การทำให้ผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์บริสุทธิ์ (Purification of Microbial Products)

การทำให้ผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์บริสุทธิ์
(Purification of Microbial Products)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณ ชาญชัยเชาว์วิวัฒน์
สาขาวิชาจุลชีววิทยา
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

Asst. Prof. Arun Chanchaichaovivat, Ph.D.
Program in Microbiology
Faculty of Science and Technology
Bansomdejchaopraya Rajabhat University

ผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงพบได้ทั้งภายในเซลล์และหลั่งออกมาภายนอกเซลล์มักอยู่ในรูปของสารละลายซึ่งมีน้ำและสารอื่นๆ ปะปนอยู่ด้วย ขั้นตอนการทำให้ผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์บริสุทธิ์ต้องใช้วิธีทั้งการสกัดแยกและทำให้บริสุทธิ์ควบคู่กันไปจึงจะสามารถกำจัดสารอื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ออกไปได้ ขั้นตอนนี้จึงค่อนข้างยุ่งยากและทำให้เสียค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามการจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการแยก ความต้องการให้ผลิตภัณฑ์มีความบริสุทธิ์เพียงใด หรือยอมให้มีสารประกอบอื่นปะปนอยู่กับผลิตภัณฑ์มากน้อยเพียงใด เป็นต้น สำหรับวิธีการใช้แยกสารและทำให้สารบริสุทธิ์สามารถทำได้ดังนี้
1. การสกัดแยกด้วยตัวทำละลาย (solvent extraction)
วิธีนี้ใช้แยกสารออกจากกันและทำสารให้บริสุทธิ์โดยอาศัยสมบัติการละลายของสารใน
ตัวทำละลาย (solvent) ที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรใช้ตัวทำละลายที่เหมาะสมในการสกัดสารที่ต้องการออกจากสารผสม ตัวทำละลายที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้คือ สามารถละลายสารที่ต้องการสกัดได้ ไม่ละลายสารอื่นๆ ที่ไม่ต้องการ ไม่ทำปฏิกิริยากับสารที่ต้องการสกัดแยก สามารถแยกตัวทำละลายออกจากผลิตภัณฑ์ได้ง่าย ไม่เป็นพิษ และมีราคาถูก (Meullemiestre et al., 2015) ตัวทำละลายที่นิยมใช้ ได้แก่ โพรพานอล (propanol) บิวทิลแอซิเทต (butylacetate) อีเทอร์ (ether) เป็นต้น ตัวอย่างของการสกัดแยกผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์โดยวิธีนี้ ได้แก่ การสกัดแยกคาโรทีนอยด์ (carotenoid) ซึ่งทำให้บริสุทธิ์โดยใช้เมทานอล (methanol) การใช้เมทานอลเป็นตัวทำละลายมีข้อดีคือ ทำให้เซลล์กระจายได้ดี ทำให้สารประกอบไลโปโปรตีน (lipoprotein complexs) ที่เป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์แตกออกและมีความเป็นโพลาร์ (polar) มากพอที่สามารถสกัดแยกคาโรทีนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพวกโพลาร์ออกมาได้ดี การสกัดด้วยตัวทำละลายสามารถใช้แยกผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ในระดับอุตสาหกรรมได้สะดวกและรวดเร็วอีกด้วย เช่น สามารถสกัดแยกเพนิซิลลินได้ภายในเวลา 90 นาที นอกจากนี้ยังเป็นวิธีที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่มีความคงทนน้อย เนื่องจากสามารถสกัดผลิตภัณฑ์ออกมาได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง
2. การทำให้ตกตะกอน (precipitation)
วิธีนี้เป็นการทำให้ผลิตภัณฑ์ตกตะกอนแยกตัวออกจากสารชนิดอื่นที่ปะปนอยู่โดยอาศัยคุณสมบัติในการละลายเป็นหลักเช่นเดียวกับการใช้ตัวทำละลายในการสกัดสาร แต่ต่างกันที่ต้องทำให้สารที่ต้องการแยกไม่สามารถละลายได้จนในที่สุดตกตะกอนแยกออกมา (Bonner, 2019) ในขณะที่สารตัวอื่นอยู่ในสภาพของสารละลาย สารที่ใช้เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ตกตะกอน ได้แก่ ตัวทำละลายอินทรีย์ (organic solvent) ชนิดต่างๆ เช่น อีเทอร์ แอลกอฮอล์ และแอซิโทน (acetone) หรือใช้สารละลายเกลือความเข้มข้นแตกต่างกัน เช่น สารละลายเกลือแอมโมเนียซัลเฟต นอกจากนี้สารละลายกรดความเข้มข้นต่างๆ กัน ก็สามารถช่วยตกตะกอนสารได้ เช่น การตกตะกอนโปรตีนด้วยกรดไทรคลอโรแอซิทิก (trichloroacetic acid) เข้มข้นร้อยละ 5 นอกจากนี้อาจใช้วิธีการปรับค่าความเป็นกรด-เบสของสารละลายให้เป็นกลาง เพื่อให้สารที่ต้องการตกตะกอนออกจากสารอื่นๆ ได้เช่นกัน ตัวอย่างการสกัดแยกและทำให้ผลิตภัณฑ์บริสุทธิ์ด้วยวิธีทำให้ตกตะกอน ได้แก่ การแยกเอนไซม์เพคทิเนส (pectinase) จากรา เอนไซม์นี้เป็นเอนไซม์ที่ปล่อยออกมานอกเซลล์สามารถแยก
ออกจากอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ได้โดยการทำให้ตกตะกอนด้วยแอลกอฮอล์เข้มข้นร้อยละ 95 ที่อุณหภูมิต่ำ จากนั้นทำการแยกตะกอนออกมาด้วยเครื่องหมุนเหวี่ยง (centrifuge) และทำให้เอนไซม์แห้งด้วยเครื่องทำให้แห้งแบบสุญญากาศ (vacuum drying) อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การแยกกรดซิทริก (citric acid) จากรา Aspergillus niger โดยการกรองแยกเส้นใยออกจากน้ำหมัก แล้วนำน้ำหมักมาเติมด้วยสารละลายแคลเซียมไฮดรอกไซด์ [Ca(OH)2] ที่บริสุทธิ์ จะทำให้เกิดตะกอนของแคลเซียมซิเตรท (calcium citrate) ขึ้น จากนั้นนำตะกอนมาล้างสิ่งเจือปนออกหลายๆ ครั้ง
3. การใช้วิธีโครมาโทกราฟี (chromatography)
วิธีโครมาโทกราฟีเป็นวิธีการแยกสารให้บริสุทธิ์ โดยอาศัยคุณสมบัติด้านต่างๆ ของสารที่แตกต่างกัน เช่น ขนาดโมเลกุล ประจุ คุณสมบัติการละลายในตัวทำละลาย และความสามารถในการถูกดูดซับ ระบบโครมาโทกราฟีประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนไม่เคลื่อนที่ (stationary phase) ซึ่งอาจเป็นของแข็งอิสระหรือของเหลวที่เกาะหรือฉาบอยู่บนตัวค้ำจุน (supporting medium) ส่วนนี้จะอยู่กับที่และเป็นบริเวณที่สารที่ต้องการแยกจะแยกเคลื่อนที่ผ่านไป อีกส่วนหนึ่งคือส่วนเคลื่อนที่ (mobile phase) อาจเป็นของเหลวหรือแก๊สที่ทำหน้าที่ชะแยกสารออกจากส่วนไม่เคลื่อนที่จากปลายด้านหนึ่งไปสู่ปลายอีกด้านหนึ่ง ส่วนไม่เคลื่อนที่มักมีลักษณะเป็นผงละเอียดและมีพื้นที่ผิวมาก เช่น สารอะลูมินา (alumina, Al2O3) ซิลิกาเจล (silica gel, SiO2) หรืออาจจะใช้วัสดุที่สามารถดูดซับได้ดี เช่น ชอล์ก (chalk) หรือ กระดาษ เป็นต้น ส่วนเคลื่อนที่ทำหน้าที่ชะเอาสารผสมออกจากส่วนไม่เคลื่อนที่ให้ไหลตามไปด้วย การที่สารจะเคลื่อนที่ไปได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแรงดึงดูดระหว่างสารผสมกับตัวดูดซับในส่วนที่ไม่เคลื่อนที่ สารที่ใช้เป็นส่วนเคลื่อนที่ ได้แก่ สารพวกตัวทำละลาย เช่น ปิโตรเลียมอีเทอร์ (petroleum ether) เฮกเซน (hexane) คลอโรฟอร์ม (chloroform) เป็นต้น ข้อดีของการแยกสารด้วยวิธีโครมาโทกราฟี คือ สามารถแยกสารผสมที่มีปริมาณน้อยได้ทั้งสารที่มีสีและไม่มีสี ใช้ได้ทั้งปริมาณวิเคราะห์ (สามารถบอกปริมาณสารได้) และคุณภาพวิเคราะห์ (สามารถบอกชนิดของสารได้) การทำระบบโครมาโทกราฟี สามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับส่วนที่ไม่เคลื่อนที่มีลักษณะอย่างไร ดังนี้
3.1 โครมาโทกราฟีแบบคอลัมน์ (column chromatography) เป็นวิธีที่ใช้ตัวดูดซับบรรจุในหลอดแก้วยาว นิยมใช้อะลูมินาหรือซิลิกาเจลเป็นส่วนไม่เคลื่อนที่และเป็นตัวดูดซับ สารผสมที่ต้องการแยกในรูปของสารละลายจะถูกเทใส่คอลัมน์ทางด้านบน สารละลายจะผ่านคอลัมน์ลงมาช้าๆ โดยตัวทำละลายที่เป็นส่วนเคลื่อนจะชะพาสารต่างๆ ในสารผสมออกไปด้วยอัตราเร็วต่างกัน ส่วนประกอบใดของสารผสมที่ถูกดูดซับได้ดีจะเคลื่อนที่ช้า ส่วนสารที่ถูกดูดซับไม่ดีจะเคลื่อนที่ได้เร็วทำให้สารผสมแยกจากกันได้
3.2 โครมาโทกราฟีแบบชั้นบาง (thin layer chromatography) เป็นโครมาโทกราฟีแบบระนาบโดยทำให้ส่วนที่ไม่เคลื่อนที่มีลักษณะเป็นครีมข้น เช่น ใช้ซิลิกาเจลนำไปเคลือบบนแผ่นกระจกให้มีความหนาเท่ากันตลอดทั้งแผ่นแล้วนำไปอบให้แห้ง เมื่อนำมาใช้ให้หยดของเหลวสารผสมที่ต้องการแยกบนแผ่นที่เคลือบนี้ แล้วนำแผ่นเคลือบไปจุ่มในภาชนะที่บรรจุตัวทำละลายซึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนเคลื่อนที่ โดยให้ระดับของตัวทำละลายอยู่ต่ำกว่าระดับของจุดที่หยดสารผสมไว้ ตัวทำละลายจะซึมไปตามแผ่นเคลือบที่ทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับ เมื่อตัวทำละลายซึมถึงจุดที่หยดสารผสมไว้ ตัวทำละลายจะชะพาองค์ประกอบสารผสมไปด้วยอัตราเร็วที่ต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพมีขั้วของสารที่ถูกชะและสารที่เป็นตัวทำละลาย โดยถ้าตัวทำละลายเป็นโมเลกุลชนิดมีขั้วก็จะชะเอาสารในสารผสมที่เป็นสารมีขั้วไปได้เร็วแต่สารที่ไม่มีขั้วในสารผสมจะถูกชะไปได้ช้า ในที่สุดสารผสมก็จะแยกออกจากกัน
3.3 โครมาโทกราฟีแบบกระดาษ (paper chromatography) จัดว่าเป็นโครมาโทกราฟี ชนิดระนาบ อีกแบบหนึ่ง โดยอาศัยหลักการและวิธีการเหมือนกับโครมาโทกราฟีแบบชั้นบาง แต่ต่างกันตรงที่ส่วนไม่เคลื่อนที่ จะใช้กระดาษชนิดพิเศษเป็นตัวดูดซับแทนกระจกที่เคลือบด้วยซิลิกาเจล
