การคิดวิเคราะห์

ความหมายของการคิดวิเคราะห์

การคิดวิเคราะห์ (Analytical thinking) เป็นการตรึกตรองและใช้ความมีเหตุผลของบุคคลเป็นขั้นตอนโดยการเรียนรู้จากความรู้ ความเข้าใจ การประยุกต์ใช้ การวิเคราะห์การสังเคราะห์ และการประเมินค่า (Bloom, 1956) การคิดวิเคราะห์ คือการคิดที่ต้องใช้การแยกแยะข้อมูล และหาความสัมพันธ์ของข้อมูลที่แยกแยะนั้น หรืออีกนัยหนึ่ง คือการเรียนรู้ในระดับที่ผู้เรียนสามารถจับได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุ อะไรเป็นผล หรือแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่ง (ทิศนา แขมมณีและคณะ, 2544) ส่วนวัชรา เล่าเรียนดี และคณะ (2560) ได้ให้ความหมายของการคิดวิเคราะห์ไว้ว่าหมายถึง การแสดงออกด้วยคำพูด หรือพฤติกรรมการปฏิบัติที่บอกถึงความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ อย่างละเอียด สามารถอธิบายเหตุผล ระบุปัญหา ระบุความเชื่อมโยง สามารถจำแนกส่วนประกอบ ต่างๆ รวบรวมข้อมูลที่สำคัญ เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจและประเมินผลหรือเพื่อสรุปอย่างเหมาะสม

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าการคิดวิเคราะห์หมายถึงการคิดที่มีการใคร่ครวญตรึกตรองอย่างละเอียดรอบคอบ มีการจำแนกแจกแจงองค์ประกอบต่างๆ ของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น ซึ่งอาจกระทำเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการประเมินผล หรือเพื่อสรุปการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม

ทฤษฎีการเรียนรู้ของ Bloom

ในทฤษฎีการเรียนรู้ของ Bloom (1956) การคิดวิเคราะห์เป็นหนึ่งในทฤษฎีการเรียนรู้ด้าน “พุทธิพิสัย” (Cognitive Domain) ซึ่งเป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับด้านสมอง เน้นเรื่องสติปัญญา ความสามารถในการคิดเรื่องราวต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งพฤติกรรมทางพุทธิพิสัยมี 6 ระดับ ได้แก่ 
1.1 ความรู้ (Knowledge) เป็นความสามารถด้านความรู้ การจำแนกข้อมูลต่างๆ และระลึกเรื่องราวนั้นๆ ออกมาได้ถูกต้อง
1.2 ความเข้าใจ (Comprehension) เป็นความสามารถบ่งบอกใจความสำคัญของเรื่องราว โดยการแปลความ ตีความได้ สรุปใจความสำคัญได้
1.3 การประยุกต์ใช้ (Application) เป็นความสามารถในการนำหลักการ กฎเกณฑ์และ วิธีดำเนินการต่างๆของเรื่องที่ได้รู้มาไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ใหม่ได้
1.4 การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นความสามารถในการแยกแยะเรื่องราวที่สมบูรณ์ให้กระจายออกเป็นส่วนย่อยๆ ได้อย่างชัดเจน ความสามารถในการจัดระเบียบข้อมูล และการวิเคราะห์แนวโน้มต่างๆ
1.5 การสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นความสามารถในการผสมผสานแนวคิดเดิมให้เป็นแนวคิดใหม่ การออกแบบ และประดิษฐ์สิ่งใหม่โดยปรับปรุงจากของเดิม
1.6 การประเมินค่า (Evaluation) เป็นความสามารถในการวินิจฉัยหรือตัดสินกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การเปรียบเทียบแนวความคิด การวัดสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยการใช้เกณฑ์หรืออมาตรฐานที่กำหนดไว้

ในช่วงเวลาต่อมา ได้มีแนวคิดของ Anderson และ Krathwohl (2001) ที่ได้ปรับแนวคิดของ Bloom’s Taxonomy โดยการเพิ่มมิติด้านลักษณะความรู้เพื่อช่วยให้การกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และมีการปรับคำที่ใช้โดยขั้นแรก มีการเปลี่ยนคำที่ใช้จาก “ความรู้” เป็น “ความจำ” และ ขั้นที่ 5 เปลี่ยนจาก “การสังเคราะห์” เป็น “การประเมิน” และ ในขั้นที่ 6 เปลี่ยนจาก “การประเมิน” เป็น “การสร้างสรรค์” อย่างไรก็ตาม ขั้นของการคิดวิเคราะห์ยังคงไว้เช่นเดิม

องค์ประกอบของการคิดวิเคราะห์

ในการเรียนการสอน ความสามารถในการคิดวิเคราะห์เป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เรียนจำเป็นต้องมี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทราบถึงองค์ประกอบของการคิดวิเคราะห์ซึ่งนักการศึกษาหลายท่านได้กล่าวไว้ ดังนี้

บลูม (Bloom, 1956) ได้กล่าวถึงทักษะการคิดวิเคราะห์ประกอบด้วยทักษะ สำคัญๆ ดังนี้
1. การคิดวิเคราะห์ความสำคัญหรือเนื้อหาของสิ่งต่างๆ เป็นความสามารถในการแยกแยะได้ว่า สิ่งใดจำเป็น สิ่งใดสำคัญสิ่งใดมีบทบาทมากที่สุด
2. การวิเคราะห์ความสัมพันธ์เป็นการค้นหาความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ว่ามีอะไรสัมพันธ์กัน สัมพันธ์กันอย่างไร สัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด สอดคล้องหรือขัดแย้งกัน
3. การวิเคราะห์เชิงหลักการ หมายถึงการค้นหาโครงสร้างระบบ เรื่องราว สิ่งของ และการดำเนินการต่างๆ ว่าสิ่งเหล่านั้นด ารงอยู่ได้ในสภาพเช่นนั้นเนื่องจากอะไร มีหลักการอย่างไร

สุวิทย์ มูลคำ (2550) กล่าวว่าองค์ประกอบของการคิดวิเคราะห์ประกอบด้วย
1. การวิเคราะห์ส่วนประกอบ เป็นความสามารถในการหาส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งของ หรือ เรื่องราวต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ส่วนประกอบของพืช สัตว์ ข่าว ข้อความ หรือเหตุการณ์
2. การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการหาความสัมพันธ์ของส่วนสำคัญ ต่างๆ โดยระบุความสัมพันธ์ระหว่างแนวความคิด ความสัมพันธ์ในเชิงเหตุผล หรือความแตกต่างระหว่างข้อโต้แย้งที่เกี่ยวข้อง และที่ไม่เกี่ยวข้อง
3. การวิเคราะห์หลักการ เป็นความสามารถในการหาหลักความสัมพันธ์ส่วนส าคัญในเรื่องนั้นๆ ว่ามีความสัมพันธ์กันโดยอาศัยหลักการใด

ดวงใจ บุญประคอง (2549) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการคิดวิเคราะห์ ดังนี้
1. การวิเคราะห์เนื้อหา เป็นความสามารถในการจำแนกข้อเท็จจริงออกจากข้อสมมติฐาน และสามารถสรุปข้อความนั้นๆ ได้
2. การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการหาความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆ โดยการเชื่อมโยงเหตุและผล
3. การวิเคราะห์หลักการ เป็นความสามารถในการวิเคราะห์รูปแบบ วัตถุประสงค์ ทัศนคติและความคิดเห็นของผู้เขียน

กระบวนการคิดวิเคราะห์

การคิดวิเคราะห์ควรมีกระบวนการหรือขั้นตอนในการคิดที่จะทำให้ผู้คิดวิเคราะห์ไม่รีบด่วนสรุปว่าสิ่งนั้นเกิดจากสาเหตุใด มีองค์ประกอบอะไรบ้าง และพยายามหาข้อเท็จจริงว่าผลลัพธ์ที่เราเห็นนั้นเกิดจากสาเหตุที่แท้จริงอะไร

กระบวนการคิดวิเคราะห์ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ
1. กำหนดสิ่งที่ต้องการวิเคราะห์
2. กำหนดปัญหาหรือวัตถุประสงค์การวิเคราะห์
3. กำหนดหลักการหรือกฎเกณฑ์ส าหรับแยกส่วนประกอบในการวิเคราะห์
4. การพินิจพิเคราะห์แยกแยะ กระจายสิ่งที่กำหนดให้ออกเป็นส่วนย่อยๆ ทำได้โดยใช้เทคนิคคำถาม 5W1H ได้แก่ ใคร (Who) ท าอะไร (What) ที่ไหน (Where) เมื่อไร (When) เพราะเหตุใด (Why) อย่างไร (How)
5. สรุปคำตอบ เพื่อใช้เป็นค าตอบหรือตอบปัญหาของสิ่งที่ต้องการวิเคราะห์อาจมีการวิเคราะห์ผลผลสืบเนื่องที่จะเกิดขึ้นหากมีการนำไปใช้ด้วย

