การจัดการนิทรรศการ “Déjà vu: When the Sun Rises in the West”

นิทรรศการ “Déjà vu: When the Sun Rises in the West” เป็นนิทรรศการศิลปะของ นที อุตฤทธิ์ (Natee Utarit)

จัดแสดงระหว่างวันที่ 4 มีนาคม – 7 พฤษภาคม 2565 ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดโดย หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร    ในความร่วมมือกับ ริชาร์ด โคห์ ไฟน์อาร์ต

ภัณฑารักษ์รับเชิญ : ลอเรดานา ปัซซินี ปารัคชานี

 

เดจาวู (Déjà vu) คือ ความรู้สึกหวนระลึกถึงภาพหรือเหตุการณ์ที่ได้เคยเกิดขึ้น เป็นความรู้สึกนึกคิดของศิลปินที่ได้ร้อยเรียงความทรงจำของอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน และนำเสนอผ่านผลงานชุด เดจาวู ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2562  ผลงานในนิทรรศการเล่าย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของการเผชิญหน้ากันแบบสมมติของพระพุทธเจ้ากับอารยธรรมกรีกโบราณ สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตะวันออกและตะวันตกที่ปรากฎผ่านผลงานต่างๆ ในนิทรรศการนี้ (Contest War, 2022)

 

ในฐานะครูศิลปะ ขอนำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจจากนิทรรศ นอกเหนือจากความน่าสนใจในผลงาน เนื้อหา และแนวคิดทางศิลปะ คือ การจัดการนิทรรศการ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างสรรค์นิทรรศการศิลปะ นิทรรศการ “Déjà vu: When the Sun Rises in the West” เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปิน ภัณฑารักษ์ และหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นรูปแบบการทำงานแบบปกติที่นิทรรศการส่วนใหญ่ก็ทำกัน แต่ภายในนิทรรศการนี้ สามารถทำให้ผู้ชมรับรู้ความรู้สึก ที่นำไปสู่ความเข้าใจในเนื้อหาบางอย่างของนิทรรศการตามประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้มาอย่างแตกต่างกัน

 

นิทรรศการ “Déjà vu: When the Sun Rises in the West” จัดการนิทรรศการอย่างเรียบง่าย โดยอาศัยพื้นที่ของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นฐานสำคัญในการจัดวางผลงานศิลปะ เลือกผลงานศิลปะที่เหมาะสม และสัมพันธ์กับพื้นที่ได้อย่างลงตัว ไม่ต่างจากชื่อนิทรรศการ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีจังหวะให้ผู้ชมได้ผ่อนการคิด รับรู้ความรู้สึกหนักเบา ไม่กดดัน บีบรัดผู้ชม หรือสร้างการรับรู้ทางความรู้สึกมากจนเกินพอดี นอกจากนั้นแล้วยังอาศัยกายภาพของหอศิลป์มาสร้างสรรค์งานศิลปะ กลายเป็นพื้นที่เฉพาะที่ส่งเสริมต่อการรับรู้ให้กับผู้ชมเป็นอย่างดี ทำให้เห็นว่าการจัดนิทรรศการศิลปะที่ดีนั้น ไม่ได้ต้องการเพียงงานศิลปะที่ดีเท่านั้น แต่หมายรวมถึงวิธีการจัดการพื้นที่ การร้อยเรียงเนื้อหา หรือแม้แต่เส้นทางการชมนิทรรศการ เพราะความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ชมได้เรียนรู้ ผ่านสุนทรียภาพทางศิลปะจากผลงาน และนิทรรศการศิลปะ

 

อย่างไรก็ตามนิทรรศศิลปะการยังคงเป็นพื้นที่สำคัญในการสื่อสารเนื้อหา แนวคิด และสุนทรียภาพทางศิลปะ ให้กับสังคมได้เป็นอย่างดี การจัดนิทรรศการในแต่ละครั้ง ควรให้ความสำคัญกับการจัดการนิทรรศการที่เป็นระบบ คำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการ สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างศิลปิน ภัณฑารักษ์ และหอศิลป์ ให้ความสำคัญกับผู้ชมผ่านการจัดการต่าง ๆ รวมทั้งสร้างการรับรู้ทางสุนทรียภาพ เพื่อให้ชมนิทรรศการศิลปะในแต่ละครั้งสร้างประสบการณ์ และก่อให้เกิดการเรียนรู้ต่อผู้ชมได้เป็นอย่างดี

#ศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์

#มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา