร่ในรูปแบบของเอกสารทางวิชาการ เอกสารประกอบการเรียนการสอนวิชาการออกแบบท่าเต้น หรือวิชานาฏยประดิษฐ์ (Choerography) และวิชานาฏยศิลป์ร่วมสมัย (Contemporary Dance) สำหรับนิสิตแขนงนาฏศิลป์ สาขาวิชาศิลปกรรมศึกษา คณะ       ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และมัลติมีเดียเว็บบนอินเตอร์เน็ต

 

สรุปผลการวิจัย

          ผลการวิเคราะห์เรื่อง การวิเคราะห์งานนาฏศิลป์ไทยระดับอาเซียนของอาจารย์สถาพร  สนทอง สรุปผลการศึกษาและวิเคราะห์จากผลงานการสร้างสรรค์ จำนวน 10 ชุด คือ ชุด ประเพณีลอยกระทง (Loy Kratong Festival) ชุด ละคร 3 ฉาก“นิยายแห่งคิมหันต์” (Trilogy Tropic) ชุด สวนเกษม (Blissful Garden) ชุด อรัญชีวิน (The Forest Life) ชุด ผลัดปีที่ยอดดอย (New Year Celebration on The Hills) ชุด งานฉลอง (The Jubilation) ชุด พีระพายัพพิไล (Brave and Beauty of The North) ชุด ออนชอนอิสาน  (Incredible Isan) ชุด รุ้งลีลา (Roong Leela) และชุด มโนราห์ (Manorah) ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ผู้สร้างสรรค์ได้ใช้หลักทฤษฎีด้านนาฏยประดิษฐ์ขั้นสูงในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. องค์ประกอบของการแสดง แบ่งเป็น 5 หัวข้อ ดังนี้

1.1 วิธีแสดง

1.2 ท่ารำ

1.3 การแปรแถว

1.4 ดนตรี

1.5 เครื่องแต่งกาย

 

 

2. กระบวนการสร้างสรรค์  แบ่งเป็น 5 หัวข้อ ดังนี้

2.1 แรงบันดาลใจ

2.2 เทคนิค

2.3 ลีลา

2.4 นาฏยลักษณ์

2.5 คุณค่าของผลงาน

            ในส่วนแรกนี้เป็นเรื่ององค์ประกอบของการแสดง พบว่ามีหลักการ คือ วิธีแสดง ท่ารำ การแปรแถว ดนตรี และการแต่งกาย ชุดการแสดงทั้ง 10 ชุด มีลักษณะและรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เช่น การเรียบเรียงเนื้อหาเรื่องราวมีความสัมพันธ์กันต่อเนื่อง และมีความเป็นมาในการผูกเรื่อง ส่วนของท่ารำได้มีการออกแบบโดยการนำท่ารำนาฏศิลป์ไทยแบบเดิมที่มีอยู่มาคิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ด้วยวิธีการสร้างสรรค์และพัฒนาจากท่ารำใช้บทหรือท่ารำตีบท ท่ารำจากความหมายในบทเพลง ท่ารำจากขั้นตอนการแสดง ท่ารำจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และการเคลื่อนไหวของชาวเขาเผ่าลีซอ ท่ารำจากนาฏศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ และท่ารำจากนาฏศิลป์พื้นบ้านภาคอิสาน นอกจากนี้ยังมีการแปรแถวที่หลากหลายโดย เช่น แถวสลับงูเลื้อย แถวเฉียง แถวตอนคู่ แถวครึ่งวงกลม และการเข้าวง เรื่องของดนตรีมีการนำเฉพาะจังหวะมาใช้บรรเลงประกอบ และการนำโน้ต 5 ตัว (ฟา โด ซอล ลา โด) มาเรียบเรียงเป็นเพลงขึ้นใหม่บรรเลงทำนองจังหวะช้า-เร็ว โดยใช้เครื่องดนตรีภาคเหนือบรรเลง การแต่งกายยึดตามเดิมแต่มีการคิดออกแบบเพิ่มเติมขึ้นในบางชุด เช่น ผลงานชุดมโนราห์มีการออกแบบโดยนำปีกหางของนกกิงกะหล่ามาประยุกต์ใช้กับชุดไทยเรือนต้น

