การฟังเพลงไทยในประเภทวงดนตรีไทยต่างๆ

การหัดฟังเพลงบรรเลงนั้น ควรจะเลือกฟังวงดนตรีไทยชนิดต่างๆตามลำดับขั้นดังต่อไปนี้ คือ

วงเครื่องสายผสม

ควรเริ่มต้นการหัดฟังด้วยเครื่องสายผสมเปียโน แอคคอเดียน เครื่องสายผสมขิม และเครื่องสายผสมออร์แกน เป็นต้น ไม่ควรฟังเครื่องสายปี่ชวาเพื่อการเริ่มต้น เพราะเพลงมักดำเนินทำนองเร็วมาก ปี่ชวามีเสียงแหลม ไม่เสนาะหูสำหรับผู้เริ่มต้น จึงเป็นปัจจัยทำให้ฟังค่อนข้างยากสำหรับผู้เริ่มฟัง

 

 

วงปี่พาทย์ไม้นวม

วงปี่พาทย์ไม้นวม ถ้าฝีมือดีๆแล้ว ไพเราะมาก เพราะเสียงระนาดเอกที่ใช้ไม้หุ้มผ้า (ไม้นวม) ตีนั้น จะให้เสียงที่นุ่มหู เสียงฆ้องวงใหญ่และเสียงซออู้ จะช่วยอุ้มให้เกิดความนุ่มนวล เสียงขลุ่ย มีทั้งแหลมบ้างทุ้มบ้างสลับกันไป เรียกว่าหลีกขึ้นหลบลงพันพัวให้น่าติดตามมาก เสียงไม่บาดหู

วงมโหรี

วงมโหรีเป็นวงที่มีเครื่องดนตรีมากกว่าวงปี่พาทย์ไม้นวม ทำให้บางคนที่หัดฟังใหม่ๆรู้สึกว่าฟังได้ไม่กระจ่าง แต่หากเข้าใจถึงธรรมชาติของเครื่องดนตรีทุกเครื่องที่ประกอบเข้ากันเป็นวงมโหรีแล้วนั้นจะได้รสชาติในการฟังเพลงมากกว่า ลึกกว่า และมีความหลากหลายมากว่า ยิ่งถ้าจำทำนองเพลงจนสามารถร้องตามได้แล้ว จะเห็นลีลา เช่น ลูกล้อ ลูกขัด ลูกเหลื่อม ได้กระจ่างแจ้ง จนรู้สึกสนุกที่จะติดตามท่วงทำนองนั้นไปจนตลอดเพลง

วงเครื่องสายไทย

ผู้หัดฟังมักรู้สึกว่าวงเครื่องสายไทยเสียงเบา ไม่นุ่นมหู บางทีรู้สึกว่าเสียงแหลม แสบหู เนื่องจากวงดังกล่าว ประกอบด้วยเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น โดยเฉพาะเครื่องสายวงเล็กแล้ว มีซอด้วง ซออู้ จะเข้ ขลุ่ย 4 ชิ้นนี้เท่านั้น ที่เป็นตัวดำเนินทำนอง นอกจากนั้นก็มีแต่เครื่องประกอบจังหวะ ดังนั้นวงเครื่องสายจึงขาดการประสานเสียงไปมาก ดังนั้นผู้ฟังใหม่ๆอาจจะเบื่อเมื่อฟังเครื่องสายไทยแท้ๆ แต่ถ้าเป็นนักเลงฟังเพลงหรือเป็นนักดนตรีรู้ทางเพลงแล้ว การฟังเครื่องสายนั้น สามารถจะฟังแยกเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น
ได้สะดวก ฟังสนุก และรู้รสมือผู้บรรเลงแต่ละคนได้เด่นชัด อีกประการหนึ่ง วงเครื่องสายไทยมักบรรเลงเร็วมาก คนหัดฟังใหม่ๆ จึงฟังรายละเอียดได้ไม่หมดจด รสชาติจึงขาดไปสำหรับผู้เริ่มต้นหัดฟัง

