การรายงานข่าวภาคพลเมืองทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส The Citizen News Reporting on Thai PBS

การรายงานข่าวภาคพลเมืองทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

The Citizen News Reporting on Thai PBS

ณิชาภา  แก้วประดับ

Nichapa Kaewpradub

 

บทคัดย่อ

 

บทความนี้มาจากงานวิจัยเรื่องบทบาทการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  มีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษาบทบาทการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ 2.เพื่อศึกษาประเภทของข่าว และชนิดของข่าว ในการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  โดยมีระเบียบวิธีวิจัย ซึ่งวิเคราะห์จากเนื้อหาจากข่าวพลเมือง ในช่วง “นักข่าวพลเมือง” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระหว่าง พ.ศ.2553 – 2556 และ พ.ศ.2558  รวม 5 ปี   รวม  953   ข่าว    และสัมภาษณ์เชิงลึก กลุ่มผู้บริหารงานข่าว และกลุ่มนักข่าวพลเมือง  ผลการวิจัยพบว่า 1.บทบาทการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เน้นบทบาทด้านการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เป็นหลัก  รองลงมาคือบทบาทด้านการสร้างความต่อเนื่องทางสังคม 2. ประเภทของข่าว และชนิดของข่าว ในการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง”     ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  การรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เน้นการนำเสนอข่าวประเภทข่าวเบา  มากกว่าข่าวหนัก    โดยรายงานข่าวการศึกษามากเป็นลำดับแรก   ข่าวศิลปะและวัฒนธรรม  ข่าวสิ่งแวดล้อม  ข่าวสังคมและสตรี  ข่าวการเกษตร  ข่าวการเมือง  ข่าววิทยาศาสตร์และวิจัย   ตามลำดับ  และไม่พบว่ามีการนำเสนอข่าวในพระราชสำนัก   ข่าวบันเทิง  ข่าวกีฬา   ข่าวเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ 

 

คำสำคัญ  :  ข่าวพลเมือง, นักข่าวพลเมือง, บทบาทการรายงานข่าว, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 

 

 

 

 

Abstract

This article is from Role of Reporting “Citizen Journalists Program” in Thai PBS research. The objectives of this research were to 1.Study the role of reporting of news of Thai PBS Citizen.  2.Study types of news of Thai PBS Citizen News Reports. This research methodology was analyzed by the content of Thai PBS’s Citizen Report news program during the period of June 2010 – 2013 and 2015, overall 5 years and 953 news and dept interview with organizers of Thai PBS and Thai PBS Citizen News Reporters.The finding revealed that 1.The role of reporting of Thai PBS Citizen News Reports mainly emphasized on role of information reporting. 2.The types of news of Thai PBS Citizen News Reports.The reporting of Thai PBS Citizen News Reports mainly emphasized on reporting of soft news more than hard news and firstly reported education news and art and culture news, environment news, social and women news, agriculture news, politics news, science and research news respectively but royal residence news, entertainment news, sport news and technology and computer news were not reported in this program.

 

Keywords : Citizen News, Citizen Journalists, Role of Reporting Thai Public Broadcast Service :

       Thai PBS

 

 

 

 

 

 

 

 

1.ความเป็นมา

ปัจจุบันสื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสังคม บรรดาสื่อมวลชนอย่างสื่อวิทยุโทรทัศน์เป็นสื่อมวลชนที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งยังมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในสังคม สื่อวิทยุโทรทัศน์เป็นแหล่งที่ให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ความบันเทิง เป็นจุดศูนย์กลางของสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นรายการโทรทัศน์จึงมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบ เนื้อหา ขั้นตอนวิธีการนําเสนอ ตลอดจนเทคนิคในการผลิตรายการ แต่เนื่องจากความก้าวหน้าและความทันสมัย   ทําให้การนําเสนอรายการต่างๆ ต้องมีความแตกต่างและดึงดูดความน่าสนใจของผู้ชม รูปแบบรายการโทรทัศน์จึงมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมแก่ผู้ชมแต่ละกลุ่มและมีการแยกประเภทรายการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

พ.ศ.2551 สถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้นภายใต้           การดําเนินงานขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่าThai Public Broadcasting Service (TPBS) โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1. ดําเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่จะสนับสนุนและพัฒนาสังคมให้มีคุณภาพ คุณธรรม บนพื้นฐานของความเป็นไทยโดยผ่านการบริการข่าวสารที่เที่ยงตรงรอบด้าน     2. ผลิตรายการทางด้านข่าวสาร สารประโยชน์ ทางด้านการศึกษาและสาระบันเทิงที่มีสัดส่วนอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพสูง เน้นความหลากหลายในมิติต่างๆ โดยมุ่งดําเนินการอย่างปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์และยึดถือผลประโยชน์สาธารณะเป็นสําคัญ 3. ส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อประโยชน์ของระดับชาติและระดับท้องถิ่น

4. ส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนได้รับ ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

5. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกําหนดทิศทาง   การให้บริการองค์กรเพื่อประโยชน์สาธารณะ

6. สนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์อื่นๆ โดยคํานึงถึงการเข้าถึงอย่างเป็นธรรมของประชาชน (ราชกิจจานุเบกษา, 2551 น. 3)

สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (TPBS) เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะมีวัตถุประสงค์เพื่อนําเสนอรายการสารประโยชน์และข่าวสารเพื่อการพัฒนาของเด็ก เยาวชน ประชาชนและประเทศในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยรูปแบบของรายการโทรทัศน์ประกอบด้วย

1. รายการข่าว อันประกอบด้วยข่าวภาคเช้า ข่าวเที่ยง ข่าวภาคค่ำ ข่าวภาคดึกและนักข่าวพลเมือง

2. รายการสารคดีส่งเสริมเอกลักษณ์ไทย

3. รายการสารคดีเอเชีย

4. รายการสารคดีจากประเทศตะวันตก

5. รายการสารคดีท่องเที่ยว

6. รายการเด็กและเยาวชน

7. รายการละครเด็ก

8. รายการสนทนาประเด็นสาธารณะ

9. รายการภาพยนตร์ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม

10.รายการเพื่อการเกษตร

การก่อเกิดของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ประกอบกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี       การสื่อสาร กระตุ้นให้ประชาชนเกิดความสนใจแนวคิดสิทธิการสื่อสารของพลเมือง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ตลอดจนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ทศวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ทำให้วงการสื่อสารมวลชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากเดิมที่การสื่อสารผ่านสื่อมวลชนถูกพิจารณาว่าเป็นการสื่อสารทางเดียวเพราะเป็นการผูกขาดการส่งสารจากนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนไปยังผู้รับสารเท่านั้น แต่ปัจจุบันผู้รับสารได้ปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองและหันมาส่งสารผ่านพื้นที่สาธารณะต่างๆ ผู้รับสารในยุคสมัยนี้จึงมีบทบาทเป็นทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสารในคราวเดียวกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน  

ปรากฏการณ์ทางสังคมดังกล่าวมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อ “สื่อ” ซึ่งประชาชนทั่วไปเป็นผู้ส่งสารเริ่มเป็นที่รู้จักด้วยถ้อยคำแตกต่างกันอาทิ สื่อภาคประชาชน นักข่าวพลเมือง  วารสารศาสตร์ภาคประชาชน ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกาสื่อดังกล่าวถูกเรียกว่า Citizen Journalism, Public Journalism, Participatory Journalism, Democratic Journalism,  Guerrilla  Journalism และ Street Journalism ส่งผลให้มีผู้ที่นิยามแนวคิดดังกล่าวอย่างกว้างขวางและหลากหลาย

ปรากฏการณ์  “นักข่าวพลเมือง” จึงไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสถาบันสื่อกระแสหลักที่ผูกขาด  การผลิตข่าวสารให้สังคมมาอย่างยาวนานและสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านนิเทศศาสตร์และ สื่อสารมวลชนเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามมาอีกด้วย  

การรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” เป็นการนำเสนอข่าวของประชาชนทั่วทุกภูมิภาคภายใต้ชื่อ “นักข่าวพลเมือง” ซึ่งออกอากาศในรายการข่าวภาคค่ำของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสตั้งแต่ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นปีก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจนถึงปัจจุบัน  

การรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” เป็นช่วงที่ได้รับความสนใจทั้งจากประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในการรายงานข่าวและผู้ชมในการติดตามชมอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ทำให้การรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง”  ยังคงดำรงสถานะการออกอากาศอยู่จนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้สร้างมิติใหม่ในการเปิดพื้นที่ “พลเมืองข่าว” สร้างนักข่าวชาวบ้านครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยเน้นเสนอข่าวจากภาคประชาชนทุกกลุ่มสังคม สวนทางสื่อ   กระแสหลักโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอกย้ำการเป็นทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย จึงได้ต่อยอดนโยบายของสถานีฯ ด้วยการเปิดรูปแบบการรายงานข่าวใหม่ภายใต้ชื่อ “นักข่าวพลเมือง”

การรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง”  ถือเป็นการเปิดพื้นที่การนำเสนอภาพ ข้อมูลข่าวจากภาคประชาชนที่สามารถสะท้อนความเป็นไปและปัญหาในแต่ละท้องที่แก่สาธารณะ โดยสถานีฯได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพลเมืองครั้งแรกที่จังหวัดนนทบุรี โดยมีนักข่าวพลเมืองรุ่นแรก จำนวน 40 คน แล้วจึงขยายการฝึกอบรมไปทั่วทุกภูมิภาคและทุกกลุ่มสังคมเช่น เยาวชน  ชาวบ้าน และคนพิการ เป็นต้น ทั้งนี้การอบรมดังกล่าวนอกจากจะสร้างทักษะในการรายงานข่าวเช่น          การถ่ายภาพ การเขียนข่าวและการจับประเด็นแล้ว ยังมุ่งเน้นการสร้างจริยธรรมและจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าวอีกด้วย 

นอกจากนี้ยังสร้างความน่าเชื่อถือของการรายงานข่าวด้วยการจัดตั้งกองบรรณาธิการใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อรวบรวมข่าวจากนักข่าวพลเมืองทั่วประเทศ รวมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวร่วมกับสำนักข่าวภูมิภาค 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดขอนแก่น

รายการ “นักข่าวพลเมือง” เป็นการนำเสนอข่าวร่วมกับรายการข่าวหลักของสถานีฯ เป็นสื่อที่เน้นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อข่าวกระแสหลักในสังคม และความเชื่อที่ว่าเนื้อหาของข่าวจากประชาชนมีคุณค่าและมีคุณภาพที่ดีเพราะเป็นการนำเสนอจากคนในพื้นที่ที่รู้เรื่องราวในพื้นที่อย่างลึกซึ้งมากกว่าการเข้าไปทำข่าวของนักข่าวในพื้นที่รายการ “นักข่าวพลเมือง”ยังสะท้อนให้เห็นจิตสำนึกและจิตสาธารณะในการทำข่าวของนักข่าวภาคประชาชนที่ไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ

ดังนั้นในงานวิจัยเรื่องบทบาทการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ทางสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส  ผู้วิจัยจึงสนใจและเห็นถึงความสำคัญในการศึกษาชนิดของข่าว  ประเภทของข่าวและบทบาทของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” เพื่อให้เกิดความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างชัดเจน เข้าใจจุดแข็ง จุดด้อยของข่าวสารจากภาคพลเมือง อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพข่าวสารจากนักข่าวพลเมืองและมองเห็นความเชื่อมโยงของปรากฏการณ์นี้กับปรากฏการณ์อื่นๆ ในสังคมไทย รวมถึงทำให้สังคมเกิดความตระหนักในพลังของข่าวสารจากภาคพลเมืองที่มีต่อสังคม

 

2.วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาบทบาทการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทย        พีบีเอส

2. เพื่อศึกษาประเภทของข่าวและชนิดของข่าวในการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

 

3.ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย         

1. เข้าใจบทบาทการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

2. เข้าใจประเภทของข่าวและชนิดของข่าวในการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

3. นำผลการวิจัยไปสู่การพัฒนาคุณภาพการนำเสนอข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของ      สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสต่อไป

 

4.วิธีการศึกษา

การวิจัยนี้ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจาก 2 วิธีประกอบกันคือ การวิเคราะห์เนื้อหารายการข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” (Content Analysis) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-dept Interview) บุคคล 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้บริหารงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” และกลุ่มนักข่าวพลเมือง รวมจำนวน 20 คน สามารถสรุปผลวิจัยและอภิปรายผลการศึกษาได้ดังนี้

 

5.ผลการศึกษา

การนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “บทบาทการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” จะแบ่งออกเป็น 2 ตอน ดังนี้ 

ตอนที่ 1 รายงานผลการวิเคราะห์ประเภทของข่าวและชนิดของข่าวในการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ตอนที่ 2 รายงานผลการวิเคราะห์บทบาทการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

 

1. ประเภทของข่าวและชนิดของข่าวในการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

การวิจัยครั้งนี้พบว่าการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เน้นการนำเสนอข่าวประเภทข่าวเบามากกว่าข่าวหนัก โดยรายงานข่าวสังคมและสตรีมากเป็นลำดับแรก ข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม ข่าวการเกษตร ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจข่าววิทยาศาสตร์และวิจัยและข่าวกีฬาตามลำดับ และไม่พบว่ามีการนำเสนอข่าวในพระราชสำนัก ข่าวเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์และข่าวบันเทิง

จากข่าวทั้งหมด จำนวน 1,133 ชิ้น พบว่าประเภทของข่าวที่นำเสนอในช่วง “นักข่าวพลเมือง” เป็นข่าวเบามากที่สุด จำนวน 751 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 66.28 และเป็นข่าวหนัก จำนวน 382 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 33.72 

 

ตารางที่ 1  ประเภทของข่าวในการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” พ.ศ.2552-2558

 

ลำดับที่
ประเภทข่าว
จำนวน (ชิ้น)
ร้อยละ )%)
1
ข่าวเบา
751
66.28
2
ข่าวหนัก
382
33.72
                       รวม
1,133
100
 

 

 

