การจัดองค์ความรู้ในงานด้านสาธารณสุข

เนตรดาว  สงวนสิน
สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

      การจัดการความรู้ หรือ KM ย่อมาจากคําว่า “Knowledge Management” คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในส่วนราชการซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้นําความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพอันจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด KM ไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นเครื่องมือ ที่จะช่วยให้มีการสร้าง รวบรวม จัดระบบ เผยแพร่ ถ่ายโอนความรู้ที่เป็นประโยชน์เพื่อให้สามารถนําไปประยุกต์ใช้ใน สถานการณ์ต่างๆ ได้ทันเวลา และทันเหตุการณ์ จะส่งผลให้การปฏิบัติงานของคนในองค์กรมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทําให้องค์กรบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์กร และเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

        ซึ่งหากมีการจัดการความรู้ในตัวผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข และนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพัฒนางาน จะทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานได้อย่างต่อเนื่อง การจัดการความรู้นับเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความรู้ พัฒนาคน และพัฒนางาน ดังนั้น นักสาธารณสุขจึงควรจะเรียนรู้แนวคิดเรื่องการจัดการความรู้ และนำมาใช้ในงานสาธารณสุข ทั้งในด้านการบริหารจัดการ และการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน

การจัดการความรู้ คืออะไร
       การจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) เป็นกระบวนการ (process) ที่ดำเนินการร่วมกัน โดยผู้ปฏิบัติงานในองค์กร หรือหน่วยงานย่อยขององค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง และใช้ความรู้ในการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ดีขึ้นกว่าเดิมการจัดการความรู้ในความหมายนี้ จึงเป็นกิจกรรมของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ใช่กิจกรรมของนักวิชาการ หรือนักทฤษฎี แต่นักวิชาการ หรือนักทฤษฎีอาจเป็นประโยชน์ ในฐานะแหล่งความรู้ (resource person) หรือผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้การจัดการความรู้ เป็นกระบวนการที่เป็นวงจรต่อเนื่อง เกิดการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เป้าหมาย คือ การพัฒนางานและพัฒนาคน โดยมีความรู้เป็นเครื่องมือ มีกระบวนการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ กองพัฒนาคุณภาพ,(2552)

หลักการ 4 ประการ ของการจัดการความรู้  ได้แก่
               1. ให้คนหลากหลายทักษะ หลากหลายวิธีคิด ทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ การจัดการความรู้ที่มีพลัง ต้องทำโดยคนที่มีพื้นฐานแตกต่างกัน มีความเชื่อ หรือวิธีคิดแตกต่างกัน ถ้ากลุ่มที่ดำเนินการจัดการความรู้ ประกอบด้วยคนที่คิดเหมือนๆ กัน การจัดการความรู้จะไม่มีพลังในการจัดการความรู้ ความแตกต่างหลากหลาย   
              2. ร่วมกันพัฒนาวิธีการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อบรรลุประสิทธิผลที่กำหนดไว้ หรือฝันว่าจะได้ ในการ
จัดการสมัยใหม่ ประสิทธิผลประกอบด้วย องค์ประกอบ 4 ประการ คือ
               2.1  การตอบสนองความต้องการ (responsiveness) ซึ่งอาจเป็นความต้องการของลูกค้า ความต้องการของสังคม หรือความต้องการที่กำหนดโดยผู้บริหารองค์กร
             2.2 นวัตกรรม (innovation) เช่น นวัตกรรมทางด้านสุขภาพ
              2.3 ขีดความสามารถ (competency) ขององค์กร
              2.4 ประสิทธิภาพ (efficiency) ในการทำงาน

