กระบวนการการจัดเรียนรู้ด้วยเกม

บทนำ

ผู้เรียนเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการออกแบบการเรียนการสอน หากผู้เรียนขาดความตั้งใจไม่มีความสนใจในการเรียนและไม่สามารถเรียนรู้ได้ การเรียนการสอนของครูก็ล้มเหลว ไม่บรรลุผลการเรียนรู้     ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ ดังนั้นความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของผู้เรียนในด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ การมุ่งพัฒนาการด้านสติปัญญาและความคิด พัฒนาการทางจริยธรรม ให้เป็นไปตามธรรมชาติการเรียนรู้   และคุณลักษณะทั่วไปของผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ความรู้สึกมีอิทธิพลต่อการทำงานของสมอง ดังนั้นจึงควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทัศนคติที่ดีให้กับผู้เรียน

การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อนำสู่การบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ จึงเป็นสิ่งที่ผู้สอนหรือผู้ออกแบบการเรียนการสอนควรจัดให้สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา         และความคิด ทั้งนี้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสำหรับผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสอดคล้อง     กับธรรมชาติการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะได้ Play And Learn เพลิดเพลินกับการเรียนรู้ วิธีการรูปแบบหนึ่งที่เป็น    ที่นิยมในการใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างแพร่หลายคือ “การจัดการเรียนรู้ด้วยเกม”

กระบวนการการจัดเรียนรู้ด้วยเกม

        จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัย   ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ประถม) มาเป็นระยะเวลา 13 ปี มีโอกาสได้ออกแบบการเรียนรู้ด้วยเทคนิค    ที่หลากหลายตามความสอดคล้องกับเนื้อหาสาระการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ด้วยเกมเป็นวิธีการหนึ่งที่ผู้เขียนใช้ในการจัดการเรียนการสอนมากที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะสามารถเลือกใช้ได้ในทุกกระบวนการสอน ไม่ว่าจะจัดวางไว้ในขั้นนำ ขั้นสอน หรือขั้นทบทวนความรู้ และเป็นวิธีการที่ผู้เรียนจะได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเรียน     การสอนตามรูปแบบ Active Learning ทั้งยังสามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ได้หลายมิติ ทั้งพุทธิพิสัย (Knowledge) ทักษะพิสัย (Practice) และจิตพิสัย (Attitude) อีกด้วย

        ทิศนา แขมมณี (2560 : 81) ได้ให้ความหมายว่า วิธีสอนโดยใช้เกม คือ กระบวนการที่ครูผู้สอน        ใช้ในการช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการให้นักเรียนเล่นเกมตามกติกา และนำเนื้อหา ข้อมูลของเกม พฤติกรรมการเล่น วิธีการเล่น และผลการเล่นเกมของผู้เรียนมาใช้ในการอภิปราย     เพื่อสรุปการเรียนรู้

        ทั้งนี้การนำเกมไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในขั้นนำเข้าสู่บทเรียน         เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนุกสนาน เตรียมความพร้อมของนักเรียนให้กระตือรือร้นที่จะเรียน           ในเรื่องนั้น ๆ  หรืออาจนำไปแทรกในระหว่างการจัดการเรียนการสอนบางขั้นตอน ขึ้นอยู่กับการออกแบบกิจกรรมของผู้สอนเอง ทั้งนี้ผู้สอนควรคำนึงถึงการนำกิจกรรมเกมไปให้ได้ผลเป็นไปตามจุดประสงค์          ของแผนการจัดการเรียนรู้ร่วมด้วย โดยกุลิสรา จิตรชญาวณิช และเกศราพรรณ พันธ์ศรีเกศ คงเจริญ (2563 : 81) ได้อธิบายขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ด้วยเกม ดังนี้

        1. ขั้นเตรียมความพร้อม ครูชี้แจงจุดประสงค์ในการเล่นเกมให้นักเรียนทราบ

        2. ขั้นอธิบาย ครูอธิบายกฎกติกาที่สำคัญในการเล่นเกมและวิธีการเล่นเกมให้นักเรียนทราบ            โดยภาพรวม

        3. ขั้นสาธิตการเล่นเกม ครูสาธิตวิธีการเล่นเกมทีละขั้นให้นักเรียนดู โดยทำการสาธิต

อย่างช้า ๆ เพื่อให้นักเรียนสามารถจดจำรายละเอียดได้

        4. ขั้นลงมือเล่นเกม นักเรียนเล่นเกมตามกติกาที่กำหนด โดยกำหนดเวลาในการเล่นเกมให้ชัดเจน    เพื่อไม่ให้กระทบกับกิจกรรมอื่นที่จะทำต่อไปหลังจากเล่นเกมเสร็จสิ้น

        5. ขั้นวิเคราะห์วิจารณ์หลังการเล่นเกม หลังสิ้นสุดการเล่นเกม ครูให้นักเรียนร่วมกันพูดคุยเกี่ยวกับข้อคิดหรือสิ่งที่ได้รับจากการเล่นเกม

        วิธีสอนโดยใช้เกม เป็นวิธีการที่ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างสนุกสนานและท้าทายความสามารถ โดยนักเรียนทำหน้าที่เป็นผู้เล่น ทำให้สามารถรับประสบการณ์โดยตรงได้ การสอนด้วยเกม     จึงเป็นวิธีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

          เกมเป็นสื่อการสอนที่ทำให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจที่จะศึกษาในบทเรียนนั้น ๆ โดย สุคนธ์
สินธพานนท์ (2553 : 143) ได้อธิบายถึงคุณค่าและประโยชน์ของการจัดการเรียนรู้ด้วยเกมที่มีต่อนักเรียน ดังนี้

          1. เกมช่วยเร้าความสนใจของนักเรียนและเป็นเครื่องจูงใจให้เกิดความต้องเรียนรู้ในสิ่งนั้น ๆ เป็นการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่ดีให้กับนักเรียน

          2. ช่วยให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการคิด ทักษะการใช้ภาษาด้านการฟัง พูด อ่าน และเขียน

          3. ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความสามารถที่มีอยู่ของตนเองในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่

          4. ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้รู้จักกระบวนการทำงานร่วมกัน คนที่เรียนเก่งจะรู้จักช่วยเหลือคนที่เรียนด้อยกว่า

          5. ช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหาของบทเรียนที่เรียนในแต่ละเรื่อง

          6. ครูผู้สอนสามารถใช้เกมทดสอบความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่เรียนได้โดยสังเกตจาก       การ   ตอบคำถาม หรือการร่วมกันแสดงออกในกิจกรรมเกมนั้น ๆ

          7. ช่วยลดเวลาในการเรียนรู้เนื้อหาสาระที่เรียน เพราะกิจกรรมในเกมจะช่วยสร้าง
ความเข้าใจให้กับนักเรียนไปพร้อมกัน

          8. เกมก่อให้เกิดสัมพันธ์ภาพที่ดีระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนด้วยกัน

          9. เป็นการฝึกให้นักเรียนเกิดวินัยในตัวเอง เคารพกติกาของการเล่น อีกทั้งเป็นการเปลี่ยนรูปแบบ  ของครูผู้สอนจากวิธีการลงโทษ มาเป็นการให้รางวัล

          10. ทำให้นักเรียนเกิดเจตคติที่ดีในการเรียน เกมจะช่วยดึงดูดใจให้นักเรียนสนใจเรียน
ไม่เกิดความเบื่อหน่ายในเนื้อหา และทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน สามารถติดตามเนื้อหาจากบทเรียนนั้น ๆ ได้จนจบ

 
          จากที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นได้ว่าประโยชน์ของการจัดการเรียนรู้ด้วยเกมในการจัดการเรียนรู้        จะช่วยให้นักเรียนเกิดความตื่นเต้นและสนุกสนาน อีกทั้งเกมยังเป็นเครื่องมือช่วยสร้างแรงจูงใจ ทำให้นักเรียนมีความต้องการที่จะเรียนรู้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในเนื้อหาไปพร้อมกับ  การเล่น ช่วยประหยัดเวลาในการสอนเพราะนักเรียนเกิดความเข้าใจได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังส่งผลดีต่อการพัฒนาทักษะทางภาษา ได้แก่ ทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน และทักษะการแก้ปัญหา จากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน และสมาชิกคนอื่น ๆ ด้วย