วงปี่พาทย์ไม้แข็ง

วงปี่พาทย์ไม้แข็งเป็นวงดนตรีที่มีเสียงดังมาก บางคนไม่ชอบว่าแสบแก้วหู บางคนบ่นว่านั่งฟังไปนานๆแล้วหูอื้อ แต่ถ้าหูระดับนักเลงเพลงไทยจริงๆแล้ว มักจะนิยมปี่พาทย์ไม้แข็งมาก เพราะเสียงดังกระจ่างแจ้งทุกเครื่องมือ  คนที่ฟังเพลงปี่พาทย์ไม้แข็งไม่สนุกนั้น ท่านว่ายังหัดฟังเพลงได้ไม่แตกฉานพอคนที่ฟังปี่พาทย์ไม้แข็งจนชินแล้วมักจะมีความรู้สึกว่า ฟังเครื่องสายผสมไม่ออกรสเท่าที่ควร เว้นเสียแต่วงเครื่องสายนั้น จะบรรเลงด้วยคนระดับฝีมือจริงๆ จึงจะฟังดี

วงปี่พาทย์มอญ

วงปี่พาทย์มอญนั้น บางคนไม่ชอบฟัง เพราะหาว่าเสียงปี่มอญนั้นโอดครวญเกินไป หรือเศร้าสร้อยเหมือนงานศพ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะไปผูกใจเสียว่า วงปี่พาทย์มอญนั้นใช้สำหรับงานศพ วงปี่พาทย์ดังกล่าวนั้น ว่าที่จริงแล้วมีเสียงฆ้องดำเนินทำนองที่ไพเราะนัก มีเสียงกลองนานาชนิดที่น่าฟัง และชวนให้เลือกฟังได้อย่างหลายรส หลายเสียง เสียงเปิงมางคอกที่ตีอย่างสนุกสนาน เสียงตะโพนมอญที่ทุ้มต่ำกังวาน ช่วยอุ้มเสียงปี่พาทย์มอญให้มีความยิ่งใหญ่ หนักแน่นเป็นอันมาก

 

 

วงเครื่องสายปี่ชวา

วงเครื่องสายปี่ชวานี้ฟังยากเป็นที่สุดในกระบวนวงดนตรีไทยทั้งหลาย เสียงปี่ชวานั้นแหลม ดัง บางทีแสบแก้วหู ถ้าชอบฟังเสียงปี่ชวาถูกใจ จะสนุกสนานมาก อีกประการ เสียงของซอด้วงก็ดี จะเข้ก็ดี และยังขลุ่ยหลีบ รวมสามอย่างนี้ ทำให้เกิดเสียงสูงมากจนกลบซออู้และขลุ่ยเพียงออ นอกจากนี้วงเครื่องสายปี่ชวานั้นบรรเลงรวดเร็ว ถ้าไม่ชินกับเพลงมาก่อน จะฟังน่ารำคาญมากสำหรับคนเริ่มหัดฟัง แต่ถ้าเป็นดนตรีด้วย รู้เพลงนั้นๆด้วย และได้นั่งจ้องดูนักดนตรีที่บรรเลงแต่ละคนอย่างใกล้ชิดแล้ว จะสนุกสนานและรู้สึกถึงความว่องไว ความชำนาญ และฝีมือของผู้บรรเลงได้เป็นอย่างดี

วงปี่พาทย์นางหงส์

วงปี่พาทย์นางหงส์นั้น ปัจจุบันหาฟังได้ยาก สมัยก่อนนิยมบรรเลงในงานศพ และถือว่าเป็นวงประโคมศพโดยเฉพาะ ยิ่งถ้าบรรเลงเพลงนางหงส์จริงๆแล้ว เสียงกลองจะดังพรึมๆ ซ้ำๆ วนเวียนอยู่เป็นเวลานาน แต่ถ้าการบรรเลงนั้นยักเยื้องออกสำเนียงภาษาต่างๆ หรือที่เรียกว่า เล่นเพลงออกภาษาแล้วจะฟังได้ง่ายขึ้นมาก สนุก และติดตามได้ไม่ยากนัก