เครื่องมือของการคิดวิเคราะห์

การคิดวิเคราะห์สามารถกระทำได้โดยใช้เครื่องมือต่างๆ มาช่วยในการคิด ตัวอย่างเครื่องมือของการคิดเชิงวิเคราะห์ มีดังนี้
1. Concept Mapping ความคิดความเข้าใจที่ได้รับมาจากการสังเกต หรือประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นำมาจัดประเภทของข้อมูล หรือเหตุการณ์ ที่เหมือนหรือแตกต่างกันไว้ในกลุ่มหรือประเภทเดียวกันโดยอาศัยคุณลักษณะร่วมกันเป็นเกณฑ์ องค์ประกอบของแผนผังมโนทัศน์มีจำนวน 3 องค์ประกอบ คือ มโนทัศน์หลัก มโนทัศน์รอง และมโนทัศน์ย่อย โดยเชื่อมโยงมโนทัศน์ที่มีความสัมพันธ์กันด้วยเส้น
2. Mind Map เทคนิคการคิด และวิธีการจดบันทึกความคิดของเราเปรียบเสมือนการจำลองความคิดจากสมองลงสู่กระดาษ โดยออกมาในลักษณะคล้ายแผนที่ แผนภาพที่แตกแขนงออกเหมือนกิ่งไม้และเชื่อมโยงกัน เหมือนเซลล์ประสาทในสมอง โดยจะใช้ภาพ เส้น สี สัญลักษณ์ และ คำสำคัญ มาใช้วาดจากตรงกลาง แล้วกระจายความคิด ออกไป
3. Fishbone Diagram เครื่องมือนี้ใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุและผลของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยแผนภูมินี้จะระบุถึงสาเหตุที่ อาจเป็นไปได้ของปัญหาลึกลงไปเรื่อยๆ เพื่อสืบค้นให้ลึกลงไปถึงต้นตอของปัญหา
4. Causal Loops เครื่องมือนี้การเขียนจะออกมาในรูปของความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างตัวแปร หรือ องค์ประกอบต่างๆ ภายในระบบ ช่วยให้เห็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิด ปัญหา ทำให้เห็นว่า ถ้าแก้ปัญหานั้นได้ ทั้งระบบจะถูกแก้ไข

สรุป

ในการเรียนการสอนหรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร การคิดวิเคราะห์จัดว่าเป็นหนึ่งการพัฒนาการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนหรือพัฒนาบุคคลากร โดยการนำการคิดวิเคราะห์มาใช้ในการพัฒนาผู้เรียน หรือ พัฒนาพนักงาน ควรเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยในการพัฒนาศักยภาพในการคิดวิเคราะห์ โดยผลของการพัฒนาการคิดเชิงวิเคราะห์จะทำให้ผู้ที่เรียนรู้ได้เห็นกลุ่มหรือประเภทของสิ่งที่ต้องการวิเคราะห์ทราบถึงองค์ประกอบย่อยต่างๆ ของสิ่งที่วิเคราะห์ ทราบถึงสาเหตุและผลของสิ่งที่วิเคราะห์ และทำให้เห็นความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของสิ่งที่วิเคราะห์ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการ
พัฒนาผู้เรียน

บรรณานุกรม

ดวงใจ บุญประคอง. (2549). การพัฒนาผลการเรียนรู้ เรื่องการด ารงพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ของนักเรียนชั้น
ประถมศึกษาปีที่ 5 ที่จัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต).
สาขาวิชาหลักสูตรและการนิเทศ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วัชรา เล่าเรียนดี และคณะ. (2560). กลยุทธ์การจัดการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อพัฒนาการคิดและยกระดับคุณภาพ
การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21. นครปฐม : เพชรเกษมพริ้นติ้ง กรุ๊ป.

ทิศนา แขมมณีและ คณะ. (2544). วิทยาการด้านการคิด. กรุงเทพฯ : สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ.

สุวิทย์ มูลคำ. (2550). กลยุทธ์การสอนวิเคราะห์ (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.

Anderson, L. W., & Krathwohl, D. R. (2001). A taxonomy for learning, teaching, and assessing:
A revision of Bloom’s taxonomy of educational objectives. New York: Addison
Wesley Longman.

Bloom, B.S.. (1956). Taxonomy of Educational Objectives, the classification of educational
goals – Handbook I: Cognitive Domain. New York: McKay.