          ทั้งนี้ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เกมมีข้อจำกัดที่ผู้สอนควรทราบเป็นพื้นฐานเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจใช้เกมในการออกแบบการเรียนรู้ ดังนี้

          1. เป็นวิธีสอนที่ใช้เวลามาก เพราะมีกระบวนการขั้นตอนมาก อาทิ การชี้แจงวัตถุประสงค์ของเกม การชี้แจงกฎกติกา-มารยาท การยกตัวอย่าง การทดลองเล่น การเริ่มเล่นเกม ไปจนถึงการสรุปผลถอดบทเรียน

          2. เป็นวิธีสอนที่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากเกมบางเกมต้องซื้อหามาโดยเฉพาะเกมจำลองสถานการณ์     บางเกมมีราคาสูงมาก เนื่องจากการเล่นเกมส่วนใหญ่ ผู้เรียนทุกคนต้องมีวัสดุอุปกรณ์ในการเล่นเฉพาะตน

          3. เป็นวิธีสอนที่ขึ้นกับความสามารถของผู้สอน ผู้สอนจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ       การสร้างเกม จึงจะสามารถสร้างได้

          4. เป็นวิธีสอนที่ต้องอาศัยการเตรียมการมาก เกมเพื่อการฝึกทักษะ แม้จะไม่ยุ่งยากซับซ้อนนัก       แต่ผู้สอนจำเป็นต้องจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ในการเล่นให้ผู้เรียนจำนวนมาก เกมการศึกษา และเกมจำลองสถานการณ์ ผู้สอนจำเป็นต้องศึกษาและทดลองใช้จนเข้าใจ ซึ่งต้องอาศัยเวลามาก โดยเฉพาะเกมที่มี       ความซับซ้อนมาก และผู้เล่นจำนวนมากยิ่งต้องใช้เวลามากขึ้นอีก

          5. เป็นวิธีสอนที่ผู้สอนต้องมีทักษะในการนำการอภิปรายที่มีประสิทธิภาพจึงจะสามารถช่วยให้ผู้เรียนประมวลและสรุปการเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์

           การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เกม เป็นวิธีการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์   ที่กำหนด ช่วยให้บทเรียนน่าสนใจ และจูงใจผู้เรียนให้สนใจเรียนรู้ ผู้สอนจึงควรเลือกเกมมาใช้ให้สอดคล้อง    กับเนื้อหาสาระที่สอน จุดประสงค์และวัยของผู้เรียน จัดเตรียมทั้งความพร้อมของตัวผู้สอน ทั้งเนื้อหา            และอุปกรณ์ สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะขาดเสียมิใดในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เกม คือการประเมินผลสัมฤทธิ์ว่าหลังใช้เกมจัดการเรียนการสอนแล้ว ผู้เรียนได้บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ตามสาระและตัวชี้วัดตามหลักสูตรหรือไม่ อย่างไร อันจะนำไปสู่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของผู้สอนต่อไป

                                                  จัดการเรียนเพื่อหวังให้เด็กรู้

                                             ทำให้ดูเพื่อหวังให้เด็กเห็น

                                             สอนให้ทำเพื่อให้เด็กทำเป็น

                                             เรียนปนเล่น..เล่นปนรู้..ครูพาทำ

 

เอกสารอ้างอิง

กุลิสรา จิตรชญาวณิช และเกศราพรรณ พันธุ์ศรีเกตุ คงเจริญ. (2563). วิธีการจัดการเรียนรู้
          ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ทิศนา แขมมณี. (2560). 14 วิธีสอนสำหรับครูมืออาชีพ. (พิมพ์ครั้งที่ 13). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่ง  

          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

__________. (2560). รูปแบบการเรียนการสอน : ทางเลือกที่หลากหลาย. (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ:

          สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุคนธ์ สินธพานนท์. (2553). นวัตกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพของเยาวชน.
          (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: 9119 เทคนิคพริ้นติ้ง.