เมื่อเลือกการฟังโดยลำดับประเภทวงต่างๆได้แล้ว ควรจะเลือกฟังเพลงที่คุ้นหู สะดวกที่จะติดตามหรือร้องทำนองตามได้ก่อน อาทิเพลงสำเนียงลาว เขมร และมอญ เพลงบรรเลงที่น่าจะหัดฟังก่อนเป็นเพลงสองชั้น อาทิ ลาวดวงเดือน ลาวสมเด็จ มอญดูดาว ซึ่งเพลงสองชั้นที่กล่าวมานี้ มักนิยมบรรเลงด้วยวงเครื่องสายผสม วงปี่พาทย์ไม้นวม และวงมโหรีเป็นประจำ เพลงบรรเลงล้วนอีกประเภทหนึ่งคือเพลงเดี่ยว ใช้เครื่องดนตรีดำเนินทำนองชิ้นเดียว และมีฉิ่งกับกลองเป็นผู้ร่วมประกอบจังหวะ ผู้หัดฟังเพลงไทยใหม่ๆ ยังไม่ควรฟังเพลงเดี่ยว เพราะเพลงเดี่ยวนั้น เป็นเพลงสำหรับแสดงฝีมือและความสามารถ จึงควรรู้จักเพลงนั้นมาก่อนนานพอสมควรแล้วจึงจะฟังได้ดี (พูนพิศ อมาตยกุล, 2529)

 

การหัดฟังเพลงขับร้อง

           หัวใจสำคัญในการหัดฟังเพลงขับร้องนั้น อยู่ที่ความพร้อมของผู้ฟังมากกว่าอะไรทั้งหมด สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญมีสามประการคือ ความตั้งใจของผู้ฟังที่จะสื่อความหมายกับบทร้องให้ได้ความหมายกระจ่างที่สุดเท่าที่จะกระจ่างได้ ท่วงทำนองก็เป็นส่วนสำคัญในการแสดงอารมณ์ของบทเพลงนั้น และต้องหาโอกาสได้สัมผัสกับเพลงนั้นให้บ่อยขึ้น ซึ่งเพลงขับร้องที่ควรฟังตามลำดับขั้น ควรดำเนินไปตามลำดับดังนี้

1.       หัดฟังเพลงสองชั้นจังหวะปานกลางที่คุ้นหูมาก่อน ขั้นนี้ควรเป็นเพลงสั้นๆ จบเพลงในเวลา 4-7 นาทีเป็นดีที่สุด ถ้ายาวกว่านี้ ต้องฟังในอันดับหลังกว่า เช่น เพลงลาวเจริญศรี เพลงนางนาค
ซึ่งอาจจะยาวถึง 10 นาที

2.       หัดฟังเพลงสองชั้นสั้นๆ จนสามารถทนฟังได้ยาวขึ้นเป็นเวลากว่า 10 นาที ได้ดีขึ้น จึงเลื่อนขึ้นไปฟังเพลงตับสั้นๆที่กินเวลาบรรเลงไม่เกิน 30 นาที และควรเป็นเพลงตับสองชั้นทั้งหมด อาทิ
ตับพระลอ ตอนตามไก่ ตับวิวาห์พระสมุทร

3.       หัดฟังเพลงสามชั้นสั้นๆ เช่น เพลงเขมรไทรโยค แขกลพบุรี สามชั้น

4.       หัดฟังเพลงเถาที่คุ้นหู และไม่ยาวเกินกว่า 15 นาที เช่น แขกต่อยหม้อ เถา แขกบรเทศ เถา
แล้วเลื่อนให้ยากขึ้น เช่น จีนขิมเล็ก เถา ไส้พระจันทร์ เถา แล้วจึงเลื่อนสูงขึ้นไปอีกถึงเพลงที่มี
ลูกล้อลูกขัด เช่น เพลงทยอยเขมร เถา ทยอยใน เถา

 

การฟังเพลงเดี่ยวประกอบการขับร้อง

           การฟังเพลงเดี่ยวเป็นของยาก และควรจะต้องรู้จักเพลงนั้น ร้องตามได้ จำลีลาได้เสียก่อน รวมทั้งรู้และเข้าใจบทร้อง รู้อารมณ์เพลง รู้ทางดนตรีว่า อย่างไรเรียกทางหวาน อย่างใดเรียกทางเก็บ รู้จังหวะหน้าทับเพลงด้วยจึงจะดีและเกิดรสอันสุนทรีย์ขึ้นได้ การฟังเพลงเดี่ยวยังต้องรู้จักการเปรียบเทียบระหว่างศิลปิน
แต่ละคน ว่าฝีมือใครจะดีกว่าใคร ทางครูใดจะละเมียดละไมไพเราะกว่าของใคร เป็นต้น นับเป็นสุดยอด
ของการฟัง