3.4 โครมาโทกราฟีระบบแก๊สและของเหลว (liquid gas chromatography) สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือโครมาโทกราฟีของเหลวแบบสมรรถนะสูง (high performance liquid chromatography, HPLC) และโครมาโทกราฟีระบบแก๊ส (gas chromatography, GC) ซึ่งปัจจุบันวิธีโครมาโทกราฟีระบบแก๊สและของเหลวได้ถูกพัฒนาให้สามารถทำงานทั้งในการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและการวิเคราะห์เชิงปริมาณได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น
4. การใช้การกรองระบบเมมเบรน (membrane filtration)
เมมเบรนเป็นเยื่อเลือกผ่าน (semipermeable membrane) ชนิดหนึ่งคือยอมให้สารบางอย่างผ่านไปได้ วิธีการนี้สามารถแยกผลิตภัณฑ์ที่มีโมเลกุลขนาดต่างกันได้แต่ควรใช้แรงดันสุญญากาศ (vacuum pump) ช่วยให้การกรองเร็วขึ้น สำหรับการกรองแบบไมโครฟิลเทรชัน (microfiltration) เป็นการกรองในระดับที่ละเอียดกว่าการกรองแบบใช้กระดาษกรอง ซึ่งยอมให้อนุภาคขนาดประมาณมากกว่า 0.1ไมครอน ผ่านไปได้ เช่น การทำไดอะไลซิส (dialysis) โดยที่อนุภาคไวรัส คอลลอยด์ และสารแมโครโมเลกุล (macromolecule) ไม่สามารถผ่านเมมเบรนออกไปได้และยังคงติดอยู่ที่เยื่อเมมเบรน (Brock, 2014) สำหรับการกรองระดับอัลตร้าฟิลเทรชัน (ultrafiltration) สามารถกรองสารที่มีขนาด 10-150 อังสตรอม อนุภาคที่ผ่านไปได้ เช่น น้ำ อิออน (ion) และแก๊สที่ละลายในของเหลวได้ ระบบกรองแบบรีเวิร์สออสโมซิส (reverse osmosis) สามารถกรองผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำกว่า 500 เช่น เกลือ หรือกลูโคส ภายใต้ความดัน 500-100 บาร์ (bar) ผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้วิธีกรองด้วยเมมเบรน ได้แก่ โปรตีน แบคทีเรีย และยีสต์ เป็นต้น ชนิดของเมมเบรนที่ใช้ เช่น เซลลูโลสแอซิเทต (cellulose acetate) เซลลูโลสเอสเทอร์ (cellulose ester) และพอลิคาร์บอเนต (polycarbonate) เป็นต้น การกรองผลิตภัณฑ์ด้วยระบบเมมเบรนจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นและบริสุทธิ์ขึ้น
5. การทำให้ตกผลึก (crystallization)
การทำให้ตกผลึกเป็นวิธีทำให้สารบริสุทธิ์หรือเป็นวิธีแยกสารออกจากกันได้วิธีหนึ่ง สามารถทำได้โดยเลือกตัวทำละลายที่เหมาะสมมาสกัดสารที่ต้องการแล้วนำมาตกผลึก การที่สารมีคุณสมบัติละลายได้ต่างกันมากจะทำให้ตกผลึกแยกออกจากกันได้ วิธีการโดยการนำของแข็งมาละลายในตัวทำละลายแล้วทำให้สารละลายอิ่มตัวที่อุณหภูมิสูง กรองสารละลายขณะร้อนเพื่อกำจัดสิ่งเจือปนที่ไม่ละลายออกไป เมื่อปล่อยให้เย็นจะตกผลึกออกมาและได้ผลึกที่บริสุทธิ์ (Lewis et al., 2015) ผลึก (crystal) เป็นของแข็งเนื้อเดียวกันที่มีรูปทรงเรขาคณิตที่มีรูปทรงและมุมระหว่างผิวหน้าแน่นอน ผิวหน้าเรียบ มีพันธะเคมียึดอะตอมต่างๆ ในผลึกไว้ด้วยกัน อนุภาคของผลึกจัดเรียงตัวกันอย่างมีระเบียบแบบแผน เมื่อได้รับแรงกระทบกระเทือนจะหลุดออกจากกันเป็นชั้นๆ ตามแนวผิวหน้าตัดของผลึก ของแข็งแต่ละชนิดจะมีรูปร่างผลึกเฉพาะตัว ผลิตภัณฑ์ที่แยกได้โดยการตกผลึกนั้นจะต้องมีความเข้มข้นและความบริสุทธิ์สูง การทำให้สารละลายของผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้นสูงอาจทำได้โดยการระเหย (evaporation) ที่อุณหภูมิสูง แต่การเพิ่มอุณหภูมิอาจทำให้สารบางอย่าง เช่น โปรตีนเสียสภาพทางธรรมชาติได้ เมื่อได้สารละลายเข้มข้นแล้วจึงปล่อยให้สารที่ต้องการ