ชนิดของข่าวที่นำเสนอในช่วง “นักข่าวพลเมือง” ที่ออกอากาศตั้งแต่ พ.ศ.2552 – 2558 จากข่าวทั้งหมด จำนวน 1,133 ชิ้น พบว่าชนิดของข่าวที่นำเสนอในช่วง “นักข่าวพลเมือง” เป็นข่าวสังคมและสตรีมากที่สุด จำนวน 371 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 32.74 รองลงมาเป็นข่าวสิ่งแวดล้อม จำนวน 279 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 24.62 อันดับที่ 3 เป็นข่าวการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม จำนวน 211 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 18.62  

อันดับที่ 4 เป็นข่าวการเกษตร จำนวน 119 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 10.50 อันดับที่ 5 เป็น    ข่าวการเมือง จำนวน 89 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 7.86 อันดับที่ 6 เป็นข่าวเศรษฐกิจ จำนวน 61 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 5.38 อันดับที่ 7 เป็นข่าววิทยาศาสตร์และวิจัย จำนวน 2 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 0.18 และอันดับที่ 8 เป็นข่าวกีฬา จำนวน 1 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 0.10 ตามลำดับ

โดยไม่มีการนำเสนอข่าวจำนวน 3 ชนิดข่าวคือ 1. ข่าวในพระราชสำนัก 2. ข่าวเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์และ 3. ข่าวบันเทิง

 

ตารางที่ 2  ชนิดของข่าวในการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” พ.ศ.2552-2558

 

ลำดับที่
ชนิดของข่าว
จำนวน (ชิ้น)
ร้อยละ )%)
1
ข่าวสังคมและสตรี
371
32.74
2
ข่าวสิ่งแวดล้อม
279
24.62
3
ข่าวการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม
211
18.62
4
ข่าวการเกษตร
119
10.50
5
ข่าวการเมือง
89
7.86
6
ข่าวเศรษฐกิจ
61
5.38
7
ข่าววิทยาศาสตร์และวิจัย
2
0.18
8
ข่าวกีฬา
1
0.10
9
ข่าวในพระราชสำนัก
0
0
10
ข่าวเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์
0
0
11
ข่าวบันเทิง
0
0
 
รวม
1,133
100
 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์พบว่าทั้งกลุ่มผู้บริหารงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” และกลุ่มนักข่าวพลเมืองของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสส่วนใหญ่ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เน้นเสนอข่าวศิลปวัฒนธรรม ข่าวสังคม ข่าวการเกษตร ข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวการเมืองและข่าวเศรษฐกิจ ดังนี้

นายชุมพล ศรีสมบัติ นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.เชียงใหม่ แสดง        ความคิดเห็นว่า “ข่าวที่นำเสนอในรายการนักข่าวพลเมืองส่วนใหญ่นำเสนอเกี่ยวกับ วิถีประเพณี วัฒนธรรมและกิจกรรมของพี่น้องชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในเมืองล้านนา การอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนา    การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในตัวตนของชาวมุสลิมในเมืองล้านนา ซึ่งมีอัตลักษณ์และที่มาแตกต่างจากมุสลิมในประเทศไทยในภูมิภาคอื่น”

นายทินภัทร ภัทรเกียรติทวี นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.ตาก แสดง      ความคิดเห็นว่า “ข่าวที่นำเสนอในรายการนักข่าวพลเมืองส่วนใหญ่เป็นข่าวศิลปวัฒนธรรม”

พระสร้อย ชยานนโท (เซียมลาย) นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.เชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นว่า “ข่าวที่นำเสนอในรายการนักข่าวพลเมืองส่วนมากจะเป็นข่าวเกี่ยวกับ วัฒนธรรมและสังคม”

นายขวัญชิต โพธิ์กระสังข์ นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.ศรีสะเกษ แสดง  ความคิดเห็นว่า “ข่าวส่วนมากนำเสนอวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีชาวกวยเป็นหลัก และขยาย      การนำเสนอออกไปยังพื้นที่ที่มีโอกาสได้ผ่านหรือพบเจอ หรือได้ยินว่ามีสิ่งดีงามเกิดขึ้น ก็จะไปนำเสนอด้วย ทั้งใน จ.ศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียงหรือจังหวัดอื่นๆ ที่มีโอกาสได้พบเจอสิ่งนั้นๆ  เรื่องราวง่ายๆ งดงามตามธรรมชาติเช่น ชาติพันธุ์กวย กูยหรือเขมร รวมถึงวิถีเกษตรที่กำลังจะเปลี่ยนวิถีไปสู่อุตสาหกรรม การทำมาหากินของผู้คนที่ยังอนุรักษ์วิถีและประเพณีดั้งเดิมไว้ รวมถึงนำเสนอเรื่องราววิถีวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหายไปเช่น วิถีลูกชาวนา ในตอนลูกชาวนาชาวกวย”

นายจักรพันธ์ จันทร์ปัญญา นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.อุดรธานี แสดงความคิดเห็นว่า “ข่าวที่นำเสนอในข่าวพลเมืองส่วนมากคือ ข่าวเกษตรและข่าววัฒนธรรม วิถีชีวิตและชุมชนเช่น ตอนปณิธานของป้านิดหน่อย ตอนปั้นไหบ้านเชียง ตอนท่าสีแยกขยะรวมชุมชน ตอนปลูกผักปลอดสารยกกลุ่มคุ้มบ้านน้อย”

นางสาวอาอีชะ แก้วนพรัตน์ นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.ระนอง แสดง  ความคิดเห็นว่า “ส่วนใหญ่ข่าวพลเมืองเป็นการนำเสนอเรื่องปัญหาชุมชน คุณภาพชีวิต วัฒนธรรมและปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งมีทั้งข่าวหนักและข่าวเบา”

นายสุรพงษ์ พรรณวงษ์ เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า “ข่าวพลเมืองส่วนใหญ่ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดข่าวสังคม บางชิ้นงานก็อยู่ในหมวดของข่าววัฒนธรรมแต่ว่าไปติดโครงสร้างของสังคม เพราะบางครั้งอาจออกแบบการเล่าเรื่องจากวิถีเกษตรและเป็นปัญหาโครงสร้างทางสังคมด้วยเช่น กรณีที่ดินทำกินหรือเรื่องการละศีลอดที่สื่อมุสลิมทำขึ้นมา เรื่องการแต่งกายตามธรรมเนียมปฏิบัติและวิธีการละศีลอดในช่วงรอมฎอน หากจัดวางลำดับการออกอากาศสามารถเป็นได้ทั้งข่าวสังคมและข่าวศิลปวัฒนธรรมแต่ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวเชิงสังคมวัฒนธรรม” 

นายกมล หอมกลิ่น นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.อุบลราชธานี แสดง     ความคิดเห็นว่า “ข่าวที่นำเสนอในรายการนักข่าวพลเมืองส่วนใหญ่เป็นข่าวสังคม ข่าวเกษตรและ  ข่าววัฒนธรรม”

           นางสาวนงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กรุงเทพมหานคร แสดงความคิดเห็นว่า “ข่าวที่นำเสนอในรายการนักข่าวพลเมืองสามารถเป็นไปได้ทุกประเภทข่าวเช่น  ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม ข่าวเกษตร ข่าววัฒนธรรม ฯ 

ส่วนข่าวที่ทำจะมีความน่าสนใจมากกว่า ซึ่งเราสนใจเรื่องโครงการพัฒนาที่มีผลต่อชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อม”

นายอานนท์ มีศรี นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.นครศรีธรรมราช แสดง   ความคิดเห็นว่า “ไทยพีบีเอสเห็นคุณค่าของนักข่าวมากขึ้น ให้พื้นที่เกี่ยวกับข่าว ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นข่าวอะไร เวลาไหนก็ได้ที่มันเกิดเหตุขึ้น”

นายมงคลฤทธิ์ มณีเลิศ นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.มุกดาหาร แสดง     ความคิดเห็นว่า “ข่าวพลเมืองเป็นสิ่งที่ผมชอบมากเพราะมีความหลากหลาย ครบทุกประเด็น มีทุกมิติของสังคม ชุมชนที่เราอาจพบเจอในชีวิต สามารถนำมาสื่อสารได้ทั้งหมด โดยเฉพาะข่าวและประเด็นที่สื่อหลักไม่สนใจ ข่าวและประเด็นเหล่านี้สามารถนำมาผลิตในข่าวพลเมืองได้เลย

แนวที่ชอบคงหนีไม่พ้นมิติของสุขภาพพี่น้องประชาชนที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต เพราะเราจบมาด้านนี้ แล้วก็ทำงานคลุกคลีกับสายนี้ เวลาลงชุมชนจึงชอบค้นหาแนวปฏิบัติที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี”

นายโกวิท โพธิสาร อดีตเจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า “ข่าวที่นำเสนอส่วนใหญ่มันโยงกันแบบนี้ มันมีตัวอย่างเช่น เรื่องจากพรานปลาเป็นนักล่าไข่มดแดง จากเดิมเขาหาปลาได้ทุกเช้าเขาได้เงินอย่างน้อย 2,000-5,000 บาท บางวันเขาได้ปลาใหญ่ได้เงินเป็น 10,000 บาท นี่คือรายได้ที่เขาเคยได้ หลังจากธนาคารโลกสร้างเขื่อนปากมูลมันทำให้คนที่เคยหาปลาตรงนั้นไม่สามารถหาปลาได้เหมือนเดิม รายได้มาจากการทำไม้กวาดขาย ไปแหย่ไข่มดแดงขาย ซึ่งได้วันละ 100-200 บาท ถ้าอยู่ไม่ไหวจริงๆ         ก็เข้ากรุงเทพฯ อันนี้เป็นข่าวเศรษฐกิจ แต่ชาวบ้านไม่ได้มองว่าเป็นเศรษฐกิจ นี่คือผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่เข้ามาโดยไม่เห็นหัวประชาชน มันรุนแรงมากในพื้นที่แล้วเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มันทำให้รายได้ของเขาหายไป คนในพื้นที่เหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนทะเลาะกัน สภาพความเป็นชุมชนล่มสลาย มูลค่าความเสียหายเหล่านี้ไม่เคยอยู่ในรายงานอีไอเอ”

นางสาวสร้อยแก้ว คำมาลา นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.เชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นว่า “ข่าวที่นำเสนอในรายการนักข่าวพลเมืองส่วนใหญ่เป็นข่าวปัญหาสังคม ผลกระทบจากระบบทุนขนาดใหญ่หรือผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ”

 

2. บทบาทการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

การวิจัยครั้งนี้พบว่าการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ที่ออกอากาศตั้งแต่ พ.ศ.2552 – 2558 จากข่าวทั้งหมด จำนวน 1,133 ชิ้น พบว่าเป็นบทบาทการให้ข่าวสารมากที่สุดจำนวน 558 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 49.26 รองลงมาเป็นบทบาทการประสานสัมพันธ์ จำนวน 279 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 24.62

อันดับที่ 3 เป็นบทบาทการสร้างความต่อเนื่องทางสังคม จำนวน 217 ชิ้น คิดเป็น          ร้อยละ 19.15 และอันดับที่ 4 เป็นบทบาทการการรณรงค์ทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ จำนวน 79 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 6.97 ตามลำดับ 

โดยไม่พบว่ามีบทบาทด้านการให้ความเพลิดเพลินแก่สมาชิกในสังคมเลย   

จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์พบว่าทั้งกลุ่มผู้บริหารงานข่าวช่วง “นักข่าว พลเมือง” และกลุ่มนักข่าวพลเมืองของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสส่วนใหญ่ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เน้นบทบาท       การการประสานสัมพันธ์ รองลงมาคือเน้นบทบาทการให้ข่าวสาร

โดยบทบาทการประสานสัมพันธ์นั้น กลุ่มผู้บริหารงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” และกลุ่มนักข่าวพลเมืองเห็นว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านนำเสนอปัญหาของในพื้นที่ให้ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว      

 

6. การอภิปรายผล

1. ประเภทของข่าวและชนิดของข่าวในการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

การวิจัยครั้งนี้พบว่าการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เน้นการนำเสนอข่าวประเภทข่าวเบามากกว่าข่าวหนัก โดยรายงานข่าวสังคมและสตรีมากเป็นลำดับแรก ข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม ข่าวการเกษตร ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจข่าววิทยาศาสตร์และวิจัยและข่าวกีฬาตามลำดับ และไม่พบว่ามีการนำเสนอข่าวในพระราชสำนัก ข่าวเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์และข่าวบันเทิง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์พบว่าทั้งกลุ่มผู้บริหารงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” และกลุ่มนักข่าวพลเมืองของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสส่วนใหญ่ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเน้นเสนอ          ข่าวศิลปวัฒนธรรม ข่าวสังคม ข่าวการเกษตร ข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวการเมืองและข่าวเศรษฐกิจ 

ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับแนวคิดการจำแนกประเภทเนื้อหาข่าวของรัชนี วงศ์วรรณ โดยแบ่งประเภทของข่าวออกเป็น 2 ประเภทคือ ข่าวหนักและข่าวเบา และแบ่งชนิดของข่าวจำนวน 11 ชนิดข่าวได้แก่ 1. ข่าวในพระราชสำนัก 2. ข่าวการเมือง 3. ข่าวเศรษฐกิจ  4. ข่าวการเกษตร          5. ข่าวการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม 6. ข่าววิทยาศาสตร์และวิจัย 7.ข่าวสังคมและสตรี              8. ข่าวกีฬา 9. ข่าวบันเทิง 10. ข่าวสิ่งแวดล้อมและ 11. ข่าวเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์

แม้จะไม่มีการนำเสนอข่าวจำนวน 3 ชนิดข่าวคือ 1. ข่าวในพระราชสำนัก 2. ข่าวเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ และ 3. ข่าวบันเทิงก็ตาม เนื่องจากการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นการรายงานข่าวภาคประชาชนที่เน้นนำเสนอข้อมูลจากในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางภูมิภาค ชาติพันธุ์และอาชีพ ประกอบกับวัตถุประสงค์ของการนำเสนอข่าวดังกล่าว เป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตข่าวเพื่อออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในฐานะโทรทัศน์สาธารณะของประเทศไทย

 

2. บทบาทของการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

การวิจัยครั้งนี้พบว่าการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ที่ออกอากาศตั้งแต่ พ.ศ.2552 – 2558 จากข่าวทั้งหมด จำนวน 1,133 ชิ้น พบว่าเป็นบทบาทการให้ข่าวสารมากที่สุด จำนวน       558 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 49.26 รองลงมาเป็นบทบาทการประสานสัมพันธ์ จำนวน 276 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 24.62