      3. ทดลองและเรียนรู้ เนื่องจากกิจกรรมการจัดการความรู้ เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์  จึงต้องมีวิธีการดึง กลับมาสู่ความเป็นจริงในโลก หรือในสังคม โดยการทดลองทำเพียงน้อยๆ ซึ่งถ้าล้มเหลว ก็ก่อผลเสียหายไม่มากนัก ถ้าได้ผลไม่ดีก็ยกเลิกความคิดนั้น ถ้าได้ผลดีจึงขยายการทดลองเป็นทำมากขึ้นจนในที่สุด ขยายเป็นวิธีทำงานแบบใหม่
      4. การนำความรู้จากภายนอกอย่างเหมาะสม โดยต้องถือว่า ความรู้จากภายนอกยังเป็นความรู้ที่ยัง ” ดิบ ” 
อยู่ต้องเอามาทำให้ ” สุก ” ให้พร้อมใช้ในบริบทของเรา โดยการเติมความรู้เชิงบริบทลงไป

เหตุผลที่องค์กรนำการจัดการความรู้มาใช

1.  เพื่อเก็บข้อมูลที่จำเป็นขององค์กรไว้ ต้องมีการจัดการความรู้ เพื่อเก็บความรู้ไว้ในองค์กร  
2. เพื่อสงวนสมองขององค์กร ทำให้คนมีความสุข มีคุณค่า ไม่ออกไปจากองค์กร
3. เพื่อเพิ่มประสิทธิผลขององค์กร ซึ่งประสิทธิผลในที่นี้ ครอบคลุมการตอบสนอง นวัตกรรม ขีดความสามารถ และประสิทธิภาพ
4. เพื่อเพิ่มทุนปัญญาให้แก่องค์กร คนมีความสำคัญ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนมีความสำคัญมากกว่า

กิจกรรมการจัดการความรู้ การจัดการเพื่อให้มีการนำความรู้ มาใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย

1. การกำหนดความรู้ที่ต้องการใช้ (define) เป็นการนำความมุ่งมั่น วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ ขององค์กรมากำหนดความรู้ ที่ต้องการใช้ เพื่อให้มีการจัดการความรู้ มีจุดเน้น

2. การเสาะหา และยึดกุมความรู้ (capture) เป็นการพัฒนาขีดความสามารถ ในการเสาะหาความรู้ที่กระจัด
กระจาย หรือแฝงอยู่ตามที่ต่างๆ มาใช้ประโยชน์

3. การสร้างความรู้ (create) ในมุมมองเดิม ความรู้จะต้องสร้างโดยผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนในมุมมองใหม่
ความรู้เกิดขึ้นทุกจุดของการทำงาน โดยทุกคนที่ทำงาน เป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในสมอง ซึ่งอาจจะพูดออกมาไม่ได้

4. การกลั่นกรอง (distill) ความรู้บางอย่าง เป็นสิ่งล้าสมัย บางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม กับบริบท หรือสภาพแวดล้อมสำหรับเรา จำเป็นต้องมีการกลั่นกรอง เพื่อให้นำความรู้ที่เหมาะสมมาใช้

5. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (share) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะแต่ละคนมีมุมมองต่อความรู้ ไม่เหมือนกัน ต้องมาแลกเปลี่ยน

6. การประยุกต์ใช้ความรู้ (use) ทำให้เกิดผลจากการใช้ความรู้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ / บริการ พัฒนากระบวนการทำงาน พัฒนาสมาชิกองค์การ และมีผลเชิงป้อนกลับ ต่อขั้นตอนการจัดการความรู้

วิธีการจัดการความรู้อย่างง่าย

สำหรับการจัดการความรู้ คือ อย่าจดๆ จ้องๆ หรือมัวแต่อ่านตำรา หรือฟังการบรรยายของ ” ครู ” ด้านการจัดการความรู้ ให้ปรึกษาหารือกันเพื่อลงมือทำ หาที่ปรึกษาด้านการลงมือทำมาช่วยเหลือ โดยให้เริ่มทำในกลุ่มเล็กๆ ไปก่อน ใช้วิธีการง่ายๆ ก่อน แล้วจึงค่อยๆ ขยายไปใช้วิธีการที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นวิธีการจัดการความรู้มีเป็นร้อยวิธี ไม่ควรเน้นใช้วิธีการที่ชื่อไพเราะ โก้เก๋ หรือใช้เทคโนโลยียากๆ ควรเน้นความง่าย และเรียบง่าย ในช่วงเริ่มต้น แล้วค่อยๆ ใช้วิธีการที่ยาก หรือซับซ้อนขึ้น ตามความจำเป็นวิธีการจัดการความรู้ ได้แก่ 1) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากวิธีการทำงานแบบ Best practices 2) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน ” ชุมชนนักปฏิบัติ ” (Community of Practice – CoP) 3) วงจรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยกกำลังสาม บวก คว้า มีรูปแบบดังต่อไปนี้

1. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากวิธีทำงานแบบ Best practices คือ วิธีทำงานที่เกิดผลงานในลักษณะที่น่าภูมิใจ น่าชื่นชม ผลสัมฤทธิ์สูง ประสิทธิภาพสูง หรือคุณภาพสูงองค์กรขนาดใหญ่ต้องหา best practices ของการทำงานเรื่องต่างๆ นำมากำหนดเป็นมาตรฐานการทำงาน จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างทีมเจ้าของ best practices กับทีมอื่นๆ ให้ทีมอื่นๆ สามารถปฏิบัติงานมาตรฐานได้และยิ่งกว่านั้น ต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนา best practices ใหม่ขึ้น ให้เป็นวิธีการที่ดีกว่าเดิม เป็นวงจรเรื่อยไปไม่สิ้นสุด

2. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการทำกิจกรรม ” ชุมชนนักปฏิบัติ “ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practices) อาจเป็นชุมชนที่สนใจปัญหาเดียวกัน เช่น CoP เรื่อง การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กำลังจัดตั้งขึ้นโดย พรพ . หรืออาจเป็นชุมชนที่สนใจชุดความรู้ (knowledge domain) ชุดเดียวกัน แต่ทำงานอยู่ในต่างหน้าที่ เผชิญปัญหาคนละปัญหา เช่น CoP เรื่อง การดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ อาจมีสมาชิกจากหออภิบาล หอผู้ป่วยอายุรกรรม หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม และหอผู้ป่วยนรีเวชกรรม  

3. วงจรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยกกำลังสาม บวก คว้าเป้าหมายของวงจรนี้ เพื่อเป็นวงล้อหมุนให้เป้าหมายของงาน ที่กำหนดไว้ไปสู่ความสำเร็จ ในลักษณะที่เป็นความสำเร็จระดับน่าภูมิใจ ที่น่าชื่นชมในวงล้อหลัก ใช้พลังของการเรียนรู้ร่วมกัน ( ของทีมงาน ) ทั้งเรียนรู้ร่วมกันก่อนเริ่มงาน – รก . ( เรียนก่อน , learning before) เรียนรู้ร่วมกันระหว่างทำงาน – รร . ( เรียนระหว่าง , learning during) และเรียนรู้ร่วมกันหลังงานชิ้นนั้นสำเร็จ – รล . ( เรียนหลัง , learning after)ต้องหมุนวงจรทั้ง 2 เข้าเป็นวงจรเดียวกัน หรือส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง จะเกิดผล

การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในงานสาธารณสุข ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาวิชาการ พัฒนาคน และการพัฒนางาน และนำไปสู่การสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ในที่สุด โดยผู้บริหารองค์กรสาธารณสุขควรจัดบรรยากาศภายในองค์กรให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ปฏิบัติงานในเรื่องที่สนใจร่วมกัน เช่น การพัฒนาชมรมสร้างสุขภาพที่ยั่งยืน การพัฒนาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานและครอบครัว เป็นต้น โดยใช้วิธีจัดให้มีการประชุมแลกเปลี่ยนกลวิธีการทำงาน ปัญหาอุปสรรคที่พบ และวิธีการแก้ไขปัญหา ในเรื่องที่สนใจร่วมกันเป็นประจำ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น วิเคราะห์ วิจารณ์ และได้ข้อสรุปความรู้ที่เป็นแนวทางในการปรับปรุงพัฒนางานต่อไป หรือใช้วิธีการจัดเวทีให้มีการนำเสนอผลงาน โดยมีการตั้งคำถามถึงกระบวนการทำงานและเงื่อนไขความสำเร็จของแต่ละโครงการ ปัญหาอุปสรรคและวิธีการแก้ไขปัญหา บทเรียนสำคัญที่ได้เรียนรู้