ส่วนที่สองเรื่องกระบวนการสร้างสรรค์ พบว่า มีหลักทฤษฎีการสร้างสรรค์ที่เป็นมาตรฐาน คือ แรงบันดาลใจ เทคนิค ลีลา นาฏยลักษณ์ และคุณค่าชองผลงาน เรื่องของแรงบันดาลใจจะขึ้นอยู่กับผู้สร้างสรรค์เป็นหลัก ถ้าผู้สร้างสรรค์มีประสบการณ์จากการชมการแสดงที่หลากหลาย การสัมผัสจากการปฏิบัติหรือการมีส่วนร่วม ประกอบกับมีลักษณะนิสัยไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ  ก็จะสามารถมีแนวคิดใหม่ๆ เสมอ  ในเรื่องการใช้เทคนิคด้านการแสดงนั้น บางชุดมีการผสมผสานระหว่างนาฏศิลป์ของชาติอื่น หรือการนำการแสดงประเภทต่างๆ มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวโดยมีวิธีการนำเสนอให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ที่สำคัญต้องมีลีลาการร่ายรำที่เน้นเรื่องของการสวมบทบาทตัวละคร และการแสดงอารมณ์ร่วมเสมือนเป็นเหตุการณ์จริง รวมถึงการสร้างนาฏยลักษณ์ของการแสดงให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตนจะเพิ่มความโดดเด่นและน่าสนใจต่อผู้ชมเป็นอย่างมาก

ผลการวิเคราะห์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างตน ล้วนมีความสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏศิลป์ไทยของอาจารย์สถาพร สนทอง จนเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการด้านนาฏศิลป์ และยังก่อให้เกิดงานคุณภาพทัดเทียมกับนานาชาติในระดับสากล

 

การอภิปรายผล

            ผลจากการวิจัยนี้ทำให้ทราบถึง หลักทฤษฎีในการสร้างผลงานนาฏศิลป์ไทยระดับอาเซียนของอาจารย์สถาพร สนทอง ใช้หลักวิธีการสร้างสรรค์ในการจัดองค์ประกอบของศิลปะ เช่น ขั้นเตรียมการ ได้แก่ การกำหนดความคิดหลัก (Theme ) การกำหนดขอบเขตของการดำเนินงาน (Dance Frame Work) การกำหนดรูปแบบของการแสดง (Form and Style) และการกำหนดองค์ประกอบของการแสดง (Element of Dance Presentation) ขั้นปฏิบัติการ ได้แก่ การออกแบบและเลือกสรรท่ารำ (Selecting the Dance Posture) ต้องคำนึงถึงเรื่อง การเชื่อมต่อกัน (Transition) ความต่อเนื่องของท่ารำ (Continuity) ลำดับความช้า-เร็ว (Progression) ความกลมกลืนของท่ารำกับจังหวะดนตรีและองค์ประกอบอื่น (Harmony) เอกภาพ (Unity) ความหลากหลาย (Diversity) มีจุดเด่นของระบำ (Highlight) และความสัมพันธ์ของนักแสดง (Dancer’s Interaction) ซึ่งหลักทฤษฎีในขั้นเตรียมการนั้น ตรงกับหลักการพื้นฐานในการสร้างงานนาฏยประดิษฐ์ของ สุรพล วิรุฬห์รักษ์ และมีแนวทางในการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ร่วมสมัยเช่นเดียวกันกับ นราพงษ์ จรัสศรี ส่วนหลักทฤษฎีขั้นปฏิบัติการ มีความแตกต่างจากทฤษฎีที่อ้างถึงโดยสิ้นเชิง ด้วยรูปแบบการแสดงของอาจารย์สถาพร สนทอง เป็นรูปแบบการแสดงนาฏศิลป์ไทยแนวสร้างสรรค์ ดังนั้นผลงานจึงได้พัฒนามาจากนาฏศิลป์ไทยแบบแผน นาฏศิลป์พื้นบ้าน และการผสมสานจากนาฏศิลป์เชื้อชาติอื่น ประกอบกับลักษณะเฉพาะที่มีความโดดเด่น (Identity) ของผู้สร้างสรรค์หรือตัวศิลปินเอง จึงทำให้ผลงานน่าสนใจมีคุณภาพได้รับการยกย่องจนสามารถจัดแสดงในระดับอาเซียนได้ หลักทฤษฎีที่ได้จากการวิจัยนี้ นับว่ามีคุณค่าและเป็นประโยชน์ยิ่งในการจัดทำเป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอน วิชานาฏยประดิษฐ์ (Choreography) และวิชานาฏยศิลป์ร่วมสมัย (Contemporary Dance) เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าด้านการสร้างงานนาฏศิลป์ไทย และมีเอกสารทางวิชาการเพิ่มเติมให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป

 

ข้อเสนอแนะ

              นอกจากหลักทฤษฎีนาฏยประดิษฐ์ขั้นสูง ยังมีเรื่องของการบริหารงานด้านการแสดง และการจัดการด้านนาฏศิลป์สำหรับการแสดงในต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ และผู้สร้างสรรค์จะต้องมีพื้นฐานด้านการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจินตนาการสูง พร้อมทั้งมีความเป็นผู้นำ มีเหตุมีผลในการตัดสิน และสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี เพราะนาฏศิลป์จะคงอยู่มั่นคงได้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความรู้ลึก เพื่อจะได้ทำการอนุรักษ์ พัฒนา เผยแพร่นาฏศิลป์ได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร, (2529). หนังสือที่ระลึกของสมาคมศิษย์นาฏศิลป ศิลปากร.กรุงเทพมหานคร.

ชรินทร์  พรหมรักษ์.สัมภาษณ์เมื่อ วันที่ 9 มกราคม 2554.

นราพงษ์  จรัสศรี, ศาสตราจารย์. (2548). ประวัตินาฏศิลป์ตะวันตก.กรุงเทพฯ:ศูนย์หนังสือแห่ง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พิเชษฐ  กลั่นชื่น. (2550). ปรับสนามแม่เหล็กทางความคิด. กรุงเทพฯ. 

สถาพร  สนทอง.สัมภาษณ์เมื่อ วันที่ 13 ตุลาคม 2554.

สถาพร  สนทอง.สัมภาษณ์เมื่อ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2554.

สถาพร  สนทอง.สัมภาษณ์เมื่อ วันที่ 18 ธันวาคม 2554.

สุชาติ  เถาทอง. (2536). หลักการทัศนศิลป์.  พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: บริษัทวิทยพัฒน์ จำกัด. 

สุรพล  วิรุฬห์รักษ์, ศาสตราจารย์. (2547). หลักการแสดงนาฏยศิลป์ปริทรรศน์. กรุงเทพฯ:

สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 

แสง  มนวิทูร, ศาสตราจารย์. (2541). นาฏยศาสตร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

เสาวลักษณ์  สุริยะวงศ์ไพศาล, ศาสตราจารย์. (2533). ฟูฌิกะเด็นทฤษฎีการละครญี่ปุ่น ของ

เสะอะมิ.  กรุงเทพฯ: บริษัท รวมสาส์น(1997)จำกัด.

ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย,สำนัก กระทรวงวัฒนธรรม (2549). รางวัลศิลปาธร 2549. 

กรุงเทพมหานคร:สหมิตรพริ้นติ้ง.

Minton,Sandra Cerny .(1986).Choreography:a basic approach using improvisation.

America.