การวิจัยเอกสาร (Documentary  Research)

การวิจัยเอกสาร (Documentary  Research) เป็นการวิจัยอย่างหนึ่งทางสังคมศาสตร์ (Social Research) ซึ่งมีการใช้กันค่อนข้างมากในการทำวิจัย ลักษณะการวิจัยกระทำโดยผู้วิจัยสร้างปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่มิใช่บุคคล นั่นคือเป็นเอกสารต่างๆ เป็นข้อความที่มีผู้เขียนขึ้น รวมถึงสื่อในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ ภาพวาด สมุดบันทึก ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวจะทำให้ได้ความรู้ใหม่จากเอกสารเหล่านั้น จึงมีการเรียกวิธีดังกล่าวนี้ว่าการวิจัยเอกสาร บทความนี้จะนำเสนอประเด็นเรื่องคุณลักษณะของการวิจัยเอกสาร ความตรงของงานวิจัยเอกสาร ข้อดีและข้อจำกัด รวมถึงประโยชน์ของการวิจัยเอกสาร

คุณลักษณะของการวิจัยเอกสาร

การวิจัยเอกสารมีคุณลักษณะที่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการวิจัยที่มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง และมีคุณลักษณะที่สำคัญต่างๆ ดังนี้  (Mogalakwe. 2006; Scott. 2006)

1.    การวิจัยเอกสารเป็นการวิจัยประเภทหนึ่งในการวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive Research) ซึ่งเป็นการวิจัยที่มุ่งค้นหาข้อเท็จจริง หรืออธิบายปรากฏการณ์ที่ปรากฏในปัจจุบันว่ามีสภาพความเป็นจริงอย่างไร การวิจัยประเภทนี้สามารถทำได้ในหลายลักษณะ  อาจศึกษาแบบสำรวจ หรือแบบหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร หรือแบบพัฒนาการก็ได้ แต่ผลการวิจัยที่ได้จะต้องสามารถตอบคำถามว่าสภาพการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

2.    การวิจัยเอกสารเป็นประเภทหนึ่งของการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) หากพิจารณาวิธีการศึกษาข้อมูลที่นำมาใช้ในการวิจัย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการสืบค้นข้อมูลเอกสาร ซึ่งเป็นการศึกษาปัญหาอย่างกว้าง ๆ เพื่อสำรวจหาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นจริงหรือลักษณะทั่ว ๆ ไปของสิ่งที่วิจัย

3.    การวิจัยเอกสารเป็นการวิจัยห้องสมุด (Library research) เพราะลักษณะของการค้นคว้าข้อมูลของการวิจัยเอกสารคือ การสำรวจสภาพความเป็นจริงของเหตุการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารสิ่งพิมพ์ รวมทั้งข้อมูลในรูปแบบต่างๆ  ที่มีบุคคลอื่นได้บันทึกหรือตีพิมพ์เผยแพร่ไว้ โดยนักวิจัยไม่ต้องลงพื้นที่สนามเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล  แต่จะไปเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งค้นคว้าซึ่งรวบรวมข้อมูลต่างๆ ไว้อยู่แล้ว

4.    การวิจัยเอกสารเป็นการศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary data) ที่มีที่มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เป็นการศึกษาข้อมูลจากเอกสารต่างๆ ที่ได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่ไว้อยู่แล้ว โดยนักวิจัยเป็นผู้ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลที่มีผู้ทำไว้แล้วมาใช้เป็นข้อมูลในการวิจัย

5.    ข้อมูลของการวิจัยเอกสารไม่ใช่อยู่ในรูปแบบเอกสารหรือสิ่งที่เขียนขึ้นโดยใช้ตัวอักษรเท่านั้น แต่ยังหมายถึงข้อมูลที่อยู่ในรูปของหนังสือ (Text) และเอกสาร (Document)  ต่างๆ  นอกจากนี้ ยังรวมถึงสื่อในรูปแบบอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ ภาพวาด สมุดบันทึก ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ความตรงของงานวิจัยเอกสาร

ความตรง (Validity) ของงานวิจัยเอกสาร ทำได้โดยการคัดเลือกเอกสารเพื่อนำมาวิจัยเอกสาร ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในการวิจัยมีค่อนข้างมาก อีกทั้งเอกสารบางชนิดยังมีความซับซ้อนของข้อมูล ผู้วิจัยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีเกณฑ์สำหรับการคัดเลือกเอกสารมาใช้ในการวิจัย (Scott, 1990)

เกณฑ์การคัดเลือกเอกสารมาใช้ในการวิจัย

เกณฑ์การคัดเลือกเอกสารมาใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) ความจริง (Authenticity) 2) ความถูกต้องน่าเชื่อถือ (Credibility) 3) การเป็นตัวแทน (Representativeness) และ 4)  ความหมาย (Meaning) ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเกณฑ์ต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (Scott, 1990)

1.  ความจริง (Authenticity)

ความจริง หมายถึง ผู้วิจัยจะต้องคัดเลือกเอกสารที่เป็นเอกสารที่แท้จริง (Origin) ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ การพิจารณาว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลแท้จริงหรือไม่ จะเกิดขึ้นจากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียนหรือหน่วยงานที่เขียนเอกสารว่ามีความน่าเชื่อถือถือไม่ อย่างไร รวมถึงข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารนั้น สอดคล้องกับข้อมูลในบริบทอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาที่มีการเขียนเอกสารนั้นอย่างไร  

2. ความถูกต้องน่าเชื่อถือ (Credibility)

ความถูกต้องน่าเชื่อถือ หมายถึง ผู้วิจัยจะต้องคัดเลือกเอกสารด้วยการพิจารณาว่า เอกสารนั้นจะต้องไม่มีข้อมูลที่ผิดพลาด บิดเบือนหรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เอกสารจำพวกหนังสือพิมพ์หรือบทวิจารณ์ต่างๆ เพราะเป็นการเขียนข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นของตนเองประกอบเข้าไปด้วย ข้อคิดเห็นเหล่านี้ หากผู้วิจัยมิได้สนใจศึกษา อาจจะทำมีอิทธิพลที่ทำให้ข้อมูลโดยภาพรวมเกิดการบิดเบือนไป

3.  การเป็นตัวแทน (Representativeness)

ในการคัดเลือกเอกสาร ผู้วิจัยจำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่า เอกสารดังกล่าวมีความเป็นตัวแทนหรือไม่ ในที่นี้ การเป็นตัวแทนมีหลายระดับ คือ

ระดับแรก หมายถึง การที่เอกสารนั้นสามารถใช้แทนหรือเป็นแบบฉบับที่แทนเอกสารประเภทเดียวกันได้หรือไม่

ระดับที่สอง คือ ข้อมูลในเอกสารที่จะนำมาวิเคราะห์นั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่เป็นตัวแทนของประชากรได้ ตัวอย่างเช่น รายงานการวิจัยที่ได้มีการสุ่มตามวิธีวิทยาการวิจัย และใช้สถิติวิเคราะห์ที่ถูกต้อง ย่อมถือว่าข้อมูลหรือผลที่เสนอในงานวิจัยนั้นเป็นตัวแทนข้อมูล ที่จะนำมาวิเคราะห์ต่อได้ 

4. ความหมาย (Meaning)