ตกผลึกลงอย่างช้าๆ จะช่วยให้สารนั้นแยกตัวออกมาจากสิ่งปนเปื้อนอื่นได้ ทำให้ได้สารที่มีความบริสุทธิ์สูงขึ้น แต่ถ้าสารตกผลึกเร็วเกินไปอาจห่อหุ้มสิ่งเจือปนอื่นไว้ภายทำให้ได้สารที่มีความบริสุทธิ์น้อยลง ในทางตรงกันข้ามหากตั้งทิ้งไว้ให้ตกผลึกเป็นเวลานานเกินไปสารอื่นๆ ที่ไม่ต้องการอาจตกตะกอนลงมาปะปนได้เช่นกัน ผลผลิตของสารที่ได้จากการตกผลึกจะน้อยกว่าสารตั้งต้นเสมอเช่นเดียวกับการสกัดด้วยตัวทำละลายและการตกตะกอนเพราะไม่สามารถแยกสารออกได้สมบูรณ์ทั้งหมด อุตสาหกรรมหมักที่ใช้วิธีนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตกรดอินทรีย์ เช่น การตกผลึกกรดซิทริกซึ่งทำในขั้นสุดท้ายของการเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ การตกผลึกกรดอิทาโคนิก (itaconic acid) โดยการระเหยให้สารละลายกรดเข้มข้นแล้วทิ้งไว้ที่อุณหภูมิต่ำให้เกิดผลึก การตกผลึกกรดฟูมาริก (fumaric acid) โดยปรับสภาพสารละลายกรดที่อยู่ในน้ำหมักให้เป็นกรดจนเกิดผลึกขึ้นแล้วแยกผลึกออกด้วยน้ำร้อน เป็นต้น

บทสรุป
วิธีการทำให้ผลผลิตจากจุลินทรีย์บริสุทธิ์อาศัยสมบัติที่แตกต่างกันของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ซึ่งนับว่าเป็นขั้นตอนหลังจากจุลินทรีย์ผลิตสารที่ต้องการเต็มที่แล้ว ขั้นตอนนี้จะซับซ้อนมากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการผลิตว่าต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะอย่างไร มีความบริสุทธิ์มากน้อยเพียงใด ถ้าขั้นตอนยิ่งมากจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นและจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาแพงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามในงานบางอย่างจำเป็นต้องทำให้ผลิตภัณฑ์มีความบริสุทธิ์สูง เช่น ยาปฏิชีวนะ ฮอร์โมน และวิตามิน ที่ใช้ในทางการแพทย์ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์หลายชนิดจำหน่ายในรูปผงแห้งทั้งนี้เพื่อให้เก็บรักษาได้นาน สะดวกในการขนส่งและประหยัดพื้นที่ในการเก็บรักษา บางชนิดอาจจำหน่ายในรูปของเซลล์ที่ไม่จำเป็นต้องสกัดผลิตภัณฑ์ออกมาหรือทำให้บริสุทธิ์ก็สามารถนำไปใช้ได้ในงานบางประเภท

เอกสารอ้างอิง
Bonner, P.L.R. (2019). Protein Purification. 2 nd ed. Boca Raton: CRC Press.
Brock, T.D. (2014). Membrane Filtration. Berlin: Springer.
Lewis, A., Seckler, M., Kramer, H. and Rosmalen, G.V. (2015). Industrial Crystallization.
Cambridge: Cambridge University Press.
Meullemiestre, A., Breil, C., Abert-Vian, M. and Chemat, F. (2015). Modern Techniques and
Solvents for the Extraction of Microbial Oils. Switzerland: Springer.