อันดับที่ 3 เป็นบทบาทการสร้างความต่อเนื่องทางสังคม จำนวน 217 ชิ้น คิดเป็น          ร้อยละ 19.15 และอันดับที่ 4 เป็นบทบาทการการรณรงค์ทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ จำนวน 79 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 6.97 ตามลำดับ

โดยไม่พบว่ามีบทบาทด้านการให้ความเพลิดเพลินแก่สมาชิกในสังคมเลย  

จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์พบว่าทั้งกลุ่มผู้บริหารงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” และกลุ่มนักข่าวพลเมืองของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเน้นบทบาทการประสานสัมพันธ์ รองลงมาคือบทบาทการให้ข่าวสาร     

โดยบทบาทการประสานสัมพันธ์นั้น กลุ่มผู้บริหารงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” และกลุ่มนักข่าวพลเมืองเห็นว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านนำเสนอปัญหาในพื้นที่ให้ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว      

ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนในการเป็นตัวแทนถ่ายทอดสังคม บทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนตามทฤษฎีโครงสร้างบทบาทหน้าที่ โดย เดนนิส       แมคเควล ได้ประมวลหน้าที่ที่พึงประสงค์ของสื่อมวลชนไว้ 5 ประการคือ 1. บทบาทการให้ข่าวสาร เน้นการให้ข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์และสภาพการณ์ในสังคมและในโลก 2. บทบาทการประสานสัมพันธ์ เน้นการอธิบาย แปลความและวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความหมายของเหตุการณ์ต่างๆ และข่าวสาร เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม การประสานเชื่อมโยงกลุ่มคนและกิจกรรมต่างๆ   เข้าด้วยกัน การกำหนดว่าเรื่องใดสำคัญมากน้อยกว่าหรือการกำหนดวาระทางสังคม 3. บทบาทสร้างความต่อเนื่องทางสังคม การถ่ายทอดวัฒนธรรมหลักและยอมรับวัฒนธรรมย่อยหรือวัฒนธรรมทางเลือกและวัฒนธรรมใหม่ การเสริมสร้างและธำรงไว้ซึ่งค่านิยมพื้นฐานในสังคม 4. บทบาทการให้ความเพลิดเพลินแก่สมาชิกในสังคม การให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินและวิธีการพักผ่อนหย่อนใจ   การลดระดับความเครียดและข้อขัดแย้งทางทางสังคมและ 5. บทบาทการรณรงค์ทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ การรณรงค์ด้านการเมือง สงคราม การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการทำงานเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนรวม

การรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้ทำบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน 4 ประการคือ บทบาทการให้ข่าวสาร บทบาทการประสานสัมพันธ์ บทบาทสร้างความต่อเนื่องทางสังคมและบทบาทการให้ความเพลิดเพลินแก่สมาชิกในสังคม ซึ่งสามารถตอบโจทย์สำคัญของการทำหน้าที่สื่อกลางในการสร้างความสัมพันธ์ในสังคมของสื่อมวลชน

ผลการวิจัยยังสอดคล้องกับปรัชญาและแนวคิดของสถานีโทรทัศน์สาธารณะได้แก่ 1. มีความเป็นอิสระในการดําเนินงาน จากกการมีหลักประกันทางกฎหมายที่ป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง และให้ความมั่นคงทางการเงินควบคู่ไปกับการห้ามโฆษณาเพื่อให้ปลอดจากการถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุน 2. ผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะที่มีคุณภาพสูงเช่น รายการข่าวและรายการเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งให้ข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนรอบด้านในประเด็นที่มีความสําคัญต่อสาธารณะ รายการการศึกษาสําหรับเด็กและเยาวชนและรายการที่ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 3. ผลิตและเผยแพร่รายการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมจากการมีข้อกําหนดด้านมาตรฐานของรายการและจริยธรรมทางวิชาชีพ 4. มีกลไกให้สังคมมีส่วนร่วมเช่น   การสนับสนุนผู้จัดทํารายการโทรทัศน์และวิทยุอิสระ ทั้งผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนให้สามารถใช้ประโยชน์จากสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการสื่อสาร เพื่อเรียนรู้ระหว่างกันและมีกลไกสํารวจความพึงพอใจของประชาชนเป็นประจํา ตลอดจนมีกลไกที่ประชาชนสามารถให้คําแนะนําและข้อคิดเห็น ร้องเรียนและการตรวจสอบการดําเนินงานของสถานีโทรทัศน์สาธารณะได้โดยง่าย

โดยการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้ทำบทบาทหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์สาธารณะและผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เนื่องจากนักข่าวพลเมืองทั้งหมดเป็นพลเมืองในพื้นที่ที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย เป็นผู้คลุกคลีอยู่กับข้อมูลและปัญหาในพื้นที่ ทำให้จุดเด่นของการรายงานข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” เป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการผลิตรายการของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและนักข่าวพลเมืองทุกคนมีความเป็นอิสระในการทำงานในพื้นที่ จึงทำให้ผลงานข่าวที่นำเสนอทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสมีเรื่องราวแปลกใหม่ที่ผู้ชมไม่เคยทราบมาก่อน เป็นข่าวที่มีประโยชน์และมีความหลากหลาย  

7. ข้อเสนอแนะ

1. ควรศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการการผลิตข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนถึงปัจจัยสนับสนุน ปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการการผลิตข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง”

2. ควรศึกษาเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวช่วง “นักข่าวพลเมือง” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ว่ามีผลกระทบ (Impact) ต่อนโยบายของรัฐมากน้อยเพียงใด และได้รับการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง

 

8.กิตติกรรมประกาศ

งานวิจัยเรื่องบทบาทการรายงานข่าวช่วง  “นักข่าวพลเมือง”  ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  

ได้รับความกรุณาจากบุคคลหลายฝ่ายจนแล้วเสร็จ ผู้วิจัยขอกราบขอบพระคุณ ดร.สุรัฐ  ศิลปอนันต์  ที่ปรึกษาหลัก ที่ให้คำแนะนำ แก้ไขข้อบกพร่องตลอดจนให้ความเมตตาและให้ข้อคิดเห็นต่างๆ ทำให้งานวิจัยนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี   

ขอขอบคุณคุณพิภพ พานิชภักดิ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) และนักข่าวพลเมืองทุกท่าน ที่เห็นความสำคัญของงานวิจัยเสียสละเวลาในการให้สัมภาษณ์ และให้ข้อมูลในการทำวิจัยในครั้งนี้  

 

9.รายการอ้างอิง

กรวุฒิ กาญจนาบุญมาเลิศ. (2552). ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ในสมรภูมิข่าวโทรทัศน์. (สารนิพนธ์วารสารศาสตร

มหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

กิตติ สิงหาปัด. (2548). การสร้างสรรค์รายการข่าว. ในเอกสารการสอนชุดวิชาการสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์

หน่วยที่ 7. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช.

นิธิตา สิริพงศ์ทักษิณ. (2554). การเมืองในนโยบายสื่อสาธารณะขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ

แห่งประเทศไทย. (ดุษฎีนิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พีระ จิรโสภณ. (2551). ทฤษฎีการสื่อสารมวลชน ในเอกสารการสอนชุดวิชาการ ปรัชญานิเทศศาสตร์และทฤษฎี

การสื่อสาร หน่วยที่ 10. นนทบุรี: มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช.

พันธนันท์ วิเศษสมวงศ์. (2550). พัฒนาการและการจัดตั้งทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย. (วิทยานิพนธ์ 

นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

ภัทราวดี บุนทยะพัธน์. (2552). ความคาดหวังและความต้องการข่าวสารจากสื่อโทรทัศน์สาธารณะของประชาชน

ในเขตกรุงเทพมหานคร: กรณีศึกษาสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยสาธารณะ.     (การศึกษาเฉพาะบุคคล  

นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรืองและคณะ. (2553). คู่มือสื่อพลเมือง. กรุงเทพมหานคร.

สุภารัตน์ ธนกุลพรรณ. (2553). สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย: แนวคิด ปรัชญา กลยุทธ์และปัจจัยที่มีผลต่อการ

บริหารงาน. (วิทยานิพนธ์ นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

 

ภาษาอังกฤษ

Chung, Deborah & Nah, Seungahn.  (2010). Perceive Role Conceptions of Citizen  and

Professional Journalists: Citizens’ Views (Online article). Retrieved August 5, 2011.   from

http: //www.aejmc.org/home/2010/07/civic-and-citizen-journalism- interest-group-2010 –

abstracts/.

 

สัมภาษณ์

กมล หอมกลิ่น, นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.อุบลราชธานี. สัมภาษณ์, 25 ตุลาคม 2560.  

โกวิท โพธิสาร, อดีตเจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพ      สาธารณะแห่งประเทศไทย, สัมภาษณ์, 26 สิงหาคม 2561.

ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์, นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.ศรีสะเกษ. สัมภาษณ์, 29  เมษายน 2561.

ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี, นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.ตาก. สัมภาษณ์, 25 ตุลาคม 2560.

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ, นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กรุงเทพหานคร. สัมภาษณ์,    15 กุมภาพันธ์

2561.

ปิยะพงศ์ ชูประพันธ์, นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.นครศรีธรรมราช. สัมภาษณ์,    10 ตุลาคม

2560.

พระสร้อย ชยานนโท (เซียมลาย), นักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จ.เชียงใหม่.   สัมภาษณ์, 7

  กรกฎาคม 2560.

พิภพ พานิชภักดิ์, กรรมการบริหาร รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศ

ไทย. สัมภาษณ์, 30 ตุลาคม 2561.