การใช้เกณฑ์ความหมาย หมายถึง การคัดเลือกเอกสารที่มีความชัดเจนและสามารถที่จะเข้าใจได้ง่าย  ผู้วิจัยจะต้องตรวจสอบเอกสารในเบื้องต้น ด้วยการพิจารณาข้อมูลคร่าวๆ ว่า เอกสารที่นำมาพิจารณานั้น มีข้อมูลใดที่เป็นนัยสำคัญหรือจะสร้างความหมายให้กับการวิจัยหรือไม่ การตีความเอกสารบางประเภท จึงสามารถที่จะตีความทั้งในระดับที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งก็คือการสรุปสาระสำคัญที่ปรากฏ อีกระดับหนึ่งคือการตีความข้อมูลที่เป็นนัยที่ซ่อนแฝงอยู่ การตีความนัยค่อนข้างจะทำได้ยาก เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้ตีความ

ข้อดีของการวิจัยเอกสาร

ข้อดีของการวิจัยเชิงเอกสารคือ มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้เครื่องมือหรือทรัพยากรในการวิจัยมาก ประหยัดเวลา และสามารถดำเนินการวิจัยได้อย่างรวดเร็ว เมื่อได้รับเอกสารสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลครบถ้วน

ข้อจำกัดของการวิจัยเอกสาร

ข้อจำกัดของการวิจัยเชิงเอกสารคือต้องอาศัยการตีความในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะการตีความเป็นพฤติกรรมทางสติปัญญาที่ค่อนข้างเป็นอัตวิสัย (Subjective) กล่าวคือ ผู้วิจัยจะพิจารณาข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาภายใต้กรอบความรู้ ทัศนคติและประสบการณ์ของผู้วิจัยเอง ซึ่งผลของการตีความนั้นอาจจะไม่ตรงกับการตีความที่แท้จริงก็เป็นได้ อีกทั้งความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข้อมูลในเอกสารที่นำมาวิเคราะห์ก็เป็นตัวแปรสำคัญ  ที่ทำให้การวิจัยเชิงเอกสารมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้วิจัยไม่ได้คำตอบของปัญหาตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  

 

ประโยชน์ของการวิจัยเอกสาร

1.    สามารถนำการวิจัยเอกสารมาใช้ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงต่างๆ ทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่เพิ่มเติม

2.    สามารถนำการวิจัยเอกสารมาใช้วิเคราะห์เพื่อหาจุดบกพร่องหรือสิ่งที่ควรปรับปรุง เช่น การวิเคราะห์เพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย หรือข้อแนะนำให้โครงการต่างๆ

3.    การวิจัยเชิงเอกสารสามารถใช้ในการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับความคิด ทรรศนะและค่านิยมของบุคคล ซึ่งอาจปรากฏในรูปแบบของคำสัมภาษณ์ ความคิดเห็น ความเชื่อ แนวคิดของบุคคลสำคัญ

4.    ทำให้สามารถวิเคราะห์แนวโน้มที่ได้จากข้อมูลในการวิจัยเอกสาร เนื่องจากการนำข้อมูลจำนวนหนึ่งมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ในช่วงเวลาหนึ่ง จะทำให้เห็นแนวโน้ม หรือความนิยมในบางเรื่องบางประเด็นในแต่ละช่วงเวลาได้

สรุป

การวิจัยเอกสาร (Documentary  Research) เป็นการวิจัยประเภทหนึ่งทางสังคมศาสตร์ ซึ่งผู้วิจัยสามารถใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากหนังสือ เอกสาร รายงาน หรือสื่อต่างๆ แล้วเสนอผลการศึกษาในเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้ โดยต้องคำนึงถึงความตรงของการวิจัย เนื่องจากการวิจัยเอกสารมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ซึ่งหากผู้วิจัยต้องการผลการวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างน่าเชื่อถือ อาจใช้วิธีการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Method) ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในการทำวิจัยเอกสารเพื่อแสวงหาคำตอบหรือการสร้างองค์ความรู้ใหม่

 

บรรณานุกรม

Mogalakwe, M. (2006). The use of documentary research methods in social research.

          African sociological review. 10 (1): p. 221-230.

Scott, J. (1990).  A matter of record: Documentary sources in social research. Polity press:      

Cambridge.

Scott, J. (2006).  Documentary research.  London: Sage.