อนึ่ง การหัดฟังเพลงไทยสากลที่มีบทร้องแบบเนื้อเต็มไม่มีเอื้อน จะง่ายกว่าการหัดฟังเพลงไทยแท้หรือไทยเดิมที่มีเอื้อนมากๆ โดยเฉพาะเพลงร้องในอัตราสามชั้นนั้นฟังยาก ต้องหัดฟังบ่อยๆ จึงจะสื่อความหมายกับเสียงได้ว่าเอื้อนนั้น มีความหมายหรือจุดประสงค์อันใด อีกประการหนึ่ง การเน้นน้ำหนักคำร้อง การออกเสียงอักขระที่พอดีพองาม ไม่ผิดเสียงผิดวรรคตอน แบ่งวรรคให้เข้ากับอารมณ์เนื้อหาของเพลง
ก็เป็นความสามาถ ความหมดจดงดงามในน้ำเสียงของผู้ขับร้อง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ฟังเพลงจะต้องนำมาพิจารณาในขณะที่กำลังฟังเพลงนั้นด้วย จึงจะออกรส (พูนพิศ อมาตยกุล, 2529 : 88-94)

 

การฟังปี่พาทย์บรรเลงประชันวง

การฟังปี่พาทย์บรรเลงประชันวงนั้น มีหลักสรุปได้ดังนี้

           1. ฟังการร้อง จะต้องพิจารราว่ามีเสียงแจ่มใสไพเราะเพียงไร ร้องเสียงตรงกับดนตรีหรือไม่ ร้องถูกตามเนื้อเพลงไม่ขาดเกิน รักษาจังหวะสม่ำเสมอ ไม่ช้า ๆ เร็ว ๆ และร้องได้ชัดเจนทุก ๆ พยางค์

           2. ฟังการบรรเลง การฟังวงปี่พาทย์ต้องแยกออกเป็น 2 อย่าง คือ การฟังบรรเลงหมู่อย่างหนึ่ง กับฟังการบรรเลงเดี่ยวอย่างหนึ่ง

                      2.1 ฟังบรรเลงแบบหมู่ หัวใจสำคัญคือความพร้อมเพรียง เสียงดนตรีทุกอย่าง ปี่ ระนาด ฆ้อง ทุ้ม เครื่องประกอบจังหวะมีความสัมพันธ์กันสนิทสนมกลมเกลียว ไม่มีใครแซงโลดโดดเด่นจนล้ำหน้าเพลงที่บรรเลงปรับไว้ให้เหมาะสมเพียงไร ดำเนินจังหวะช้าเร็วพอสมควร และรับร้อง ส่งร้องได้อย่างสนิทสนม

                      2.2 การบรรเลงเดี่ยว จะต้องฟังทาง (คือทำนอง) ที่บรรเลงว่า ประดิษฐ์ทางขึ้นเหมาะกับเครื่องดนตรีชนิดนั้นเพียงใด มีความไพเราะ มีวิธีการโลดโผนที่น่าฟัง ผู้บรรเลงมีความแม่นยำเพลง สามารถบรรเลงทุก ๆ วิธีได้อย่างครบถ้วนไม่บกพร่อง รสมือ คือเสียงที่ได้จากการบรรเลง มีความไพเราะชัดเจนหรือไม่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือส่วนที่ส่งเสริมการฟังเพลงเดี่ยวทั้งสิ้น (มนตรี ตราโมท, 2531 : 3-5)

 

เอกสารอ้างอิง

พูนพิศ อมาตยกุล. (2529). ดนตรีวิจักษ์ : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับดนตรีของไทยเพื่อความชื่นชม. 
พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: รักษ์สิปป์.   

มนตรี ตราโมท. (2531). ศัพท์สังคีตของครูมนตรี ตราโมท.  พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา.